Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ


 


 


เดือนตุลาคม นับว่ามีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เมื่อย้อนเวลากลับไปเดือนตุลาคมเมื่อ 33 ปีที่แล้วคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการที่มวลชนออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจนถูกปราบปรามโดยรัฐบาลทหาร แต่หลังจากนั้นก็นำสังคมไทยไปสู่การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง หลังจากนั้น 3 ปี คือปี 2519 คือ 6 ตุลาคม 2519 มีการเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชน กลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ถูกฉีกทิ้งไป และบัดนี้หลังการทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ภายใต้ธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง (ซึ่งหวังว่าท่านจะไม่สืบทอดอำนาจ)


 


ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 มานานเพียงไรแต่พัฒนาการของประชาธิปไตยของประเทศไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับวงจรของวิกฤตการเมือง นำไปสู่การรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งวนไปวนมา ด้วยเหตุนี้ "ประชาไท" จึงถือโอกาสแห่งเดือนตุลาคม สัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์นอกกระแสคนสำคัญคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วย สำหรับคำต่อคำของบทสนทนา "ประชาไท" ขอนำเสนอท่านต่อไปนี้


 



 


000


ตอนนี้เราได้นายกฯ คนใหม่ที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ และมีการยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คิดว่ามันพอใช้ได้หรือไม่ มีเนื้อหาอะไรที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่


 


คงต้องเรียนว่า เวลาเรามองการเมือง ต้องมองอะไรที่แยกจากกันบ้าง ผมรู้สึกว่าคนไทยดีใจกับนายกฯ คนใหม่ รู้สึกว่าท่านเป็นคนดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย ทุกคนยอมรับ แต่ขณะเดียวกันผมอยากเตือนว่า อย่าเพิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในตัวคนดีมาบดบังตัวโครงสร้างบางอย่างที่มันจะทำให้สิ่งที่เราทุกคนฝันคือรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้และระบอบประชาธิปไตยมันไม่เดิน


 


ที่ผมเรียนเช่นนี้เพื่อเตือนสังคมไทยว่า ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้คนดีอาจไม่สามารถปฏิบัติพันธะกิจต่อสังคมไทยในการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้ เหตุเพราะตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในมาตราท้ายๆ ถ้าไปอ่านดูจะพบว่าเป็นมาตราที่ทำให้อำนาจยังคงอยู่ในมือของคณะมนตรีความมั่นคงสูงมาก ซึ่งแปลว่าถ้าหากคณะรัฐบาลที่อุตส่าห์จัดตั้ง มีสภาต่างๆ มีการเลือกตั้งขึ้นมาแล้วเสนอขึ้นไป เกิดสมมติว่าคณะมนตรีความมั่นคงไม่พอใจ เขาก็แก้ได้อีก


 


ดังนั้น สิ่งที่สังคมไทยต้องคิดคือภารกิจใหญ่ของเราคือ เราคงต้องช่วยกันเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มากขึ้น แน่นอน ตอนนี้แม้เรายังไม่เห็นชัดๆ ว่าการมีส่วนร่วมที่รัฐบาลใหม่จะให้เราเป็นอย่างไร เพราะเห็นไม่ชัดนอกจากการเลือกตั้งคนจากเท่านั้นคนไปสู่เท่านั้นคน


 


แต่ผมคิดว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกมาแบบนี้ ก็ให้เราตระหนักว่ามันมีลักษณะการกีดกันอำนาจอยู่ที่คณะมนตรี


 


แต่ถ้าหากเราสามารถที่จะจัดการประชุมชาวบ้านในระดับต่างๆ พูดคุยกัน และแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในระดับที่กว้างว่า คณะกรรมการต่างๆ ควรจะรับฟังเราอย่างไร ควรจะปฏิบัติตามข้อเสนอของเราอย่างไร และที่สำคัญเราคงต้องเรียกร้องว่า การปฏิรูปการเมืองในความหมายที่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ใช่ปิดประตูร่างรัฐธรรมนูญกันเฉพาะกรรมการ ทุกภาคส่วนของสังคมคงต้องทำให้เขาเปิดประตู ไม่ใช่ปิดแค่กรรมการที่เขาเลือกไป 100-200 คน แล้วร่างฯ มันไม่ใช่ เขาต้องเปิดประตูมาให้เราไปมีส่วนร่วม


 


เราในที่นี้หมายถึงประชาชนทุกกลุ่ม ที่จะต้องเข้าไป ไม่อย่างนั้นแล้ว เขาเพียงแค่มารับฟังเราและกลับไปร่าง มันก็เป็นการปิดประตู เขาจำเป็นที่ต้องมาเอาประเด็นเรากลับไปร่างและเอามาให้เราดูเป็นระยะๆ ด้วยไม่ใช่โยนมาให้เราประชามติอย่างเดียว


 


000


สิ่งที่อาจารย์เป็นห่วงในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็คือมาตราช่วงท้ายๆ ที่อำนาจบางอย่างแฝงไว้ที่คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งน่าเป็นห่วงในกระบวนการเชิงประชาธิปไตย ทีนี้ถ้าพูดถึงการปฏิรูปกลไกโครงสร้างของรัฐ แสดงว่าในทางตรรกะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็น่าจะดีกว่าของปี 2540


 


ผมไม่ทราบว่าจะเรียกว่าในทางตรรกะได้ไหม แต่ความคาดหวังของสังคมเราหวังว่าจะดีกว่า ในแง่มีการคานอำนาจที่ดีกว่า มีการตรวจสอบที่ดีกว่า เราหวังตรงนั้น เราหวังไว้ แต่เราจะสร้างตามความหวังของเรา คงขึ้นอยู่กับเรา


 


คือตัวรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ ... มันมีหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เช่น จำกัดคนสมัคร ส.ส. ก็ต้องจบปริญญาตรี


 


แต่สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้คนสามารถเข้าไปเทกโอเวอร์ได้ เช่น ความเชื่อของนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และนักกฎหมายมหาชนที่เชื่อว่าเราต้องสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งมันฝังลึกในรัฐธรรมนูญปี 2540 มันกลายเป็นการเปิดที่ทำให้รัฐบาลที่เข้มแข็งไปเทกโอเวอร์องค์กรอิสระหมด มันคงต้องมีการคิดกันว่ารัฐบาลที่เข้มแข็งจะให้เข้มแข็งในลักษณะไหน อ่อนแอในลักษณะไหน มีลักษณะพิเศษในการสร้างความถ่วงดุลให้ดีกว่านี้ รวมถึงว่าคงต้องทำให้มาตราเด่นๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สามารถเป็นจริงได้ง่ายขึ้น เช่น การออกกฎหมายโดยประชาชน หรือการตรวจสอบอื่นๆ


 


เราคงต้องช่วยกัน ต้องทำให้คณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถ หรือไม่กล้าที่จะใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในการยับยั้งเรา แน่นอนเขาไม่ใช้ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนดี แต่หมายถึงเราต้องกดกันไม่ให้เขาใช้ให้ได้ โดยเขารู้สึกว่าถ้าเขาใช้เมื่อไหร่หมายถึงการเสียการเมือง เราต้องคิดตรงนี้กันมากขึ้น ภาระสังคมไทยเยอะขึ้นในหลังจากนี้ไป


 


000


กระบวนการของการยกร่างรัฐธรรมนูญที่คัดเลือกคนจากแต่ละสาขาอาชีพมา 2,000 คน เลือกกันเองเหลือ 200 คน และคัดเหลือ 100 คิดว่ากระบวนการตรงนี้เป็นอย่างไร


 


มาตรการตรงนี้เขามองว่าเกิดในกระบวนการคัดสรรของตัวแทนประชาชนตรงนี้เอง แต่ในท้ายที่สุดแล้วปฏิเสธไม่ได้ว่ามันย่อมมีอำนาจอื่นมาแฝงเร้นได้ง่ายในกระบวนการคัดสรรตรงนี้


 


ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ โอเค เมื่อร่างมาให้คัดสรรแบบนี้แล้ว สิ่งที่ประชาชนต้องบอกคือ คัดสรรเสร็จไม่ได้แปลว่า ให้คุณปิดประตูร่างกัน คุณต้องร่างในสายตาของพวกเราทั้งหมดที่สามารถจับจ้องและยื่นกระดาษด่าคุณได้ พูดง่ายๆ เพราะเราไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวคงลำบากในวันนี้แม้ว่าผมไม่เห็นด้วย แต่เมื่อประกาศไปแล้วคงจำใจต้องยอมรับ แต่ในการจำใจต้องยอมรับเราก็ต้องสร้างให้มันมี ... มีประตู มีหน้าต่าง มีช่องที่จะทำให้เราเดินเข้าไปร่วมประชุมได้ด้วย


 


ถ้าหากเราไม่ร่วมกันเคลื่อนให้เขาเปิดประตู เปิดหน้าต่างให้เราเข้าไปร่วม ผมเชื่อว่า กระบวนการปิดประตูร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น แล้วตรงนั้นเองมันก็จะทำลายความฝันเรา ที่เราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า


 


000


ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ท้ายที่สุดแล้วมีการลงประชามตินั้น อาจารย์ไม่ได้มองว่ากระบวนการลงประชามติเป็นการเปิดประตูให้กับภาคสังคมได้เข้ามามีส่วนในการเติมเต็มหรือช่วยในการแก้ไข


 


ไม่พอครับ เหมือนกับว่าทำอาหารเสร็จแล้วและให้เรากิน ถ้าไม่อร่อยก็ส่งคืนไปแล้วให้พ่อครัวใหญ่ตัดสินว่าจะเอาอย่างไร เช่น พ่อครัวใหญ่อาจจะเลิกแล้วไปหยิบอีกมาตราหนึ่งมาและส่งให้เราเลยโดยที่ไม่ต้องมีประชามติ ผมคิดว่าแบบนี้ไม่ได้ ฟังดูดีที่ว่าให้ประชาชนลงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย แต่ผมคิดว่าต้องมีทั้งกระบวนการและลงไปจบที่ประชามติ มันไม่สามารถจะตัดตอนแค่นั้นได้ และการประชามติก็ยังไม่มีอะไรออกมาชัดๆ ว่าเอาหรือไม่เอา บางทีคนจำนวนมากอาจเออพูดว่ามันดูดี มันอาจมีบางมาตราไม่ดีเอาไว้ก่อน


 


ดังนั้น อย่าไปหลงว่ากระบวนการสุดท้ายที่มีประชามติคือประชาธิปไตย มันไม่ใช่ สิ่งที่เราเรียกร้องกันมาตลอด ตั้งแต่ปี 2540 เรื่อยมากระทั่งรัฐบาลคุณทักษิณคือ การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบ นี่คือหัวใจที่เราต้องเดินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรืออื่นๆ ก็ต้องเดินหน้าตรงนี้ตลอด


 


000


ย้อนไปถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่มีคน 2,000 คน แล้วมาคัดเลือกเหลือ 100 คนที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้น คิดว่ากระบวนการเข้าไปสรรหาอย่างไร


 


เขาแบ่งเป็นกลุ่มๆ มีนักวิชาการกลุ่มต่างๆ และคงจะมอบให้องค์กรหรือผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคนั้นเป็นผู้เสนอชื่อมา หรือร่วมกันคัดเลือก ซึ่งกระบวนการตรงนี้ ท้ายสุดเราก็อาจพบว่าคนที่มีชื่อในหนังสือพิมพ์มากหน่อย หรือคนที่เป็นประธานสมาคมโน่นสมาคมนี่ ก็มีโอกาสจะได้เป็น


 


ดังนั้นในฝั่งชาวบ้านเอง เราอาจนึกถึงผู้นำชาวบ้าน ผู้นำทางปัญญาในการสร้างประชาธิปไตยสมานฉันท์ก็คงไม่มีโอกาสเข้าไป แต่ว่าในเมื่อกลไกเป็นแบบนี้ เราเสนอ 2,000 ไม่ได้ เข้าไปคัดเลือกไม่ได้ เราต้องใช้เวทีร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานไปกับเขาเลย เราเปิดกว้างเลย สมาคมนักข่าวก็เปิดเว็บบอร์ดเพื่อรับข้อคิดเห็นเพื่อกลั่นกรอง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็เปิดเว็บหน้าธนาคารเพื่อการปฏิรูปการเมือง เครือข่ายทางสังคมเหล่านี้เองจะเป็นเวทีคู่ขนาน ที่ทำให้อย่างน้อยที่สุดสังคมจะเห็นเปรียบเทียบความแตกต่าง


 


ผมเชื่อว่าเดือน สองเดือนหรือสามเดือน ถ้าเริ่มปฏิรูปไปแล้ว ผมเชื่อว่าเวทีคู่ขนานที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดของสังคมซึ่งไม่จำเป็นต้องประสานกันเป็นหน่วยงานเดียว พวกนี้จะกดดันคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปว่าคุณจะต้องฟัง


 


ผมคิดว่ากลุ่มแบบนี้ในวันนี้คงมีอยู่แล้ว และคงมีเพื่อนพ้องน้องพี่ก็อีกหลายคนที่พร้อมจะทำ ซึ่งตรงนี้เองเราคงต้องไม่เกรงกลัวต่ออำนาจคณะรัฐประหาร ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราวและคำสั่งคณะรัฐประหารควรจะหมดไป แต่ครั้งนี้ไม่หมดนะ ดังนั้น อย่าไปกลัวเรื่องชุมนุม 5 คน อย่ากลัว เพราะเราเข้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว เราต้องรวมกลุ่มกันเสมอ ที่จะพูดคุยกันและเสนอข้อเรียกร้องเรา ในทุกพื้นที่ๆ มีเวทีคู่ขนาน ต้องบอกก่อนว่าเวทีคู่ขนานไม่ได้แปลว่าไปนั่งประกบกัน แต่เรากระจายไปทั้งสังคม


 


000


รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าถ้าไม่ใช่เวลามากก็เอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับปรุงและประกาศใช้เลย คิดอย่างไร เพราะหลายส่วนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีดีอยู่ก็น่าจะปรับปรุงและประกาศใช้


 


ผมคิดว่า ถึงวันนี้แล้วน่าจะปล่อยให้สังคมเข้าไปร่วมถกเถียง เพราะการพูดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ดีแล้ว ปรับปรุงเสร็จก็ใช้เลย คำถามคือใครเป็นคนปรับปรุงก็จะกลายนักกฎหมายมหาชนปรับปรุงอีก ปรับตรงนู้น แปะตรงนี้ เพิ่มอำนาจนู้น คุมอันนี้ ผมว่ามันก็อีหรอบเดิม


 


000


อาจารย์ค่อนข้างให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม


ผมให้ความสำคัญตรงนั้น ผมคิดว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา มันผลักสังคมไทยให้ก้าวถอยหลัง และไปเผชิญปัญหาอีกหลายๆ ปัญหา แน่นอนแก้ปัญหาบางปัญหาที่คาใจ เจ็บใจชนชั้นกลางได้ แต่ขณะเดียวกันมันเปิดให้สังคมไทยเห็นอีกหลายปัญหา รวมทั้งปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่มันแทรกอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับตัวเขียน


 


ดังนั้นการพูดอย่างง่ายๆ ว่าเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับแก้ใช้ ถึงวันนี้ไม่พอ เราถอยหลังไปแล้ว เราควรจะเดินใหม่ด้วยการสร้างความสนใจร่วมกันของสังคมขึ้นมา ความสำนึกของสังคมร่วมกันที่เราจะสร้างกติกาใหม่ร่วมกัน ซึ่งผมคิดว่าอาจใช้เวลาไม่ถึงปีก็ได้ 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือนก็ได้ แต่ทำงานกันจริง สังคมตื่นจริง ผมคิดว่าเราจะก้าวจากจุดอับ ก้าวจากจุดที่เราถอยหลังไปด้วยก้าวย่างที่มั่นคงมากขึ้น


 


ผมคงต้องแก้ตัวแทนอาจารย์ปริญญานิดหนึ่ง คือผมเดาว่าอาจารย์ปริญญาเสนอแบบนี้เกรงว่าจะเกิดการโจมตีกลับโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


 


อย่างที่เรียนไว้แล้ว กระบวนการน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้สังคมไทยเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าหากปราศจากกระบวนการเราคงไม่ได้เรียนรู้ ซึ่งก็น่าเสียดายที่เราถอยหลังไปแล้ว


 


000


อาจารย์กำลังจะหมายความว่าคุณค่าของรัฐธรรมนูญไม่ได้เฉพาะเรื่องลายลักษณ์อักษรเขียนดี ครอบคลุม แต่ว่าหมายถึงคนในสังคมที่จะต้องเข้าใจ เข้าถึง และรับรู้มัน


 


และความรับรู้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือตัวกำกับจิตใจเรา ตัวกำกับจิตใจนักการเมืองด้วยว่า คุณทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะประชาชนร่างมา มีเจตจำนง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ... คือผมคิดว่าสิ่งที่น่าต้องทำไปพร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรคือสร้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทยให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าจะสร้างได้ด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งหมดอย่างกว้างขวาง


 


รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมคือความสำนึกว่าเราจะสัมพันธ์กับอำนาจรัฐอย่างไร เราในฐานะพลเมือง เราจะจัดการ ควบคุมหรือทำอื่นๆ ในฐานะพลเมืองอย่างไร ความสำนึกแบบนี้ต้องฝังลงไป และฝังลงไปในการมองคนอื่นๆ ในแง่ทุกคนก็เป็นพลเมืองอย่างเท่าเทียมกันที่มีสิทธิ


 


รัฐธรรมนูญจริงๆ คือกฎหมายที่บอกว่าใครใหญ่ ใหญ่ตอนไหน ใหญ่เมื่อไหร่ ใหญ่อย่างไรในความสัมพันธ์ พูดง่ายๆ


 


รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม คือตัวกำกับให้มันฝังในจิตสำนึก ถ้าฝังแบบนี้ถามว่าในวันข้างหน้านักการเมืองจะกล้าพูดไหมว่า ผมมาจากกี่ล้านเสียงก็ได้ อ่ะไม่ต้องไปพาดพิงเขาก็ได้ หรือแน่จริงคุณมาเลือกตั้งแข่งกัน คำพูดแบบนี้จะหมดไป เพราะว่าวัฒนธรรมที่มันควบคุมทั้งสังคมและนักการเมือง บอกว่าประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วม การเข้ามาตรวจสอบ


 


แน่นอนผมไม่ได้มองโลกในแง่ดี จนกระทั่งคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมันสร้างได้วันเดียว ก็คงต้องเป็นกระบวนการต่อไปที่จะต้องเรียนรู้ นักการเมืองหลายๆ คนในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งทันทีที่มีข่าวคอรัปชั่นยังไม่ทันแดง สิ่งที่เขารู้สึกทั้งหมดในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของเขาก็คือเขาต้องลาออก


 


อย่าไปเรียกร้องสปิริตจากนักการเมือง แต่ว่ามันคือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ที่ทำให้นักการเมืองรู้สึกว่าเราไม่ลาออกไม่ได้หรอกประชาชนจะด่าเรารุนแรงมากขึ้น เราจะรู้สึกว่าเราจะเสียหน้า จะเสียเกียรติ เราต้องลาออก ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็น อเมริกาในบางสมัยก็เป็น


 


ตรงนี้ ผมอยากจะให้พลิกกลับ อย่าไปคิดถึงสปิริตนักการเมือง แต่คิดถึงการสร้างข้อกำกับทางวัฒนธรรม ที่ทำให้นักการเมืองตรงนั้นคุณต้องออก


 


000


ในแง่ของชุมชนในตอนนี้ มีเนื้อหาที่จำเป็นอันใดบ้าง ที่ไม่ควรหายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมันดีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม


 


ผมคิดว่าสำหรับพี่น้องชาวบ้าน หรือพี่น้องชุมชนต่างๆ การพูดถึงสิทธิชุมชนยังเป็นสิ่งจำเป็น และจำเป็นที่จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการบังคับใช้และยอมรับสิทธิชุมชนอย่างเป็นจริง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเรียกร้องต่อไป ส่วนที่สองที่สัมพันธ์กับสิทธิชุมชนก็คือว่าเราไม่สามารถรักษาสิทธิชุมชนได้ ถ้าหากเราไม่สามารถคิดถึงระบอบทรัพย์สินชุมชน ผมคิดว่าระบอบทรัพย์สินในสังคมไทย ต้องคิดกันใหม่ ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินของรัฐกับเอกชน แต่จำเป็นต้องพูดถึงทรัพย์สินของชุมชนด้วย


 


เช่น เราเสนอ พรบ.ป่าชุมชน นั่นคือการพูดถึงระบอบทรัพย์สินของชุมชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในญี่ปุ่นก็มี ในเยอรมันก็มีกฎหมายที่ยอมรับสิทธิชุมชน แปลงมาเป็นระบอบทรัพย์สินชุมชน เพื่อที่จะทำให้เราสามารถป้องกันทรัพย์สินของชุมชนที่จะถูกแปรสภาพไปเป็นทรัพย์สินเอกชนได้ อันนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคิด


 


และส่วนสำคัญอีกหลายๆ เรื่องที่พี่น้องประชาชนต้องคิดกันคือ ทำให้การกระจายทรัพยากรมันเสมอภาคและเป็นธรรมมากขึ้น เช่น เรื่องมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน ไม่ว่าจะด้วยมาตรการภาษี อากร หรืออื่นๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคิดกันในวันนี้


 


000


ตอนนี้การมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีกระบวนการเริ่มการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ว่ากฎอัยการศึกยังบังคับใช้ จะเป็นอุปสรรคต่อการพูดอย่างเช่นในวันนี้หรือแสดงความเห็นทางการเมืองหรือไม่


 


คงเป็นอุปสรรคถ้าหากเรากลัว แต่ถ้าหากเรายังยืนยันสิทธิพลเมือง กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่เป็นอุปสรรค คือมีไป แต่ก็จะทำให้เขาไม่กล้าที่จะใช้ ผมคิดว่าเราต้องยืนยันว่าการพูดคุยเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวบ้าน เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองและพี่น้องโดยรวมเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ กฎหมายไหนจะมาจำกัดสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ตรงนี้ ไม่ได้


 


000


อยากให้อาจารย์ช่วยประเมินว่าพรรคการเมืองจะกลับมาสู่ระบบเดิมหรือไม่ ถ้าดูพรรคไทยรักไทยก็มี ส.ส.ลาออกกันมาเยอะ


 


ดูจากวันนี้คงจะมีหลายพรรคมาเป็นรัฐบาล ตัวรัฐบาลเองอาจอ่อนแอเพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่อย่าลืมรัฐบาลผสมตัวรัฐบาลอ่อนแอแต่รัฐเข้มแข็ง เป็นข้อโต้แย้งที่ผมโต้แย้งกับเพื่อนๆ นักรัฐศาสตร์มามากมายว่า อย่าไปคิดว่ารัฐบาลเข้มแข็งคือรัฐบาลพรรคเดียวและทำให้รัฐเข้มแข็ง ไม่ใช่ รัฐบาลผสมของเราดูรัฐบาลอ่อนแอ แต่ในความเป็นจริงระบบมันเข้มแข็ง ระบบมันเดินได้ เราผ่านการเลือกตั้งได้รัฐบาลผสมมาเนิ่นนานไม่มีรัฐประหาร ต้องคิดกันให้ลึกขึ้น แน่นอนผมไม่รังเกียจรัฐบาลผสม


 


เรื่อง ส.ส. พรรคไทยรักไทยลาออกนั้น เขาอาจจะเล่น proxy (ตัวแทน) โดยวังต่างๆ ไปตั้งพรรคใหม่ เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน ผมว่าพวกนี้ไปตั้งพรรคใหม่แน่ๆ อยู่แล้วและคงไม่เอาทักษิณมาเป็นภาระ จะเห็นได้ว่ามีการทาบทามสมคิดมาเป็นหัวหน้าพรรค


 


000


ขอถามไปถึงกรณีที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิด นอกจากการล่ารายชื่อนักวิชาการ และสื่อมวลชนแล้ว ล่าสุดมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง


 


จากการคุยกันของพวกเรา มีการเสนอว่าจะฟ้อง แต่เราเห็นว่าสิ่งสำคัญมากกว่าคือการทำให้สังคมรู้และตระหนักถึงการคุกคามสิทธิ เป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการฟ้อง หรือถ้าจะฟ้องก็คือมีเหตุผลเดียวคือทำให้สังคมรับรู้เรื่องนี้ และเราก็รู้สึกว่า โอเคสังคมรับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้ว ก็โอเค ดูไปก่อน เพียงแต่ว่าสังคมไทยต้องเห็นแล้ว่าพอคับขันแบบนี้เอ็งบล็อกแบบนี้ไม่ได้


 


000


มีความเห็นอย่างไรกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไปประสานกับแกรมมี่ออกเพลงพรุ่งนี้ต้องดีกว่า ให้ธงไชย แมคอินไตยร้องนำ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ สามัคคีภายในชาติ โดยจะให้สถานีโทรทัศน์ และวิทยุทุกช่องออกอากาศ อาจารย์คิดอย่างไร


 


ผมบอกตรงๆ ผมไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร คือเขาเป็นกลุ่มทหารที่ตัดสายสัมพันธ์อะไรมาหมดเลย ผมก็ยังงงๆ ว่าแกคิดอย่างไรกับแกรมมี่ คือแกรมมี่เป็นต้นทุนทางสังคมที่ลบนะ เพราะแกรมมี่เคยจะออกเพลงชาติเวอร์ชันใหม่ แกรมมี่เคยอยากจะซื้อมติชน รู้สึกว่าเขาเดินเกมแบบ naive น่ะ คือไร้เดียงสาทางการเมืองจนเดินไม่ค่อยถูก ผมว่าควรจะเดินเกมแบบ เอาลิเกฮูลูปักษ์ใต้มาซ้อนกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ทำให้เราเข้าใจ มันตลกนะ หมากง่ายๆ คุณก็เดินให้เขาถามได้


 


หรือการไปกราบขอขมาพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอขมาเพราะท่านเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย เอ๊ะ ชักไปกันใหญ่แล้วนะ หนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหนสอนคณะรัฐประหารก็ยังงงๆ แสดงว่าสำนึกประวัติศาสตร์ของประเทศไทยล้มเหลว รวมทั้งที่ปรากฏอยู่ในคณะทหารชุดนี้ ผมต้องเขียนตำราใหม่แล้วนะเนี่ย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net