30 ปี ที่ผ่านไปของ "ทองปาน"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ซาเสียวเอี้ย


 

 

เมื่อราวๆ ปี 2520 นักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งประเทศอังกฤษเยินยอหนังไทยเรื่องหนึ่งว่าเป็น "ภาพยนตร์จากประเทศโลกที่ 3 ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา"

 

หนังไทยเรื่องนั้นมีชื่อแสนสั้นและบ้านๆ ว่า "ทองปาน" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวบ้านธรรมดาๆ ชื่อว่า "ทองปาน โพนทอง" ผู้อาศัยอยู่ในเขตอีสานบ้านเฮา (ณ ประเทศไทย) และเขาต้องเอาตัวเข้าไปปะทะกับ "การพัฒนา" ด้วยการเผชิญหน้ากับโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ "เพื่อความเจริญของภูมิภาค ให้สามารถกักเก็บและจัดสรรทรัพยากรน้ำได้อย่างมีระบบ" ตามวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกๆ

 

แม้จะถูกขึ้นป้ายโชว์หราว่า "ยอดเยี่ยม" แต่คนไทยหลายคนอาจตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับคำว่า "ประเทศโลกที่สาม" ที่ถูกจัดประเภทให้ ซึ่งถ้าจะมองกันอย่างพยายามเข้าอกเข้าใจนักวิจารณ์หนังเมืองผู้ดี เราคงต้องยอมรับว่าหนังไทยที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 และพูดถึงเรื่องราวของประเทศที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ของตัวเองให้ศิวิไลซ์ในทุกๆ ด้าน ก็พอจะกล้อมแกล้มอนุมานได้ว่า "ประเทศโลกที่ 3" คงไม่มีนัยยะแห่งการดูถูกอะไรมากนักหรอก...

 

ถึงหน้าหนังจะดูเก่าไปสักหน่อย แต่ความเก๋าของหนังไทยอย่าง "ทองปาน" ยังคงอยู่ครบถ้วน แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วถึง 30 ปี ก็ตาม

 

ยิ่งถ้าพูดถึงประวัติความเป็นมาของหนังเรื่องนี้ เด็กรุ่นหลังคงต้องยกให้ "ทองปาน" เป็นหนังอินดี้ยุคบุกเบิกที่กลุ่มหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วร่วมแรงร่วมใจกันทำจนเสร็จสิ้น ด้วยความรู้เชิงภาพยนตร์ที่มีจำกัดแบบมือสมัครเล่น แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจจริงซึ่งทะลุขีดมืออาชีพไปแล้ว

 

นักแสดงแต่ละคนที่มีชื่อเสียงเรียงนามปรากฏอยู่ยาวเป็นหางว่าวล้วนแต่เป็นคนดังๆ ระดับชาติในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็นศิลปินระดับปรมาจารย์อย่าง เทพศิริ สุขโสภา, หงา คาราวาน ไม่เว้นแม้แต่นักคิด นักวิชาการนักกิจกรรม และนักเขียนคนสำคัญ อย่าง ส.ศิวรักษ์, อาจารย์เสน่ห์ จามริก และ คำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) รวมถึง และนักแสดงนำผู้เล่นเป็นทองปาน ก็คือชาวบ้านจากอีสานตัวจริงเสียงจริง ผู้มีชื่อจริงๆ ตามสำเนาทะเบียนบ้านว่า "องอาจ โพนทอง" ที่ร่วมแสดงในหนังเรื่อง "ลูกอีสาน" ด้วยในเวลาต่อมา

 

ความเป็นธรรมชาติของนักแสดงและเนื้อหาที่พูดถึงชะตากรรมของชาวบ้านที่ถูกโครงการพัฒนาบุกเข้าไปเยี่ยมเยือนถึงที่ กลายเป็นประเด็นปัญหาระดับ "คลาสสิก" ทำให้ความสำคัญของหนังเรื่องทองปานไม่ได้มีแค่การเป็นผู้บุกเบิกในวงการหนังอินดี้บ้านเราเท่านั้น (เพราะนั่นอาจเป็นประเด็นที่เล็กน้อยที่สุดแล้ว) แต่คุณค่าของทองปานคือการเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพสังคมไทยเมื่อสมัย 30 ปีก่อน และบ่งบอกให้รู้ว่าการมองปัญหาและวิธีที่รัฐใช้จัดการกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ "การพัฒนา" เป็นอย่างไร

 

โดยเฉพาะฉากที่ทำให้สะเทือนใจจนอึ้งกันไปถ้วนหน้าก็คือเหตุการณ์ที่ทองปานต้องเข้าร่วมเสวนากับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งต้องการ "หยั่งเสียง" ชาวบ้านเรื่องการสร้างเขื่อน แต่ทองปานถึงกับต้องใช้เงินก้อนสุดท้ายของเขาเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการนี้

 

ในขณะที่นักวิชาการและตัวแทนภาครัฐกำลังถกเถียงกันถึงข้อดี - ข้อเสียของโครงการสร้างเขื่อนอย่างเมามัน ทองปานและชาวบ้านคนอื่นๆ ไม่มีปากไม่มีเสียงอะไร (เพราะไม่มีโอกาสแทรกเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้)

 

และในที่สุดก็ดูเหมือนว่าเขาและชาวบ้านคนอื่นๆ จะถูกกลืนหายไปกับฉากหลังโดยไม่มีใครรู้ตัว...

 

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือโศกนาฏกรรมที่ทองปานต้องประสบหลังการเสวนา เพราะมันต้องแลกมาด้วยการจากไปโดยไม่ทันล่ำลาของผู้เป็นที่รักในครอบครัวของเขา

 

ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่าหนังไทยที่อุดมไปด้วยความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการพัฒนาประเทศในยุคที่รัฐบาลทหารครองเมืองจะมีชะตากรรมแบบไหน

 

หลังจากที่ถ่ายทำกันเสร็จไม่นานเท่าไหร่ การรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2519 ก็อุบัติขึ้น นักคิด นักเขียนนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และศิลปินที่ต่อต้านเผด็จการพลอยถูกกวาดล้างไปด้วย หนังเรื่องทองปานจึงต้องระหกระเหเร่ร่อนลี้ภัยตามผู้กำกับ "ไพจง ไหลสกุล" ไปถึงลอนดอน เพื่อจะได้รับการตัดต่อและถูกนำออกฉายเป็นครั้งแรกที่ต่างบ้านต่างเมือง

 

การ "โกอินเตอร์" อย่างไม่ได้ตั้งใจของทองปาน ทำให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ก่อนคนไทย เป็นเหตุให้นักวิจารณ์หนังในอังกฤษโปรยยาหอมให้ชื่นใจ "ชาวประเทศโลกที่สาม" และมีการเก็บรักษาฟิล์มของหนังเรื่องนี้เป็นอย่างดี ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ช่วยให้หนังไทยเรื่องสำคัญไม่ถูกเผาทำลายไปตั้งแต่สมัยที่มีการรัฐประหารครั้งกระโน้น

 

จนเมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นเจอฟิล์มต้นฉบับ 16 ม.ม. ของทองปานซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย

 

"ทองปาน" จึงได้กลับบ้าน หลังจากต้องเดินทางไกลไปนานหลายสิบปี

 

และอาจเป็นความประจวบเหมาะพอดีก็ได้ ที่วาระครบรอบ 30 ปีให้หลังของทองปาน ตรงกับการเริ่มต้นรัฐประหารครั้งใหม่ในบ้านเราอีกครั้ง...

 

นอกจากนี้...ข่าวคราวน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากก็ยังมีมาให้รับรู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย ภาพชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาและการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ออกมาประท้วง ก็ยังไม่ลบเลือนหายไป

 

เช่นเดียวกับความคิดว่า: ชาวบ้านที่มาประท้วงทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลคือม็อบจัดตั้งของคนไม่รู้จักพอ และถูกเสี้ยมสอนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย

 

หากคนมากมายไม่เคยคิดแม้แต่จะค้นหาว่า - ความจริงที่แท้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่...

 

ถึงวันนี้ "ทองปาน โพนทอง" จะได้กลับบ้าน แต่ทองปานคนอื่นๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ยังไม่มีบ้านให้กลับ

 

อย่าได้แปลกใจไปเลย ถ้าคำนิยมของ "ทองปาน" ที่ปรากฏอยู่ตามสถาบันภาพยนตร์ต่างๆ ของประเทศในโลกที่ "เจริญแล้ว" จะยังใช้ประโยคเดิมๆ ว่านี่คือ

 

"ภาพยนตร์จากประเทศโลกที่ 3 ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา"

 

……………………………………………………………….

 

หมายเหตุ:

งานสัมมนา หัวข้อ "30 ปี ทองปาน: คน เขื่อน ดิน และน้ำ" จัดโดย กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "ทองปาน" บริเวณด้านหน้าหอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 30 กันยายน 2549

 

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.prachatai.com/05web/th/calendar/view.php?cid=467&myCalendarDate=2006-09-29&page=

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท