Skip to main content
sharethis



 



 


ประชาไท - 21 ต.ค. 2549 นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน ได้กล่าวถึงกรณีการดำเนินงานของโครงการพืชสวนโลก หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า โครงการนี้มีประเด็นต้องตรวจสอบหลายประเด็น ทั้งการไม่เคารพกฎหมายละเมิดรัฐธรรมนูญ, ความไม่โปร่งใสในการออกแบบ, ควบคุมงานและการประมูลงานก่อสร้าง ปัญหาพันธุ์พืชต่างถิ่นในเขตอุทยานฯ ปัญหาน้ำแล้งและการแย่งชิงน้ำ


 


โดยในประเด็นทุจริตโดยนักการเมืองนั้น เริ่มตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2546 ซึ่งมีการเชิญบริษัทฟีลกรีนดีไซน์ จำกัด ในเครือของสวนนงนุชเข้าร่วมด้วย โดยเป็นผู้เสนอผลการศึกษาเบื้องต้น และต่อมาได้เพิ่มเติมบริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ช.การช่าง เข้าร่วมประชุม และเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับจ้างจากกรมวิชาการเกษตรในการออกแบบและควบคุมงาน ในสัญญาจ้างก็น่าสนใจที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างอยู่บ้านเลขที่และสถานที่เดียวกัน


 


นอกจากนั้น หลังจากรับงานออกแบบในวงเงิน 35 ล้าน โดยข้ออ้างว่า มหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีคุณภาพพร้อมทำงาน แต่กลับนำไปจ้างบริษัทฟีลกรีนดีไซน์ จำกัด และบริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ปจำกัดต่อ ในราคาต่ำกว่า ทั้งที่ในสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามรับเหมาช่วงงาน โอนงานให้ผู้อื่น


 


ต่อมา เมื่อเปิดประมูลงาน มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 บริษัท คือ บริษัทชิโน-ไทยฯ บริษัทอิตาเลียน-ไทยฯ และบริษัทร่วมค้า CKNNL ซึ่งก็คือบริษัท ช.การช่าง-นงนุช โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัทร่วมค้า CKNNL ซึ่งชนะการประมูลด้วยราคาราว 1,200 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาประมูล 100 บาท จากนั้นมีการต่อรองลดราคาลงมาราว 100 ล้านบาท แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับลดปริมาณหลังประมูลราคาอีก


 


ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยฯ ที่รับจ้างคุมงานก่อสร้างในวงเงิน 20 ล้านบาท แต่ไปจ้างบริษัทอินเด็กซ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ช.การช่างต่อในราคาเพียง 14 ล้านบาท ทั้งที่ในสัญญาระบุว่า ผู้ควบคุมงานต้องไม่มีส่วนได้เสียกับผู้รับเหมาก่อสร้าง สรุปได้ว่าทั้งผู้ออกแบบ กำหนดราคา ควบคุมงาน และผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นคนกลุ่มเดียวกัน โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นนายหน้าให้ผู้รับเหมาเท่านั้น  


ด้านนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาทุจริตในการจัดงานพืชสวนโลกเช่นเดียวกัน ว่ามีการทำอย่างเป็นขบวนการมาตั้งแต่ต้น เริ่มจากการยกร่างทีโออาร์ การคัดเลือกบริษัทเอกชนไปจนถึงการปรับลดเนื้องานก่อสร้าง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยกิจการร่วมค้า CKNNL เป็นผู้เสนอราคาในวงเงินต่ำสุดคือ 1,259,850,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางแค่ 100 บาท


 


ต่อมา นายมนตรี ค้ำชู อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะรองประธานคณะทำงานออกแบบผังแม่บทและสิ่งก่อสร้างการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นผู้เสนอต่อที่ประชุมให้มีการปรับลดงานการก่อสร้างลง 6 รายการ รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งเขาได้คัดค้านในที่ประชุม ปรากฏว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ สมัยนั้น และนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้มีการปรับลดเนื้องาน


 



ในขณะที่ ศ.ดร.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ออกมาย้ำอย่างต่อเนื่องว่า มีปัญหาทุจริตจริง โดยบริษัทเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประมูลจัดงานครั้งนี้ มีการวางแผนเตรียมกล้าพันธุ์ไม้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลจัดหาพันธุ์ไม้ในงานพืชสวนโลก จึงเห็นได้ว่า ปัญหาทุจริตในโครงการพืชสวนโลกมีการวางแผนกันเป็นขบวนการ


 



ด้าน นายรุ่งเรือง อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการมาตรวจติดตามความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงกรณีการสอบสวนหลังมีข้อร้องเรียนการทุจริตในโครงการนี้ว่า ขณะนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเตรียมความพร้อมของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกในสมบูรณ์แบบในวันพิธีเปิดงาน จึงอยากให้ทุกส่วนทุ่มเทกับการทำงานตรงนี้ก่อน ส่วนการดำเนินการสอบสวนกรณีทุจริตจะรอให้ผ่านพ้นพิธีเปิดงาน ซึ่งน่าจะเป็นหลังวันที่ 3 พ.ย.2549 จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล 


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการบริหารจัดการพื้นที่ทั้ง 470 ไร่ หลังสิ้นสุดงานพืชสวนโลกอย่างไรต่อไปนั้น นายรุ่งเรืองกล่าวว่า ได้มีการหารือภายในกระทรวงฯ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่สุด อย่างไรก็ตามจะต้องมีการกำหนดแนวทางบริหารจัดการและดูแลพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะลงทุนไปมหาศาล ต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุนไป      


 


 


…………………………


ข้อมูล-ที่มา


พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ 21-27 ต.ค.2549


มติชน 18 ต.ค. 2549


ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 19 - 22 ต.ค. 2549 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net