เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิร้อง สตง.ช่วยตรวจสอบงบช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

ประชาไท - 28 ก.ย.2549 เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง พร้อมเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัด ได้เดินทางเข้าพบ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 27 กันยายน 2549 เพื่อนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิของรัฐบาลชุดที่แล้ว และขอให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับบริจาคในการแก้ปัญหาผู้ประสบภัยสึนามิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัด 182 ชุมชน ประมาณ 30,000 คน มีประเด็นข้อเสนอและข้อสังเกตที่ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินควรจะเข้าไปพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนี้

 

ประมวลความคิดเห็น/ข้อสังเกต จากการใช้งบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

1. ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในศูนย์พักอาศัยชั่วคราวในทุกพื้นที่

2. ตรวจสอบการใช้งบประมาณและการสร้างบ้านพักถาวรที่มีการช่วยเหลือจากหลายฝ่าย

3. ตรวจสอบงบประมาณการพิสูจน์เอกลักษณ์คนตาย และการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับญาติ

4. ตรวจสอบการให้ทุนการศึกษาเด็กที่ประสบภัย (คนละ 15,000 บาท) ที่ได้ไม่ครบและไม่ครอบคลุม

5. บ้านถาวรที่สร้างด้วยเงินบริจาคในที่ดินราชพัสดุ ผู้ประสบภัยต้องจ่ายค่าเช่าบ้านเป็นรายเดือน (ค่าเช่าที่ดินเป็นรายปี)

6. ตรวจสอบเกณฑ์การพิจารณาและกระบวนจ่ายเงินงบประมาณในการชดเชยในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องบ้าน ที่ดิน เรือประมง เครื่องมือ อาชีพ ผลอาสิน

7. ตรวจสอบเป้าหมายและเจตนาการใช้งบประมาณที่เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ผลงานของถึงรัฐบาลและส่งเสริมการลงทุนท่องเที่ยวมากกว่าคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยสึนามิ เช่น

-ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาทในการออกแบบและจัดสร้างอนุสรณ์สถาน

-ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทในการจัดงาน 1 ปีสึนามิ

-ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาทในการจัดเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส

8. ตรวจสอบการติดตั้งและการจัดซื้ออุปกรณ์สัญญาณเตือนภัยในทุกพื้นที่

9. ตรวจสอบการใช้งบประมาณในการฟื้นฟูถนนและระบบสาธารณูปโภค

10.ตรวจสอบกรณีคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในทุกเรื่อง (เพราะไม่มีบัตรประชาชน)

11.การไม่ได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟู และจากนโยบาย อพท.ยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ซ่อมสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น เกาะพีพี

12.กรณีผู้เสียชีวิตทีหลังที่มีผลต่อเนื่องมาจากสึนามิ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

13.ขอเรียกร้องให้อดีตรัฐบาลจัดทำหนังสือคู่มือชี้แจงงบประมาณของรัฐ รวมทั้งเสนอตัวเลขงบบริจาคทั้งหมด ตลอดจนเสนอบัญชีการใช้จ่ายที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงยอดเงินงบประมาณที่ยังเหลืออยู่

 

จากการเกิดภัยสึนามิ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย และมีข้อเสนอจากเครือข่ายผู้ประสบภัย สึนามิในการแก้ปัญหาต่างๆ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดยมีสาระดังนี้

 

เรื่องที่ดิน

1. ประกาศเป็นชุมชนถาวร โดยออกเป็นโฉนดร่วมของชุมชนหรือเอกสารรับรองสิทธิชุมชนอื่นใดที่เป็นการรับรองให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ชั่วลูกหลาน เพื่อชุมชนจะได้มีสิทธิในการพัฒนาสาธารณูปโภคและอื่นๆอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีชุมชนที่อยู่ในที่ดินรัฐ เช่น ป่าชายเลน กรมเจ้าท่า อุทยานฯลฯ ที่อยู่อาศัยก่อนการเกิดภัยพิบัติ 

 

2. กรณีชุมชนที่มีข้อพิพาทเอกชน แต่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของการตั้งถิ่นฐานและการใช้ประโยชน์จริง เช่น มีบ้านเรือน สุสาน ที่ประกอบพิธีกรรม พืชผลฯลฯ หรือมีการตรวจสอบโดยแผนที่ทางอากาศแล้วพบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เช่น ชุมชนบ้านไร่ ชุมชนแหลมป้อม ชุมชนทับตะวัน ชุมชนทับยาง ฯลฯ ให้ประกาศเป็นเขตชุมชนถาวร ตามหลักการข้างต้น 

 

3. เร่งดำเนินการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ในชุมชนพื้นที่ธรณีพิบัติทั้ง 6 จังหวัด ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เช่น ที่จ.ภูเก็ตชุมชนประมาณ 20 แห่ง ใช้น้ำไฟแพงกว่าคนทั่วไป ฯลฯ

 

เรื่องคนไทยพลัดถิ่นและชาวเล

1. กรณีคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปีหลังจากมีการแบ่งดินแดนระหว่างไทยกับพม่า ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิและไม่ได้รับการช่วยเหลือ ให้ดำเนินการดังนี้

- รับรองบัตรประจำตัวที่เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยทำขึ้น เป็นการเบื้องต้น เพื่อจะได้ใช้และรับสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน เช่น การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย การเดินทาง การรักษาสุขภาพ และการสมัครงานพร้อมทั้งป้องกันการจับกุมและการรีดไถ

- กรณีคนพลัดถิ่นจำนวน 20,000 คน ให้มีการเร่งสำรวจทำทะเบียน สืบค้นประวัติ โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกับตัวแทนเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย ระนอง พังงาประจวบคีรีขันธ์ และดำเนินการเพื่อคืนสัญชาติโดยเร่งด่วน

 

2.  กรณีชาวเล ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทั้งกลุ่มมอแกน และอุรักลาโว๊ย ที่มีอาชีพขนาดเล็กและมีวิถีชีวิตเรียบง่าย มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว แต่กำลังจะถูกลบเลือนไป มีข้อเสนอดังนี้

- ให้มีการลงทะเบียนและมีบัตรประจำตัวครบทุกคน

- ประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษให้กับชาวเล ในการทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย สุสานที่ประกอบพิธีกรรม ฯลฯ เพื่อมิให้ถูกรุกรานจากการพัฒนาสมัยใหม่ และเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

- สนับสนุนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมชาวเลอย่างจริงจัง

 

เรื่องนโยบายรัฐบาล

ยกเลิกเรื่องนโยบายรัฐ เช่น อพท. โฉนดน้ำ หรือโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องต่อวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

 

ที่ผ่านมาภาคประชาชนจะถูกกล่าวอ้างมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่การพัฒนาถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง   โดยประชาชนเป็นผู้รอรับเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการกำหนดความต้องการของตนเอง ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ภาคประชาชน เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดแนวทางการพัฒนาชีวิต, ชุมชนและประเทศชาติ   ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ โดยนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพและพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ:

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ประกอบด้วย เครือข่ายชุมชนอุบลฯ, เครือข่ายชุมชนขอนแก่น, เครือข่ายผู้ติดเชื้อ, เครือข่ายนครศรีธรรมราช, เครือข่ายเมืองน่าอยู่ภาคกลาง, เครือข่ายสามจังหวัดภาคใต้, เครือข่ายวิทยุชุมชนนราธิวาส, เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต, เครือข่ายวิทยุชุมชนบ้านน้ำเค็ม, เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา, เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ, เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น, เครือข่ายเมืองน่าอยู่ภาคใต้, เครือข่ายเมืองน่าอยู่ภาคเหนือ, เครือข่ายเมืองน่าอยู่ภาคอีสาน, เครือข่ายพิจิตร,เครือข่ายพิษณุโลก, เครือข่ายนครสวรรค์, เครือข่ายเชียงใหม่, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดร, เครือข่ายชุมชนกรุงเทพมหานคร, องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด, กลุ่มไทอุบลฟอรั่ม, เครือฟื้นฟูชีวิตวัฒนธรรมแม่ฮ่องสอน, เครือข่ายฟืนฟูศิลปินอันดามัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท