บันทึกของฉันในวันปอซอ : ความอบอุ่นบนดินแดนแห่งการสูญเสีย

รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว

 

 

ช่วงฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม จะตรงกับเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมทั่วโลก อันเป็นเวลาที่ชนชาวมุสลิมทั้งหลาย จะต้องปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดเจริญรอยตามท่านศาสดา

 

ดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ที่ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พอถึงช่วงฤดูการถือศีลอด นับตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนตลอดทั้งคืน จะคึกคักไปด้วยผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อของกิน

 

ทว่า นั่นเป็นภาพในอดีต เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

 

13 กันยายน 2549 ฉันกำลังสัญจรอยู่บนถนนสายปัตตานี-ตากใบ ตลอดระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร จากปัตตานีถึงตากใบ ฝนตกเป็นช่วงๆ หนักบ้าง เบาบ้าง และบางพื้นที่ไม่มีวี่แววว่าจะตกเลย ทำให้รถต้องชลอตัวสลับกับเร่งความเร็วเพื่อไปให้ทันการละศีลอดร่วมกับชาวบ้านที่ตากใบในตอนเย็น

 

เราได้รับเชิญจากชาวบ้านที่นั่นให้ไปร่วมรับประทานอาหารละศีลอดด้วยกัน แม้ฉันจะนับถือศาสนาพุทธ แต่ด้วยความมีน้ำใจของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทำให้ฉันต้องเดินทางมา ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันได้รับเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมเช่นนี้ ฉันร่วมกิจกรรมการละศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมมาแล้วหลายครั้ง จนรู้สึกปลื้มปิติกับความเอื้ออาทรของพวกเขา การเห็นสีหน้าและแววตาของผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่นถือศีลอดมาตลอดทั้งวันขณะรับประทานอาหารมื้อแรก เป็นความสุขใจของฉันอย่างหนึ่ง ฉันชื่นชมพวกเขาและมั่นใจว่าเขาทั้งหลายจะได้รับบุญกุศลอย่างมหาศาลในความตั้งใจมั่นนี้

 

ตลอดสองข้างทางของถนนสายเอเชียทอดผ่านทุ่งนาซึ่งมีต้นข้าวเพิ่งเริ่มปักดำ เทือกเขา ที่ยังอุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ ผ่านย่านชุมชนซึ่งมีแม่ค้าขายของเรียงราย แต่ผู้คนบางตาในช่วงเย็นก่อนถึงเวลาละศีลอด

 

แม่ค้าหน้าเก่าหน้าใหม่ ส่งเสียงเรียกลูกค้าดังเป็นระยะๆ อาหารประเภทขนมหวาน หลายชนิดที่ไม่เคยมีวางขายในตลาดช่วงวันปกติ ถูกนำมาวางขายเกลื่อนตลาด ผึ้งบินวนไปวนมาเพื่อดูดดื่มน้ำหวานจากขนม โดยไม่สนใจผู้คนที่กำลังเดินจับจ่ายซื้อของ เหมือนกับคนที่เดินซื้อหาอาหารด้วยความเร่งรีบไม่สนใจใครอื่น

 

 ฝนที่ตกลงมาหนักบ้างเบาบ้างในช่วงเดือนรอมฎอน ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของเพื่อเตรียมอาหารสำหรับรับประทานหลังพระอาทิตย์ตกดิน ดูเงียบเหงา ผู้คนเร่งรีบกับการซื้อหา รีบซื้อรีบกลับ

 

สำหรับคนที่นี่ ปัญหาฝนตกไม่หนักเท่ากับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน           

 

ถึงแม้เหตุการณ์เหล่านั้น จะสร้างความหวั่นวิตกหวาดกลัว แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับผู้ศรัทธา การจับจ่ายซื้อของจึงเป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์

 

