ห้าปีแห่งการจากไปของ "จรัล มโนเพ็ชร"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย : องอาจ เดชา

 

 


มิใช่ เพลง "ซึงสุดท้าย"

คือความหมายงามงดเพลงรังสรรค์

เพลงรักโลกชีวิตนิจนิรันดร์

เพลง "จรัล มโนเพ็ชร" กล่อมชีวี

 

โอ้...เป็นเพลงสุดซึ้งแลสุขสันต์

เพลงชีวันพริ้งเพราะเสนาะเหลือที่

เพลงพลิ้วหวานลอยล่องโอบกอดปฐพี

กล่อมฤดีกล่อมหล้า กล่อมสากลฯ

 

Song  So Sweet

Sun So Bright

Moon  Shining

River runs  down to the Dream

I  Love You!

 

ห้าปีที่เนิ่นนาน

ผ่านตะวันจันทราฝัน

ยังอยู่คู่ชีวัน

ฝันเถิดฝันเพื่อชีวีที่งดงาม

 

ใช่!  ความหวังยังคงอยู่

ให้ผู้คนเรียนรู้และไถ่ถาม

เทียวท่องไปในดินแดนคีต-กาล

แม้กี่นานจักสืบสาน "ตำนานจรัล"

 

 

แสงดาว ศรัทธามั่น + ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร + ภู  เชียงดาว

คารวะ+รำลึก "อ้ายจรัล มโนเพ็ชร"ศิลปิน-คนเพลงแห่งล้านนาอิสระ

3 กันยายน 2544 คราครบรอบกึ่งทศวรรษคืนสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่

 

เป็นบทกวีที่ร่วมกันแต่งกันสดๆ ในวันงานทำบุญครบรอบ 5 ปีแห่งการจากไปของ "จรัล มโนเพ็ชร" ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา

 

เมื่อพูดถึง "จรัล มโนเพ็ชร" มีคนกล่าวขวัญกันว่า เป็นศิลปินผู้เป็นมากกว่าศิลปิน ผู้มีพลังล้นเหลือในการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งน้อยคนนักจะทำได้เทียบเท่า

 

ไม่ว่าในฐานะศิลปินเพลงคำเมือง ตั้งแต่ปีในห้วงปี พ.ศ. 2520-2544                                                 

ไม่ว่าในฐานะการส่งเสริมอนุรักษ์ภาษาคำเมือง วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมือง                                   

ไม่ว่าในฐานะนักแสดง ละครโทรทัศน์ ละครเวที                                                                      

ไม่ว่าในฐานะผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์,สารคดี                                                          

และหลายคนถึงกับกล่าวกันว่า เขาคือ มหาคีตกวีล้านนา และ ฯลฯ

 

เมื่อเปิดเวบไซต์ http://www.jaranmanophet.com ได้รวบรวมประวัติชีวิตผลงาน ของ "จรัล มโนเพ็ชร" เอาไว้ให้คนที่ชื่นชมสนใจได้ศึกษาเรียนรู้

 "จรัล มโนเพ็ชร"ได้เสียชีวิตกระทันหันจากการที่หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อเช้ามืดวันที่3 กันยายน ปี 2544 ที่บ้านดวงดอกไม้ ในเมืองลำพูน

ข่าวความตายของจรัลในเช้าตรู่วันที่3 กันยายนปีนั้น สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วประเทศ ผู้คนล้วนโศกเศร้าและรู้สึกไม่ต่างกันว่า "แสนเสียดาย"

สาดเสียงกระจายคล้ายความฝัน
เหมันต์ผ่านโรยราพืชพรรณ
เดือนฟ้าต่ำสิ้นเสียงครวญ

 

 

สิ้นโฟล์คซองคำเมือง "จรัล มโนเพ็ชร" โหมงานหัวใจวาย (หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ ฉบับวันพุธ 5 กันยายน 2544)                                                                                                         

 

"จรัล" หัวใจวาย ปิดตำนานศิลปินโฟล์คซองคำเมือง(หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 4 กันยายน 2544)
 
โรคหัวใจคร่าชีวิต "จรัล มโนเพ็ชร" (หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันพุธ 5 กันยายน 2544)
 
"สิ้นเสียงสำเนียงโฟล์คซองคำเมือง"
(หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคาร 4 กันยายน 2544)
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันศุกร์ 4 กันยายน 2544

 Heart Attack kills Jaran Manophet
(Bangkok Post ( Tuesday,September 4,2001 )

 

"เสียงพรแห่งธรรม ขอปี้อ้ายไปดี" (หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือฯ กันยายน 2544)

นี่คือบางส่วนจากหนังสือพิมพ์บางฉบับที่รายงานข่าวการเสียชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวจรัลตลอดทุกวันตราบจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพเมื่อ 8 กันยายน 2544 และยังคงเสนอภาพและข่าวในวันถัดมา คือเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน ปีนั้น ซึ่งครอบครัวของจรัลได้ไปทำพิธีสงฆ์ที่สุสานบ้านหลวย เมืองลำพูนเพื่อเก็บเถ้ากระดูกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนาท่านนี้                       

เถ้ากระดูกส่วนหนึ่ง ถูกนำไปไว้ที่วิหารของวัดฟ่อนสร้อยจังหวัดเชียงใหม่โดยพ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ผู้เป็นบิดา

 

อีกส่วนหนึ่ง "อันยา โพธิวัฒน์" คู่ชีวิตของเขา นำไปไว้ที่บ้านดวงดอกไม้ จนอีกหกเดือนต่อมาจึงมีการนำเถ้าอัฐิของจรัลจากบ้านดวงดอกไม้ ขึ้นไปไว้บนยอดดอยหลวงเชียงดาว ตามคำสั่งเสียของศิลปินท่านนี้ที่อยากกลับคืนสู่ธรรมชาติบนแผ่นดินของดงดอยล้านนาอันเป็นที่รัก                                             

ส่วนเถ้าที่วัดฟ่อนสร้อยต่อมาก็ได้ถูกนำไปบรรจุในกู่ของสายตระกูลที่ประตูหายยา เชียงใหม่ เมื่อกลางปี 2546

 

อีกส่วนหนึ่งบรรจุอยู่ใต้ฐานรูปปั้นโลหะที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ ซึ่งเพื่อนศิลปินของจรัล "หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ" เป็นผู้ปั้นและจัดสร้างด้วยจิตศรัทธาต่อศิลปินท่านนี้อย่างสูงสุด พิธีเปิดรูปปั้นจัดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2545 อันเป็นวันเกิดของจรัล โดยผู้เป็นประธานในพิธีเปิดคือ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ

 

รูปปั้น จรัล มโนเพ็ชร ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ ฝีมือของ หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ

 

ภู เชียงดาว เคยเขียนถึง จรัล มโนเพ็ชร ในจุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ปี พ.ศ. 2546

...หลายคนคงจดจำบรรยากาศอันไหวว้างของเช้าตรู่วันที่3 กันยายน 2544 กันได้เมื่อสถานีโทรทัศน์ออกข่าวไปทั่วประเทศ สถานีวิทยุทั่วเมืองเหนือได้ร่วมพร้อมใจกันเปิดเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร พร้อมกันแสดงความอาลัยอาวรณ์การจากไปของศิลปินแห่งล้านนาผู้นี้

 

เป็นการจากไปที่ทำให้หัวใจหลายดวงนั้นอึ้ง และเงียบงันในความรู้สึก                                         

"ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะจากไปเร็ว" ทุกคนล้วนเอ่ยรำพึงออกมาอยู่อย่างนั้น เพราะทุกคนต่างเชื่อว่า เขายังมีพลังอันล้นเหลือในการทำงานสร้างสรรค์ ในความเป็นศิลปิน เขายังมีความฝันที่เปี่ยมล้นมากมาย ไม่ว่าบทบาทในด้านดนตรี บทเพลง งานสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือความเป็นศิลปินนักแสดง

และ เขายังมีความฝันอยู่อีกความฝันหนึ่ง นั่นคือ "การสร้างหอศิลป์สล่าเลาเลือง"     

                   

ก่อนที่ จรัล มโนเพ็ชร จะเสียชีวิตนั้นเขาเคยเอ่ยเอาไว้ว่า อยากสร้างหอศิลป์สล่าเลาเลือง เพื่อใช้เป็นที่เก็บรวบรวมผลงานของศิลปินพื้นบ้านคนเฒ่าคนแก่ และงานของศิลปินพื้นบ้านทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี งานช่าง และงานวรรณกรรม หลังจากนั้น ด้วยพลังและความตั้งใจจริง จรัล มโนเพ็ชร จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างงานดนตรีขึ้นมาชิ้นหนึ่งเพื่อขายนำเงินมาเป็นทุนสร้างหอศิลป์ตามที่วาดหวังตั้งไว้            

หลังจาก จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตลง คุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิต จึงคิดจะสืบสานงานสร้างหอศิลป์ของเขา ด้วยคำกล่าวที่ว่า "ฝันของเธอให้ฉันฝันต่อ"

 

แหละนี่คือภาพฝันสุดท้ายของเขา จรัล มโนเพ็ชร กับหอศิลป์สล่าเลาเลือง

 

 

เขาเริ่มต้นความฝันด้วยการแต่งเพลงบรรเลง ชุด "ล้านนาซิมโฟนี" เพื่อหารายได้สร้างหอศิลป์สล่าเลาเลืองเป็นการเฉพาะ

"ล้านนาซิมโฟนี" มี 2 เพลงคือ แม่ปิงซิมโฟนี และ อินทนนท์ซิมโฟนี ที่เขาทั้งแต่ง เรียบเรียง เล่นเครื่องดนตรีหลายสิบชิ้นเองทุกชิ้น ก่อนนำเข้าห้องอัด ผสมมันออกมาเป็นเสียงเพลงยิ่งใหญ่ เสียงเครื่องดนตรีล้านนา ผสานเครื่องสายตะวันตกหวานอ้อยสร้อย เยียบเย็น..มันขายในวงจำกัด แต่ก็ทำให้เริ่มมีเงินเล็กน้อยก่อสานความฝัน

"เงินทุกบาททุกสตางค์จะสมทบเข้ากองทุน เพื่อนำไปสร้างหอศิลป์ เก็บงานที่เล็ดลอดจากการถูกเก็บ ถูกเห็น ถูกเชิดชู งานที่ถูกมองข้าม ซึ่งทำให้เราเว้าแหว่งในวัฒนธรรมมาโดยตลอด เพราะเราลืม เช่นงานดินปั้น รูปเขียน งานสานกระบุง ตะกร้า งานผ้าทอ งานวรรณกรรม งานเพลง งานแกะสลัก งานเหล่านี้มันอาจเป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เป็นจุดเชื่อมต่อ หรือเป็นจุดเปลี่ยนแปลง"

และ "คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ถ้าเราต้องใช้วิธีระดมทุน แต่ถ้าโชคดี มีผู้เห็นความสำคัญของมัน เห็นคุณค่าของมัน และเชื่อมั่นก็คงเสร็จเร็วขึ้น ซึ่งเราก็หวังไว้อย่างนั้น เราไม่ได้หยิ่ง ไม่ใช่ไม่อยากได้เงินบริจาค แต่ยุคนี้จะไปขออะไรจากใคร? มันยากมาก ต้องทำงานไปแลกเงิน" แหละนี่คือ ความฝันของ จรัล มโนเพ็ชร ที่ รายา ผกามาศ ได้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 2543

ก่อนที่เขาจะจากไปอย่างสงบเมื่อเช้ามืดวันที่3 กันยายน ปี 2544 ที่บ้านดวงดอกไม้ ในเมืองลำพูน

 

อันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของ "จรัล มโนเพ็ชร" กล่าวในวันงานทำบุญครบรอบ 5 ปี ของการจากไปของเขา ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมาว่า ตอนนี้ความฝันของอ้ายจรัล กับหอศิลป์สล่าเลาเลือง เริ่มเป็นจริงขึ้นมาบ้างแล้ว หลังจากที่มีหลายคนหลายฝ่ายให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับการเดินรอยตามความฝันของอ้ายจรัล ที่จะร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมล้านนาให้สืบต่อไป

"นอกจากจะได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ทายาทเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้บริจาคที่ดินที่ได้รับบริจาคเพื่อมอบให้เพื่อใช้ในการก่อสร้างหอศิลป์นี้แล้ว เรายังมีคนเข้ามาร่วมกันบริจาคทุนในการจัดสร้าง แต่ก็ยังขาดงบในบางส่วนอยู่ ซึ่งการสร้างหอศิลป์ครั้งนี้ คงไม่ใช่จะแล้วเสร็จในวันนี้วันพรุ่ง คงค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ตามแรงศรัทธาความฝันของทุกๆ คน" 

หากท่านใดต้องการรำลึกถึงเขา ร่วมส่งแรงใจ ร่วมสานต่อความฝันของเขา ได้ที่ กรรมการกองทุนหอศิลป์สล่าเลาเลืองเพื่อจรัล มโนเพ็ชร 0-5312-2779 และ 0-1885-1847 หรือที่เวบไซต์ www.jaranmanophet.com

.............................

ที่มา-ข้อมูลประกอบ                                                                             

http://www.jaranmanophet.com                 

http://www.jaranmanophet.com/PAGE003.htm

กรรณิกา เพชรแก้ว"หอศิลป์สล่าเลาเลือง" ฝันสุดท้ายของจรัล มโนเพ็ชร มติชนรายวัน 18 สิงหาคม 2548

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท