Idiocracy บ้านนี้เมืองนี้-แม่งบ้า!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย ซาเสียวเอิ้ย

 

ภาพจาก IMDB.COM

 

 

อันดับแรก...ขอแสดงความเสียใจกับใครก็ตามที่อยากดูหนังเรื่อง idiocracy ของ "ไมเคิล จัดจ์" (Michael Judge) เพราะคุณคงไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ง่ายๆ (ในกรณีที่อยากดูแบบ "ถูกกฏหมาย" ลิขสิทธิ์น่ะนะ)

 

อันดับสอง...ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะถึงอย่างไรหนังดีๆ จะยังคงได้รับการกล่าวขานถึงในหมู่คนรักหนัง และคงมีคนหาทางเอามาเผยแพร่ให้เราดูกันจนได้ แต่จะด้วยวิธีไหนก็อย่าไปพูดถึงมันเลย...

 

แต่ถ้าอยากรู้เรื่องราวในหนัง Idiocracy ก็พอจะบอกได้คร่าวๆ ว่ามันเริ่มต้นตรงที่ นายทหารโจ บาวเออร์ (Luke Wilson) ตื่นขึ้นมาในค.ศ.2505 หลังจากที่เขาโดนจับแช่แข็งไว้ด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ของกองทัพสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา

 

โจจะทำอย่างไร...เมื่อบ้านเมืองในอนาคตอีก 500 ปีข้างหน้าไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากทุกวันนี้ แต่ที่เสื่อมถอยลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือพลเมืองของประเทศที่กลายเป็นคนโง่มาก-ถึงมากที่สุด!

 

ตึกรามบ้านช่องจวนจะพังมิพังแหล่ แต่ภูเขาขยะกองใหญ่ท่วมหัวจนเท่าตึก ฟาร์มกสิกรรมถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะแหล่งน้ำถูกเอาไปใช้ในการผลิตน้ำอัดลมจนไม่เหลือน้ำบริสุทธิ์ไว้อุปโภค และผู้คนในอนาคตก็สวมเสื้อผ้าแบบใช้แล้วทิ้งที่มีแบนเนอร์โฆษณาแปะอยู่ทั่วตัว

 

แม้แต่เมืองหลวง Costco ซึ่งรุ่งเรืองที่สุดในอนาคตก็เต็มไปด้วยประชากรที่ "เกิดมาเพื่อหายใจทิ้งไปวันๆ" แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือพวกเขาพูดภาษาอังกฤษแทบไม่เป็นประโยค และโจก็สื่อสารกับพวกเขาแทบไม่ได้

 

คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็นของการทำอะไรอย่างอื่นนอกจากการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ อย่างเต็มคราบ

 

รวมไปถึงผู้ว่าการรัฐฯ ที่ดูเหมือนว่าจะ "ฉลาดที่สุด" ก็เป็นเพียงอดีตนักกล้ามที่โด่งดังจากการแสดงหนังโป๊ จากนั้นก็โดดเข้ามาเล่นการเมือง และได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ

 

เรื่องพวกนี้คงเป็นสิ่งที่เราฟังดูคุ้นๆ กันอยู่มากทีเดียว…

 

แต่สาเหตุที่ทำให้เรื่องหายนะเช่นนี้เกิดขึ้นคืออะไร? นักดูหนังส่วนใหญ่คงยังหาคำตอบไม่ได้ในตอนนี้แน่ๆ

 

ก่อนหน้าที่จะมีงานชิ้นนี้ ผู้กำกับอย่างไมเคิล จัดจ์ มีผลงานดังๆ ในอดีตพอสมควร อย่างเช่น หนังจิกกัดสังคม "บริษัท" และหนุ่มสาวออฟฟิศที่ใช้ชื่อว่า Office Space (ปี 1999) และหนังอนิเมชั่นที่มีตัวการ์ตูนปากจัด-ด่าเจ็บ ทำตัวไร้สาระไปวันๆ อย่าง Beavis & Butthead (ปี 1993-1997) ที่ทำให้สถานีเพลงอย่างเอ็มทีวีครองความนิยมจากเด็กวัยรุ่นทั่วโลกได้ในระยะหนึ่ง

 

ถ้าพูดกันในแง่ของความสำเร็จ หนังอนิเมชั่น "บีวิส แอนด์ บัตเฮด" คือผลงานที่สร้างชื่อและทำเงินให้กับไมเคิล จัดจ์ มากที่สุด และขณะเดียวกันมันก็สร้างประเด็นให้ใครต่อใครถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนว่าบีวิสและบัตเฮดคือตัวการสร้างความเสื่อมทรามและความรุนแรงให้กับสังคม หรือว่ามันเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นความเน่าเฟะที่เป็นอยู่จริงๆ กันแน่

 

ข้อถกเถียงนั้นยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ไมเคิล จัดจ์ ก็ไม่ได้หยุดสร้างผลงานของตัวเองแต่อย่างใด และด้วยความที่บีวิสและบัตเฮดสามารถทำเงินได้มากมายมหาศาล ผู้บริหารของธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่อย่างฟอกซ์สตูดิโอจึงตัดสินใจทุ่มงบสร้างหนังเรื่องใหม่ให้กับจัดจ์มาตั้งแต่ 2 ปีก่อน และหนังเรื่องที่ว่าคือ Idiocracy นั่นเอง

 

แต่กลายเป็นว่า Idiocracy ถูกนำออกฉายอย่างเงียบเชียบเพียง 6 รัฐ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยไม่นับรวมโรงหนังในนิวยอร์กซึ่งเป็นแหล่งทำเงิน ด้วยเหตุผลว่าหนังเรื่องนี้ไม่อาจขายโฆษณาได้อย่างที่คิด เพราะสินค้าและธุรกิจใหญ่ๆ ที่สตูดิโอฟอกซ์คาดว่าจะขายโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ก็ถูกนำมาโขกสับจนไม่เหลือชิ้นดีในหนังเรื่องนี้ ก็เลยไม่มีใครอยากเป็นสปอนเซอร์ให้สักราย

 

เมื่อหนังไม่ทำเงินแน่ๆ ผู้บริหารระดับสูงของฟอกซ์ที่รับผิดชอบเรื่องโปรดักชั่นก็เลยนำมันออกฉายโดยไม่ยอมให้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์กระเซ็นออกมาสักเหรียญเดียว!

 

หนังเรื่องนี้จึงไม่มีทีเซอร์ (Teaser) ออกฉายนำร่องตามโรงหนังอย่างที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับที่ไม่มีการเชิญนักวิจารณ์หรือสื่อมวลชนมาดูหนังตัวอย่างก่อนออกฉายจริงเหมือนผลงานที่คิดว่าจะทำเงินเรื่องอื่นๆ

 

วิธีคิดแบบนี้ส่งผลกระทบไปถึงลู่ทางในการจับ Idiocracy มาลงดีวีดีเสียด้วย...

 

เพราะฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องโปรดักชั่นเป็นคนละส่วนกับฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องดีวีดี ซึ่งคอลัมนิสต์ของไทม์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าพวกเขาคงไม่อยากทำงานข้ามส่วนกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่อยากยื่นมือเข้าไปช่วยอีกฝ่ายซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเอง!

 

นักวิจารณ์เพียงน้อยนิดที่มีบุญได้ดู Idiocracy และต้องตีตั๋วดูหนังกันเอาเอง ต่างพากันชื่นชมว่าหนังของจัดจ์เรื่องนี้กะเทาะเปลือกสังคมบริโภคนิยมที่มีกลุ่มทุนบ้าอำนาจเป็นคนคอยบงการความเป็นไปต่างๆ ด้วยกลไกทางการตลาดอย่างลึกซึ้งถึงแก่น และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน...

 

ถ้าหากหนังสักเรื่องหนึ่งคือนวัตกรรมซึ่งถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้คนจำนวนมากได้ดูและคิดตาม รวมไปถึงการต่อยอดความคิดผ่านทางสายตาและการขบคิดแล้วล่ะก็ การได้ยินได้ฟังเรื่องแบบนี้คงจะยิ่งทำให้ใครหลายคนอยากรู้เข้าไปใหญ่ว่าหนังมันจะวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบันได้อย่างถึงกึ๋นสักแค่ไหน

 

หรือในทางกลับกัน มันอาจจะเป็นแค่หนังห่วยๆ เรื่องหนึ่งที่เอาแต่ด่ากราดสิ่งรอบตัวโดยไม่เสนอทางออกอะไรให้กับใครทั้งนั้นก็เป็นได้...

 

แต่น่าเสียดายที่คอหนังและคนอีกมากไม่มีสิทธิ์ได้ดูมัน เพราะเราถูก "ปล้นโอกาส" ไปแล้ว ด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่งที่มี "อำนาจ" มากพอจะตัดสินใจชี้เป็นชี้ตายให้หนังเรื่องหนึ่งต้องมีอันเป็นไป

 

(เรื่องนี้ก็ฟังดูคุ้นๆ อีกเหมือนกันนะ...ว่าไหม?)

 

 

......................................................................

ข้อมูลเพิ่มเติม:

บทความ "Dude, where"s my film?" โดย Joel Stein ตีพิมพ์ในนิตยสาร Time (4 -10 Sept 2006)

บทความ "Sharp, Funny View of a Stupid Future" โดย Darel Javen ใน Chicago Sun-Times (http://www.suntimes.com/output/entertainment/cst-ftr-idio06.html)

และ เวบไซต์ Political Film Society (http://www.geocities.com/polfilms/)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท