Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 ก.ย. 49  เมื่อวันที่ 25 ก.ย.เวลา 16.10 น.ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการเชิญคณะทูตมาร่วมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตยของไทย โดยมี พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันชี้แจงและตอบข้อซักถาม โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นจึงได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทั้งไทยและสำนักข่าวต่างประเทศที่เฝ้ารอทำข่าว มีเอกอัครราชทูต อัครราชทูต อุปทูต และที่ปรึกษา 70 คนจาก 65 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนองค์การระหว่างประเทศ 17 คน จาก 14 องค์การ เข้าร่วมรับฟัง



 นายกฤษณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ชี้แจงให้ทราบถึงความคืบหน้าในสิ่งที่ คปค.ได้ดำเนินการในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าไปสู่หนทางระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต่างประเทศต้องการเห็นคือ ตารางเวลาหรือกรอบขั้นตอนสำคัญของการก้าวไปสู่การเลือกตั้งที่ชัดเจนว่า มีกรอบเวลาอย่างไร และตัวแทนแต่ละประเทศก็ได้สอบถามทั้งในเรื่องตัวบุคคลที่จะก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเรื่ององค์กรอิสระ



คปค.ได้สรุปให้รับทราบว่าได้เห็นความสำคัญโดยมีการจัดตั้ง กกต. ป.ป.ช. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอให้บางประเทศที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ คปค.เข้าใจถึงประชาธิปไตย ขอให้มองภาพในลักษณะที่เปิดใจ อย่าด่วนสรุปว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี โดยขอให้ดูสิ่งที่ คปค.จะดำเนินการต่อไปว่าจะออกมาในลักษณะใด



พล.อ.วินัย กล่าวว่า ได้ชี้แจงต่อคณะทูตให้รับทราบถึงภารกิจของ คปค.ที่กำลังพยายามนำประเทศเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ขณะนี้ตัวร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะทำงานดำเนินการนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาด้านกฎหมาย เข้าใจว่าภายในสัปดาห์นี้ น่าจะประกาศใช้ได้



ทั้งนี้ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวประกาศใช้ ก็จะนำไปสู่การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า จากนั้นจึงจะจัดตั้งรัฐบาลรักษาการ เพื่อดูแลเรื่องการปฏิรูปการเมืองต่อไป



พล.อ.วินัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่หัวหน้าคปค.ระบุว่าจะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยวางกรอบเวลารวม 8 เดือน 15 วันนั้น เริ่มจาก คปค.จะจัดตั้งสภานิติบัญญัติ ซึ่งจะมีสมาชิก 100-250 คน เข้ามาเป็นกลไกในการดูแลด้านกฎหมายในการบริหารงานของรัฐบาล



ขณะเดียวก็จะมีการตั้งสมัชชาประชาชนแห่งชาติ ที่มาจากทุกภาคส่วน จำนวน 2,000 คน ในจำนวนนี้ จะคัดเลือกกันเองให้เหลือ 100-200 คน ทำหน้าที่ สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน จากนั้น จะนำไปพิจารณาความถูกต้อง



จากนั้นก็จะนำร่างกลับมาทบทวนตามกลไกที่ได้เตรียมไว้ พร้อมกับเปิดให้ประชาชนลงประชามติ คงใช้เวลาไม่เกิน 65 วัน ซึ่งรวมกระบวนการทั้งหมดจะไม่เกิน 8 เดือน 15 วัน จากนั้นก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป



เลขาธิการ คปค. กล่าวว่า อย่างไรก็ดีในการคัดเลือกบุคคลร่วมเป็นสมัชชาประชาชนแห่งชาตินั้น ขณะนี้ยังไม่มีการหารือในกรอบที่มาว่าจะคัดเลือกอย่างไร หรือมีขั้นตอนอย่างไร เพียงแต่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม



"ภายหลังจากที่มีธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คปค.ก็จะแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อที่เป็นผู้ดำเนินการในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ โดยทำงานเป็นหุ้นส่วนที่จะประคองรัฐบาลให้เดินหน้าด้วยความราบรื่น ด้วยความผาสุกอย่างที่ทุกคนอยากเห็น ซึ่งคณะมนตรีก็จะทำงานในหน้าที่ที่ต้องดูแลคือ ดูแลความมั่นคงในเรื่องสำคัญๆ เรื่องความมั่นคงทั่วไป รวมถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ก็จะสลายตัวไปในทันที" เลขาธิการ คปค. กล่าว



ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะทูตได้สอบถามถึงลักษณะของนายกรัฐมนตรี พล.อ.วินัย กล่าวว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องเข้ามาดูแลรวมเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ และเดินหน้าเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นผู้มีบารมีพอสมควร กล้าหาญ และต้องมีคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประวัติขาวสะอาด ซึ่งขณะนี้กำลังคุยกันอยู่



นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่าย 30 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวถึงธรรมนูญชั่วคราวที่ คปค.กำลังจะประกาศใช้ว่า ขอเรียกว่าให้มีการเปิดเผยถ้อยคำในธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวให้กับประชาชนได้รับทราบก่อนที่จะมีการประกาศใช้เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบและวิพากษ์ วิจารณ์ต่อกฎกติกาที่จะนำมาใช้ปกครองประเทศ



เพราะขณะนี้มีข้อกังขาต่อการทำงานของคณะทำงานกฎหมายของ คปค. ที่มีทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสำนักนายกฯ ซึ่งเคยเป็นมือกฎหมายให้กับรัฐบาลชุดที่แล้ว


แม้ไม่ใช่ทีมกฎหมายชุดนี้ร่างธรรมนูญฯ ในฐานะที่เป็นประชาชนและเป็นเจ้าของประเทศก็อยากทราบว่าถ้อยคำที่ร่างขึ้นกำหนดให้ใครมาเป็นสถาปนิกที่จะมาออกแบบบ้านหรือมีบทบาทในการสร้างบ้านแปงเมือง



"เราขอดูธรรมนูญชั่วคราวก่อน เพื่อให้แน่ใจว่านักกฎหมายธรรมนูญนี้ไม่ได้สอดไส้อะไรไว้ หากจะให้กระบวนการโปร่งใสอย่างแท้จริงจะต้องให้ประชาชนได้ร่วมกันตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าการยึดอำนาจคราวนี้เป็นเพียงการยึดจากอำนาจระบอบทักษิณเท่านั้น ไม่ใช่การยึดอำนาจจากประชาชน หากปฏิเสธคำร้องขอก็ทำให้คิดได้ว่า คปค.ไม่เพียงยึดอำนาจจากระบอบทักษิณ แต่ยังยึดอำนาจจากประชาชนด้วย"แกนนำภาคประชาชน กล่าว



แกนนำ 30 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ยังเสนออีกว่า เมื่อประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวและได้รัฐบาลรักษาการที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว ควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติโดยมีประชาชนเป็นผู้เลือก เพื่อให้มาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเหมือน ส.ส. อีกทั้งเป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สภานิติบัญญัติดังกล่าวจะมีวาระเพียงหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งเท่านั้น เพราะหากตั้งสภานิติบัญญัติขึ้นมาจะถือว่ากระบวนการร่างกฎหมายไม่มาจากประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะมีปัญหาในระยะยาว โดยวิธีการเหล่านี้จะส่งผลดีต่อ คปค. เพราะจะได้ไม่ถูกครหาว่า ยึดอำนาจมาจากประชาชน



"คุณสมบัติของผู้สมัครจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยกระบวนการนี้ก็จะตัดปัญหาการสังกัดพรรค 90 วันไปโดยปริยาย วิธีนี้จะทำให้เราได้ทั้งคนดีที่ต้องการเข้ามาร่างกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้หวังประโยชน์อื่นและเป็นวิธีการที่รองรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากค รรลองของประชาธิปไตยและมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง"น.ส.รสนา กล่าว



ขณะที่นายอนันต์ เหล่าเลิศวีรกุล เลขาธิการกลุ่มจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย(จคป.) เผยถึงการหารือร่วมกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสุขภาพว่า หลายคนมีความกังวลกับการทำงานของ คปค.ในหลายเรื่อง อาทิ ข้อกังวลเกี่ยวกับบทบาทของคณะทำงานด้านกฎหมายของ คปค. รวมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่เข้าหน้าที่ในองค์กร เพราะเกรงว่าจะไม่มีความเป็นกลาง เป็นต้น และอาจจะยื่นข้อกังวลเหล่านี้ต่อ คปค.ภายในสัปดาห์นี้ พรุ่งนี้จะมีการประชุมและสรุปผลอีกครั้ง



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net