Skip to main content
sharethis

น้ำในเขื่อนภูมิพล เอ่อท่วมพท.เกษตรกว่า 5 พันไร่


ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะนี้ ทำให้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบดอยเต่าขึ้นไปเกือบ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้นาข้าว สวนลำไย และพืชไร่ ในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ถูกน้ำท่วมเสียหายกว่า 5,000 ไร่ รวมทั้งเส้นทางคมนาคมหลายหมู่บ้านใน 4 ตำบลของอำเภอฮอด ถูกตัดขาด นอกจากนี้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมขอบอ่างบางส่วนถูกน้ำท่วมสูงถึงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงวัวต้องอพยพฝูงวัวไปหาทุ่งหญ้าแห่งใหม่



ส่วนชาวประมงในทะเลสาบดอยเต่า ที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้จากการจับปลาขายมากขึ้น เช่นเดียวกับร้านอาหารและเรือนแพ คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวและพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์


 



นครสวรรค์ ระดับน้ำสูงอีก


สถานการณ์น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มระดับความสูงขึ้นอีก 4-5 เซนติเมตรแล้ว มีระดับสูงเท่ากับผนังคอนกรีตกั้นน้ำที่ทางเทศบาลนครนำไปกั้นไว้ ทำให้ต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำเป็น 60 เครื่องทั่วเมืองเพื่อเร่งระบายน้ำลงสูงแม่น้ำเจ้าพระยา และปริมาณน้ำที่ไหลจากทางเหนือทั้งแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนที่อยู่ริมตลิ่งรอบนอกเมืองจนมิดหลังคาบ้าน


 


โดยเฉพาะบ้านเกาะยวน หมู่ 5 ต.นครสวรรค์ออก อ.เมืองนครสวรรค์ นั้น ประชาชนกว่า 1 พันครอบครัวถูกน้ำท่วมบ้านถึงชั้นสอง บางรายที่อพยพออกมาทันก็นำทรัพย์สินออกมาได้ แต่บางส่วนออกมาไม่ทันต้องนำทรัพย์สินมีค่าทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่นอน เสื้อผ้าขึ้นไปเจาะหลังคาออกไปอาศัยอยู่ข้างบน แล้วหุงหาอาการกินกันบนหลังคา บางรายที่มีสัตว์เลี้ยงก็ต้องนำขึ้นไปเลี้ยงข้างบนด้วย


         


ส่วนพื้นที่รอบนอก เช่น อ.ชุมแสง ที่แม่น้ำน่านไหลผ่านตัวชุมชนนั้น น้ำได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทั้งอำเภอ ทำให้การสัญจรทางรถยนต์ถูกตัดขาดทันที ผู้ที่ต้องเดินทางออกจาก อ.ชุมแสง ต้องใช้ทางรถไฟเท่านั้น ส่งผลให้สถานีรถไฟ อ.ชุมแสง แน่นขนัดไปด้วย


 


ชัยนาทยังวิกฤติ เจอน้ำจากนครสวรรค์ไหลลงมา


ที่จังหวัดชัยนาท ขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเทศบาลเมืองชัยนาท อยู่ในขั้นวิกฤตปริมาณ น้ำสูงกว่าระดับพื้นราบ ประมาณ 1.50 เมตร ทำให้ร้านค้าที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา น้ำเริ่มเอ่อล้น เข้าท่วม ต้องขนย้ายสิ่งของกันอย่างชุลมุน มีร้านขายโลงศพ ย้ายโลงศพหนี จ้าละหวั่น เพื่อป้องกันความเสียหาย


 


ส่วนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อยต้องอาศัยกางเต้นท์บนถนนเพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราว ทางเทศบาลเมืองชัยนาท ได้ขอกำลังจากทหารกองบิน 4 ตาคลี จังหวัดนครสรรค์ และจากกองร้อยเสนารักษ์ จังหวัดลพบุรี จำนวน 170 นาย มาช่วยทำแนวกั้นกระสอบทรายตามริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยากันน้ำทะลักเข้าเขตเทศบาลเมืองชัยนาท


 


ระดับน้ำวันนี้ (14ต.ค.) ที่จังหวัดนครสวรรค์บวก 26.28 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงขึ้นอีก 5 เซนติเมตร เทียบกับเมื่อเวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำไหลจากจังหวัดนครสวรรค์5,685ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา บวก17.45เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลางระดับน้ำท้าย เขื่อนฯ บวก 17.34เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งระดับน้ำต่างกันเพียง 11 เซนติเมตร


 


ปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อน 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูงขึ้นอีก 14 เซนติเมตร เทียบกับเมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ ระดับน้ำที่มาจากจังหวัดนครสวรรค์ยังคงมีปริมาณสูงอยู่ทำให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมยังมีแนวโน้มว่าระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ


 


น้ำน่านดันทะลุท่อท่วมวัดใน อ.เมืองพิษณุโลก


สถานการณ์น้ำท่วมเขต อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยเฉพาะในเทศบาลนครพิษณุโลกยังเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งปริมาณน้ำเมื่อเวลา 16.00 น.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 10.30 เมตร เกินจุดวิกฤติของแม่น้ำน่านแล้ว 30 เซนติเมตร และหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นไปที่ 10.40-10.50 เมตร สูงสุดนับแต่ปี 2538


 


และจากปริมาณน้ำจำนวนมากและมีแรงดันมหาศาล ในวันนี้ (14ต.ค.) ได้ดันทะลุท่อระบายน้ำเข้าท่วมภายในเขตวัดนางพญา ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่ ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช โดยน้ำได้ดันท่อก่อนเข้าท่วมบริเวณพื้นที่กุฎิของพระสงฆ์ศาลาการเปรียญ โบสถ์และวิหารของทางวัด ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และยังสูงขึ้นตลอดเวลา สร้างความเดือดร้อนให้พระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปทำบุญ ที่ตามปกติในวันหยุดจะมีประชาชนไปทำบุญจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านพระเครื่องพิมพ์นางพญา


 



ทั้งนี้ ทางวัดได้นำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งเพื่อเร่งสูบน้ำแล้ว แต่เนื่องจากเครื่องสูบน้ำมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำได้ทันต่อน้ำที่ไหลท่วมเข้ามา ขณะที่เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของเทศบาลนครพิษณุโลกและหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็นำไปใช้สูบน้ำที่ท่วมในสถานที่ต่างๆ หมดแล้ว ล่าสุดในเขตอำเภอเมืองยังมีน้ำท่วมอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่รอบเขตเทศบาลนครพิษณุโลก มีบ้านเรือนประชาชนประสบความเดือดร้อน ถูกน้ำท่วมไปแล้วกว่า 1,000 หลังคาเรือน


 



กรมชลฯ เตือนน้ำในน.เจ้าพระยายังขึ้นสูง ให้เฝ้าระวังใกล้ชิด


ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันนี้  ที่จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำไหลผ่าน จำนวน 5,685 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีอัตราการเพิ่มขึ้นแต่ละวันอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 100 - 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


 



ทั้งนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะทรงตัว และคาดว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำสูงสุด ซึ่งจะมากกว่า ปี 2545 และอาจจะถึงปี 2538 โดยปี 2545 ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาสูงสุด 3,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปี 2538 ปริมาณน้ำสูงสุด 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที



อย่างไรก็ตาม มีการคาดหมายว่าปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อไป อาจจะสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ปี 2538


 



กรมชลประทาน จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณต่างๆ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ให้ตรวจสอบความแข็งแรงของคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งเสริมคันกันน้ำที่อยู่ในระดับต่ำและขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง และขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด


 



ประกาศเตือน 14 วันอันตราย น้ำท่วมนนท์


นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้เรียกประชุมขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ให้ออกประกาศเตือนภัยน้ำท่วมฉบับที่ 1 ถึงชาวนนทบุรีซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉุกเฉิน เนื่องจากเขื่อนชัยนาทที่รับน้ำจากจังหวัดนครสวรรค์ได้เร่งระบายออกน้ำจากเขื่อนแล้ว


 


โดยประกาศเตือนให้วันที่ 16-31 ตุลาคม 2549 เป็นช่วง 14 วันอันตราย และคาดว่าระหว่างวันที่ 22-23 ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรีจะสูงกว่าระดับปกติถึง 2.90 เมตร ซึ่งสูงเกินว่าที่แนวเขื่อนรับน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะกั้นน้ำได้ไหว ดังนั้นจังหวัดนนทบุรีอาจประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนกับปี 2538


 



นายพระนาย กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทางเทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด เสริมคอนกรีตประตูระบายน้ำที่มีอยู่และเสริมกระสอบทรายตามแนวเขื่อนที่รับน้ำเพิ่มอีก เพื่อป้องกันน้ำที่จะล้นเข้าท่วม พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำอย่ารื้อกระสอบทรายที่กั้นตามแนวแม่น้ำ เพราะจะทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชั้นในได้ และขอให้ติดตามปริมาณน้ำในแม่น้ำแต่ละวัน รวมทั้งขนย้ายสิ่งของไปไว้ในที่สูง


 



ผู้ว่าฯกทม.สั่งเร่งระบายน้ำออก เตรียมรับน้ำทะเลหนุนสูง 23-25 ต.ค.นี้


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมชุมชนวัดบางโพ- โอมาวาส และชุมชนซอยราชทรัพย์ เขตบางซื่อ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมจำนวน 50 ครัวเรือน ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดอ่อนที่น้ำท่วมหนัก ซึ่งกรุงเทพมหานครได้วางแนวกระสอบทรายกั้นน้ำสูงกว่าปกติถึง 3 เมตร ประกอบกับยังมีน้ำเอ่อล้นเข้าบ้านเรือน ในวันนี้กรมชลประทานจึงได้เร่งระบายน้ำออกมาจากท้ายเขื่อนประมาณ 4,547 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงที่สุด


 



อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่ฝนยังไม่ตกหนักและน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังไม่สูงมากนัก จึงเป็นโอกาสดีที่กรุงเทพมหานครจะเร่งระบายน้ำออกมาจากพื้นที่ชั้นใน บริเวณประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองประเวศบุรีรมย์ รวมทั้งเร่งพร่องน้ำจากแก้มลิงทั้ง 20 แห่งให้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เกิดจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 23 - 25 ตุลาคมนี้


 



ส่วนการเร่งผันน้ำเข้าพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานครนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับทุกจังหวัด ยืนยันว่า จะมีการสำรวจพื้นที่ที่เกิดผลกระทบต่อบ้านเรือนของประชาชนน้อยที่สุด โดยจะผันน้ำเข้าพื้นที่ทุ่งหรือพื้นที่เกษตร ซึ่งยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร แต่ในส่วนนี้กรมป้องกันภัยจะมีมาตรการดูแลและช่วยเหลือเกษตรกรเป็นกรณีพิเศษ



อุตุฯ ใต้ เตือนฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน


น.ส.กมลศรี เสณีตันติกุล ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา เปิดเผยว่า ผลจากการตรวจฝนด้วยเรดาร์ที่ อ.สทิงพระ พบกลุ่มฝนแผ่ปกคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี และยะลา คาดว่ากลุ่มฝนจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกและแผ่ขยายเพิ่มพื้นที่ปกคลุมมากขึ้น ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ตอนล่าง


 


ลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนตกหนักบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภาวะน้ำท่วม และดิน โคลนถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะต่อไปนี้ ขณะที่ชลประทานจังหวัดสงขลารายงานระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองสะเดา ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 40 ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองหลา และคลองจำไหร ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีฝนตกหนักลงมา ก็จะพิจารณาเพื่อพร่องน้ำ รอรับน้ำใหม่ โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net