Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 



 


ที่มาของภาพ : Lanna independence media


 


 


... ผมรู้สึกตลกไม่ออก ( ทั้งๆ ที่พยายามจะเป็นคนตลกให้ได้ทุกสถานการณ์ ;-) เมื่อได้อ่าน "ข่าว 2 ข่าว" ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวชี้บ่งชุดความคิดหลักของคนใน "สังคม 2 สังคม"


 


ข่าวแรกเป็นตัวแทนของสังคมที่ยังมีแนวคิดเหยียดความเป็นอื่น เอาเปรียบคนอื่น กีดกันคนอื่น ส่วนอีกข่าวเป็นความพยายามสลายความเกลียดชัง สลายการเอาเปรียบ สลายการกีดกัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์อย่างแท้จริงบนโลกใบนี้ โดยกลุ่มคนเล็กๆ ที่หลากหลาย


 


ที่ตลกไม่ออกเพราะขณะที่ตำรวจไทยกำลังไล่จับแรงงานต่างด้าวในวันออกพรรษา วิ่งไล่ตามกันปุเลงๆ รอบจังหวัดเชียงใหม่บ้านเกิดผม โดยมีชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ที่ถูกลัทธิ "protectionism*" ตามเชียร์ตำรวจเหล่านั้น


 


*ซึ่งลัทธิกีดกันคนอื่นแบบนี้ มันได้รับอานิสสงค์จากตำราเรียนประวัติศาสตร์สายดำรงราชานุภาพ และ ภาพยนตร์เรื่อง "บางระจัน" ;-) ที่ให้ความรู้สึกว่าเผ่าพันธุ์ไทยมันยิ่งใหญ่ซะเหลือเกิน! เหล่านี้มันเป็นตัวเพาะบ่มความเป็นชาตินิยม หาคู่ตรงข้ามต่างชาติพันธุ์ --- และมันทำให้เราเกลียดเพื่อนบ้าน - ดูถูกเพื่อนบ้าน มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ชนชาติไทยสมัย Modern


 


แต่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เหล่านักกิจกรรมแนว "อนาธิปไตย" หลายประเทศบนโลกใบนี้ กลับทำในสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเรา --- คือพวกเขากำลังรณรงค์ต่อต้านการกีดกันแรงงานอพยพ ผู้อพยพ สร้างความสมานฉันท์ระหว่าง "มนุษย์กับมนุษย์" สร้างสันติภาพอันแท้จริงตามประสาคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจวาสนาอะไร พวกเขาร่วมมือกันทำอยู่บนท้องถนน, ในทะเล, หรือแม้แต่บนสะพานระฟ้า ด้วยวิธีแปลกๆ ตามวิถีของนักอนาธิปไตย!


000


 


 


เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจไทยต้องตามไล่จับแรงงานต่างด้าว โดยที่มีชาวเชียงใหม่บางส่วนช่วยเชียร์อยู่นั้น นักเคลื่อนไหวทั่วโลกกลับร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ต่อต้านการกีดกันแรงงานอพยพและผู้อพยพ ภายใต้ชื่อการรณรงค์ "migration action-day"


 


การรณรงค์เกิดขึ้นใน 30 กว่าเมืองใหญ่ ทั้งในยุโรปและแอฟริกา แต่ขอย่นย่อและขอนำเสนอพอสังเขปดังนี้...


 


Athens (ประเทศกรีซ)


 



 


ที่มาของภาพ : athens.indymedia.org


ในกรุง Athens มีการเดินขบวนรณรงค์เพื่อให้สิทธิแก่พลเมืองที่เกิดในประเทศกรีซแต่กลับไม่ได้รับสัญชาติ เนื่องจากพ่อแม่เป็นผู้อพยพ โดยมุ่งหวังให้รัฐรับรองความเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย


มีผู้เข้าร่วมในการรณรงค์ประมาณ 500 กว่าคนรวมทั้งชาวกรีซและผู้อพยพ ... แต่เนื่องจากมีการเลือกตั้งระดับเทศบาลในกรุง Athens ในสัปดาห์นี้เหมือนกัน ทำให้เกิดความยากลำบากพอสมควรในการรณรงค์ครั้งนี้


 


 


Cotounou (ประเทศ Benin)


 



 


ที่มาของภาพ : www.noborder.org


กิจกรรมที่ประเทศเบนิน มีการร่างปฏิณญาและจัดตั้งองค์กรทางสังคมในการต่อต้านการกีดกันแรงงานอพยพและผู้อพยพขึ้นในประเทศเบนิน


Freiburg (ประเทศเยอรมัน)



ที่มาของภาพ : www.noborder.org


ที่จตุรัสกลางเมือง Freiburg มีการจัดนิทรรศการ "the moving of the world" โดยนักกิจกรรมชาวเยอรมัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตในค่ายพักผู้อพยพ, การข้ามทะเลโดยเรือของผู้อพยพ (ซึ่งมีการละเล่นเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการหนีจากความอดอยากจากแอฟริกาสู่ยุโรป)


การเปิดกิจกรรมใน Freiburg เริ่มด้วยสุนทรพจน์จากสมาชิกของ Batir Le Togo ที่มีการกล่าวถึงปัญหาสภาพเศรษฐกิจ การเมือง ในประเทศแถบแอฟริกัน จากนั้นนักเขียนเชื้อสาย อิหร่าน-เยอรมัน Navid Kermani ก็เล่าถึงประสบการณ์ในการอาศัยอยู่ในเยอรมันของเธอ


โดยกิจกรรม migration action-day ใน Freiburg นั้น พยายามอธิบายถึงเหตุผลในการอพยพ นอกจากนี้ยังสร้างความร่วมมือสร้างกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งในภูมิภาค แอฟริกา, ยุโรป และอเมริกา


นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนรณรงค์ภายในเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมขบวนประมาณ 250 - 300 คน มีการสร้างรั้วลวดหนามเชิงสัญลักษณ์ (อันเป็นสัญลักษณ์การกีดกันของยุโรป) นอกจากนี้ยังมีการบล็อคการจลาจรบางช่วงด้วย


ช่วงท้ายของกิจกรรม มีการร่างแถลงการณ์ร่วมที่มีความยาวกว่า 100 ฟุต เนื้อหาเกี่ยวกับการให้สิทธิเสรีภาพแก่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน, การข้ามเขตแดนอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิโดยธรรมชาติ, และมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น


Gothenburg (ประเทศสวีเดน)




ที่มาของภาพ : www.noborder.org


 


กิจกรรมที่เมือง Gothenburg มีการร่างแถลงการณ์ร่วม นอกจากนี้ยังมีการไว้อาลัยให้กับประชาชนที่เสียชีวิตจากนโยบายการสร้างอุปสรรคให้กับผู้อพยพเข้าเมืองของยุโรป และจากเหตุการที่เกิดจากการเหยียดชาติพันธุ์ต่างๆ


 





Lindau (ประเทศเยอรมัน)

 


ที่มาของภาพ : de.indiymedia.org


 


นักเคลื่อนไหวใน Lindau ใช้การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่ผืนแผ่นดินจากทะเล ด้วยการแสดงการล่องแพที่อ่าว Yacht ของเมือง Lindau นอกจากนี้ยังยังมีการแจกใบปลิวรณรงค์อีกด้วย


London (ประเทศอังกฤษ)




ที่มาของภาพ : www.ncadc.org.uk


 


ที่ London มีการเดินขบวนรณรงค์เรียกร้องสิทธิให้แรงงานอพยพและผู้อพยพ (March for Migrants" Rights)


 


Malaga (ประเทศสเปน)


 


 


 


ที่มาของภาพ : estrecho.indymedia.org


 


เมือง Malaga นักเคลื่อนไหวและประชาชน 600 กว่าคนมีส่วนร่วมกันในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ร่วมงานจะมีไม่มากนักแต่โดยภาพรวมก็ถือว่าใช้ได้ (ในขณะเดียวกัน สเปนกำลังต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอย่าง Nicolas Sarkozy รัฐมนตรีมหาดไทยของฝรั่งเศสอยู่ ซึ่งสือในกระแสของสเปนได้แต่เสนอข่าวของนักการเมืองฝ่ายขวานี้อยู่ทุกวี่ทุกวัน)


 


แต่การเคลื่อนไหวในเมือง Malaga ก็ดูไม่จืดเลยทีเดียว เนื่องจากการณรงค์อย่างขยันขันแข็งของสมาชิกขององค์กรต่างๆ ของผู้อพยพใน Malaga โดยมีการสนับสนุนจากองค์กรทางสังคมต่างๆ ในสเปนอย่างเต็มที่


 


Moskow (ประเทศรัสเซีย)


 



ที่มาของภาพ : ru.indymedia.org


 


บนถนน Garden ring ถนนสายที่ใหญ่ที่สุดในกรุง Moscow ประชาชนและนักเคลื่อนไหวในรัสเซียร่วมกันยึดกุมพื้นที่และทำกิจกรรมรณรงค์


 


การทำกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเดินขบวนเชิงสัญลักษณ์ สวมหน้ากาก ปิดหน้า ปิดตา ปิดปาก กลุ่มที่ 2 เป็นวงดนตรี samba มีการละเล่นและเต้นรำไปบนท้องถนน ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกองทัพตัวตลก ACAB (clown army) ละเล่นบนท้องถนน  ทั้งนี้มีการแจกใบปลิวรณรงค์การต่อต้านกีดกันบนท้องถนนอีกด้วย


 


ส่วนคำขวัญหลักที่ใช้ในกรุง Moscow คือ "ไม่มีใครที่ผิดกฎหมาย" (Nobody is illegal!) มีการเปล่งเสียงตะโกนประสานเสียงวงดุริยางค์ข้างถนน และการชูป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรม


 


 


Rotterdam (ประเทศเนเธอแลนด์)



ที่มาของภาพ : nl.indymedia.org


เช้าวันที่ 6 ตุลาคม นักเคลื่อนไหวได้ทำการปิดล้อมอ่าว Rotterdam สร้างการกีดขวางการคมนาคมไม่ให้คนในเมืองเข้าออกสะดวกสบาย โดยเริ่มประมาณ 6 โมงเช้า นักเคลื่อนไหว 2 คน ได้ปีนขึ้นไปบนสะพานเพื่อแสดงการขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ มีการปิดล๊อคประตูเพื่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทางไปมา ซักประมาณชั่วโมงตำรวจก็เข้ามาปฎิบัติหน้าที่ตามปกติ แล้วก็ซิวตัวเพื่อนนักเคลื่อนไหวแนวอนาธิปไตยของเราสู่โรงพัก ครึ่งชั่วโมงต่อมาตำรวจดับเพลิงสามารถตัดลวดที่นักเคลื่อนไหวล๊อคประตูเอาไว้ได้


นักปีนป่ายทั้งสองถูกปล่อยตัวหลังจากถูกจับกุมตัวไว้หกชั่วโมง ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ถูกริบไว้ตามระเบียบ


การขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ที่ Rotterdam คือสุดยอดการขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ของกิจกรรมในครั้งนี้ --- พวกคุณแค่หงุดหงิดกับการเดินทางไม่สะดวกสบายนิดๆ หน่อยๆ ... แล้วลองคิดถึงใครบางคนที่เขาต้องโดนกีดกันปิดกั้นโอกาสในการหาสิ่งดีสู่ชีวิตล่ะ! ไม่คิดถึงหัวอกเขาบ้างเรอะ!


 


000


 



ที่มาของภาพ : Resistance Anarchist bulletin ฉบับที่ 84 พฤษภาคม 2006


 


... ขณะที่เงินทุนในการเก็งกำไรหมุนเวียนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว, เหล่านักธุรกิจ ผู้บริหาร ผู้นำประเทศต่างๆ บินข้ามเข้า-ออกประเทศต่างๆ เป็นว่าเล่น, ห้างสรรพสินค้าข้ามชาติผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วโลก, สินค้าโฆษณาและแฝงไลฟ์สไตล์แบบตะวันตกถูกส่งไปพร้อมกับสัญญาณดาวเทียมผ่านช่อง MTV --- แต่การข้ามพรมแดนเพื่อไปหาสิ่งที่ดีกว่าของคนตัวเล็กๆ กลับถูกกีดกัน / นี่แหละที่เรียกว่า "โลกาภิวัฒน์ซีกเดียว" (ซีกของคนที่มีอำนาจ)


 


ข้ออ้างในการ "กีดกัน" แรงงานอพยพ ผู้อพยพ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในประเทศไทยและทั่วโลกนั้น เหตุผลที่ถูกนำมาอ้างและปลุกระดมอย่างกว้างขวาง คือ ปัญหาการแย่งงาน, ปัญหาสังคม, และเรื่องความมั่นคงของรัฐชาติ


 


เรื่องของปริมาณแรงงานนั้น ในปัจจุบันการจัดสรรทรัพยากรแรงงานในแต่ละภูมิภาคของโลกยังไม่มีอัตราล้นเกินแต่ประการใด การได้ซึ่งกำลังแรงงานใหม่ๆ จึงเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจที่มีการจัดการในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพียงแต่นายทุนใช้แรงงานอพยพเหล่านี้ เป็นเครื่องมือต่อรองในการกดค่าแรงต่างหาก --- นั่นคือปัญหา!


 


ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ อนามัย อาชญากรรม ก็เป็นผลพวงมาจาก นโยบายกีดกันที่ทำให้พวกเขาไม่มี "ที่ทาง" และ "ทางเลือก" มากนัก ดังนั้นต้องให้สิทธิความเสมอภาคแก่พวกเขา เพราะมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม (Every person has the right to have rights)


 


ส่วนเรื่อง "ความมั่นคง" ดังที่นำมาอ้างมันคือความมั่นคงของใคร? ความมั่นคงของชนชั้นไหน? เพราะพวกเรา คนส่วนใหญ่ที่ยังเป็นผู้ถูกปกครอง เป็นผู้ลูกค้าของบรรษัทข้ามชาติ เป็นแรงงานให้กับนายทุนผู้กระหายเลือด พวกเราล้วนแล้วแต่ไม่เคยมีความมั่นคงใดๆ ในชีวิตเป็นหลักประกันทั้งสิ้น


 


สำหรับการขีดเส้นแบ่งโลก มนุษย์ส่วนน้อยที่เรียกว่า "ชนชั้นปกครอง*" ทั้งหลาย พวกคุณกล้าดียังไง ที่เอาไม้บรรทัดกับดินสอมาขีดเส้นแบ่งโลกใบนี้ออกเป็นส่วนๆ เพื่อความสะดวกสบายในการครอบครองอำนาจของกลุ่มตนเอง --- มันไม่ใช่โลกของพวกคุณเพียงกลุ่มเดียว มันเป็นโลกของพวกเราทุกคนต่างหาก!  


 


*ในที่นี้ขอจำกัดความถึงชนชั้นที่สามารถกำหนดแนวทางหลักในสังคมโลกปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ-การเมือง ในแต่ละรัฐชาติเอง หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลในระดับโลก รวมถึงองค์กรโลกบาลต่างๆ ที่ถูกอุปโลกขึ้นมาโอบอุ้มคนจำนวนน้อยนิดเหล่านั้น!


 


และท้ายสุดนี้ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของคนเล็กๆ อย่างพวกเราจะถูกประณามว่าเป็น "นักประชาธิปไตยเพ้อฝัน" - "ซ้ายไร้เดียงสา" - "นักเคลื่อนไหวไร้สาระ" - หรือจะให้เป็นห่าเหวอะไรก็แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป ;-) ... ยังไงๆ พวกเราไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์ที่เราคิดว่ามันคือสิ่งดี และเราไปไกลกว่าเป็น "นักวิจารณ์สังคม" เพียงอย่างเดียว  


 


เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็ได้ลงมือทำมันจริงๆ เราได้ลงไปสู่ท้องถนน เราได้ล่องแพในทะเล เราได้ปีนสะพาน ... ถึงแม้มันจะเป็นเพียงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ตามกรอบที่เราพอทำได้ --- แต่ในความคิดของพวกเรา ยังไงมันก็คงดีกว่าการเป็น "นักวิจารณ์ที่แสนฉลาดปราดเปรื่อง" เพียงอย่างเดียว จริงมั๊ยครับ! ท่านผู้เฒ่านักวิจารณ์ทั้งหลาย ;-)  


 


 


ประกอบการเขียน - แหล่งข้อมูลอ้างอิง


 


http://de.indiymedia.org


http://estrecho.indymedia.org


http://nl.indymedia.org


http://no-racism.net/


http://www.indymedia.org/


http://www.ncadc.org.uk


http://www.noborder.org/


http://www.october7.org.uk/


 


Resistance Anarchist bulletin ฉบับที่ 84 พฤษภาคม 2006


 


รายงาน :จับแรงงานข้ามชาติจังหวะทำบุญออกพรรษา เอ็นจีโอหวั่นสังคมวิกฤติหากเห็นบุญเป็นปัญหาความมั่นคง - โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5349&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net