ม.เที่ยงคืนแต่งดำฉีกธรรมนูญชั่วคราว คปค. ลั่นประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญเอง

 
ส่วนหนึ่งของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ร่วมการแถลงข่าว(จากซ้ายไปขวา)เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, วรวิทย์ เจริญเลิศ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชัชวาล บุญปัน, สมเกียรติ ตั้งนโม และสมชาย ปรีชาศิลปกุล

วันนี้ 28 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในชุดดำ นำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน,ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณาจารย์ได้รวมกันเพื่อแถลงข่าวหัวข้อ "ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ" ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่ โดยมีรองศาสตราจารย์ สมเกียรติ ตั้งนโม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดี ม.เที่ยงคืน เป็นผู้อ่านแถลงการณ์

โดย รศ.สมเกียรติกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อมีการรัฐประหาร ม.เที่ยงคืนได้ออกแถลงการณ์แสดงปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และวันนี้จะเป็นการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 หัวข้อ "ประชาชนต้องกำหนดรัฐธรรมนูญ" ซึ่งสาระสำคัญจากแถลงการณ์ดังกล่าวเห็นว่าการยึดอำนาจและการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ของ คปค. เป็นการทำลายหลีกการสำคัญของการปกครองและพัฒนาการระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ คปค. ก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

"และด้วยกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งกฎอัยการศึกและคำสั่งจำนวนมาก จึงทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญจากกระบวนการของ คปค. จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญมิใช่เพียงแค่ให้ประชาชนมาประชุมกัน แต่ต้องเป็นสังคที่มีเงื่อนไขเอื้อให้ประชาชนสามารถผลักดันนโยบายหรือความเห็นของตนโดยอิสระ อันจะเกิดขึ้นก็แต่ในสังคมที่มีการเคารพสิทธิเสรีภาพเท่านั้น"

รศ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เพื่อการนำสังคมไทยกลับคืนสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง รัฐชั่วคราวต้องทำหน้าที่เพียงแค่จัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตยจึงไม่ควรดำเนินบทบาทอื่นใดที่ไม่มีความจำเป็น สอง ภายหลังจากการเลือกตั้ง คปค. ต้องสลายตัวไปจากการเมืองโดยทันทีและต้องไม่แฝงตัวอยู่ในระบอบการเมือง เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น สามหน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ การทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ต้องดำเนินไปอย่างอิสระและไม่ถูกควบคุมไว้โดย คปค. หากประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง

โดยตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเชื่อว่าการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ ภายใต้ "ระบบ" ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและตัดสินใจ จะเป็นหลักประกันในการเข้าถึงและการใช้อำนาจอย่างเท่าเทียม สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากต่างๆ มากกว่าการพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องให้สังคมไทย ร่วมกันกดดันเพื่อให้รัฐบาลชั่วคราวที่จะเกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่จะเป็นอิสระจากการควบคุมของ คปค. ต่อไป

 
สมเกียรติ ตั้งนโม เตรียมฉีกธรรมนูญชั่วคราวฉบับ คปค.

โดยหลังจากนั้นคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ฉีกธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังจะนำเสนอของ คปค. โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเราไม่อาจย้อนกลับเวลาไปได้ แต่เราสามารถสร้างอนาคตของเราได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติการทางการเมืองที่ภาคประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีแต่ได้รับความเสียหาย ถูกริบประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิ และสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดที่เคยเป็นสิทธิโดยธรรมชาติ ด้วยการรัฐประหารของคณะรัฐประหารชุดหนึ่ง แม้เราจะแก้ไขไม่ได้ เราขอเป็นก้าวเล็กๆ ที่จะบอกว่าเราไม่ยินยอมที่จะถูกปล้นสิทธิตามธรรมชาติของเรา 1.ไม่โปร่งใส 2.ไม่มีส่วนร่วม 3.ไม่มีการรับรอง หรือความชอบธรรมโดยผ่านประชามติ

"ที่รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามตินั้น เป็นเพราะประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมากกว่า 16 ปีที่แล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามรวมทั้งธรรมนูญฉบับนี้ด้วย จึงเป็นแนวคิดของนักรัฐประหารในโลกล้าหลัง ที่เราไม่อาจยอมรับได้ ความไม่โปร่งใส ความไม่มีส่วนร่วม และการไม่ถูกรับรองโดยประชาชน เราไม่สามารถยินยอมให้คน 4-5 คนปิดห้องประชุมแล้วเขียนธรรมนูญมาปกครองคน 60 ล้านคนในหนึ่งปี เราไม่ยินยอมให้คน 4-5 คนทำอะไรโดยที่เราไม่มีส่วนร่วม โดยที่เราไม่รับรอง โดยที่เราไม่มีฉันทานุมัติ เราจึงขอทำลายธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้" รศ.สมเกียรติกล่าว ก่อนที่คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะพากันฉีกธรรมนูญชั่วคราวฉบับ คปค.
 
คณาจารย์ ม.เที่ยงคืน พร้อมใจกันฉีกธรรมนูญ คปค.

หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ถาม ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจกระบวนการ ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า จริงๆ แล้วแม้แต่พวกเราที่ได้รับการศึกษาก็ไม่อาจร่างรัฐธรรมนูญได้ คือการร่างรัฐธรรมนูญมันเป็นเทคนิคเหมือนการตัดผม เราก็ตัดผมไม่เป็น ก็ต้องอาศัยคนมีความรู้ความสามารถทางด้านเทคนิค แต่เขาไม่ได้คิดว่ามันควรมีเงื่อนไขอะไร ถามว่าประชาชนรากหญ้ารู้ไหมว่าควรมีเงื่อนไขอะไรในรัฐธรรมนูญถึงจะทำให้เขาเงยหน้าอ้าปากได้ คิดว่าเขารู้ แต่ให้เขาลงไปนั่งเขียนกฎหมายเขาทำไม่ได้หรอกแต่เขาบอกได้ว่าต้องการอะไร

"ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เขาเปิดเงื่อนไขของเขาได้ ผมคิดว่าเราต้องเปิดให้มีกระบวนการทางสังคม เช่น ถ้าสมัชชาคนจนอยากคัดค้านเรื่องเขื่อน การปิดป่า ต้องให้เขาเคลื่อนไหว เพราะจากความต้องการเหล่านี้ จะสะท้อนว่าเราจะกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายอย่างไร ถึงจะอยู่ร่วมกันโดยสันติและทุกคนได้ส่วนแบ่งของทรัพยากรที่เป็นธรรมรัฐ พอพูดถึงกระบวนการผมคิดว่าไม่ใช่แค่เอาประชาชนมาประชุม แต่กระบวนการที่ว่าคือกระบวนการทางสังคมและการเมืองที่ปล่อยให้กลุ่มต่างๆ เรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ และพวกช่างตัดผมจะได้สามารถเขียนกฎหมายมาตอบสนองเงื่อนไขนี้ได้"

นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม ได้กล่าว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เปิดกระดานร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงขันที่เว็บไซต์ http://www.midnightuniv.org ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และประชาชนสามารถเสนอปัญหาเชิงนโยบาย หรือปัญหาด้านทรัพยากรเขาสามารถส่งมาทางช่องทาง ตู้ ป.ณ.196 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

"นี่คือสิ่งที่เป็นแนวทางเชิงปฏิบัติ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเตรียมไว้ให้กับประชาชน ในการร่วมกันลงขันสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

มีผู้สื่อข่าวถามคณาจารย์ ม.เที่ยงคืนว่า ตามที่มีการชุมนุมเกิน 5 คนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของปัญญาชน ชนชั้นกลางในเมืองนั้น ทางคณาจารย์มีคำแนะนำการอารยะขัดขืนสำหรับพี่น้องในชนบทอย่างไรบ้าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวตอบว่าผมสถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้คนข้างล่างเคลื่อนไหวได้ยาก เพราะคนในเมืองถูกมองว่าเป็นพันธมิตร แต่กับคนชนบท คปค. แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่ต้องยืนยันในสิทธิ การฉีกสิ่งที่เป็นคำสั่งที่เรามิอาจรับได้นั้นจำเป็นต้องทำ อารยะขัดขืนคือการที่คุณไม่ยอมรับคำสั่งที่คุณเห็นว่าไม่ชอบธรรมและเป็นสิทธิ ซึ่งจนถึงนาทีนี้ พวก คปค. ก็ยังไม่ได้ลงโทษใครอย่างรุนแรง อย่างที่มีชาวบ้านยกมาจากเพชรบูรณ์ ทหารก็เกลี้ยกล่อมให้กลับแต่เขาก็ไม่ได้ยิง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าคนชนบท เช่นกลุ่มที่จัดตั้งไว้แล้วอย่าหยุดเคลื่อนไหว ให้ทำต่อไป อย่างกรณีสมัชชาคนจน ช่วงก่อนรัฐประหารเขาก็มีการเตรียมเรื่องการปฏิรูปการเมือง มีการประชุมเพื่อกำหนดข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ ผมคิดว่าอย่าหยุด ต้องทำต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามอีกว่า หาก คปค. คิดจะครองอำนาจนานเราควรทำอย่างไร ศ.ดร.นิธิกล่าวว่า ข้อที่เราทุกคนควรวิตกคือเมื่อไหร่ก็ตามที่เราให้อำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบ ทัดทานได้ ผมคิดว่า "อย่าไว้ใจแม่งทั้งนั้น"

นอกจากนี้ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า หากใครได้อ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีชัย ฤชุพันธ์ สรุปออกมานั้นจะเห็นว่า คปค.ยังคงแฝงร่างอยู่ในสังคมไทยต่อไป อาทิ การร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมัชชาแห่งชาติ 200 คนสุดท้าย หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการต่อโดย คปค.ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีแห่งชาติที่พิจารณาคัดเลือก 100 คน ซึ่งในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญโดยกรรมาธิการ จะมีการเลือกกันเองอีก 25 คน แต่คณะมนตรีแห่งชาติเลือกอีก 10 คน เพราะฉะนั้นหากอ่านจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว เราจะเห็นว่า คปค.จะเข้ามามีส่วนควบคุมโดยปราศจากการตรวจสอบในสังคมไทยต่อไปอีกนาน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท