นักวิชาการม.เที่ยงคืนฉีกรธน.ชั่วคราว พร้อมระบุเลือกตั้งเสร็จ คปค.ต้องสลายตัว

ที่มา - สำนักข่าวประชาธรรม

28 ก.ย.2549 - คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จัดแถลงข่าวประกาศจุดยืนขอให้รัฐธรรมนูญมีประชาชนเป็นผู้กำหนด พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) เพราะการยึดอำนาจและการฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยคปค.เป็นการทำลายหลักการสำคัญของการปกครองและการพัฒนาการระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยลงอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าการกระทำนี้จะทำลงไปด้วยข้ออ้างหรือเหตุผลใดก็ตาม เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มิได้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวแถลงว่า ตามที่คปค.เสนอแนวทางในการนำสังคมไทยกลับคืนภาวะปกติภายหลังการยึดอำนาจด้วยการเสนอให้มีการัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้ระยะเวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 8 เดือน 15 วัน เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จัดให้มีการเลือกตั้ง และภายหลังจากนั้นจึงกลับคืนไปสู่ระบอบรัฐสภา โดยในระหว่างนี้จะมีรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง แสดงให้เห็นว่าคปค.ยังคงมีอำนาจในการควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แม้จะเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแต่คปค.ก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

นอกจากนี้ กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งกฏอัยการศึกและคำสั่งจำนวนมาก จึงทำให้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญจากกระบวนการของคปค. จะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย ต้องเข้าใจว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญมิใช่เพียงแค่การให้ประชาชนมาประชุมกัน แต่ต้องเป็นสังคมที่มีเงื่อนไขเอื้อให้ประชาชนสามารถผลักดันนโยบายหรือความเห็นของคนได้โดยอิสระ อันจะเกิดขึ้นก็แต่ในสังคมที่มีการเคารพสิทธิเสรีภาพเท่านั้น

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า ในการนำสังคมไทยกลับคืนสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.การจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่กำลังจะเกิดขึ้น รัฐบาลชุดนี้ต้องมีหน้าที่เพียงแค่การจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสมควร ที่เพียงพอต่อการเตรียมการให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม เนื่องจากมิได้เป็นรัฐบาลที่มาตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย จึงไม่ควรดำเนินบทบาทอื่นใดที่ไม่มีความจำเป็น

2.ภายหลังจากการเลือกตั้งคปค.ต้องสลายตัวไปจากการเมืองโดยทันที และต้องไม่แฝงตัวอยู่ในระบอบการเมือง ไม่ว่าจะเป็นไปภายใต้ชื่อหรือรูปแบบอื่นใด เช่น คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น 3.หน้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งก็คือ การทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินไปอย่างอิสระและไม่ถูกควบคุมไว้โดยคปค. หากประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง

คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวแถลงต่อว่า การแก้ปัญหาความแตกแยกและความรุนแรงในสังคมไทยเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการเมือง อันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมา และดำรงอยู่อย่างมั่นคง มิฉะนั้นก็จะมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างกลุ่มซึ่งมีอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน มีความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างสูงระหว่างผู้กุมอำนาจอยู่ในมือ กับผู้มีอำนาจน้อย หรือปราศจากกระบวนการควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของภาคประชาชน อันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง และเกิดรัฐประหารซ้ำซากในอนาคต

การปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ภายใต้ "ระบบ" ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม และตัดสินใจ จะเป็นหลักประกันในการเข้าถึง และการใช้อำนาจอย่างเท่าเทียม สามารถตอบสนองต่อปัญหา และความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากต่างๆ มากกว่าการพึ่งพิงอำนาจนอกระบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันกดดันเพื่อให้รัฐบาลชั่วคราวที่จะเกิดขึ้น ทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง และนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นอิสระจากการควบคุมของคปค.ต่อไป

รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่อาจย้อนเวลากลับไปได้ แต่เราสามารถสร้างอนาคตของเราข้างหน้าได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติการณ์ทางการเมือง ซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้ที่ถูกริบประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิ และสิ่งอื่นๆทั้งหมด ที่เคยเป็นสิทธิโดยธรรมชาติของเราด้วยวิธีการรัฐประหาร

"อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการวางอนาคตให้สังคมไทยและลูกหลานไทย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นก้าวเล็กๆ ที่เราจะบอกว่าเราไม่ยินยอมที่จะถูกปล้นสิทธิโดยธรรมชาติของเราไป และเราไม่เห็นด้วยกับธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ด้วยเหตุผล 3 ประการด้วยกัน 1.ไม่โปร่งใส 2.ไม่มีส่วนร่วม 3.ไม่มีการรับรองหรือไม่มีการให้ความชอบธรรมโดยผ่านประชามติ" รศ.สมเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ รศ.สมเกียรติ กล่าวเสริมว่า หลังการรัฐประหารของคณะรสช. ในปี 2534 จนถึงวันนี้ผ่านมากว่า 15-16 ปี ประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนไทยเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม สิ่งที่เราอยากทำคือการมีส่วนร่วมทุกสิ่งทุกอย่างกับธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามรวมทั้งธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ด้วย จึงเป็นธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่อยู่ในแนวคิดของนักรัฐประหารในโลกใบเก่า โลกที่ล้าหลังที่เราไม่อาจยอมรับความไม่โปร่งใสการไม่มีส่วนร่วม และการไม่ถูกรับรองจากประชาชนได้

 "เราไม่สามารถยินยอมให้คน 4-5 คน ปิดห้องประชุมแล้วเขียนธรรมนูญขึ้นมาปกครองคนกว่า 60 ล้านคนภายใน 1 ปี เราไม่ยินยอมให้คน 4-5 คนทำอะไรในสิ่งที่เราไม่มีส่วนร่วม และเราไม่ยอมให้คน 4-5 คนทำอะไรโดยที่เราไม่รับรองเราไม่มีฉันทานุมัติ ดังนั้นจึงขอทำลายธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้" อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าว

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงแนวทางการเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน โดยเฉพาะประชาชนรากหญ้าว่า ในความเป็นจริงแล้วการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเทคนิคเหมือนการตัดผม ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคนิค อย่างไรก็ตามคนที่จะเข้ามามีส่วนในด้านเทคนิคการร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่คิดที่จะสร้างเงื่อนไขอะไร นอกจากนี้ยังต้องกลับมาถามว่าประชาชนระดับรากหญ้าถึงเงื่อนไขที่ทำให้เขาเงยหน้าอ้าปากได้

"ผมเชื่อว่าคนรากหญ้ารู้ แต่ให้เขาไปนั่งเขียนกฎหมายเขาทำไม่เป็นหรอก แต่เขาบอกให้ได้ว่าต้องการทำอะไร ทีนี้ทำยังไงถึงจะทำให้เขาบอกเงื่อนไขที่เขาต้องการได้ ผมคิดว่าต้องเปิดให้มีกระบวนการทางสังคม เช่น การคัดค้านเรื่องเขื่อนของสมัชชาคนจน หรือการเคลื่อนไหวเรื่องการปิดป่า ความต้องการเหล่านี้สะท้อนถึงแนวทางการกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายที่เราจะอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ ซึ่งทุกคนได้ส่วนแบ่งทรัพยากรที่เป็นธรรมจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน" ศ.ดร.นิธิ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.ดร.นิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการเอาประชาชนมาประชุมกันเฉยๆ แต่ต้องเป็นกระบวนการทางสังคมและการเมืองที่ปล่อยให้กลุ่มต่างๆ ได้เคลื่อนไหวเพื่อจะเรียกร้องสิ่งที่เขาต้องการ แล้วคนที่ทำหน้าที่ในด้านเทคนิคจึงจะมองเห็นเงื่อนไขได้ชัดขึ้นว่าต้องเขียนยังไงถึงจะตอบสนองสิ่งที่ประชาชนต้องการ

"ผมขอเสนอว่าให้เรายืนยันในสิทธิหัวใจของอารยะขัดขืนก็คือ การที่เราไม่ยอมรับคำสั่งที่เราไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนทำได้ กรณีที่กลุ่มสมัชชาคนจนที่ได้กำหนดข้อเรียกร้องของกลุ่มในเรื่องต่างๆ เพื่อเสนอต่อสาธารณะตั้งแต่ก่อนที่ยังไม่เกิดการรัฐประหาร ผมว่าควรทำต่อไป อย่าหยุด นอกจากนี้เรื่องการคงอำนาจหลังการทำรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ประชาชนไทยทุกคนควรวิตก เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือใคร โดยไม่มีการตรวจสอบ และทัดทาน ก็ไม่ควรไว้ใจอะไรได้ทั้งนั้น" ศ.ดร.นิธิ กล่าว

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า หากใครได้อ่านรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ถูกสรุปออกมานั้นจะเห็นว่าคปค.ยังคงแฝงร่างอยู่ในสังคมไทยต่อไป อาทิ การร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมัชชาแห่งชาติ 200 คนสุดท้าย หลังจากนั้นจะดำเนินการต่อโดยคปค.ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นคณะมนตรีแห่งชาติที่พิจารณาคัดเลือก 100 คน ซึ่งในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ จะทำการเลือกกันเองอีก 25 คน โดยมีคณะมนตรีแห่งชาติเลือกอีก 10 คน ดังนั้นจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวฉายภาพให้เห็นว่าคปค.จะเข้ามามีส่วนควบคุมโดยปราศจากการตรวจสอบในสังคมไทยต่อไปอีกนาน

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวครั้งนี้ คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ร่วมแถลงซึ่งทุกคนแต่งชุดดำยังทำพิธีฉีกสัญลักษณ์ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เอารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ด้วย.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท