Skip to main content
sharethis

17 ต.ค. 2549 - น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวโดยระบุว่าการห้ามโฆษณาเหล้า-เบียร์ตามสื่อต่างๆ จะมีผลหลังจากที่ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 45 วัน หรือประมาณวันที่ 5 ธ.ค. 2549 โดยเรื่องที่ประกาศจะมีผลห้ามหลายฝ่าย โดยเฉพาะโฆษณาประเภทส่วนบุคคลจะทำไม่ได้เลยนับจากการประกาศเป็นต้นไป แต่ถ้าหากมีประกาศใช้แน่นอนเมื่อใด สื่อที่ควรจะถูกควบคุมเป็นอันดับแรกคือ วิทยุ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา และโรงภาพยนตร์ ส่วนการห้ามโฆษณา ณ จุดขาย เชื่อว่าจะยังไม่มีการประกาศใช้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่อยู่ในอำนาจ อีกทั้งยังต้องมีการยกร่างกฎหมายก่อน


 


อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข วันที่ 16 ต.ค.2549 หลังจากมีการประชุมกันในหมู่สมาชิกและได้ข้อสรุปว่าการคุมเข้มโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อต่างๆ จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ เนื่องจากสินค้าบางยี่ห้อมีทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำดื่มธรรมดา ยอมได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการสินค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว และไม่อาจเสนอโฆษณาสินค้าของตนผ่านสื่อได้


 


เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และคงต้องใช้หลักการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ค้าทุกฝ่าย สมาพันธ์จึงได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการให้ความร่วมมือต่อไป แต่ก็อยากให้รัฐทบทวนและพิจารณาในส่วนของกฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการไม่มั่นใจว่าหากเกิดความผิดพลาดใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งข้อเรียกร้องที่เตรียมยื่นนั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ค้า


 


ในส่วนของโฆษณาเหล้า-เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ จากต่างประเทศ ซึ่งพ่วงมาจากการถ่ายทอดสดกีฬาข้ามชาติ อาจได้เปรียบเหล้าไทย แต่ รมว.สาธารณสุขระบุว่าต้องดูสถิติการถ่ายทอดกีฬาในขณะนี้ด้วยว่ารายการที่ถ่ายทอดสดมาจากต่างประเทศมีมากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากการถ่ายทอดรายการกีฬาจากต่างประเทศมีการโฆษณาเหล้าพ่วงมาด้วยไม่ถึงร้อยละ 40 จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมากนัก


 


หากผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมาชาวไทยจะอาศัยช่องโหว่ด้วยการใช้สื่อต่างประเทศโฆษณาเครื่องหมายการค้าของตนไปด้วยในระหว่างที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ก็คงต้องหาแนวทางในการพิจารณาเพื่อความเหมาะสมกันต่อไป แต่สิ่งที่รัฐพยายามทำก็คือการปกป้องไม่ให้เยาวชนของเราถูกกระตุ้นให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮออล์เท่านั้น


 


ทางด้านการห้ามประชาชนที่อายุไม่เกิน 25 ปีซื้อเหล้า-เบียร์ จะออกเป็นกฎหมายแทน ไม่ใช่การประกาศ แต่กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ผ่านกฤษฎีกา และยังไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแต่อย่างใด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net