Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2549 กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอเอฟ) ซึ่งมีสำนักงานในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลกประจำปี 2549 ซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ปรากฏว่า เสรีภาพสื่อของไทยอยู่ในอันดับที่ 122 จากการจัดอันดับทั้งหมด 168 ประเทศ ร่วงลงจากอันดับ 107 เมื่อปีที่แล้ว และถือว่าลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง หลังจากได้รับการพิจารณาเสรีภาพสื่อให้อยู่ในอันดับ 59 เมื่อปี 2547


 



ทั้งนี้ อาร์เอเอฟ ได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อไทยอยู่ที่ 82 ในปี 2546 และอันดับ 65 ในปี 2545



ประเทศที่อาร์เอเอฟยกย่องว่ามีเสรีภาพสื่อมากสุดในโลก ได้แก่ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งครองอันดับ 1 ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตามมาด้วยสาธารณรัฐเช็กในอันดับ 5 ขณะที่เอสโตเนียและนอร์เวย์ครองอันดับ 6 ร่วมกัน


 



ส่วนประเทศที่มีเสรีภาพสื่อรั้งท้าย 3 อันดับ ได้แก่ เกาหลีเหนือ เติร์กเมนิสถาน และเอริเทรีย เช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้เติร์กเมนิสถานมีคะแนนแซงหน้าเอริเทรียขึ้นมา ปล่อยให้เกาหลีเหนือครองอันดับท้ายสุดเช่นเดิม


 



"น่าเสียดายที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีการกดขี่เสรีภาพสื่อร้ายแรงที่สุด ผู้สื่อข่าวในเกาหลีเหนือ เอริเทรีย เติร์กเมนิสถาน คิวบา พม่า และจีน ยังคงเสี่ยงสังเวยชีวิตหรือถูกคุมขัง ฐานพยายามแจ้งข่าวให้โลกภายนอกรับรู้" กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุ พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำของประเทศเหล่านี้ ยอมรับคำวิจารณ์และยุติการกวาดล้างสื่ออย่างเข้มงวด


 



รายงานของอาร์เอเอฟ ยังชี้ให้เห็นถึงเสรีภาพสื่อที่ลดลงในสหรัฐ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก โดยสหรัฐมีอันดับร่วงลงจากอันดับ 17 เมื่อปี 2545 มาอยู่อันดับ 53 ในปีนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างรัฐบาล ศาลรัฐบาลกลาง และสื่อมวลชน ขณะที่ฝรั่งเศสก็เผชิญปัญหาทำนองเดียวกัน ทำให้อันดับร่วงลง 24 ขั้นมาอยู่ในที่อันดับ 35 ในระยะ 5 ปีที่มีการจัดอันดับ


 



แนวคิดชาตินิยมที่ขยายตัวในญี่ปุ่น ส่งผลให้เสรีภาพสื่อลดลง 14 ขั้นจากปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 51 ส่วนเดนมาร์กซึ่งครองอันดับ 1 เมื่อปีที่แล้ว ร่วงไปอยู่อันดับที่ 19 เนื่องจากเหตุอื้อฉาว กรณีหนังสือพิมพ์ลงภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดของอิสลาม เมื่อปีที่แล้ว สร้างความโกรธเคืองแก่ชาวมุสลิมทั่วโลก



ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีเสรีภาพสื่อดีขึ้น ได้แก่ เฮติ โบลิเวีย บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ปานามา กานา และประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียหลายประเทศ


 


อย่างไรก็ดี อาร์เอเอฟชี้ว่า ปัจจุบันมีปัจจัยหลายด้านที่กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสรีภาพสื่อ ได้แก่ สงคราม สถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง ความวิตกต่อความมั่นคงของประเทศ และแนวคิดชาตินิยมที่เพิ่มขึ้น


 



อาร์เอเอฟ ยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ลิดรอนเสรีภาพสื่อในเอเชีย เพราะมีชาติเอเชียถึง 7 ประเทศติด 20 อันดับรั้งท้าย ได้แก่ เวียดนาม (155) ลาว (156) ปากีสถาน (157) เนปาล (159) จีน (163) พม่า (164) และเกาหลีเหนือ (168) ส่วนชาติเอเชียที่มีเสรีภาพสื่อน่าชื่นชม ได้แก่ นิวซีแลนด์ (18) เกาหลีใต้ (31) และออสเตรเลีย (35)


 



ด้านสถานการณ์เสรีภาพสื่อในภูมิภาคแอฟริกามีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนยุโรปและละตินอเมริกามีชาติที่ได้รับการจัดอันดับเหลื่อมล้ำกันมาก ตัวอย่างเช่น โปแลนด์ อยู่ในอันดับที่ 58 แต่สมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ชาติอื่นกลับรั้งอันดับสูงสุด ขณะที่โบลิเวียครองอันดับสูงสุดในหมู่ชาติละตินอเมริกาที่อันดับ 16 แต่คิวบาซึ่งเป็นสมาชิกร่วมภูมิภาคอยู่อันดับ 165

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net