ศาลปกครองสั่งไอซีทีคลายบล็อก เว็บ ม.เที่ยงคืน เอกชนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายซ้ำ

ศาลปกครองกลางกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว คดี "ม.เที่ยงคืน" ฟ้อง "ไอซีที" โดยศาลสั่งคลายบล็อกเว็บไซต์ ด้านตัวแทนไอซีทียอมรับสั่งปิดเว็บ 18 ชั่วโมงจริง

21 ต.ค. 2549 เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 ตุลาคม ศาลปกครองนัดไต่สวนคู่ความเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่นายสมเกียรติ ตั้งนโม ผู้ดูแลเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) ยื่นฟ้องกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) เป็นผู้ถูกฟ้อง ในความผิดเรื่องละเมิด เป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ออกคำสั่งปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันที่ 29 ก.ย.2549 - เวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.2549 โดยไม่ให้เหตุผลใดๆ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดสร้างความเสียหายต่อผู้ฟ้องในสิทธิขั้นพื้นฐานทางวิชาการ และการให้- รับการบริการ โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งระงับการให้บริการเว็บไซต์มหาวิทยาลัย พร้อมกับมีคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวการระงับการบล็อกเว็บไซต์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้

ศาลรับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำหมายเลข 1811 / 2549 ซึ่งยื่นฟ้องวันที่ 9 ต.ค.2549 ซึ่งในการไต่สวนวันนี้นายสมเกียรติ ผู้ฟ้อง พร้อมพยานอีก 1 ปาก คือตัวแทนบริษัทไทยอิส ดอทคอม (www.thaiis.com) ผู้เปิดพื้นที่บนเว็บไซต์การบริการให้กับ ม.เที่ยงคืน เข้าให้ถ้อยคำต่อตุลาการศาลปกครองกลาง ขณะที่กระทรวงไอซีที มอบอำนาจให้ผู้ดูแลการบล็อกเว็บไซต์ และนิติกร เป็นตัวแทนให้ถ้อยคำต่อศาล โดยการไต่สวนใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมงเศษจึงแล้วเสร็จ ซึ่งศาลมีคำสั่งให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการบล็อกเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ภายหลังนายสมเกียรติ เปิดเผยผลการไต่สวนว่า วันนี้ (20 ต.ค.) ตัวแทนกระทรวงไอซีที ได้แถลงยอมรับต่อศาลว่า ออกคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์จริงตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันที่ 29 ก.ย.2549 - เวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.2549 แต่หลังจากนั้นได้ยกเลิกการบล็อกเว็บไซต์เนื่องจากสถานการณ์ยึดอำนาจได้คลี่คลาย

แต่ไม่ทราบว่าการยกเลิกการบล็อกนั้นได้คลายการล็อก IP ทั้ง 30 เว็บไซต์ของบริษัทไทยอิสดอทคอมครบถ้วนหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลรับทราบข้อเท็จจริงจากกระทรวงไอซีทีแล้ว จึงออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงไอซีทีคลายบล็อกของเว็บไซต์ ม.เที่ยงคืนแล้ว

สำหรับความคืบหน้าการไต่สวนคดีเนื้อหาแห่งคดีนั้น ศาลมีคำสั่งให้กระทรวงไอซีที ยื่นคำให้การคัดค้านต่อศาลแล้วภายใน 30 วัน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า แม้ว่าตัวแทนกระทรวงไอซีที จะยอมรับว่ามีการบล็อกจริง แล้วต่อมาได้คลายบล็อกก็ตาม แต่ข้อเท็จจริง ไม่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น จะต้องให้มีการไต่สวนและให้ศาลมีคำพิพากษาเพื่อสร้างความชัดเจนต่อไป เพราะการกระทำของกระทรวงไอซีทีนั้นกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับบริการทางวิชาการ นอกจากนี้ การกระทำของกระทรวงไอซีที ยังส่งผลต่อผลทางธุรกิจของเว็บไซต์ไทยอิส ดอทคอมด้วย เนื่องจากบริษัทขายพื้นที่ให้บริการแก่บริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ ม.เที่ยงคืนเท่านั้น

ดังนั้น วันนี้ (20 ต.ค.) บริษัทไทยอิสดอทคอม จึงยื่นคำร้องขออนุญาตศาล เข้ามาเป็นผู้ร้องสอด ในฐานะผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดด้วย เพื่อเรียกค่าเสียหายมูลค่าทางธุรกิจเป็นเวลา 18 ชั่วโมง นับเวลาการบล็อกเว็บไซต์ตั้งแต่ 19.00 น.ของวันที่ 29 ก.ย.2549 - เวลา 15.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.2549 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,800 บาท

…………………………………
เรียบเรียงจาก : http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท