Skip to main content
sharethis

ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองของไทยยังคงอึมครึม ในเย็นวันที่ 27 กันยายน 2549 เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่ ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

โดย ทีมข่าวประชาไทภาคเหนือ

 

วงเสวนากลางแจ้งหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" มีผู้ร่วมการเสวนาจำนวนมากกว่า 100 คน จนคณบดีคณะนิติศาสตร์ถึงกับกล่าวว่า "ยิ่งดึกคนยิ่งแน่น"

 

 

ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองของไทยยังคงอึมครึม ในเย็นวันที่ 27 กันยายน 2549 "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

งดใช้ห้องสัมมนา คณบดีสังคมฯ ปัด ไม่ทราบเรื่องจัดเสวนา

โดยกำหนดการเดิม จะมีการใช้ห้อง SB1122 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามผู้จัดเสวนาไม่สามารถใช้ห้องดังกล่าวได้ ผู้จัดจึงเปลี่ยนไปใช้สนามหญ้าหน้าคณะสังคมศาสตร์แทน โดยรองศาสตราจารย์ เศกสิน ศรีวัฒนานุกูลกิจ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบการขออนุมัติการใช้สถานที่โดยตรงกล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้ตนไม่ทราบมาก่อน ไม่มีการขอสถานที่และมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการประสาน จึงไม่สามารถใช้ห้องเรียนได้ แต่ถ้าคุณจะใช้สนามหญ้าจัดก็เป็นสิทธิของคุณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์กล่าว

 

วิทยากรจากขวาไปซ้าย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มช. รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. และ รศ.ดร.ธนัน อนุมานราชธน รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มช. ที่มาพร้อมเสื้อยืดคอโปโลกับกางเกงขาสั้นเหมาะสำหรับใส่วิ่ง เดินเข้ามาร่วมวงภายหลัง

 

พลังการสื่อสารแนวราบ ทำคนฟังร่วมร้อย

โดยเครือข่ายนักศึกษาดังกล่าว ได้เชิญวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ได้แก่ 2 นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคือ รศ.ดร. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ และ ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อเริ่มเสวนาไปได้สักระยะได้มี รศ.ดร. ธนัน อนุมานราชธน รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ที่มาพร้อมเสื้อยืดสีขาวคอโปโลและกางเกงขาสั้นสำหรับวิ่ง มาร่วมสมทบ

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดงานดังกล่าวแม้จะไม่มีการประกาศประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ มีเพียงการบอกปากต่อปากไปยังคนรู้จัก หรือมีการนำไปโพสต์ในเว็บบอร์ด หรือส่งอีเมล แต่ก็มีผู้สนใจมารอการเสวนาร่วม 100 คน จากการสัมภาษณ์นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มช. รายหนึ่ง ได้กล่าวว่าตนติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาสม่ำเสมอและทราบข่าวการจัดเสวนานี้จากกระทู้ในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งจึงมาร่วมงานดังกล่าว หรือนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าทราบการเสวนานี้มาจากเพื่อนสนิทที่บอกกันมาปากต่อปาก

 

โดยนายธัชพงษ์ ไกรวัฒนุสรณ์ ประธานองค์การนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมการเสวนากล่าวว่าโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้จะอ้างว่าเป็นการปฏิรูปแต่ก็คือการยึดอำนาจดีๆ นี่เอง ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ จะทำให้เกิดแบบแผนให้กับการแก้ปัญหาทางเมืองในลักษณะนี้อีก ซึ่งไม่ถูกต้อง และเราจะไม่หลุดพ้นจากวงจรนี้ ซึ่งตนคิดว่าถ้าปัญหาทางการเมืองเกิดจากระบบก็ต้องแก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้แบบนี้ นายธัชพงษ์กล่าวในที่สุด

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าการมีผู้จำนวนผู้เข้าร่วมการเสวนากลางแจ้งมากขนาดนี้ สะท้อนถึงความอึดอัดจากการปิดกั้นเสรีภาพหลังการรัฐประหารได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภต.ภูพิงค์ ได้เข้ามาจับตาการเสวนาและขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 .

 

แม้รัฐประหารจะเกิด แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมให้ทุกอย่างถูกบงการโดยคนอื่น

โดยในช่วงของการเสวนา รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่าการพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องสำคัญของพวกเราทุกคน เพราะเราเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้ "ซ้ายก็ทักษิณ ขวาก็ท็อปบู๊ต" แม้สังคมไทยจะรับไม่ได้กับระบอบทักษิณ แต่คนจำนวนหนึ่งในสังคมแม้จะรับไม่ได้กับทักษิณ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การประคับประคองสังคมในภาวะหนีเสือปะจระเข้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมาคิดกัน แม้ว่าหลายคนจะพูดว่าเราหมุนเวลากลับไม่ได้ การรัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมเพื่อให้ทุกอย่างถูกบงการโดยคนอื่น โดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วม

 

หวั่นความ "ซื่อบื้อทางการเมือง หน่อมแน้มทางเศรษฐกิจ" ของทหารพาไทยดิ่งเหว

รศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวอธิบายสถานการณ์ทางการเมืองก่อนหน้านี้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ดึงชนชั้นนำเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ดึงสังคมทั้งสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง และสังคมโลกเริ่มมองสังคมไทยอย่างหวาดเสียว ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ตนเป็นคิดแบบนักลงทุน แต่เป็นเพราะชนชั้นนำไทยกำลังจะพาสังคมไทยตกเหว ความขัดแย้งของชนชั้นนำทำให้เกิดคณะรัฐประหารที่แปลกกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่แล้วมา โดยคณะรัฐประหารชุดนี้เติบโตมาหลังปี 2535 เป็นคณะที่ Made in Thailand (ทำในไทย) แท้ๆ เพราะหลัง 2535 ทหารถูกตัดความสัมพันธ์ออกจากการเมือง และธุรกิจจนหมด ซึ่งถ้าเราดูทหารกลุ่มนี้ถ้าจะใช้ศัพท์วัยรุ่นก็คือ "ซื่อบื้อทางการเมือง หน่อมแน้มทางเศรษฐกิจ" และการที่เขาออกมายึดอำนาจแบบนี้ แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ ก็ลากนักวิชาการเข้าไปโดยที่ไม่ได้ทาบทามเขามาก่อน ยิ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องมีบทบาท เพราะทหาร Made in Thailand จะพาประเทศไปสู่วิกฤตมากขึ้น

 

"ประชาชนต้องไม่กลัวกฎอัยการศึก ต้องไม่กลัวการชุมนุมเกิน 5 คน เพราะการพูดคุยของเราปรารถนาที่จะประคับประคองสังคมไทยให้โต และยังเป็นการประคับประคองกลุ่มทุนทหารที่ซื่อบื้อ หน่อมแหน้มนี้ด้วย สังคมไทยต้องช่วยกันทุกฝ่าย ดังนั้นต้องยกเลิกกฎอัยการศึกที่ออกมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และสิ่งที่เราจะบอกก็คือในฐานะประชาชนเราไม่กลัว" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวในที่สุด

 

สมชายชี้ "ฝากความหวังอัศวินม้าขาว เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย"

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า ในช่วงหลังเดือนพฤษภาคมปี 2535 ข้อเรียกร้องคือให้ทหารเลิกยุ่งกับการเมือง แต่ในวันนี้ที่ตนแปลกใจคือ ทักษิณได้ทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ จนสังคมไม่ให้ความชอบธรรม นำไปสู่การเมืองที่เราไว้ใจไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงขณะนี้โดยทหาร อาจเป็นสิ่งที่งัดเอาทักษิณออกไปได้ แต่ระยะยาวจะเป็นปัญหาต่อประชาธิปไตยหรือเปล่า? การฝากความหวังกับอัศวินม้าขาว โดยฐานความคิดแบบนี้มันเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย เพราะเราไม่เชื่อในอำนาจประชาชน

 

คำถามเชิงปรัชญาก็คือ "มนุษย์เราควรจะมีอำนาจมากำกับชีวิตเราเอง หรืออยากได้การปกครองแบบนี้ไปเรื่อยๆ" ผศ.สมชายกล่าว

 

ย้ำรถถังคือสัญลักษณ์ของความรุนแรง ไม่ควรพาลูกไปดู

นอกจากนี้ ผศ.สมชาย ยังกล่าวต่อไปว่า สังคมที่เราต้องการใช้ชีวิตอยู่ควรเป็นสังคมแบบไหน สังคมที่เห็นต่างได้ วิจารณ์กันได้ หรือสังคมที่พ่อแม่พาลูกไปถ่ายรูปกับรถถัง ซึ่งถ้าเป็นตนคงไม่พาลูกไปดู ทั้งนี้ตนเห็นว่ารถถังเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง คือเป็นเครื่องมือของความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์

 

โดยความรุนแรงเชิงกายภาพเพราะ รถถังมันยิงได้ ถ้ามันยิงไม่ได้ใครจะมาซื้อ หรือคุณจะซื้อมาขับเล่นในมหาวิทยาลัย รถถังมันกินน้ำมันขนาดไหน รถถังมันฆ่าคนได้ ทำลายทรัพย์สินได้ เราจึงไม่ควรให้ความสำคัญในการพาลูกไปดู อีกความรุนแรงหนึ่งคือความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ต่อประชาธิปไตย เพราะถ้าคุณเอารถถังออกไปยิงใคร คุณจะยิงไหม คือคุณปิดช่องทางในการฟังทันที ถ้าคุณใช้รถถัง ผศ.สมชาย กล่าวในที่สุด

 

000

 

 

เปิดใจผู้จัดเสวนา "เสรีภาพคือลมหายใจที่หยุดไม่ได้"

ตัวแทนผู้จัดเสวนาครั้งนี้คือนายรัตติพงศ์  อุปนันท์และ นายยุทธพงศ์  ขันประกอบ ให้ความเห็นถึงการจัดวงเสวนาในครั้งนี้ว่า ไม่ได้ตั้งใจท้าทายกฎข้อบังคับต่างๆ ของคณะ คปค. แต่อยากสร้างพื้นที่ในสถานการณ์ที่ยังอึมครึมเช่นนี้ … และผมมั่นใจในความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย" นอกจากนี้อยากเปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวันนี้ก็ถือว่าดีมาก ที่ได้เปิดพื้นที่ในระดับหนึ่ง เหมือนเป็นการเปิดประเด็นให้เกิดการเสวนาเพื่อสร้างสรรค์ทางความคิดต่อจากนี้ไป"

 

"สถานการณ์ใน มช. นักศึกษาก็มีทุกประเภท รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง และวันนี้ก็เหมือนว่าได้ทำให้หลายสิ่ง "กระจ่าง" ทุกๆ คนล้วนแล้วแต่มีความคิดที่หลากหลาย วันนี้เหมือนได้สร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ยิ่งจะน่ากลัว ถ้าทุกคนต่างไปเกาะกลุ่มแล้วก็ด่ากันไปด่ากันมา และจะกลายเป็นกระบวนการแยกขั้วกันไปในตัว หากไม่มีการสร้างพื้นที่สารธารณแห่งความคิดเห็นขึ้นมา"

 

ทั้งสองยังได้ทิ้งข้อคิดให้นำไปขบคิดปิดท้ายว่า "เสรีภาพก็เหมือนกับการหายใจ เราคงจะหยุดหายใจไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง"

 

000

 

 

 

จัดไปสักพักเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาร้องขอผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ยุติการจัดเสวนากลางแจ้งครั้งนี้

 

ตำรวจยกกำลังเข้ามาในงาน ขอร้องไม่ให้จัดต่อ

ในช่วงเวลาประมาณ 18.30 ขณะที่วงเสวนาฯ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ได้มีชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก สถานีตำรวจภูธรตำบลภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ประมาณ 20 นาย โดยการนำของ พ.ต.ท.บุญยวัติ เกิดกล่ำ รองผกก.ฝ่ายปราบปราม สภต.ภูพิงค์ เข้ามายังบริเวณสถานที่จัดวงเสวนา ซึ่ง รศ.เศกสิน ศรีวัฒนานุกูลกิจ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อชี้แจงเรื่องที่นักศึกษาจัดงานเสวนาดังกล่าว

 

พ.ต.ท.บุญยวัติ เกิดกล่ำ รองผกก.ฝ่ายปราบปราม สภต.ภูพิงค์ กล่าวว่า เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีการชุมนุมทางการเมืองกันภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตนในฐานะชุดเจ้าหน้าที่เฉพาะกิจ จึงจำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ และขอให้ยุติการชุมนุม ภายใต้สถานการณ์ที่ คปค.มีประกาศคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คนในขณะนี้

 

ด้าน รศ.เศกสิน ก็ได้อธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับขอให้วิทยากรและผู้ร่วมเสวนายุติการจัดวงเสวนา

 

 

วิทยากรยังเสวนากันต่อไป ทีวีเริ่มมาทำข่าว

เมื่อผู้สื่อข่าว เดินไปดูวงเสวนาบริเวณลานหญ้าหน้าตึกคณะสังคมศาสตร์ พบว่า ทางด้านนักวิชาการที่มานั่งพูดคุยยังคงมีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการกันต่อไป

 

"ทางตำรวจมาขอให้เลิกการจัดเสวนาดังกล่าว เพราะว่าถูกทางทหารกดดันมา ซึ่งตนก็ขอให้วงเสวนาคุยกันพอสังเขป ซึ่งทางตำรวจเขาก็ลำบากใจ เราก็ลำบากใจ" รศ.เศกสิน กล่าวทิ้งท้าย

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากมีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ที่มาทำข่าวการเสวนาในครั้งนี้แล้ว ยังมีสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ได้เข้ามารายงานติดตามสถานการณ์การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

 

นี่อาจเป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งแห่งความกดดันและอึมครึมของการจัดการเสวนาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการเมืองของสถาบันการศึกษา ในช่วงที่ คปค. ประกาศใช้กฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คน

 

 

ตำรวจเริ่มมาก วิทยากร-ผู้จัดกล่าวปิดท้ายเสวนา

หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเสริมกำลังมากขึ้น ประกอบกับผู้จัดเสวนาและวิทยากรได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมาเป็นห้วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หนึ่งในวิทยากรกล่าวว่าคงเป็นการจัดการเสวนาที่ท้าทายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งคนมากแบบที่ผมเรียกว่า "ยิ่งดึกคนยิ่งแน่น" ซึ่งคงจะยุติแต่เพียงเท่านี้ แต่ ผศ.สมชาย ก็ได้หยอกล้อผู้ร่วมเสวนาว่า "หรือพวกเราจะอยู่กันต่อ?" ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะผ่อนคลายได้พอสมควร โดยนายยุทธพงศ์ ขันประกอบ นักศึกษาผู้จัดงานกล่าวว่าที่ผ่านมาการเสวนาในห้องเรียนคนมักจะน้อยแต่พอมีการจัดกลางแจ้งทำให้คนสนใจและเข้ามาร่วมกันมากถือการ Entertain คน ซึ่งหลังจากนั้นจึงมีการยุติการเสวนาและผู้ร่วมเสวนาได้แยกย้ายกันไป

 

 

อรรถจักรทิ้งท้าย "เรามิอาจสยบยอมต่ออำนาจดิบ"

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังการเสวนาต่อกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอร้องให้ยุติการจัดงานว่าตนตกใจเพราะคณะปฏิรูปฯ ไม่ได้กังวลนักศึกษา และชนชั้นกลาง ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับล่างเถรตรงเกินไป จนกลายมาเป็นการคุกคาม ซึ่งตนคิดว่าการที่มีนักศึกษา ประชาชนร่วมเสวนามากขนาดนี้เพราะเขาคิดว่าควรจะเข้าใจสถานการณ์การเมืองขณะนี้ได้อย่างไร ซึ่งมาห้ามชุมนุมเกิน 5 คนมันไม่ถูกต้อง อาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นรากเหง้าของประชาธิปไตยที่เรามิอาจสยบยอมต่ออำนาจดิบ อาจารย์อรรถจักรกล่าว

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net