Skip to main content
sharethis

หทัยรัตน์ พหลทัพ


คนข่าวภาคสนาม


         


 


แรงกระเพื่อมทางสังคมอันปรากฏการณ์ขึ้นก่อนวันเลือกประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เป็นไปอย่างกว้างขวาง  ไล่เรียงมาจากการเคลื่อนตัวของภาคองค์กรเอกชน ภาคสังคม นักวิชาการ อันได้แก่ เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย(จคป.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย(ควป.) เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย  (ควป.) ,นักวิชาการและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย,เครือข่ายอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มศว. เพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น โดย เครือข่ายเหล่านี้ได้ไหลรวมจนเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมกับประกาศว่า "ไม่เอา มีชัย ฤชุพันธุ์" มานั่งเป็นประธานที่เคารพ


 


ทว่ากระแสการคัดค้านไม่ให้ "มีชัย" เข้ามากำหนดทิศทางกติกาสังคม ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีการแลกเปลี่ยนกันในวงประชุมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กรวิชาชีพ อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย  สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้มีการหารือเพื่อช่วยกำหนดทิศทางให้กับผู้แทนองค์กรวิชาชีพทั้ง 3 คน    ที่ได้รับเกียรติให้เข้าไปเป็น สนช. แถลงไขต่อสังคมถึงการเลือกข้างและจุดยืนเช่นกันว่า "ไม่เอามีชัย"  


 


จนท้ายสุดมีข้อสรุปออกมาว่า เมื่อไม่เอามีชัย แล้วจะทำอย่างไรต่อไป โดยในที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นอันหลากหลายและปิดท้ายด้วยการเคาะว่า ขอสนับสนุน "สุรพล นิติไกรพจน์" "สุจิต บุญบงการ" และ "จุรี วิจิตรวาทการ" ด้วยเห็นว่าบุคคลทั้ง 3 ค่อนข้างได้รับการยอมรับในสังคม และมีความแตกต่างจาก "มีชัย" อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ได้ให้อำนาจอิสระต่อตัวแทนในการตัดสินใจโหวตหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่


 


ทว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากวันเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินัดแรก ซึ่งมีวาระเพื่อเลือกประธานสภา ตัวแทนจาก 3 องค์กรวิชาชีพจึงพยายามบ่งชี้ให้ชัดขึ้นว่า   "สื่อไม่เอามีชัย"  โดย  "ภัทระ คำพิทักษ์" ได้เสนอชื่อ "จุรี วิจิตรวาทการ" ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติเพื่อให้เป็นแคนดิเดตหนึ่ง


 


แต่จนแล้วจนรอดทางเลือกดังกล่าวก็ไม่อาจทานคะแนนเสียงจัดตั้งที่มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติสายทหาร สายข้าราชการและสายนักเรียนเก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) ได้ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่า มีการล็อบบี้ขอคะแนนเกิดขึ้นก่อนนี้แล้ว ทำให้ "มีชัย" กวาดคะแนนไปถึง 167 คะแนน เข้าวินเป็นประธานสภาที่เคารพไปตามโผ


 


สิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้านี้ แม้ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดแล้ว แต่ทว่าก็ไม่สามารถทานแรงเทคโนแครตอันเป็นสิ่งหนุนส่งให้ "มีชัย" ก้าวข้ามเสียงท้วงติงจนได้นั่งบนบัลลังก์ของประธานสภาอย่างสง่าผ่าเผยสมใจปรารถนา


 


เท่ากับว่าคำท้วงติงเป็นเพียงเสียงยุงบิน สร้างความรำคาญข้างหูเท่านั้น 


 


ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งในรอยทางขึ้นสู่อำนาจของมีชัย ก็มีผู้แทนจากสื่อมวลชนเข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับประธานสภาอยู่ไม่น้อย


 


แม้สื่อมวลชนไม่ได้เลือกหรือสนับสนุนนายมีชัยแม้แต่น้อย เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเสนอทางเลือกให้แก่สภาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล จึงทำให้ผู้แทนวิชาชีพสื่อยอมรับในมติของเสียงส่วนใหญ่ และนิ่งงันกับมติ  ซึ่งทำให้เห็นว่าสิ่งที่หวังใจจะเข้าไปแสดงบทบาทใหม่ของวิชาชีพให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมในการจะไปทวงสิทธิสื่อมวลชนที่ถูกรุกราน  หรือจะไปปกป้องประชาชนให้รอดพ้นภัยหมู่โจร และจะไปทัดทาน กฏหมายอันจะเป็นภัยต่อสังคมไม่ให้ออกมาโลดแล่นบังคับใช้ได้ อาจไม่เป็นอย่างที่คิดและหวัง


 


สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าจึงเริ่มส่อเค้าลางว่า ผู้แทนสื่อฯ จะไม่ได้สมใจหมาย โดยบทเรียนบทแรกบอกได้ว่า "สอบตก"  แล้วต่อจากนี้จะทัดทานอะไรได้ และหากหันกลับมาดูบทบาทอันพึงมีตามหน้าที่ สังคมสื่อไม่ได้สอนให้เล่นเกมการเมือง เพราะหน้าที่บนหน้าตักของสื่อทุกยุคทุกสมัย ทำได้แค่เห่าหอนและตะโกนก้องให้สังคมได้รับรู้ถึงความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม ความโสมมของสังคม ในฐานะหมาเฝ้าบ้าน แต่ไม่เคยสอนให้เดินเข้าไปแก้ไขปัญหาทุกอย่าง ทุกเรื่อง สังคมได้แบ่งหน้าที่ให้แต่ละกลุ่มวิชาชีพอย่างชัดเจนแล้วว่า  "หน้าที่ใครก็หน้าที่มัน"


 


แต่เมื่อผู้แทนสื่อเข้าไปรับบทบาทใหม่ในฐานะ สนช. จึงมิอาจทำอะไรได้มากมายนัก เพราะไม่เคยเป็นนักการเมือง จึงไม่อาจเล่นเกมตลบหลังด้วยการแฉความไม่ชอบมาพากลอันเป็นที่มาของคะแนนเสียงอันท่วมท้นที่เทให้คนอย่างมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้


 


เหตุการณ์นี้ทำให้สังคมสื่อต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า ควรหรือไม่กับการเข้าไปทุ่มเทเรียนรู้กลเกมการเมืองถึงในสภานิติบัญญัติ เพราะท้ายสุดอาจจะต้องเจ็บปวดกับบทเรียนราคาแพงที่ไม่สามารถทำอะไรได้


 


หากไม่รีบสรุปบทเรียนอาจมีผลกระเพื่อมในแวดวงสื่ออีกเป็นอันมาก ดังนั้นควรมีการทบทวนก่อนที่จะสายเกินไป โดยต้องกลับไปอ่าน แนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง "การปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์" ในหมวดที่ว่าด้วย การรับตำแหน่งเป็นกรรมการและที่ปรึกษา


 


โดยข้อหนึ่งระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรเป็นที่ปรึกษาของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือนักธุรกิจ โดยมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม


 


ส่วนข้อสามระบุว่า ผู้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา ในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสายงานข่าวที่ตนรับผิดชอบ


 


แนวปฏิบัติเหล่านี้ถือเป็นข้อห้ามที่วางไว้เพื่อให้สื่อมวลชนได้ยืนอยู่ ณ จุดยืนที่เคยยืน เพื่อได้เป็นหมาเฝ้าบ้านให้ประชาชนเหมือนเคย บทเรียนครั้งนี้จึงทำให้สังคมสื่อต้องร่วมมือกันวางข้อกำหนดให้มั่นว่า "ทั้งปัจจุบันและอนาคตสื่อจะไม่เป็นฐานรองอำนาจใคร" เพราะมีหน้าที่ยืนอยู่บนความเป็นกลางและคอยกำหนดทิศทางให้สังคมเดินเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เป็นอย่างอื่น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net