Skip to main content
sharethis


หลังจากที่สังคมไทยมีนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดที่มาจากการแต่งตั้ง และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายเกรงว่า "ประชาชน""จะไม่มี "ส่วนร่วม" (อืมนะ...แต่ คปค. ซึ่งเปลี่ยนสถานะภาพเป็น คมช. ก็ยืนยันว่าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้จะให้ลง "ประชามติ" ถ้ารัฐธรรมนูญถาวรร่างเสร็จแล้วน่ะ ขออภัยในความไม่สะดวก โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!) ใกล้จะเริ่มขึ้น


 


ในโอกาสนี้ "ประชาไท" โดยความช่วยเหลือของโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก จึงมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อที่จะได้สนทนาและสอบถามนักกฎหมายเจ้าของผลงาน "การดื้อแพ่งกฎหมาย" ผู้นี้ว่ามีมุมมองอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ ผศ.สมชาย ยังกล่าวถึงอาชีพนักกฎหมายในฐานะที่ควรจะเป็นแค่ "ช่างตัดผม" ซึ่งต้องทำตามเจตนารมณ์ของคนในสังคม แทนการเขียนกฎหมายเองอันเป็นการตัดสินใจแทนคนส่วนใหญ่


 


โปรดติดตามทัศนะของนักกฎหมาย หรือ "ช่างตัดผม" (มหาชน) ผู้นี้ตามสะดวก!


 


0 0 0


 


 


 


 


จากที่ได้ติดตามกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่าสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน และก็ให้คัดกันเองเหลือ 200 และ 100 คนก็จะคัดกันอีกกระบวนการหนึ่ง ตรงนี้อาจารย์มองว่า มันเหมาะสมไหม เปิดการมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มคนต่างๆ หรือไม่


ผมคิดว่ากระบวนการนี้คงอยู่ในช่วงการเริ่มต้นนะครับ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ "คปค." ชื่อเดิมนะครับ ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" คือตัวย่อคือ "คมช." ช่วงนี้ก็เยอะนะครับตัวย่อ สับสนกันนิดหน่อย ผมเข้าใจว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะว่าตอนนี้เพิ่งเสร็จเรื่องสภานิติบัญญัติแห่งชาติไป


 


ในส่วนของสมัชชาฯ ที่จะมาทำหน้าที่ร่าง โดยกรอบหรือโดยกระบวนการที่กำหนดไว้ในธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเกิดภายหลังการยึดอำนาจของ คปค. เขากำหนดขั้นตอนไว้แบบนี้ครับ คือคัดเลือกคนมา 2,000 คน โดยการลงนามสนองรับพระบรมราชโองการโดย คมช. 2,000 คนนี้ก็จะมาประชุมกันเสร็จแล้วคัดเลือกให้เหลือ 200 คน และเสร็จแล้ว 200 คนจะส่งไปให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อันนี้ขอย้ำว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคนละชุดกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ชื่อมันอาจคล้ายๆ กัน มันเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งคุณสุรเกียรติ เสถียรไทย ลงมาสมัครแข่งเลขาแล้วถอนตัว จะว่าลาออกไม่ได้นะครับ ถอนตัวเพราะหยั่งเสียงแล้วได้น้อย อันนี้คนละส่วนนะครับ


 


ภายหลังที่ได้ 200 คน ก็เสนอชื่อให้ คมช. เป็นผู้เลือกให้เหลือ 100 คน มาเป็นองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


ดูกระบวนการแล้วจะเหมือนกับว่าจะเปิดการมีส่วนร่วม จาก 2,000 คัดกันเองเหลือ 200 แต่พอขั้นตอนสุดท้ายแล้ว จริงๆ น่าจะให้ 200 คัดเหลือ 100 แต่บทบาทก็ยังอยู่ที่ คมช.


คือมีคำถามเยอะ อย่างเช่น ผมนั่งอ่านธรรมนูญแล้วเกิดข้อสงสัย เช่น เริ่มจาก 2,000 ก็เป็นทาง คมช. คัดเลือกมา ใน 2,000 โอเค ก็จะไปเลือกกันให้เหลือ 200 คน แล้วพอตอนเหลือ 100 คมช.ก็ไปคัดเลือกอีก


 


ทำไมไม่คัดตั้งแต่แรกเลยล่ะ


คือทาง คมช. นะครับ ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทำไมต้องมีกระบวนการให้เยิ่นเย้อ 2,000 คน คมช.ก็เลือกมา 100 คน มันจะไม่ง่ายกว่าหรือ ทำให้รวดเร็วฉับไวกว่า เพราะ 2,000 คัดเหลือ 200 โดยการเลือกกันเองและไปมากกว่านั้น คณะกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเนี่ย 25 คนก็จะมาจาก 100 คนที่ถูกคัดเลือก แต่ว่าจะมี 10 คน ก็จะเป็น คมช. เลือกเข้าไปอีก 10 คน เป็น 35 คน


 


คือทั้งหมดแล้วเนี่ย โดยกระบวนการมันก็ทำให้มันดูราวกับว่าประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวบุคคล แต่ผมคิดว่าการเขียนกระบวนการคัดเลือกหรือขั้นตอนกันไว้แบบนี้ผมเป็นห่วงว่า คมช. จะถูกติฉินนินทาได้


 


ทีนี้ มันมีความแตกต่างหรือไม่ ถ้าเทียบกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มี สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)


ในขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จะมีตัวแทนประชาชน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งมาจากการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประชาชน ที่เราเรียกว่า สสร.จังหวัด จังหวัดละ 1 คน จำนวน 76 คน และก็บวกกับ 23 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญนะครับที่ถูกคัดเลือกกันมาอีก


 


ผมคิดว่ากระบวนการนั้น มันทำให้การเลือกนี้ อย่างน้อยมันก็อยู่ในมือของสังคมที่จะเป็นคนเลือก อย่างน้อยขั้นสุดท้าย แม้ว่าเราอาจจะมีข้อติติงได้ว่ากระบวนการคัดเลือก สสร.จังหวัด มันอาจจะไม่ทำให้ได้ตัวแทนที่สะท้อนความเป็นจริงสักเท่าไหร่ เพราะ สสร.จังหวัดนั้น เราไม่ได้เลือกเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ว่าเลือกคนนี้แล้วคนนี้ได้คะแนนนำมาจะได้เป็น สสร.


 


คือ สสร. อาจจะมีข้อติติงในแง่เชิงกระบวนการ แต่ผมคิดว่าอย่างน้อย อำนาจในการชี้ขาดขั้นสุดท้ายก็ยังเป็นอำนาจที่สังคมยังมีอยู่ระดับหนึ่ง ในการทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญ มันดำเนินไปอย่างที่เรียกว่าได้รับการมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก


 


แต่ คมช. จะมีประชามติอีกที??


ผมคิดว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่ควรไปปล่อยให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำการร่างจนเสร็จแล้วเอามาประชาพิจารณ์หรือทำประชามติ


 


ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ ภายใต้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คนแต่ละกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ผมคิดว่าอันนี้สำคัญ ไม่ใช่การรอไปดูถึงท้ายแล้วเอามาลงประชามติ ประชาพิจารณ์ว่าเอาไม่เอา เห็นด้วยไม่เห็นด้วย แล้วถ้าเกิดไม่เห็นด้วยละ ผลจะเป็นอย่างไร


 


การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของการเอาคนร้อยคนมานั่งประชุมกัน แล้วก็นึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน ผมคิดว่าไม่ใช่


 


คิดว่าผู้เชี่ยวชาญตรงนี้จะมีปัญหาอย่างไร


เรามักให้น้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญเยอะ ผมคิดว่าผู้เชี่ยวชาญรับฟังได้ในฐานะสมาชิกหนึ่งของสังคม ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายนะครับ


 


ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจำเป็นหรือเปล่า ผมคิดว่าจำเป็นในแง่ของการเขียน แต่นอกจากการเขียนซึ่งใช้เทคนิคบางอย่าง ใช้ความสามารถบางอย่างในการเขียน เช่น เขียนมาตราแต่ละมาตราให้มันสอดคล้องกัน ให้มันรับกัน โอเค อันนี้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายก็อาจจะไม่เข้าใจ


 


แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า อนุญาตให้นักกฎหมายเป็นคนใส่ความคิดลงไปทั้งหมดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเอาอะไรบ้าง ไม่เอาอะไรบ้าง จะเอาหลักการเช่น เสรีนิยม หรือจะเอาหลักการเศรษฐกิจพอเพียง นี่ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมาย


 


นักกฎหมายไม่มีสิทธิมากไปกว่าชาวนา ไม่มีสิทธิมากไปกว่าประชาชนทั่วไป ไม่มีสิทธิมากไปกว่าช่างตัดผม ไม่มีสิทธิมากไปกว่าพ่อค้า ไม่มีสิทธิมากไปกว่าคนขับรถแท็กซี่สองแถว ในฐานะของคนที่จะเสนอหลักการในทางสังคม ผมคิดว่าคนทุกกลุ่มอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน นักกฎหมายจะทำหน้าที่ต่างจากคนอื่นคือ หลังจากที่ระดมความเห็นกันได้แล้ว เราได้หลักการร่วมกันแล้ว สิ่งที่นักกฎหมายทำคือ แปลงหลักการนั้น หน้าที่ของนักกฎหมายแค่นี้ละครับ ไม่ใช่ให้นักกฎหมายไปนั่งเขียนทั้งหมดนะครับ


 


ประทานโทษนะครับ อย่างเช่น ที่ผ่านมาเรามักจะเขียนธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร โดยให้นักกฎหมายบางคนไปเขียน นั่นเป็นตัวอย่างที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง คือไม่ใช่ว่านึกจะเขียนอะไรก็เขียนได้ สังคมไทยทุกวันนี้มันกว้างใหญ่ และสังคมไทยทุกวันนี้มันไม่อนุญาตให้ใครมาเขียนกฎหมายแทนคนอื่นหรอกครับ เพราะอย่างน้อยเราก็เห็นปัญหาเยอะแยะนะครับที่แม้กระทั่ง ส.ส.ยังไม่รู้เลย


 


ยกตัวอย่างปัญหาเอฟทีเอ บางที ส.ส.ยังไม่รู้เลยว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับชาวบ้าน แล้วจะให้นักกฎหมาย ซึ่งพูดก็พูดเถอะนักกฎหมายในสังคมไทย มีความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยน้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้นักกฎหมายเขียนรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นข้อพึงระวังนะครับ อย่าพยายามให้นักกฎหมายเขียนอะไรมากในรัฐธรรมนูญ


 


พูดง่ายๆ เช่น ถ้าเกิดเปรียบเทียบช่างกฎหมายเป็นนักตัดผม คุณอยากได้ผมทรงอะไร คุณบอกช่าง การที่คุณอยากได้ผมทรงอะไร มันต้องเกิดจากการที่คนในสังคมได้คิดได้ไตร่ตรอง เออ คือเราอยากตัดผมแบบนี้แหละ แล้วค่อยไปบอกนักกฎหมายว่าตัดทรงนี้ให้หน่อย


 


สถานะอยู่ประมาณนี้ เหมือนเราอยากได้ทรงสกินเฮด ตัดผมสั้นติดหนังหัว เราคิดเราไตร่ตรอง เออ ทรงนี้ดีสำหรับเรา เราก็บอกให้นักกฎหมาย เออ ช่วยตัดสกินเฮดให้หน่อย


 


คือบทบาทน่าจะอยู่แค่นี้ ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่เขียนความคิดแทนคนอื่น


บางเรื่องนักกฎหมายอาจมีความรู้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถูกต้อง นักกฎหมายควรเสนอออกมาให้สังคมช่วยกันคิด ช่วยกันตัดสิน ช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ ว่ามันจะใช้ได้หรือไม่ได้ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวอย่างที่ดี หลายเรื่องเป็นสิ่งที่นักกฎหมายเสนอขึ้นมาแล้วสังคมบอกว่ามันดี ถ้าเกิดจะลอกมาจากต่างประเทศหรือว่าอะไรก็ตาม ลอกฝรั่งมาอย่าคิดว่ามันดี เช่น องค์กรอิสระ


 


คำถามคือ ผมคิดว่าข้อกล่าวหาที่มีกับรัฐบาลคุณทักษิณคือองค์กรอิสระถูกแทรกแซงเละเทะไปหมด อันนี้เป็นตัวอย่างที่นักกฎหมายไม่รู้จักสังคมไทย คือเห็นของฝรั่งดี เออเอามา เหมือนจะเอาแอปเปิลมาปลูกในท้องร่องภาคกลาง ผมคิดว่าต้องอาศัยคนอื่นๆ ในสังคมไทยช่วยกันมอง ช่วยกันวิเคราะห์ ว่ามันใช้ได้หรือใช้ไม่ได้หรือจะช่วยกันปรับให้เข้ากับสังคม เพื่อให้มันไม่ใช่เรื่องของการเอาอะไรก็ไม่รู้มายัดใส่สังคมไทยแล้วมันทำงานไม่ได้


 


ทีนี้การประกาศกฎอัยการศึกต่างๆ ก็ยังไม่ได้ยกเลิก ทีนี้กลุ่มคนต่างๆ ที่อยากจะเข้าไปมีบทบาท อยากจะเข้าไปเสนอความคิดมันจะทำได้อย่างไรในทางปฏิบัติ


แม้กระทั่งขณะนี้ในส่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ยังไม่ได้เริ่มต้นในกระบวนการคัดเลือกสมัชชาเข้ามาทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญเลย ผมคิดว่าสังคมนี้ยังรอได้ครับ กลุ่มองค์กรต่างๆ ควรจะต้องรวมตัวนะครับและผลักดันสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ


 


เช่น ชุมชนในภาคเหนือเห็นว่าสิทธิชุมชนมีความสำคัญ ก็จำเป็นที่จะต้องระดมความคิดเห็น และเสนอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ


 


การที่คนในสังคมกลุ่มต่างๆ จะเป็นชาวบ้าน จะเป็นนักวิชาการ จะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน จะเป็นนักศึกษาหรือเป็นอะไรต่อมิอะไร จะสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเอง จะสามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความคิด ความรู้กันได้ มันต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศของสังคมที่มีเสรีภาพนะครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าทาง คมช. หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีความปรารถนาดีจะทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการมีส่วนร่วม อันแรกที่ต้องทำก่อนเรื่องอื่นคือ ยกเลิกกฎอัยการศึกครับ คือเราคงไม่สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญได้โดยที่ยังมีกฎอัยการศึกจี้หลังอยู่


 


เช่น สมมติว่ามีคนเชิญผมไปพูดนะ บรรยายเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมก็อาจจะรู้สึกเสียวสันหลัง ไปพูดเนี่ยจะผิดกฎอัยการศึกหรือเปล่า แล้วอาจจะถูกจับหรือเปล่า คือเมื่อไหร่ที่เราจะพูดนะครับ เรารู้สึกว่าเออ เราอาจจะถูกปืนจี้เข้าคุกได้ คำถามคือผมก็อาจจะไม่พูดก็ได้ ผมก็มีความกลัวส่วนตัวอยู่นะครับ คือถ้าตราบเท่าที่ยังไม่มีการรับรองเสรีภาพของคนในสังคมนะครับ ผมคิดว่าการที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มันเกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ มันยากมาก


 


ในขณะนี้ ปรากฏหลายองค์กรออกมาเสนอความคิดเห็นในเรื่องของการยกร่าง เช่น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็เสนอโมเดลเหมือนกัน ทีนี้สังคมไทยก็จะมีโมเดลต่างๆ เยอะมาก ในกระบวนการตรงนี้ ความคิดแต่ละองค์กรมันจะถูกหยิบยกออกมาได้อย่างไร


เถียงสิครับ ต้องเปิดเวทีให้เถียงกัน โดยที่ไม่มีใครผูกขาดเวทีไว้ว่าอันนี้ห้ามพูด อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการอย่างยิ่ง การเปิดเวทีเพื่อให้เถียงกันเพื่อให้แลกเปลี่ยนความรู้ แม้กระทั่งในช่วงปลายรัฐบาลคุณทักษิณ การถกเถียงหรือการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมต่างๆ นั้น จะดีจะชั่วอย่างไรผมคิดว่าอย่างน้อยๆ ในช่วงเวลานั้นเราก็ได้เห็นกลุ่มคนต่างๆ พยายามแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา


 


นี่คือหลักการเบื้องต้นของระบอบประชาธิปไตยนะ คือต้องเปิดโอกาสให้คนพูดได้ คนที่แม้กระทั่งจะเห็นไม่เหมือนกับเรา นี่คือพื้นฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกันผมคิดว่าสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นก็มีลักษณะไม่ต่างกัน มันคงมีโมเดลไม่ตรงกันหรอกครับ คงไม่ตรงกันแน่ๆ อย่างเช่นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ คงไม่เอาแนวทางการเปิดประเทศแบบเสรี แบบอ้าซ่าสุดๆ แต่นักธุรกิจบางกลุ่มก็อยากจะเอา


 


นโยบายการพัฒนาพลังงาน ทางกลุ่มธุรกิจหรือทางภาครัฐรู้สึกว่าจะพัฒนาพลังงานที่ใช้ถ่านหินหรือใช้นิวเคลียร์ก็แล้วแต่ ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าเปิดเมื่อไหร่มีความไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน


 


สังคมไทยมันมีกลุ่มคนต่างๆ อยู่เยอะ และกลุ่มคนต่างๆ ก็มีผลประโยชน์ มีความคิด มีทัศนะ มีความรู้ความเชื่อที่ต่าง เพราะฉะนั้นมันไม่มีวันที่จะมีโมเดลที่เหมือนกัน ไม่มีความฝันอันไหนของสังคมที่มันจะครอบคลุมทำให้คนทั้งสังคมเห็นด้วยทั้งหมด


 


เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ ทำให้เกิดเวทีที่ถกเถียง แลกเปลี่ยนอย่างสันติ โมเดลที่ออกมามันอาจไม่ถูกใจเราทั้ง 100% คือมันคงไม่มีใครได้อะไร 100% จากโมเดลที่เราเสนอ เนื่องจากว่าเราไม่ใช่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นะครับ ที่เขียนปุ๊บก็เป็นไปตามนั้น คือเราไม่ได้ผูกขาดความถูกต้องทั้งหมด สิ่งที่เราเสนออาจได้กลับมาเป็นบางส่วน สิ่งสำคัญคือ เราต้องตระหนักว่า มันไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่องเกิดขึ้นได้ในหมู่ประชาชนในสังคมปัจจุบัน มันมีความแตกต่างกันเยอะ


 


ในส่วนของเนื้อหา ถ้าเราย้อนไปดูในส่วนของรัฐธรรมนูญปี 2540 คิดว่าเนื้อหาที่สำคัญที่มันไม่ควรจะหายไปเลย แล้วมันควรจะพัฒนาให้มันเป็นจริงยิ่งขึ้น น่าจะมีตรงไหนบ้าง


ผมเข้าใจว่าส่วนที่จะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตทางการเมือง มันเป็นส่วนในแง่ของการเมืองของพวกนักการเมือง อย่างเช่น ระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง องค์กรอิสระ ส่วนนั้นเป็นส่วนที่คงถูกแก้ไข


 


แต่ส่วนที่น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือส่วนที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วเท่าที่ตามข่าว ผมไม่คิดว่ามีนักการเมือง หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคณะนายทหารคนไหนที่กล่าวถึงผลเสีย หรือผลของด้านลบของการรับรองสิทธิเสรีภาพที่มันเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะฉะนั้นอย่างน้อยในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2540 ในแง่ของสิทธิเสรีภาพประชาชน ในเรื่องเหล่านั้น หลายเรื่องมันเดินทางไกลแล้ว ถ้าไปเขียนอะไรให้มันถอยไปกว่านั้น มันคงยากแล้ว


 


เพราะว่าในรัฐธรรมนูญ 2540 หลายเรื่องมันก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นผลสำเร็จรูปธรรมได้ เช่น สิทธิชุมชน สุดท้ายก็ยังถูกปฏิเสธในองค์กรกระบวนการยุติธรรมอยู่ ยังไม่ได้รับการรับรองให้มีผลบังคับใช้ แต่หลายเรื่องก็ทำให้เกิดผลดี ทำให้คนตระหนักถึงสิ่งที่เป็นสิทธิเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนมากขึ้น ผมคิดว่าถ้าจะผลักดันกันต่อทำให้แนวความคิดเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ เรื่องกลายเป็นความเป็นจริงขึ้นมาให้ได้


 


คิดว่า สังคมไทยมันไปไกลแล้วใช่ไหมครับ


คิดง่ายๆ อย่างเช่นสิทธิในการชุมนุม ถามผม ผมคิดว่าเป็นปัญหาแน่ๆ ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาบอกว่าไม่รับรองสิทธิการชุมนุม เพราะอย่างน้อยในช่วง 3 หรือ 4-5 ปีมานี้เราก็เรียนรู้ในสิทธิการชุมนุมว่า โอเค เราก็มีสิทธิการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ถ้าลบออก คิดว่าเป็นปัญหาแน่ๆ


 


คาดว่าเนื้อหาต่างๆ ก็คงอยู่


ผมคิดว่าไม่มีใครจะกล้าแตะด้วยซ้ำ


 


อาจารย์เป็นห่วงหรือไม่ ในแง่ของเนื้อหาที่เขาจะปรับเปลี่ยน


ค่อนข้างเป็นห่วง ก็คือเหมือนว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดการนักการเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบที่จะตรวจสอบ สร้างระบบที่ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งน้อยลง ซึ่งส่วนอื่นๆ มันควรได้รับการใส่ใจไม่น้อย เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องการตรวจสอบ คิดว่าควรได้รับการให้ความสนใจ


 


ส่วนที่เป็นสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นส่วนที่สำคัญและควรถูกพูดถึง แต่เรามักพูดกันแต่ในแง่การเมืองของนักการเมือง


 


อย่างเรื่องขององค์กรอิสระ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาหรือไม่


องค์กรอิสระที่ผ่านมามีปัญหาไหม มี แต่ถ้าเราพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า องค์กรอิสระบางองค์กรก็ทำงานได้ดี คือ บางองค์กรมีปัญหาแน่ๆ อย่างเช่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ปปช. มีปัญหา แต่ศาลปกครองกลับไม่เป็นเช่นนั้น


 


ผมคิดว่าถ้าจะพูดถึงองค์กรอิสระ เราคงต้องมานั่งดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เกิดการแทรกแซงได้อย่างไร การแทรกแซงในองค์กรเหล่านั้นได้ง่าย และทำไมบางองค์กรจึงถูกแทรกแซงได้ยาก ไปดูศาลปกครองสิ คำวินิจฉัยในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ช่วงสัก 2-3 ปีหรือ 4 ปี ก็เป็นคำวินิจฉัยที่วางอยู่บนเหตุผลที่เราหรือคนในสังคมส่วนใหญ่รับได้


 


ไปที่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่ได้เห็นรายละเอียด แต่ว่าหลายๆ ส่วนก็พยายามเสนอโมเดลต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจน แต่ละกลุ่มแต่ละองค์กร ควรจะทำอะไรครับตอนนี้


ถ้าเราคิดว่าอะไรทีเป็นปัญหาสำหรับเรา กลุ่มเรา สังคมเรา ชุมชนเรา ผมคิดว่าพยายามประมวลสิ่งที่เป็นปัญหา จริงๆ แม้กระทั่งยังไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่การแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นอะไรเป็นสิ่งที่ควรจะต้องผลักดัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอการร่างรัฐธรรมนูญของ คมช. เริ่มด้วยซ้ำ เราสามารถเริ่มก่อนได้ เพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยต้องการรัฐธรรมนูญที่มีหน้าตาแบบไหน เพื่อให้มีน้ำหนัก ไปเป็นความเห็นที่จะผลักดันกันต่อในอนาคตนะครับ


 


แต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องรอ ณ ขณะนี้


การเสนอโมเดลของรัฐธรรมนูญในฝัน มันไม่ผิดอะไร น่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนด้วยซ้ำที่จะพูดถึงว่าเราอยากจะได้กฎเกณฑ์ กำหนดกติกาสังคมว่าเป็นแบบไหน ไม่มีรัฐบาลทีไหน ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากปากกระบอกปืน ที่จะมาไล่จับเราเพราะเราพูดถึงกฎเกณฑ์ในอุดมคติที่เราอยากได้นะครับ


 


ช่วงนี้รัฐบาลก็พยายามบอกว่าเหลือเวลาไม่นานเท่าไหร่ก็คงยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะกลัวคลื่นใต้น้ำ นี่มันคืออะไรครับ


อย่างตรงไปตรงมาที่สุด คณะผู้ยึดอำนาจคงจะกลัวว่า ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึกอาจจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของบรรดาประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย


 


และในทรรศนะของผม ต้องยอมรับว่านโยบายทักษิณทำให้เกิดความนิยมในหมู่ประชาชนเป็นจำนวนมาก แค่ลำพังการประกาศแบบนี้คงไม่สามารถที่ทำให้ความนิยมในนโยบายคุณทักษิณมันจบลงไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลต้องคิดถึงรากหญ้าในอนาคต ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม นโยบายประชานิยมที่ผ่านมาได้รับการยอมรับเพราะรัฐบาลไทยที่ผ่านมาละเลยหรือมองข้ามคนจนในสังคมไทยมาโดยตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net