Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย บรรณารักษ์ปลายแถว


 


 


ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ!


 


หนังสือเก่าที่นอนจมฝุ่นอยู่ในลังเก็บหนังสือประจำบ้าน กลับกลายเป็นหนังสือทันสมัยทันเหตุการณ์ขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่ามันจะผ่านกาลเวลามาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม


 


เขาว่ากันว่า "หนังสือที่ดีไม่มีวันตาย" แต่บรรณารักษ์นิสัยไม่ดีบางคนที่ชอบเก็บหนังสือไว้ในลัง ไม่อยากให้หนังสือเล่มนี้กลับมามีชีวิตใหม่ ณ ช่วงเวลาปัจจุบันเลย (ให้ตาย!)


 


เพราะหนังสือที่พูดถึง มีชื่อชวนให้ปวดใจว่า "ทหารปฏิวัติทำไม?"   


 




 


พอได้อ่านคำโปรยบนปกหลังของหนังสือ ยิ่งทำให้รู้สึกว่ากำลังอ่านโฆษณาชวนเชื่อเข้าไปใหญ่ เพราะข้อความที่ปรากฏต่อสายตาคือ ประโยคที่พิมพ์ด้วยตัวหนังสือดำบนปกสีเหลือง-แดงว่า


 


"อ่านแล้วจะรู้ว่าทำไมทหารจึงต้องปฏิวัติ"


 


แต่ครั้นได้เลื่อนสายตาไปที่ประโยคด้านล่าง ก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เริ่มน่าอ่านขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะมีการตั้งคำถามเด็ดๆ ว่า: ทหารควรจะมีบทบาทแค่ไหนในวงการเมือง, มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้ทหารปฏิวัติ, ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วยรูปแบบใดบ้าง, ทหารปฏิวัติแล้วจะเกิดผลต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร และคำถามสุดท้ายคือ "มีหนทางใดที่จะทำให้ทหารเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง"


 


หน้าปกในของหนังสือระบุวันเดือนปีที่พิมพ์เอาไว้ชัดเจนว่า พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2521 ซึ่งคนเขียนหนังสือเล่มนี้ใช้นามปากกาว่า "ทหารเด็ก"


 


ถ้าหากใครลองเช็คข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการใช้ชื่อหนังสือสืบค้นในเสิร์ชเอ็นจินทั่วไปจะรู้ว่า "ทหารเด็ก" ก็คือนามปากกาของ พล.ต.สัญชัย บุณทริกสวัสดิ์ ซึ่งเคยเป็นทหารนายหนึ่งในกลุ่ม "ยังเติร์ก" ที่ต้องการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อเหตุการณ์ "เมษาฮาวาย" ในวันที่ 1 เมษายน 2524 นั่นเอง


 


การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้นายทหารหลายคนมีบทบาทโดดเด่นในแวดวงการเมืองยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นอดีตแกนนำอย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และอีกหลายๆ คน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้นายทหารบางส่วนโดนข้อหาว่าเป็น "กบฏ" อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


 


แต่คอการเมืองหลายคนมองว่า เหตุการณ์เมื่อเมษาฮาวายเป็นการปฏิวัติที่แท้จริง และเหนือชั้นกว่าการทำรัฐประหารของทหารทุกชุดในอดีตเสียด้วยซ้ำ โดยว่ากันว่าการปฏิวัติครั้งนั้นมีอุดมการณ์ และมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่การปฏิวัติเพื่อให้ตัวเองเป็นใหญ่ หรือต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจเดิมเท่านั้น


 


กลุ่มยังเติร์กมีแนวคิดที่จะเอากำไรจากธนาคารพาณิชย์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ และจะแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งมันสมองสำคัญด้านนโยบายของกลุ่มก็คือ พล.ต.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ - นายทหารที่สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนเสนาธิการ และอีกคนก็คือ พล.อ.สุรพล ชินะจิตร์


 


ด้วยความโชกโชนระดับนี้ การอ่านหนังสือชื่อ "ทหารปฏิวัติทำไม" ก็กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าเดิม


 


ยิ่งได้อ่านข้อความในหน้าคำนำจนจบ หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็น "ข้อมูลอันมีค่า" ควรแก่การนำมาเผยแพร่ในเวลานี้อย่างยิ่ง!!!


 


ไม่เชื่อลองอ่านดู...


 


"ประชาชนทั่วไปในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยกำลังเกิดความคลางแคลงใจในบทบาทของทหาร การกลับเข้าสู่วงการเมืองเกือบเต็มตัวของกองทัพไทยภายหลังการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งแม้จะได้แสดงท่าทีว่าจะจำกัดบทบาทของกองทัพให้อยู้ในฐานะผู้พิทักษ์รัฐบาลพลเรือนก็ตาม


แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว สถาบันทหารกลับถลำลึกเข้าสู่วงการเมืองยิ่งขึ้น


 


"ในปัจจุบัน แม้ฝ่ายทหารจะได้ยืนยันเจตนารมณ์ของการที่จะปล่อยบังเหียนการบริหารประเทศให้กับ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเร็วที่สุดก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจขจัดข้อเคลือบแคลงใจของประชาชน ในบทบาทของทหารที่จะมีต่อวงการเมืองของไทยในอนาคตได้


 


"ไม่เพียงแต่ประชาชนที่เป็นพลเมืองเท่านั้น แม้กำลังพลในกองทัพไทยในปัจจุบันจำนวนไม่น้อย ก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความคลางแคลงใจเช่นเดียวกัน ทหารเหล่านั้นไม่แน่ใจในสถานภาพของตน ไม่เข้าใจแน่ชัดถึงบทบาทของสถาบันที่พึงกระทำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่แน่ใจในสถานภาพของกองทัพว่าในอนาคตจะอยู่ร่วมกับสังคมในฐานะใด อยู่เหนือหรือว่าอยู่ใต้ผู้บริหารประเทศ


 


สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำสถาบันทหารเข้าไปผูกพันกับวงการเมืองอย่างปราศจากทิศทาง และผู้ที่จะต้องยุ่งยากสับสนที่สุด นั่นก็คือทหารในกองทัพนั่นเอง ที่ไม่อาจกำหนดได้ว่าวันหนึ่งตนหรือหน่วยของตนจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในรูปใด? ภายใต้การนำของใคร? และผลที่ได้รับจะเป็นเช่นใด? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องรับผลเช่นเดียวกับเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 อันทำให้สถาบันทหารต้องหมองมัวตกต่ำลงในสายตาของประชาชนหรือไม่?"


 


0 0 0


 


...ถ้าลองเปลี่ยนวันที่จาก 6 ต.ค.2519 เป็นวันที่ 19 ก.ย.2549 และเปลี่ยนวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535... ความหมายของข้อความที่ยกมาก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิมนัก แต่มันคงจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราหัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ (ก็คง) ไม่ออก เมื่อนึกถึงความจริงว่า กำลังจะครบรอบ 30 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อยู่รอมร่อแล้ว แต่ความเป็นไปเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเรายังก้าวไปไม่ถึงไหนเลย...


 



 


นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ที่พูดถึงปัจจัยสำคัญอันทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองที่ปรากฏอยู่ภายใน เป็นเหตุผลที่น่าสนใจและยอมรับได้ แม้ว่าบริบทที่ใช้ประกอบการมองสถานการณ์จะย้อนหลังกลับไปถึง 30 ปีก็ตามที และองค์ประกอบหลายประการที่ทำให้เกิดรัฐประหาร (โดยทหาร) ก็มาจากปัจจัยภายในกองทัพเองด้วย


 


ปัจจัยที่ว่า อาจมาจากสาเหตุต่างๆ กัน เช่น เมื่อมีการสั่งให้นำกำลังทหารไปปฏิบัติหน้าที่แทนบทบาทของตำรวจเพื่อรักษาความสงบมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งกรณีที่ว่ามานี้ แทนที่จะทำให้ทหารมุ่งมั่นกับการเป็นผู้คุ้มครองป้องกันรัฐบาล ก็จะกลายเป็นการเพิ่มความทะเยอทะยายทางการเมืองให้กับนายทหารทั่วไปแทน


 


ก็อย่างที่รู้กันอยู่ว่าอำนาจนั้นหอมหวานเย้ายวนแค่ไหน...


 


แม้กระทั่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากเกินไปในสถาบัน ก็มีส่วนทำให้เกิดการปฏิวัติเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อทหารมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเมื่อไหร่ แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับอ่อนแอและสร้างปัญหาให้กับประเทศ ก็จะยิ่งเป็นสาเหตุที่ทหารได้รับความสนับสนุนจากมวลชนให้ทำการยึดอำนาจอย่างง่ายดาย


 


แต่การตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิถีทางของทหาร มักจะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในประเทศ และจะเป็นสาเหตุให้กลุ่มทุนพยายามหาทางทำลายเส้นกั้นสถาบันของทหารในแต่ละหมู่เหล่า และในที่สุดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะถูกตัดขาดเป็นช่วงๆ ในที่สุด สถาบันทหารอันเข้มแข็งก็จะถูกทำลาย และอุดมการณ์ที่ทหารบอกว่า "จะอยู่เหนือการเมือง" ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้จริง...


 


บทวิเคราะห์ที่เป็นเหมือนคำทำนายของ พล.ต.สัญชัย บอกไว้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กองทัพปราศจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อนั้นทหารจะกลายเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยยิ่งกว่าสถาบันใด เพราะกองทัพที่ไร้ประสิทธิภาพทางการทหารได้ทำลายทั้งระบบการเมือง ความสามัคคีของคนในชาติ รวมไปถึงความมั่นคงของสถาบันต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว...


 


ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายของสถานการณ์ในตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่คำตบท้ายในหนังสือเก่าๆ เล่มหนึ่ง (ซึ่งเนื้อหาข้างไม่ได้เก่าตามไปด้วยเลย) คือสิ่งที่เราน่าจะส่งต่อถึงกันมากที่สุด และนั่นคือข้อความที่ว่า


 


"ทหารมักมองเห็นความเลวร้ายของนักการเมืองพลเรือน อันทำให้จำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจ แล้วขับไล่ออกไป แต่ทหารมักจะลืมมองสถาบันของตนเอง ลืมปรับสภาพของสถาบันทหารให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะไม่ล้มเหลวเช่นเดียวกันกับพลเรือนหรือทหารการเมืองได้เป็นมาแล้วในอดีต


 


"อย่างไรก็ตาม ทหารเองต้องยอมรับว่า การเข้าแทรกแซงทางการเมืองในลักษณะของการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่งหากไม่จำเป็น หากประเทศชาติต้องการที่จะพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทางการเมือง เพราะประเทศใดที่ยังมีการแทรกแซงทางการเมืองโดยทหารด้วยวิธีรัฐประหาร ย่อมไม่อาจหลีกพ้นคำกล่าวขานว่ายังเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาอยู่


 


ทหารเองย่อมตระหนักดีว่า การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชนนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ"


 


ในหนังสือนี้ยังได้ถามด้วยว่า


 


"แน่นอนที่สุด สถาบันทหารที่เข้าแทรกแซงทางการเมืองด้วยความจำเป็น ย่อมจะต้องคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนที่ดีกว่าประชาธิปไตยซี่งประชาชนเคยมี...ด้วยการให้สภาพและความเป็นอยู่ของสังคมที่ดีกว่า ก่อนที่ทหารจะเข้ายึดอำนาจ


 


"ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะถามว่า ทหาร...ปฏิวัติทำไม?"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net