Skip to main content
sharethis

วิทยากร เชียงกูล


 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต


 


เราควรมองการปฏิรูปเมือง ในความหมายกว้างว่า ต้องเพิ่มอำนาจต่อรองและการบริหารจัดการของประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วย ไม่ใช้แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น


 


การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการเลือกผู้แทนมาบริหารจัดการประเทศ ประชาธิปไตยจะต้องรวมถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น มีการกระจายทรัพย์สินรายได้ การศึกษา และสถานะทางสังคม ที่ค่อนเป็นธรรมด้วย ถ้ามีการเลือกตั้งแต่ละประเทศยังประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม ก็จะเป็นแค่ประชาธิปไตยจอมปลอม เป็นเผด็จการทางรัฐสภา(และสถาบันการเมืองส่วนประกอบอื่นๆ ) ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีบทบาทแท้จริง


 


ดังนั้น รัฐบาลและประชาชนอย่าไปเสียเวลากับการคิดร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว รัฐบาลไม่ควรคิดว่าจะบริหารประเทศเพื่อความสมานฉันท์เท่านั้น ต้องคิดใหม่ว่าจะต้องปฎิรูปการเมืองหรือสังคมทั้งหมดอย่างไร จึงจะป้องกันระบอบทักษิณหรืออะไรที่คล้ายกันกลับมาได้อีก รัฐบาลไม่ควรคิดว่าการอยู่แค่1ปี คงเป็นแค่รักษาการ ทำอะไรไม่ได้มาก ต้องคิดใหม่ว่า นี่เป็นรัฐบาลพิเศษที่เกิดในสถานะการณ์ที่มีปัญหาวิกฤติ รัฐบาลต้องรีบทำงานแบบผ่าตัดปฏิรูปประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่าแค่ทำให้เสร็จไปวันๆแบบเก่า


 


ในวาระที่ควรถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างเร่งด่วนคือ การปฎิรูปการศึกษาและสื่อมวลชนในเชิงคุณภาพอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ ฉลาด มีจิตสำนึก รู้เท่าทันระบอบทุนนิยม ระบอบขุนนาง และทุกระบอบที่ครอบงำเอาเปรียบประชาชน


 


การปฏิรูปหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่การทำงานแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือใส่อะไรเข้ามาใหม่แบบเล็กๆ น้อยๆ การปฎิรูปการศึกษาที่พูดกันมา 6 ปี แล้วไม่ก้าวไปไหน เพราะ เปลี่ยนแค่โครงสร้างองค์การบริหาร กระทรวงศึกษา แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบาย การบริหาร แนวคิดและพฤติกรรม ผู้บริหารและครูอาจารย์ ไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนจากการบรรยายแบบท่องจำให้เป็นการสัมนาที่จะช่วยให้ผู้เรียนรักการอ่าน คิดวิเคราะห์สังเคราะห์เป็น (สกศ.รายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2547 /2548 รากเหง้าของปัญหาและทางแก้ไข)


 


ต้องปฏิรูปครูอาจารย์ก่อนอื่น


การจะปฏิรูปการศึกษาได้ ต้องกล้าลงมือผ่าตัดปฏิรูป แนวคิดและพฤติกรรมของบุคคลากร ตั้งแต่ผู้บริหารในกระทรวง ไปถึงครูอาจารย์ทั้งประเทศอย่างจริงจัง เพราะคนเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย ประเด็นสำคัญคือต้องเปลี่ยนแปลงตัวครูอาจารย์ให้มีปัญญาและความรักในวิชาการที่จะสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการสอน จากการบรรยายให้ผู้เรียนจดท่องจำ เป็นการชี้แนะแบบให้ผู้เรียนรักการอ่านการเรียนรู้ วิเคราะห์ ทดลอง พิสูจน์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น เราจึงจะปฎิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพได้


 


เราจะต้องทำให้ครูอาจารย์รักการอ่าน การเรียนรู้ คิดวิเคราะห์เป็นให้ได้เสียก่อน ถ้าครูเก่าบางคนทำไม่ได้ ก็ต้องหาครูใหม่มาทดแทน ต้องมีการประเมินครูอาจารย์ อย่างตรงกับความเป็นจริงและอย่างมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ประเมินจากการซักถาม ผู้เรียน ผู้ปกครอง ดูผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน เพื่อนร่วมงาน การซักถามครูอาจารย์ การทดสอบประเมินความรู้ของครูอาจารย์


 


หลังจากนั้นต้องมีการจัดการศึกษาเชิงสัมนาปฎิบัติการให้กับ ครูอาจารย์ที่ล้าหลังอย่างเข้มข้น รวมทั้งการคัดเลือกส่งครูอาจารย์ไปเรียน หลักสูตรใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดความรู้และแนวคิดใหม่จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ประเมินครูอาจารย์จากตัวรายงาน ไม่ใช่แค่การจัดฝึกอบรมแบบให้ครูมานั่งฟังบรรยาย แต่จะต้องหาวิธีทำให้ครูอาจารย์ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดและพฤติกรรมให้เป็นครูอาจารย์ที่รักวิชาการมากขึ้นและสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น


 


