Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2 พันคน รวมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) มีรายละเอียด ดังนี้


         


0 0 0


 


ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการสรรหา เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีจำนวนไม่เกินสองพันคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกสมาชิกด้วยกันเอง ให้เหลือจำนวนสองร้อยคน แล้วให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกให้เหลือหนึ่งร้อยคน เพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น


         


บัดนี้ สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ โดยคำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาควิชาการจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเหมาะสมและคำนึงถึงระยะเวลาที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมัชชาแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการต่อไปโดยเร็ว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้


         


ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า "กดส." ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตามที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมอบหมายหรือผู้แทนเป็นประธานคนหนึ่ง และกรรมการ ได้แก่ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนไม่เกินแปดคน ซึ่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์การ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น สมาชิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดังกล่าวเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ


         


ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้


          (1) จัดประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเลือกผู้แทนกลุ่มหรือภาคต่างๆ


          (2) กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนต่างๆ ตามความจำเป็น


          (3) ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นผู้แทนกลุ่มหรือภาค


          (4) จัดทำบัญชีรายชื่อเสนอประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ


          (5) ส่งผู้แทนเข้าสังเกตการณ์การสรรหาผู้แทนของกลุ่มหรือภาค


          (6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามความจำเป็น


          (7) ให้คำแนะนำและวินิจฉัยการดำเนินการขององค์กรหรือคณะบุคคล และในกรณีสมควรอาจสั่งให้มีการสรรหาผู้แทนใหม่ โดยคำนึงถึงกรอบระยะเวลาอันจำกัด คำวินิจฉัยของ กดส.ให้เป็นที่สุด


         


ข้อ 2 ผู้ที่จะได้รับเลือกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้


          (1) เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด


          (2) อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์


          (3) ไม่เป็นรัฐมนตรี


          (4) ไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


          (5) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ภายในเวลาสองปีก่อนวันได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ


         


ข้อ 3 ให้องค์กรและคณะบุคคลตามบัญชี 1 ท้ายประกาศนี้ดำเนินการเลือกกันเองให้ได้จำนวนตามที่กำหนดไว้ในบัญชี 1 ท้ายประกาศนี้ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาและตามวิธีการที่ กดส.กำหนด


         


ในกรณีรายชื่อที่เสนอมาซ้ำซ้อนกันหรือปรากฏว่าผู้ใดขาดคุณสมบัติตามข้อ 2 ลาออกหรือเสียชีวิต กดส.มีอำนาจตัดรายชื่อนั้นออกโดยมิต้องจัดให้มีการเลือกหรือเสนอชื่อผู้อื่นแทน


         


ข้อ 4 เมื่อการเลือกตามข้อ 3 แล้วเสร็จ ให้องค์กรและคณะบุคคลผู้ได้รับมอบหมายตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ดำเนินการจัดส่งรายชื่อพร้อมทั้งข้อมูลตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นหนังสือภายในสองวันโดยจัดส่งทางโทรสาร ไปรษณีย์ หรือนำส่งด้วยตนเอง


 


ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการสรรหาได้ทันตามกำหนดเวลาในข้อ 3 หรือมิได้จัดส่งรายชื่อภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร หรือมีการตัดรายชื่อบุคคลใดตามข้อ 3 วรรคสองเป็นเหตุให้รายชื่อผู้แทนองค์กรหรือคณะบุคคลว่างลง ให้จำนวนที่ขาดหายไปเป็นจำนวนที่ต้องดำเนินการต่อไปตามข้อ 5


         


ข้อ 5 ให้ กดส.แบ่งจำนวนที่เหลือจากการเสนอตามข้อ 3 และข้อ 4 ออกเป็นสองส่วน มีจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกันที่สุดและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อส่วนแรกไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเสนอส่วนที่เหลือร่วมกับรายชื่อส่วนของคณะรัฐมนตรีต่อ กดส.ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากคณะรัฐมนตรี


 


การเสนอรายชื่อตามข้อนี้ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมที่หลากหลายของประชาชน ในแต่ละกลุ่มอาชีพ จังหวัดหรือภูมิภาคตามความสันทัดจัดเจนในการยกร่างกฎหมาย หรือวิชาการด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์หรือนิติศาสตร์ โดยเน้นการเพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่อตามข้อ 4 ที่ยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง


 


ข้อ 6 เมื่อสรรหาได้จำนวนบุคคลครบถ้วนตามที่ต้องการแล้ว ให้ กดส.จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลทั้งหมด โดยจำแนกเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ทั้งนี้ ในแต่ละภาคให้เรียงรายชื่อตามตัวอักษร แล้วเสนอประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่อไป


          


เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ส่งเรื่องให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป


          


ก่อนการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หากตำแหน่งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้สมัชชาแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มี


         


.................................


 


บัญชี 1


ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการจำนวน 2,000 คน


         


ประเภทที่ 1 ผู้แทนภาคเศรษฐกิจ-สังคม จำนวน 767 คน


(1) ผู้แทนองค์กรด้านการเกษตร เช่น การทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การประมง การแปรรูปสินค้าเกษตรชุมชนหรืองานเกษตรกรรม จังหวัดละ 2 คน จำนวน 152 คน


         


(2) ผู้แทนองค์กรด้านการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมือง รวมทั้งการระเบิดหรือย่อยหิน การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง การผลิตไม้ เฟอร์นิเจอร์กระดาษ การผลิตเคมีภัณฑ์ ยา ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม ยางธรรมชาติ แก้ว ปูนซีเมนต์ เซรามิค วัสดุก่อสร้าง อัญมณี เครื่องประดับ โลหะ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ หรือการผลิตและอุตสาหกรรมอื่นๆ จังหวัดละ 2 คน จำนวน 152 คน


         


(3) ผู้แทนองค์กรด้านการบริการ เช่น กิจการด้านการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร การโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การนำเข้า-ส่งออก การค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศ การท่องเที่ยว การกีฬาและนันทนาการ ศิลปิน นักร้อง นักแสดง นักประพันธ์ จังหวัดละ 2 คน จำนวน 152 คน


         


(4) นายกสภา ประธานสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะเดียวกัน หรือผู้แทนซึ่งมีกฎหมายจัดตั้ง องค์กรละหนึ่งคน ได้แก่ เนติบัณฑิตยสภา สภาทนายความ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาวิศวกร สภาสถาปนิก แพทยสภา สัตวแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุรุสภา สภาวิชาชีพบัญชี สภาการเหมืองแร่ สภาเภสัชกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 18 คน


        


(5) ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งละหนึ่งคน (45 แห่ง) ซึ่งกระทรวงแรงงานจัดให้เลือกกันเอง ให้เหลือ 20 คน ผู้แทนสหภาพแรงงาน ภาคธุรกิจเอกชนแห่งละหนึ่งคน (1,372 แห่ง) ซึ่งกระทรวงแรงงานจัดให้เลือกกันเองให้เหลือ 76 คน จำนวน 96 คน


 


(6) ผู้แทนสื่อมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเลือก 15 คน สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจัดให้เลือกกันเองให้เหลือสาขาละ 15 คน จำนวน 45 คน         


         


(7) ผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิจดทะเบียนซึ่งมิใช่องค์กรหรือบุคคลตาม (1)-(6) และซึ่งดำเนินการในเรื่องการพัฒนาชุมชน การสาธารณสุข การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าหรือพันธุ์พืช การศึกษาศิลปวัฒนธรรมและศาสนา การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ การส่งเสริมรายได้และอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค หรือการสาธารณประโยชน์อื่น จังหวัดละ 2 คน จำนวน 152 คน


         


การดำเนินการตาม (1) (2) (3) และ (7) ในแต่ละจังหวัดให้มีคณะกรรมการดำเนินการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติประจำจังหวัด...เรียกโดยย่อว่า "กดส.ประจำจังหวัด..." ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าศษลประจำจังหวัดหรือผู้แทน 1 คน อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชน 1 คน อัยการจังหวัดหรือผู้แทน 1 คน วัฒนธรรมจังหวัดหรือผู้แทนแรงงานจังหวัดหรือผู้แทน ร่วมกันจัดให้องค์กรตาม (1) (2) (3) และ (7) มาประชุมเลือกกันเองในแต่ละประเภทให้ได้จังหวัดละ 2 คน ต่อประเภท โดยบุคคลหรือองค์กรนั้นจะไปเลือกในอีกประเภทหนึ่งในจังหวัดเดียวกันไม่ได้ ในกรณีที่มีการคัดค้านก่อนเลือก ให้คณะกรรมการโดยเสียงข้างมากเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้าน คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุดและให้ดำเนินการเลือกไปตามคำวินิจฉัยนั้น


         


องค์กรตาม (1) (2) (3) และ (7) หมายถึงองค์กรผู้มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


         


ประเภทที่ 2 ผู้แทนภาครัฐ จำนวนรวม 318 คน


(1) ผู้แทนกระทรวง กระทรวงละ 1 คน จำนวน 20 คน


 


(2) ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนกองบัญชาการทหารอากาศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 5 คน


 


(3) ผู้แทนข้าราชพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการอัยการ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ซึ่งองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการแต่ละประเภทเลือกองค์กรละ 5 คน โดยให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลแต่ละประเภทดำเนินการ จำนวน 75 คน


 


(4) หัวหน้าสูงสุดของรัฐวิสาหกิจซึ่งเลือกกันเอง โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการ จำนวน 20 คน


 


(5) หัวหน้าสูงสุดขององค์การมหาชนซึ่งเลือกกันเอง โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร.ดำเนินการ จำนวน 10 คน


 


(6) ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเลือกกันเอง โดยให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ จำนวน 36 คน


 


(7) กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเลือกกันเองจังหวัดละ 2 คน โดยให้ กดส.ประจำจังหวัด...แต่ละจังหวัด ดำเนินการ จำนวน 152 คน


 


ประเภทที่ 3 ผู้แทนภาคการเมืองและการปกครองท้องถิ่น จำนวน 227 คน


(1) ผู้แทนพรรคการเมืองพรรคละหนึ่งคน จำนวน 44 คน


         


(2) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเลือกกันเองจำนวน 36 คน


         


(3) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและประธานสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 2 คน


          


(4) ผู้แทนนายกเทศมนตรีเทศบาลต่างๆ ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 72 คน


         


(5) ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเลือกกันเองจำนวน 72 คน


         


การดำเนินการตามข้อนี้ (2) (4) (5) ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ


         


(6) นายกสภาเมืองพัทยา จำนวน 1 คน


         


ประเภทที่ 4 ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจำนวน 16 คน


(1) ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 2 คน


         


(2) ผู้แทนศาลยุติธรรม จำนวน 2 คน


         


(3) ผู้แทนศาลปกครอง จำนวน 2 คน


         


(4) ผู้แทนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จำนวน 2 คน


        


(5) ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 2 คน


         


(6) ผู้แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 2 คน


         


(7) ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จำนวน 2 คน


         


(8) ผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 2 คน


         


ประเภทที่ 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 302 คน


(1) ผู้แทนอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2539 ซึ่งเลือกกันเอง จำนวน 10 คน


 


(2) อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและอธิบดีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จำนวน 140 คน


         


(3) ผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยที่มีคณะ ภาควิชาหรือสาขาวิชาดังกล่าวเลือกแห่งละ 2 คน จำนวน 152 คน


         


ประเภทที่ 6 นิสิตนักศึกษา จำนวน 140 คน


นายกองค์การบริหารนิสิตนักศึกษาหรือตำแหน่งในลักษณะเดียวกันของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนจำนวน 140 คน


         


รวมทั้งหมด 1,770 คน


         


ประเภทที่ 7 ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่คณะรัฐมนตรีสรรหาจำนวน 115 คน


         


ประเภทที่ 8 ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่ คมช.สรรหาจำนวน 115 คน


         


ประเภทที่ 9 ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่เหลือจากการสรรหาตามข้อ 5 โดยให้แบ่งจำนวนที่เหลือมีจำนวนเท่ากัน หรือใกล้เคียงกันที่สุดเป็นสองส่วน โดยให้คณะรัฐมนตรี และ คมช.เป็นผู้สรรหาเพิ่มแต่ละส่วนจนครบ 2,000 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net