คณะของเรามุ่งหน้าไปที่หมู่บ้านจาเราะ ตำบลไพรวัลย์ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเปิดปอซอร่วมกับชาวบ้าน เพราะที่นั่นมีชาวบ้านจำนวนมากเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายม๊อบหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งตรงกับช่วงถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมพอดี ญาติพี่น้องที่เหลืออยู่ข้างหลังจึงรวมตัวจัดอาหารสำหรับเปิดปอซอชุดใหญ่

 

"ปอซอ" คือการถือศีลอด เป็นคำที่คนมุสลิมพื้นเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกเพี้ยนมาจาก "ปูวาซา" ในภาษามลายู ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับ หรือการอดกลั้น

 

"การถือศีลอด ไม่ได้หมายถึง งดรับประทานอาหารอย่างเดียว ผู้ถือสีลอดยังต้องทำความดี ด้วยการลดละการกระทำที่ไม่ดี ทั้งทางหู ตา จมูก ร่างกาย และทางความคิดด้วย" ตามที่เคยได้ยินมาจากรายการวิทยุที่นำเสนอเรื่องของเดือนรอมฏอน

 

ระหว่างทางที่รถของเราแวะเติมน้ำมัน พี่อายุบ หรือ มูฮัมมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการสถาบันข่าวอิศรา ลงซื้ออินทผลัมที่ซุปเปอร์มาเก็ตในบริเวณปั๊มน้ำมัน เพื่อนำไปฝากผู้ละศีลอด ตามที่ได้ตั้งใจไว้ก่อนออกเดินทาง

 

"ท่านนบีละศีลอดด้วยผลอินทผลัมสด หากไม่มีผลอินทผลัมสด ก็ละด้วยผลอินทผลัมแห้ง หากไม่มีอะไรเลย จะละศีลอดด้วยน้ำเปล่า" ความทรงจำในอดีตได้หวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อเห็นกล่องอินทผลัมในมือของพี่อายุบ

 

พี่อายุบ ผู้ไม่เคยเบื่อที่จะตอบคำถามว่า ทำไมต้องกินอินทผลัมก่อนที่จะกินอาหารชนิดอื่น บอกกับเราตั้งแต่วันแรกที่มีการถือศีลอด

 

พูดเรื่องนี้แล้วต้องพูดถึงการทำงานในสถาบันข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้ คนที่นี่ทำงานกันแบบกลมกลืน ทั้งที่มีทั้งนักข่าวที่นับถือศาสนาพุทธและเป็นชาวมุสลิม แต่เราไม่เคยรู้สึกแปลกแยกหรือแตกต่างใดๆ ชาวพุทธอย่างฉันสบายหน่อย เนื่องจากหลักศาสนาไม่ต้องเคร่งครัดเข้มงวดเหมือนอิสลาม ทำให้สามารถร่วมกิจกรรมกับพี่น้องชาวมุสลิมได้เกือบทุกอย่าง ทำให้ฉันได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสศาสนาอิสลามพอสมควร

 

ฉันว่าโลกของเราจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ศาสนา ความศรัทธาหรือความเชื่อของผู้อื่นบ้าง อย่างน้อยเมื่อเราเข้าใจก็สามารถอยู่ร่วมกับพวกเขาได้โดยไม่ไปแสดงความรังเกียจดูถูกดูแคลนศาสนาอื่น และฉันเชื่อว่าทุกศาสนามีจุดร่วมกัน

 

รถชะลอตัวในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำขัง คณะของเราไปถึงที่หมายก่อนเวลาละศีลอดประมาณ ครึ่งชั่วโมง เด็กๆและชาวบ้านมารวมตัวกันหลายคนแล้ว ผู้หญิงอยู่ในห้องเอนกประสงค์หมู่บ้าน ซึ่งบัดนี้ ถูกแปลงสภาพเป็นห้องครัว ต่างช่วยกันตักอาหารใส่จาน ส่งต่อๆกันเพื่อลำเลียงไปยังที่สำหรับเปิดปอซอ เต็นท์หนึ่งหลังพร้อมโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งรับประทานอาหาร ถูกจัดแต่งพร้อมที่จะลงมือรับประทานได้ทันที