ส่วนหนึ่งก็ควรให้ครูอาจารย์ที่ไม่ผ่านการประเมิน เกษียนก่อนอายุครบ60ไป และรับครูอาจารย์ใหม่ๆที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีคุณภาพ ปรับโครงสร้างเงินเดือนค่าตอบแทนครูอาจารย์ทั้งระบบ และชักชวนผู้มีความรู้สาขาต่างๆที่มีแนวคิดทันสมัยสมัครเข้ามาเป็นครูอาจารย์ทั้งประจำและพิเศษ โดยเปลี่ยนระบบการจ้างให้ยืดหยุ่นและให้ค่าตอบแทนสูงมากขึ้น เพื่อที่จะจูงใจให้คนเก่งๆเข้ามาช่วยสอนเพิ่มขึ้นปัญหางบประมาณควรแก้ด้วยการออกพันธบัตรเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพราะเป็นการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้แน่ในระยะยาว


 


ปฏิรูปสื่อและการศึกษานอกระบบ


ควรทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนที่เก่งๆเข้าไปปฎิรูปการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างขนานใหญ่ เพื่อทำให้ประชาชนทั่วประเทศมีโอกาสได้เรียนรู้ ฉลาด มีจิตสำนึก รู้เท่าทันระบอบทักษิณ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก และปัญหาอื่นๆ ที่พลเมืองสมัยใหม่ควรจะได้รู้ รณรงค์ให้ประชาชนทั้งประเทศตื่นตัวว่าประเทศเรามีวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ เพราะประชาชนยังได้รับความรู้ข้อมูลข่าวสารที่ต่ำกว่าเปรียบเทียบกับพลเมืองของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมาก


 


การศึกษาไม่ไช่แค่การเรียนในห้องเพื่อสอบเอาประกาศนียบัตร แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ของคนทั้งประเทศ และประชาชนต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอด้วย คนถึงจะพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพ และประเทศเข้มแข็ง


 


ปัจจุบันองค์กรธุรกิจสมัยใหม่เริ่มตระหนักว่า จะแข่งขันกับคนอื่นได้ ต้องทำให้คนทั้งองค์กรได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นองค์กรที่เรียนรู้อยู่เสมอ (Learning Organization ) ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นประเทศชาติที่เรียนรู้ (Learning Nation ) ด้วย ไม่อย่างนั้น นอกจากประเทศไทยจะแข่งขันสู้ใครเขาไม่ได้ แค่จะแก้ปัญหาอยู่ให้รอดก็ทำได้ยาก


 


สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิรูปคู่กันคือสื่อมวลชน(วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ของประชาชนมากเช่นกัน บางทีจะมีอิทธิพลมากกว่าโรงเรียนเสียอีก เรามักไปคิดว่าสื่อมวลชนเป็นเรื่องของการขายสินค้าข่าวสาร ความบันเทิง ที่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของธุรกิจเอกชน ตามกลไกตลาด แต่สื่อมวลชนเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่มีผลกระทบต่อความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ความคิดความเชื่อของประชาชนสูง ที่ภาครัฐควรต้องดูแลส่งเสริมให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและประชาชนเข้าถึงได้ทั่วกันโดยเสียค่าใช้จ่ายต่ำ


 


การปล่อยให้การผลิตและการบริโภคสื่อขึ้นอยู่กลไกตลาด ทำให้วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยมโลก ที่มุ่งการโฆษณาสินค้าและความบันเทิงแบบมอมเมา เพื่อจูงใจให้คนแก่งแย่งแข่งขัน มีค่านิยมเห็นแก่เงิน และการบริโภค มุ่งหากำไรเอกชนให้ได้มาก ไม่ได้สนใจจะให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างพลเมืองดี การร่วมกันคิดแก้ไขปัญหา และพัฒนาประเทศชาติ แถมยังมอมเมาเด็กและเยาวชนให้ชอบความรุนแรง หมกหมุ่นเรื่องเพศ การสูบบุหรี่ดื่มเหล้า และค่านิยมเลวร้ายอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงอย่างมาก


 


รัฐบาลควรรีบดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์(กสช)โดยคัดเลือกคนที่มีความรู้ มีความคิดเชิงปฏิรูป ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มาทำงานปฏิรูปจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่และส่งเสริมการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์อย่างจริงจัง สื่อภาครัฐหรือที่รัฐที่ถือหุ้นใหญ่อย่าง อสมท. ก็ควรจะปฏิรูปใหม่ โดยเน้นการเสนอรายการที่มีคุณภาพ ยกระดับความรู้ ศิลปวัฒนธรรมของประชาชน มากกว่าเน้นกำไรทางธุรกิจ ซึ่งได้แค่ตัวเงินไม่เท่าไร แต่การทำสื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อช่วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของประชาชนทั้งประเทศเป็นประโยชน์สูงกว่าเงินกำไรและค่าสัมปทานที่เอกชนเช่าไปหลายพันเท่า


 


รัฐบาลใช้งบประมาณการศึกษาปีละราว 2 แสนล้านบาท แต่ยังพัฒนาคุณภาพประชาชนได้น้อย เราควรใช้วิทยุโทรทัศน์ที่เป็นสมบัติของส่วนรวม เพื่อช่วยให้ประชาชนฉลาดและมีรสนิยมทางศิลปวัฒนธรรมที่สูงขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนเช่าผลิตรายการเพื่อความบันเทิงและเพื่อขายสินค้า ถ้ารัฐบาลไม่ฉลาดพอที่จะช่วงชิงโอกาสผ่าตัดปฏิรูปการศึกษาและสื่อให้ได้ในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ถึงจะเขียนรัฐธรรมนูญให้ดีแค่ไหน ก็คงจะปฏิรูปการเมืองไม่สำเร็จ เพราะนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ยังถูกมอมเมาอยู่ การเลือกตั้งคราวหน้า ระบอบทักษิณหรือ ระบอบอะไรคล้ายๆ กันก็คงกลับมาอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net