Skip to main content
sharethis

ศราวุฒิ ประทุมราช อดีตประธานชมรมคาทอลิก ธรรมศาสตร์  ปี 2522


 


ก่อนที่จะแสดงความเห็นในบทความนี้ ขอไว้อาลัยแด่สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ได้หายไป เพราะการรัฐประหาร


 


เมื่อเกิดเหตุการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย สังคมไทยได้เกิดการถกเถียงในประเด็นใหญ่ๆอยู่ อย่างน้อย 2 ประการ


 


ประเด็นแรก เป็นการเหมาะสมแล้วที่ทหารทำการยึดอำนาจ เพราะรัฐบาลหรือนักการเมืองฉ้อฉล จนไม่อาจใช้วิถีทางประชาธิปไตย แก้ไขได้


 


ประเด็นที่สอง การรัฐประหาร คือ อาชญากรรม ต่อระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน


 


ผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหารแม้ไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ค่อนข้างเห็นว่าเมื่อไม่สามารถใช้กระบวนการตามวิถีทางประชาธิปไตย ได้ ต้องเรียกร้องอำนาจนอกระบบหรือ ผู้มีอำนาจเหนือกว่า เข้ามาจัดการรัฐบาลที่ฉ้อฉล เช่นกรณีการรัฐประหารเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจนากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเห็นว่ารัฐบาลพลเอกชาติชาย มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันอย่างมโหฬาร ต้องให้ทหารเข้ามาจัดการ ด้วยหวังว่าคณะทหารที่ยึดอำนาจจะมีความเป็นธรรม และคืนอำนาจให้แก่ประชาชน และเรามักยึดติดกับภาพในอดีต ที่คณะรัฐประหารมีความเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมือง เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ มีการสั่งประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติด ผู้วางเพลิง และผู้ก่ออาชญากรรมที่กฎหมายไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้ สังคมไทยจึงมักเรียกร้องหาอำนาจนอกระบบอยู่เนืองๆ


 


ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร คิดว่า การรัฐประหารโดยตัวเองเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง และเป็นอาชญากรรมที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือ the Rule of Law ที่ยึดมั่นว่าประเทศต้องปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายนั้นต้องมีความเป็นธรรมตามหลักการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใครกระทำความผิดตามกฎหมายต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และก่อนที่ศาลจะพิพากษาว่าใครเป็นผู้กระทำผิด จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ เช่น ห้ามนำผู้ถูกจับแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ผู้ถูกจับต้องได้รับการประกันตัว มีทนายความในการต่อสู้คดี ฯลฯ เป็นต้น


 


ถามว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549ที่ผ่านมา มีความชอบธรรมหรือไม่


 


ความชอบธรรมคืออะไร ถ้าในความหมายว่าความชอบธรรมคือ ความยุติธรรม ความมีเหตุมีผลแล้ว การรัฐประหารทุกกรณีย่อมมีความไม่ชอบธรรม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


 


1.       การรัฐประหารมักเกิดขึ้นในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย คือมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล โดยหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมาก จะได้รับการลงคะแนนจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่พรรคของตนได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทย ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็ได้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศ ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้เลือก รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงมีความชอบธรรมในการได้รับฉันทานุมัติในการบริหารประเทศ โดยมีพรรคการเมืองอื่นที่มีทีนั่งในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่า เป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย การรัฐประหารเป็นการไม่เคารพกติกาของเสียงส่วนใหญ่ที่มอบความไว้วางใจในการบริหารประเทศให้พรรคไทยรักไทย จึงไม่เป็นธรรมต่อเสียงข้างมากของประชาชนที่ไม่ได้เลือกคณะรัฐประหาร


 


2.       กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องเป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่นี้รัฐธรรมนูญของไทยกำหนดกติกาไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ หากบุคคลในรัฐบาลทุจริตสามารถให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ตรวจสอบ หากพบความผิดจริงให้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือมีศาลรัฐธรรมนูญ คอยควบคุมกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ดังนั้นกฎ กติกาของการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ จึงเป็นหลักที่องคาพยพของสังคมไทยต้องปฏิบัติตาม หรือใช้กลไกเหล่านี้ในการตรวจสอบนักการเมือง


 


ในกรณีที่พรรคไทยรักไทยบริหารบ้านเมืองไม่เป็นไปตามที่ได้สัญญาไว้ หรือมีความฉ้อฉล ก็ต้องเป็นไปตามกฎหรือหลักของระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจนอกระบบจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคารพกฎ กติกาของระบอบประชาธิปไตย ไม่เป็นธรรมต่อระบอบประชาธิปไตยที่ต้องปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ และเคารพเสียงส่วนน้อย


 


ในกรณีเช่นนี้ ศาสนิกจะปฏิบัติตนอย่างไร


 


ศาสนิก คือผู้ที่ยึดมั่นและปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนขององค์ศาสดา ที่เชื่อมั่นว่า หากดำเนินชีวิตตามคำสอนของศาสดาแล้ว ชีวิตจะมีความมั่นคงและไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ในสังคม ก่อให้เกิดสันติสุขในสังคมในที่สุด หากกล่าวโดยเฉพาะคาทอลิกแล้ว คำสอนขององค์พระเยซู เป็นหนทางของความจริง ผู้ใดดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซู ย่อมมีความรอดทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระเยซูสอนให้ชาวคาทอลิกรักความยุติธรรมและเป็นพยานให้แก่ความยุติธรรม เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า คำสอนหลายประการขององค์พระเยซู สะท้อนให้คริสตชนเป็นประจักษ์พยานแห่งการเอารัดเอาเปรียบ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกดขี่ ดังเช่นทรงอุปมาว่า คนรวยจะเข้าถึงพระราชัยสวรรค์นั้น ยากกว่าอูฐรอดรูเข็ม พระองค์ทรงชิงชังผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สฤงคาร แต่ใจแคบไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้ขาดแคลน นับเป็นการสอนเรื่องคุณธรรมและความยุติธรรมไปพร้อมๆกัน


 


ดังนั้นศาสนิกที่แท้ต้องเป็นพยาน และยืนเคียงข้างความถูกต้อง มิใช่เคียงข้างความถูกใจหรือสะใจ ศาสนิกที่แท้ต้องยืนเคียงข้างความชอบธรรม มิใช่เคียงข้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม


 


หากเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ไม่มีการรัฐประหาร เราจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะมีรัฐบาลที่มีที่มาจากความต้องการหรือเจตจำนงของประชาชน เราจะไม่ถูกดูหมิ่นจากนานาอารยประเทศว่า มีรัฐบาลที่มาจากอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ประชาชนไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก อย่างเสรี มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เราต้องปล่อยให้ประชาชนไทยเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ และเลือกผู้แทนของตนเองอย่างเสรี ตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ถ้าระบอบประชาธิปไตยสะดุดหยุดอยู่ โดยอำนาจนอกระบบ ครั้งแล้วครั้งเล่า เราจะอธิบายต่อชนรุ่นต่อๆไปได้อย่างไร ว่า เราในฐานะศาสนิก เอียงข้างความสะใจและขับไล่รัฐบาลประชาธิปไตยโดยอาศัยมือของความไม่ชอบธรรม ซึ่งต้องถามว่า เราควรเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ยึดมั่นในหลักธรรมเหมาะสมกับคำว่า "ศาสนิก" หรือไม่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net