องคมนตรีหนุนเลิกใช้ชื่อ 30 บาท เสนอให้คนจนรักษาฟรี ใครมีเก็บ 30 บาท

14 ต.ค. 2549 นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวในระหว่างปาฐกถาพิเศษ"สุขภาพแบบพอเพียงตาม รอยเบื้องพระยุคลบาท" ในการประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาวิชาการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ถึงโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้ชื่อ 30 บาท คนไทยห่างไกลโรค ซึ่งเป็นชื่อกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้หาเสียงของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

 

ส่วนการเก็บ 30 บาทนั้น คงขึ้นอยู่กับการหาจุดสมดุลว่าจะให้ความช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนอย่างไร ซึ่งประชาชนมีหลายระดับทั้งที่ร่ำรวยมาก ปานกลาง ยากจนโดยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจะต้องกำหนดลงไปให้ชัดเจนให้ประชาชนที่ยากจนจริงๆได้รับการประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยไม่เสียเงิน ส่วนผู้ที่มีรายได้ สูง ปานกลางก็ควรให้มีการเก็บ 30 บาทเหมือนเดิม

 

"อยากเสนอให้มีการหาบุคคล หรือหน่วยงานที่มีความเป็นกลางศึกษานโยบายสาธารณะว่า ใน 5 ปี ที่ผ่านมามีผลกระทบกับโรงพยาบาลแพทย์ โรงพยาบาลชุมชน บุคลากรทางการ แพทย์ ประชาชน ที่เข้ามารับบริการดีขึ้น หรือแย่ลง"

 

นพ.เกษม กล่าวอีกว่า รัฐบาลที่ผ่านมาประหลาดที่สุดไม่มีแม้ แต่การทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ใช้เงินกันอย่างไม่มีการวาง แผนใช้เงิน ตอนนี้จึงต้องเร่งวางแผนโดยนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้

 

สำหรับโครงการ 30 บาท ก็ไม่ตรงกับความต้องการของรัฐธรรมนูญ อยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินโยบายสาธารณข้อนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลกับ โรงพยาบาล แพทย์ โรงพยาบาลชุมชน เพราะที่ 4-5 ปี ที่ผ่านมาการบริหารงานขาดธรรมาภิบาล ไม่มีการศึกษาผลกระทบของนโยบายแต่ละนโยบายว่าส่งผลกระทบเช่นไรบ้าง ผลกระทบที่ชัดเจน กับการขาดทุนของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดและโรงเรียนแพทย์

 

นพ.เกษม กล่าวอีกว่า ตนรู้สึกเป็นห่วงโรงเรียนแพทย์มาก เนื่องจากมีการเปิดโรงเรียนแพทย์หลายๆ แห่งเพื่อผลิตแพทย์ให้ได้มากๆ แต่กลับไม่มีคุณภาพเพราะตอนนี้คนเก่งๆ อยู่โรงพยาบาลเอกชนหมด

 

เมื่อก่อน ใครเรียนได้เหรียญทอง อยากเข้าไปเป็นอาจารย์แพทย์ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แล้วการผลิตแพทย์จะเป็นอย่างไร

 

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันการยกเลิกจัดเก็บ 30 บาท แต่ยังคงดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนจะทำอย่างไรต่อจากนี้นั้น อยู่ระหว่างการหารือที่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่คิดไว้มี 2 แนวทาง คือ การกำหนดให้มีการร่วมจ่าย และ การตั้งตู้รับบริจาคช่วยเหลือตามโรงพยาบาล ซึ่งการบริจาคไม่ได้หมายถึงกำลังทรัพย์เท่านั้นแต่รวมถึงแรงกำลังที่มาร่วมดูแลผู้ป่วย

 

ทั้งนี้ โครงการ 30 บาท ที่ผ่านมามีการลักลั่น โดยมีผู้ที่จ่าย 30 บาท และที่ไม่ต้องจ่าย ซึ่งยกมาจากผู้มีสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปตามสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญ

 

ด้าน ดร.อัมมาร สยามวาลา กล่าวว่า แม้ไม่มีการเก็บ 30 บาท ก็ไม่กระทบต่อโครงการนี้ เนื่องจากงบประมาณรายหัวที่ได้รับมีประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในขณะที่เงินที่เก็บมีเพียง 1.8 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น ถือว่าเป็นเงินที่เล็กน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพหลายประการ

 

ส่วนที่เกรงว่าชาวบ้านจะมาใช้บริการจำนวนมากโดยไม่จำเป็น หากไม่มีการเก็บเงิน ตนเห็นว่าในประเด็นนี้ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะถ้าไปถามชาวบ้าน ค่าเดินทางมารับการรักษา แพงกว่า 30 บาทที่ต้องจ่ายไป และโรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหากไม่มีโรคใครเขาอยากจะมา

 

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการทีอีอาร์ไอศึกษาโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวว่า การยกเลิกการจัดเก็บ 30 บาทนั้น ผลกระทบมีน้อยมาก เพราะปัจจุบันผู้ที่ถือบัตรทอง 47 ล้านคน มีจำนวนครึ่งหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มบัตรทอง ท. ที่ไม่ต้องจ่าย 30 บาทเลย ทำให้แต่ละปีสามารถจัดเก็บเงินส่วนนี้ได้เพียงปีละ 1,500 ล้านบาท หรือ 2,000 ล้านบาทเต็มที่ และเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้ หากได้เพิ่มงบประมาณค่ารักษารายหัวที่ 2,085 บาท จะทำให้มีจำนวนงบประมาณในโครงการถึงกว่าแสนล้านบาท จึงถือว่าเป็นก้อนเงินเล็กน้อยเท่านั้น

 

ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า การเก็บ 30 บาทในเบื้องต้นมีจุดประสงค์เพื่อกันคนมาใช้บริการรักษา โดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งต้องมาดูว่าเงิน 30 บาทนั้นสามารถป้องกันได้หรือไม่ หากเป็นกลุ่มคนชนชั้นกลาง การจ่ายเพียงแค่ 30 บาทถือเป็นเงินเล็กน้อยเท่านั้น แต่ 30 บาทนี้กลับเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการ

 

เพราะนอกจากที่ต้องจ่ายค่าเดินทาง 200-300 บาทแล้ว ยังต้องจ่าย 30 บาทเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีเพราะเบื้องต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการดำเนินการเพื่อช่วยคนจนให้เข้าถึงบริการ และหากมองในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครอยากเสียเวลาครึ่งวันเพื่อไปหาหมอโดยไม่จำเป็น

 

ส่วนที่ นพ.มงคล เสนอแนวทางการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยเก็บเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะนั้น ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ นพ.มงคล เสนอให้เลิกเก็บ 30 บาท เพื่อลดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชี แต่การทำระบบร่วมจ่ายจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดทำบัญชีเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องประเมินรายได้ ระดับของการร่วมจ่าย

 

ดังนั้น ทางออกที่ดีน่าจะนำเงิน จากการจัดเก็บภาษีมาใช้ในส่วนนี้มากกว่า นอกจากจะเป็นการนำเงินของประชาชนมาช่วยประชาชนแล้ว ยังเป็นการเฉลี่ย เพราะปกติคนรวยจะเสียภาษีมากกว่าคนจนอยู่แล้ว ทำให้ไม่ เกิดความยุ่งยากในภายหลัง

 

"การร่วมจ่ายต้องคงต้องศึกษาให้ดี ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ส่วน เราจะได้รับผลกระทบจากการร่วมจ่ายอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกำหนดรูปแบบ"

 

อย่างไรก็ตาม เกรงว่า สิทธิการรักษาขณะนี้คนจนรักษาฟรีอยู่แล้ว แต่หากเป็นการร่วมจ่าย คนไม่จนจริงอาจได้รับสิทธิ์ไม่ต้องจ่าย แต่คนจนอาจต้องเป็นผู้ต้องเป็นผู้จ่ายร่วมแทน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคย มีปัญหาบัตรรักษาฟรีที่คนจนไม่ได้บัตร แต่คนไม่จนกลับมีสิทธิ์แทน

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกการจัดเก็บ 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นที่ทราบกันดีว่า แนวคิดในการจัดเก็บ 30 บาทกับประชาชน ไม่ได้มุ่งหวังรายได้ในส่วนนี้ แต่เป็นเพราะเกรงว่าจะมีการเข้ารับบริการรักษาที่เกินความจำเป็น แบบที่เรียกว่าฟุ่มเฟือย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล หากประชาชนไม่เจ็บป่วยจริง ๆ คง ไม่อยากมารับบริการ เพราะเสียเวลา และยังต้องเข้าคิวรอการรักษาเป็นเวลานาน แม้ว่าจะเป็นบริการที่ไม่เสียเงินค่ารักษาก็ตาม อีกทั้งการเก็บเงินนี้ไม่ได้กระทบต่อผู้มีฐานะ แต่จะกระทบต่อผู้ยากไร้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการยกเลิกในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ดี

 

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เกรงว่าหากไม่จัดเก็บเงินในส่วนนี้ อาจทำให้งบประมาณ ส่วนหนึ่งขาดหายไปได้นั้น ตนคิดว่าไม่น่าเป็นปัญหา เพราะเงินส่วนนี้ที่จัดเก็บในโรงพยาบาลชุมชนได้เพียงปีละ 400 ล้านบาทเท่านั้น

 

หากเทียบกับงบประมาณค่ารักษาซึ่งตกปี ละ 80,000-90,000 ล้านบาทถือว่าน้อยมาก และหากมีการเพิ่มเติมงบประมาณในปี 2550 ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอเพิ่มจาก 1,659 บาทต่อหัว เป็น 2,089 บาทต่อหัว จะทำให้มีงบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 20,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำ มาทดแทนได้ ทั้งนี้หากมีการยกเลิกการจ่าย 30 บาทจริง ก็สามารถนำมาเป็นเหตุผลเพื่อของบประมาณที่เพิ่มได้

 

"ผมเห็นด้วยนะ ที่จะยกเลิกไป เพราะตามหลักโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นโครงการที่มุ่งช่วยเหลือประชาชน ที่ถูกหยิบยกมาเป็นโครงการประชานิยมของพรรคการเมือง และหากไม่มีการจ่ายเงินในส่วนนี้แล้ว ก็จะทำให้ภาพโครงการที่ติดอยู่กับการเมืองถูกลบไป ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วย เนื่องจากไม่ได้ทำให้แย่ลง แต่เป็นการทำให้ โครงการดีขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง" ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว

 

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการเสนอให้มีการร่วมจ่ายนั้น ไม่อยากให้เป็นการร่วมจ่าย ค่ารักษา แต่ควรจะเป็นการจ่ายร่วมเฉพาะการบริการพิเศษ ที่นอกเหนือสิทธิการรักษาพื้นฐานและไม่กระทบต่อคุณภาพในการรักษา อย่างเช่น ห้องพิเศษ หรือความสะดวกสบายใน การรับบริการอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิที่ชัดเจนในการใช้บริการอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความระแวงการใช้บริการว่า อาจไม่ได้รับการรักษาที่เต็มที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้

 

..................................

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท