The Passion "อำมหิตพิศวาส" หวังดี หรือ ซ้ำเติม?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ซาเสียวเอี้ย

 

 

ความแรงของหนังเรื่อง "อำมหิตพิศวาส" หรือ The Passion ที่นักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง ศรัณยู วงศ์กระจ่าง โดดลงมารับผิดชอบกระบวนการทำงานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการพลิกบทบาทมารับบทนำแบบร้ายๆ ดูบ้าง และช่วยผู้สร้างโปรโมทหนังอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่หนังเรื่องนี้ถูก กบว.ไทยเซ็นเซอร์ฉากรุนแรงและสยิวกิ้วไปหลายตอน แต่ก็ยังถือได้ว่านี่เป็นความพยายามที่จะสร้างพัฒนาการให้กับทั้งนักแสดงและแวดวงคนทำหนังไปด้วยในตัว ซึ่งดูเหมือนว่าหนังเรื่องนี้จะฮือฮาพอสมควรในการสร้างกระแสอื้อฉาวเป็นการเรียกความสนใจจากคนดู

 

เอาแค่ฉากที่นักแสดงหญิง 2 คน อย่าง "ตั๊ก" บงกช คงมาลัย และ ปรางทอง ชั่งธรรม ถูกไล่ล่าจากคนโรคจิตที่รับบทโดยศรัณยูก็ถูกสื่อนำมาเล่นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากข่าวอย่างนี้จะขายได้แล้ว การช่วยกันโปรโมทหนังก็ถือเป็นธรรมเนียม "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" ของวงการบันเทิงไทยมานานโข

 

ฉากไล่ล่าที่นางเอกสาวอย่างบงกชต้องรับบทนำ มีทั้งฉากที่เธอถูกข่มขู่อย่างรุนแรง (โดนปืนจ่อหัว) และต้องทนกับการคุกคามทางเพศ (ฉากลวนลามในโรงหนัง, ฉากในห้องน้ำ และฉากที่เธอต้องวิ่งหนีฆาตกรโรคจิตในเรื่อง)

 

ขณะเดียวกัน นักแสดงสมทบอย่างปรางทอง ก็รับบทพนักงานทำความสะอาดที่ถูกละเมิดทางเพศจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าในบริษัท

 

สถานการณ์ทั้งหมดที่พูดมา เป็นความอื้อฉาวที่อาจยอมรับได้ว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจริงๆ และข่าวการคุกคามทำนองนี้ก็หาอ่านได้มากมายตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน แต่การที่จับเอาทุกอย่างมาไว้ในหนังเรื่องเดียวกัน และเน้นภาพความรุนแรงและการคุกคามตลอดเวลา ทำให้เกิดความรู้สึก (ส่วนบุคคล) ว่า มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องนำภาพเหล่านั้นมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนัง

 

ประเด็นนี้ทำคงให้เราต้องมาถกเถียงกันอีกครั้งว่าความหวังดีที่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าสังคมนี้มีด้านมืด จะสามารถนำไปสู่หนทางการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

 

 

ถ้าหากหนังต้องการ "เตือนภัย" ให้ผู้หญิงทั้งหลายตระหนักรู้ถึงสถานะที่ตกอยู่ภายใต้ "ภัยคุกคาม" ทั้งแบบเงียบและโจ่งแจ้ง ถึงจะใจร้ายเกินไปหน่อยก็คงต้องพูดว่านี่เป็นประเด็นที่เก่าสมัยพระเจ้าเหาพระเจ้าเห็บเลยทีเดียว

 

ผู้หญิงในสังคมไทยถูกสั่งสอนและถูกจับใส่กรอบฝังหัวตายตัวมานานแล้วว่า การกระทำใดๆ ก็ตาม อาจนำไปสู่ความไม่ดีไม่งามทั้งหลายทั้งปวงได้ทั้งนั้น

 

ผู้หญิงดีๆ จึงต้องสุภาพอ่อนน้อม ไม่ก๋ากั่น ไม่แต่งตัวโป๊ ไม่ไปมาไหนลำพังทั้งยามวิกาลและยามที่ฟ้าสว่างโร่ ต้องไม่ไปตามสถานที่อโคจร ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เพื่อที่จะได้ไม่ถูกเหมาว่าเป็น "ผู้หญิงไม่ดี" และยังมีคำว่า "ไม่" อีกสารพัดไม่

 

แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งก็บอกเราว่าต่อให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อคุกคามเป็นคนดี สุภาพ เรียบร้อย แต่งกายมิดชิด แต่บังเอิญไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา สังคมบางส่วนก็พร้อมจะพิพากษาว่าผู้หญิงคนนั้นหมดคุณค่าความดีของเธอไปแล้ว...

 

คำเตือนภัยที่เป็นจุดขายของหนัง "อำมหิตพิศวาส" จึงไม่ต่างอะไรจากข้อห้ามร้อยแปดพันประการที่ติดตัวผู้หญิงไทยมาตั้งแต่เกิด

 

ความพยายามที่หนังเรื่องนี้จะสะท้อนให้สังคมตระหนักว่าภัยเงียบจากคนโรคจิตที่เห็นคนอื่นๆ เป็นเพียงวัตถุทางเพศคือเรื่องที่ต้องระมัดระวัง จึงเป็นประเด็นที่ช้ำชอกและไม่น่าสนใจเอาเสียเลย

 

แทนที่คนทำหนังซึ่งเป็น "เพศชาย" จะสะท้อนให้คนในสังคมเห็นประเด็นใหม่ๆ ที่ผู้ชายสามารถกระทำได้เพื่อเปลี่ยนค่านิยมดั้งเดิมเกี่ยวกับสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างเพศและการกดขี่ข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างไปจากเรา (เช่น กลุ่มเลสเบียนหรือโฮโมเซ็กชวล) หากหนังกลับตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ ว่าผู้หญิงคือฝ่ายที่ต้องระมัดระวัง เพราะการที่ผู้ชายเกิดอาการจิตทรามขึ้นมานั้น-มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้!

 

การคุกคาม ข่มขู่ ข่มขืน และไล่ล่า เพื่อบีบคั้นให้ตัวละครหญิงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และเอาคืนจากผู้กระทำจึงเป็นเพียงการ "ผลักภาระ" ให้ผู้ถูกกระทำอีกครั้งหนึ่ง

 

ความปรารถนาดีที่คนทำหนังเรื่องนี้กล่าวย้ำอยู่ตลอดเวลาจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม การนำเสนอภาพให้นักแสดงหญิงทั้งสองคนต้องโดนลวนลามนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งทำให้เนื้อหาของหนังเรื่องนี้ถูกลดทอนความสำคัญลงไป จนกลายเป็นหนังกระตุ้นอารมณ์แบบดาดๆ เรื่องหนึ่งเท่านั้น

 

การพูดว่าหนังเรื่องนี้ล้มเหลวในการสื่อสารก็ไม่น่าจะผิดจากความเป็นจริงนัก และหากความหวังดีทั้งหลายทั้งปวงที่ผู้สร้างต้องการอุทิศเพื่อสังคมจะมีอยู่จริง สิ่งที่ควรทำ น่าจะเป็นการมองบริบทแวดล้อมทางสังคมให้กระจ่างเสียก่อนที่จะคิดทำหนังแนวนี้

 

เพราะไม่อย่างนั้น ผู้หญิงทุกคน (ไม่เฉพาะนักแสดงนำและนักแสดงในหนัง) คงไม่วายจะโดนข่มขืนซ้ำอีกนับครั้งไม่ถ้วนด้วยแนวคิดการผลักภาระให้คนอื่นรับผิดชอบการเฝ้าระวังเพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท