Skip to main content
sharethis


 


 


ประชาไท - 21 ต.ค.2549         ในงานสมัชชาสังคมไทย (TSF: Thai Social Forum) ครั้งที่1 ในวันแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการจัดเวทีเรื่อง "เศรษฐศาสตร์ทางเลือก" เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ในทางฐานะทางเลือกในการดำเนินนโยบายของประเทศ


 


วิทยากร เชียงกูล  ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่พูดถึงกันเป็นเพียงปรัชญาการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้พูดถึงการจัดโครงสร้างอำนาจทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การผลักดันระบบสหกรณ์ อีกทั้งคำว่าพอเพียงยังเป็นอัตวิสัย ขึ้นอยู่กับการตีความ ดังจะเห็นว่า สำหรับรองนายกฯ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์แล้ว ความพอเพียงไม่ได้ขัดกับการค้าเสรี การทำเอฟทีเอ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่เขาอาจทำให้ทุนนิยมก้าวช้าลงอีกหน่อย


 


วิทยากรระบุว่า ปัญหาของประเทศไทยคือการเป็นทุนนิยมแบบผูกขาดที่อำนาจอยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่บริษัท การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม เอาเปรียบแรงงาน ทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเป็นทุนนิยมบริวารของประเทศพัฒนาแล้ว 


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงทางเลือกทางเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า ในอดีตสังคมไทยจะนึกถึงระบอบสังคมนิยม ซึ่งก็มีจุดอ่อนในตัวเอง ดังนั้น เราต้องผสมผสานจุดดีของทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกัน ซึ่งระบบสหกรณ์นับเป็นความพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของทุนนิยม และสหกรณ์แบบประชาธิปไตยก็กำจัดจุดอ่อนของสังคมนิยมด้วย ทั้งหมดนี้ประเทศไทยมีศักยภาพทำได้


 


"มันไม่ใช่การปิดประเทศ แต่เปิดให้มันแคบลงหน่อย พึ่งพาต่างประเทศให้น้อยลง นักเศรษฐศาสตร์ไม่สนใจตลาดภายในประเทศ มุ่งแต่ส่งออก ถ้าทำให้คนมีการศึกษา มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเป็นกำลังซื้อมหาศาล" เขากล่าว 


 


วิทยากรสรุปว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นอยู่กับ 1.ความมีประสิทธิภาพ 2.ความเป็นธรรม ซึ่งระบบทักษิณสร้างความเป็นธรรมแบบฉาบฉวย และ 3.ความยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดเรื่องพวกนี้ประชาชนต้องเป็นผู้ผลักดันด้วยตัวเอง อย่าไปคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่พูดจาดีแล้วจะแก้ปัญหาได้


 


ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุที่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจทางเลือกว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาพบความผิดพลาดของระบบทุนนิยมโลกหลายประการในการเร่งรวยให้คนที่รวยแล้ว ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดึงคนออกจากท้องถิ่น ทำลายสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ในการแลกเปลี่ยนสินค้าเพียงด้านเดียว ไม่สนใจมิติอื่นๆ ทำให้เกิดปรากฏทางเลือกขึ้นแทบทุกมุมโลก เช่น ขบวนการอาสาอยู่อย่างเรียบง่ายในแคนาดา หมู่บ้านนิเวศในหลายประเทศ โดยผู้คนจำนวนมากต้องการมีเศรษฐกิจขนาดเล็กและไม่เป็นทางการ


 


สำหรับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสในหลวงนั้น ฐิติพรกล่าวว่า เรื่องนี้ถูกตีความอย่างหลากหลาย  ตั้งแต่กลุ่มกระแสวัฒนธรรมสังคม เน้นการพึ่งตนเองที่กู้ความสมดุลคืนมา ไม่เบียดเบียนตัวเอง คนอื่น ธรรมชาติ จนกระทั่งการตีความสอดคล้องกับทุนนิยม


 


อย่างไรก็ตาม เธอระบุถึงแก่นแกนของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่พอจะสรุปได้ว่าคือการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และเป็นแนวคิดที่ไม่ปฏิเสธคุณค่าอื่นๆ ในระบบการผลิต ไม่ปฏิเสธศีลธรรม จิตวิญญาณ


 


ฐิติพรกล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็จะมีคำถามยอดฮิตว่าเอามันมาทดแทนทุนนิยมได้หรือ ซึ่งก็คงต้องยอมรับว่าเริ่มแรกคงต้องอยู่ร่วมกัน แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้นต้องรู้เท่าทันทุนนิยม และทดลองทางเลือกต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามจริต ความสามารถของแต่ละกลุ่ม ซึ่งอาจมีหลายระดับของทางเลือก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมเตือนตัวเองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มจากจุดเล็กๆ เสมอ


 


พูลศักดิ์ สมบูรณ์  ชาวนาบ้านโนนยาง อ.กุดชม จ.ยโสธร กล่าวว่า ในทัศนะของเขาเศรษฐกิจพอเพียง แปลว่าพออยู่พอกิน ครอบครัวมีความสุข ไม่ต้องไปขายแรงงาน พ่อแม่บรรพบุรุษเคยทำอะไรถ่ายทอดให้ ก็รักษาไว้และทำต่อไป


 


"ผมว่าการแบ่งปัน การมีญาติ มีเพื่อนพ้องเยอะๆ ก็มีความสุข กิจกรรมของผมเยอะแยะ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ทำนา ผมไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่ท้องถิ่นไม่เหลียวแลผมเท่าไหร่ อบต.ไม่เคยมาสนใจ คนไกลๆ ดูให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก แต่ในท้องถิ่นจริงๆ ทางการไม่สนใจ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ ถ้ารากหญ้าไม่พอเพียง เมื่อไม่พอเพียงมันจะเกื้อกูลกันได้อย่างไร" พูลศักดิ์กล่าว


 


เขาระบุด้วยว่า อยากให้มีโรงเรียนของชาวบ้านทุกหมู่บ้าน เป็นโรงเรียนเล็กๆ ของชาวนาที่นำองค์ความรู้ที่แต่ละคนมีมาแลกเปลี่ยนกันสักเดือนละครั้ง ปลูกข้าวก็ต้องเรียนรู้ มีเมล็ดพันธุ์พืชก็เอามาปันกัน


 


"ในวัฒนธรรมชาวบ้าน การเอื้ออาทรมาอันดับหนึ่ง เงินเป็นอันดับถัดไป และเราประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยวิธีนี้" ชาวนาจากยโสธรกล่าว


 


ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนอโศก กล่าวว่า ชุมชนอโศกเน้นการพึ่งตนเอง และยึดธรรมะเป็นหลักในการจัดการ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2513 และขยายจนปัจจุบันมีคนลงทะเบียนถึง 20,000 คน มีกลุ่มต้นแบบในหลายจังหวัด มีการจัดการเป็นองค์รวมทั้งระบบและเน้นการพัฒนา "คน" ให้ยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิตเป็นพื้นฐาน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net