 

เวลาประมาณ 6 โมงกว่าๆ เป็นช่วงเปิดปอซอ ซึ่งแต่ละวันเวลาจะไม่ตรงกัน แต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

 

เด็กๆกว่า 30 คนวิ่งเล่นรอบๆบริเวณเต็นท์ ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวอย่างสนุกสนาน ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงเตรียมยกสำรับกับข้าวไปวางไว้ตามจุดที่เตรียมไว้อย่างขยันขันแข็ง

 

บริเวณศาลาที่มีกระสอบทรายหลายสิบจัดเรียงเป็นกำแพงเพื่อเป็นที่กำบังสำหรับชรบ.เข้าเวรยามในยามค่ำคืน ถูกดัดแปลงเป็นที่นั่งกินข้าวอย่างง่าย

 

นอกเหนือจากเต็นท์ที่ชาวบ้านช่วยกันจัดรับรองแล้ว บริเวณบ้านเก่าๆที่ถูกปล่อยว่าง แต่สภาพยังดี ก็ถูกจัดให้เป็นที่กินข้าวเช่นกัน เพราะว่ามีคนมาร่วมเปิดปอซอกว่า 100 คน

 

ก่อนถึงเวลาละศีลอด เด็กๆที่อายุยังน้อย กินข้าวพลาง หยอกเล่นกันพลางตามประสา เพราะเด็กๆวัยนี้ยังไม่ต้องถือศีลอด จนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะพร้อม หรือผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน ส่วนผู้ชายเริ่มมีฝันเปียก(มีน้ำอสุจิ และเริ่มหลั่งออกมาตามธรรมชาติ)

 

ทันทีที่เสียงอาซานจากมัสยิดไพรวัลย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบริเวณเต็นท์ดัง ทุกคนต่างก็มุ่งหน้าไปที่สำรับกับข้าวตามจุดต่างๆ หากใครช้าแม้แต่คนเดียว เสียงเรียกหาจากคนที่กำลังเปิดปอซอจะดังไม่ขาดระยะ จนกว่าจะได้คำตอบว่ากินหรือไม่กิน

 

โต๊ะเก้าอี้ 2 แถวภายในเต็นท์เต็มทุกตัว ผู้ชายนั่งอีกฝั่ง ผู้หญิงนั่งอีกฝั่ง เพื่อไม่ให้ปะปนกัน

 

"ความหวานจากผลอินทผลัม จะทำให้กระเพาะดูดซึมได้ทันที" ความรู้จากวงรับประทานอาหารทยอยออกมาทีละนิดจากผู้รู้

 

และเท่าที่รู้มา ทางการแพทย์สมัยใหม่ก็ให้คำแนะนำเช่นเดียวกัน เพราะความหวานจากผลอินทผลัม จะทำให้การดูดซึมของร่างกายง่ายกว่าสารอาหารชนิดอื่น เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีอาหารตกถึงท้องมาทั้งวัน

 

แต่ละคนจะกินอินทผลัมแค่ 2 - 3 ลูก และตามด้วยขนมหวาน น้ำหวาน และอาหารคาว

 

นานๆถึงจะได้ยินเสียงพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ทุกคนคร่ำเคร่งอยู่กับการรับประทานและอยู่ในอาการสงบ มีหลายคนที่มาจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนใต้(ศวชต.) ที่เข้ามาดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามสารทุกข์สุขดิบทักทายกันด้วยเสียงเบาๆ

 

พี่ละม้ายหรือละม้าย มานะการ จากภาคประชาสังคม 3 จังหวัด ได้หยิบยกเรื่องที่จะนำข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัด เกี่ยวกับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อ คปค. หารือกับพี่โซรยา จามจุรี นักการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ในขณะที่เรากำลังเอร็ดอร่อยอยู่กับการรับประทาน

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร การยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน การติดตามคนหายสาบสูญ

 

ข้าวหมกไก่สีชมพูดูแปลกตาแต่รสชาติอร่อยไม่แพ้ข้าวหมกไก่สีเหลือง แต่ไม่ว่าจะอร่อยมากแค่ไหน อาหารก็ยังเหลืออยู่ดี ใช่ว่าคนที่อดอาหารมาทั้งวันจะกินได้เยอะ

 

"อาหารสำหรับคน 5 คนในวันปกติ จะเพียงพอสำหรับคน 10 คน ในช่วงถือศีลอด"

 

ถึงแม้คำนี้จะได้ยินไม่บ่อยนัก แต่ก็จำได้ดี เพราะทุกครั้งหลังจากที่เรากินกันอิ่มทุกคน แล้วอาหารยังเหลืออีกมากพอสมควร

 

เห็นอาหารที่เหลือตรงหน้าแล้วทำให้นึกย้อนไปถึงเสียงสั่งของพี่อายุบ ก่อนที่จะออกไปซื้ออาหารสำหรับละศีลอดทุกครั้ง

 

"ไม่ต้องซื้อมาเยอะ"

 

คำนี้เราได้ยินบ่อยมาก บางครั้งก็รู้สึกฉงน เนื่องจากทุกคนกำลังหิว หากซื้อมาน้อยคงไม่พอรับประทาน แต่เมื่อผ่านไปหลายครั้งทำให้ฉันเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ขณะที่ทุกคนกำลังหิวจึงซื้ออาหารตามใจอยากมาจนเกินพอดี เพราะบางครั้งคนที่หิวจัดๆ กลับกินอาหารได้ไม่มาก นั่นก็เพราะกระเพาะอาหารของแต่ละคนปรับตัวไม่ทันนั่นเอง ทุกครั้งอาหารจึงเหลือกินเหลือเก็บจนรู้สึกเสียดาย

 

หลังจากรับประทานอาหารเสร็จผู้ชายทยอยไปละหมาดที่มัสยิด ส่วนผู้หญิงก็ทยอยไปละหมาดตามบ้านคนที่อยู่บริเวณนั้น ส่วนคนที่ไม่ไปละหมาดก็ช่วยกันเก็บอาหารและจานที่เหลือไปเก็บและทำความสะอาด

 

รอยยิ้มของผู้ศรัทธาและผู้ร่วมงานแสดงออกมาว่า อาหารมื้อนี้เป็นมื้อที่อร่อยที่สุด เพราะเราทุกคนได้กินกันพร้อมหน้าพร้อมตา ถ้าหากว่าเป็นญาติพี่น้องหรือคนรู้จักกันเป็นผู้ปรุงอาหารเอง เราก็จะเห็นภาพการยื่นข้าวยื่นแกงแบ่งกันกิน

 

อาหารที่เหลือถูกตักใส่ถุงแบ่งกลับไปกินที่บ้าน ความเอื้ออาทรที่แต่ละคนหยิบยื่นให้กันในรูปแบบต่างๆ ทำให้บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวผ่อนคลายลง แถมยังรูสึกได้ถึงความอบอุ่นที่ก่อตัวอยู่รอบกาย

 

เวลานี้ดูทุกคนมีความสุข ร่าเริง เสียงหัวเราะหยอกเย้าของกันและกัน ช่างแตกต่างกับช่วงเวลากลางวัน ที่ดูเงียบเหงา สงบ โดยสิ้นเชิง

 

ความมืดค่อยๆ กลืนทุกสรรพสิ่งหายไป ทิ้งไว้แต่ความเงียบเหงา ความหวาดกลัวของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับคำภาวนาขอให้ความสงบสุขคืนกลับสู่ถิ่นนี้โดยเร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท