ความเห็นของจอนในสถานการณ์ปัจจุบัน (1)

ในสถานการณ์นี้เราต้องรักษาแนวร่วมภาคประชาชนโดยแสวงจุดร่วมแต่ไม่ปิดบังจุดต่าง

 

            ผมเขียนบทความนี้อย่างเร่งด่วนฉุกเฉินด้วยความเป็นห่วงยิ่งต่อผลกระทบของสถานการณ์ปัจจุบันที่มีต่อขบวนการภาคประชาชน เพราะขณะนี้ความคิดเห็นและมุมมองต่อสถานการณ์ในหมู่นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนมีความแตกต่างกันเสมือนดอกไม้ที่มีสีสันหลากหลาย ซึ่งถ้าเป็นดอกไม้จริงก็คงจะงดงามมาก แต่เมื่อเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกัน ถ้าไม่มองหน้ากันอย่างเข้าใจกันแล้ว จะกลายเป็นการแตกแยกและการประกาศเป็นศัตรูกันที่จะทำลายศักยภาพและความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชน ยิ่งไปกว่าที่ถูกทำลายไปแล้วในยุครัฐบาลทักษิณ

 

            สถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ทดสอบพวกเราในภาคประชาชนทุกคนมากกว่าทุกสถานการณ์ที่ผ่านมา มากยิ่งกว่าสมัยการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

 นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า "ฝ่าย ก.")  กำลังมีอารมณ์โกรธและมีความเสียใจอย่างยิ่งกับรัฐประหาร ไม่มีความเชื่อใจไว้ใจต่อผู้ที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ว่าจะนำระบอบประชาธิปไตยมาสถาปนาโดยเร็ว เพราะมองว่าผู้สนับสนุนการรัฐประหารนั้นรวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่น่าจะแสวงหาอำนาจไม่ต่างกับการแสวงอำนาจของกลุ่มทักษิณ (รวมไปถึง "กลุ่มอำนาจเก่า" ที่สูญเสียอำนาจในยุครัฐบาลทักษิณและตอนนี้มีโอกาศฟื้นคืนชีพ)  ทั้งยืนหยัดในด้านหลักการที่จะคัดค้านการรัฐประหาร การฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าในกรณีใด แม้พวกตนจะไม่ชอบรัฐบาลทักษิณและเคยต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทักษิณที่ละเมิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมมาตลอด แต่ก็ไม่สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหาทั้งปวงที่ก่อโดยรัฐบาลทักษิณด้วยวิธีการนอกระบอบประชาธิปไตย

 

นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนและนักวิชาการรักประชาธิปไตยอีกฝ่ายหนึ่ง (ขอเรียกว่า "ฝ่าย ข.") กำลังมีอารมณ์ดีใจโล่งใจเพราะดูเหมือนว่าระบอบทักษิณที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม สามารถถูกโค่นล้มไปได้ในที่สุด แม้พวกตนจะไม่ชอบการรัฐประหารและเคยต่อต้านการรัฐประหารมาตลอด แต่ในครั้งนี้มองไม่เห็นทางออกที่เป็นทางอื่น เพราะการออกมาชุมนุมต่อต้านตามระบอบประชาธิปไตยมากเท่าไรก็ไม่ได้ผล ความจริงต้องมองว่ารัฐบาลทักษิณเองก็ได้ก่อรัฐประหารมาก่อนหน้านี้แล้ว รัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นรัฐประหารซ้อนเพื่อคืนอำนาจแก่ประชาชน แน่นอนไม่ใช่ทางออกที่พึงปรารถนา แต่เราควรให้โอกาสผู้นำรัฐประหารแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเขาในเจตนาที่เขาประกาศ และเราควรจะร่วมมือกับเขาในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นระบอบประชาธิปไตยและการส่งเสริมบทบาทภาคประชาชน

 

ขณะนี้ดูเหมือนว่าในวงการนักกิจกรรมภาคประชาชน "ฝ่ายข." เป็นข้างมาก  "ฝ่าย ก." เป็นส่วนข้างน้อย -แต่ก็ไม่น้อยเท่าไรในแง่จำนวน ถ้าดูจากความคิดเห็นและแถลงการณ์ใน  http://prachatai.com  หรือ http://prachatai.wordpress.com

 

สิ่งที่เกิดขณะนี้คือ "ฝ่าย ก." ประณาม "ฝ่ายข." ว่าทิ้งหลักการหรือไร้หลักการ  ทั้งยังสงสัยว่า "ฝ่ายข." บางส่วนรู้เห็นและมีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหารตั้งแต่ต้น ส่วน "ฝ่ายข." จะโต้ตอบว่า "ฝ่าย ก." มีแต่เก่งในด้านหลักการ แต่ไม่เห็นเคยออกมาร่วมประท้วงรัฐบาลทักษิณ   ถ้าได้ร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณตั้งแต่ตอนนั้น ก็อาจไม่ต้องเกิดรัฐประหารในตอนนี้

 

"ฝ่าย ก." มีความเสียใจอย่างยิ่งที่เห็นคนอย่าง อาจารย์เสน่ห์ จามริกออกมาปกป้องรัฐประหารหรืออาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ให้สัมภาษณ์ว่าการรัฐประหารเป็นไปโดยสันติวิธี   "ฝ่ายข." มองว่าการแสดงออกของ "ฝ่าย ก." เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายทักษิณในสถานการหน้าสิ่วหน้าขวาน

 

ความจริงขณะนี้ไม่ใช่ว่าคนในแวดวงภาคประชาชนจะยืนอยู่ที่ขั้วของ "ฝ่าย ก." หรือ "ฝ่ายข." ทั้งหมด เพราะยังมีจุดยืนอีกจำนวนมากที่กระจายอยู่ระหว่างสองขั้วนี้ รวมทั้งจุดยืนของตัวผมเองซึ่งจะพยายามเสนออย่างตรงไปตรงมาในตอนต่อไป

 

แต่สิ่งที่กำลังจะยิ่งท้าทายและเสี่ยงต่อการขยายรอยร้าวในเร็วๆ นี้ คือการไม่พยายามทำความเข้าใจและเคารพในเหตุผลการตัดสินใจซึ่งกันและกันในกรณี

 

"ฝ่าย ก." จะร่วมกันแต่งไว้ทุกข์และชุมนุมประท้วงรัฐประหารหน้าสยามพารากอนหกโมงเย็นวันนี้

คนใน "ฝ่ายข." อาจรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในบางด้าน หรือร่วมร่างธรรมนูญชั่งคราว หรือรับเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราว หรือรับหน้าที่อื่นตามคำเชิญของคนที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร

 

ข้อเสนอของผมในขณะนี้คือคนในภาคประชาชนทุกส่วนควรต้องพยายามระงับอารมณ์ และมองกันในแง่ของความเข้าใจและความเคารพต่อกันโดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกัน ส่วนในด้านจุดยืนและการแสดงความคิดเห็น ทุกคนมีสิทธิแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย แต่ควรหลีกเลี่ยงการโจมตีกันหรือตอบโต้กันโดยตรงด้วยภาษารุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ในขณะเดียวกันเราควรพยายามหาจุดร่วมที่จะรณรงค์เรียกร้องร่วมกัน เช่นเรื่องการเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ หรือขอให้คืนรัฐธรรมนูญเดิมโดยมีบทเฉพาะการที่เหมาะสม เป็นต้น

 

ผมยังมองคนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนไหวในภาคประชาชนในแง่ดี แน่นอนเราต้องช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่เราต้องหลีกเลี่ยงการสร้างรอยร้าวถาวรในขบวนการภาคประชาชนที่ไม่เป็นผลดีต่อการต่อสู้ร่วมกันต่อไปในระยะยาว

 

จอน อึ๊งภากรณ์

22 กันยายน 2549

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท