Skip to main content
sharethis

โดย พงษ์พันธุ์  ชุมใจ 


 


ในช่วงบ่ายของการประชุมนำเสนอผลงานวิจัย โครงการศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กรณีศึกษากุล่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม ร่วมกับ สำนักงานเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ขึ้น ณ ห้องสุพัตรา โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน พระภิกษุ และประชาชนผู้ร่วมการประชุมดังกล่าว แสดงความเห็นต่อกรณีศึกษาเกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ในงานศึกษาดังกล่าวดังนี้


 


ผอ.วิทยุชุมชนชี้อาสาสมัคร "ต้องเชื่อในพลังของตน"


โดยในช่วงของการอภิปรายในหัวข้อ "การพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ : ทิศทางและแนวทาง" โดย ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุเสียงเสริมสร้างพลังชุมชน FM 99Mhz กล่าวถึงทัศนคติใหม่ของการทำงานด้านอาสาสมัครสาธารณสุขว่า เดิมทีในการทำงานด้านสาธารณสุขเราเอาปัญหาเป็นที่ตั้งและเข้าไปแก้ปัญหา แต่ขณะนี้เราต้องทำงานด้านสุขภาพในเชิงรุก เอาท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง เราต้องเชื่อว่าทุกคนมีสติปัญญามีความสามารถ มีพรสวรรค์ทั้งสิ้น


 


ที่ผ่านมาพี่น้องไทใหญ่เหมือนถูกสาป ถูกกล่าวหาว่าคนไทใหญ่หลบหนีเข้าเมือง เป็นคนไม่ดี เป็นคนค้ายาเสพย์ติด เราต้องเปลี่ยนทัศนคตินี้ อย่าคิดว่าเราไร้ความสามารถ เราต้องเชื่อว่าผู้มีความสามารถและผู้เชี่ยวชาญก็คือสมาชิกในชุมชนของเราทุกคน ชุมชนของเรามีศักยภาพ มีขุมพลังของชุมชน เราต้องเห็นว่าบ้านเรามีมากที่สุด แทนการเห็นว่าบ้านเรามีน้อยที่สุดอย่างวิธีการแก้ปัญหาแบบอาจสามารถโมเดล ที่เชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้ด้วยคนข้างนอกและสำเร็จได้ด้วยมืออาชีพ


 


ทพ.อุทัยวรรณ ยังเสนอให้การสื่อสารสุขภาพต้องสื่อสารอย่างมนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ต่อชุมชนและสังคม ซึ่งผู้ทำการสื่อสารเช่นนี้เรียกว่า "ผู้นำของการเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชน" โดยอาจรวบรวมอาสาสมัครหรือคน "มีดี มีค่า" มาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ทพ.อุทัยวรรณยังเสนอให้มีการชิงพื้นที่ทางสังคมด้วยการเอาด้านสว่างของเทคโนโลยีเขามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน เสียงประกาศในโรงเรียน นอกเหนือจากสื่อโทรทัศน์ที่เราเข้าถึงมันไม่ได้ แม้ว่ามันจะมาถึงปลายเตียงของเราแล้วก็ตาม


 


อาจารย์สื่อสารมวลชน เสนอสร้างเครือข่ายสื่อสารสำหรับแรงงานชาติพันธุ์


ด้านอาจารย์ ดร.จิราพร วิทยาศักดิ์พันธุ์ จากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับข้อเสนอในช่วงเช้าของ นพ.วิศิษฏ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่า "เรื่องสุขภาพไม่สามารถขีดวงด้วยเส้นภูมิศาสตร์" โดยเรามีความจำเป็นทั้งด้านอนามัย และมนุษยธรรม ที่เราจะต้องดูแลแรงงานข้ามชาติ คือเมื่อพูดถึงคำว่าสุขภาพ ต้องไม่มีคำว่าผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงจะต้องมีกลไกการสื่อสารสุขภาพ โดยยึดหลักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิบริการทางสาธารณสุข ตามสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยอาจารย์จิราพร เสนอให้เจ้าของเรื่องคือคนไทใหญ่ผลิตสื่อด้านสาธารณสุขเองเป็นภาษาไทใหญ่ มีการนำเสนอผ่านวิทยุชุมชน ซึ่งถือเป็นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และเป็นโครงสร้างการสื่อสารแนวระนาบ


 


อาจารย์ ดร.จิราพรกล่าวต่อว่า ซึ่งกลไกการสื่อสารดังกล่าว จะต้องมีเครือข่ายแบบพหุภาคี อันประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยภาครัฐได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย รวมถึงโรงเรียน ภาคประชาชนได้แก่องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคเอกชนได้แก่ สถานประกอบการ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่สนใจ ข้อมูลทุกอย่างก็จบที่ประตูโรงงานหรือที่ในสวนส้ม เพราะเกิดการปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพของคนงาน


 


อนุกรรมการสิทธิเชื่อ คนทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิไม่เลือกสัญชาติ


ช่วงสุดท้ายของการประชุมได้มีการอภิปรายในหัวข้อ "นโยบายและแผนงานการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ : สถานภาพและความท้าทาย" โดยนายกานต์ เสริมชัยวงศ์ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่านโยบายด้านสุขภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และควรมีความยืดหยุ่น โดยยกกรณีของการที่มีหญิงต่างด้าวมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแล้วต่อมาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งให้ตำรวจมาจับตัวแม่และเด็กที่เพิ่งคลอดไปส่งที่ ตม. ซึ่งปัญหาตรงนี้ต่อมามีหนังสือคำสั่งจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรและความมั่นคงของมนุษย์ว่ากรณีแบบนี้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่มีหน้าที่แจ้งตำรวจ ทำได้แค่ประสานกรมประชาสงเคราะห์ให้เข้ามาดูแลโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ


 


แม้แต่ในเรื่องของมิติด้านความมั่นคงที่เน้นความมั่นคงของชาติ ต่อมาก็เปลี่ยนมาเน้นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นตัวตั้งเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงแห่งชาติ โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรีรับรอง เด็กที่ไม่มีสัญชาติที่ไม่มีเอกสารอะไรเลยให้เข้าเรียนได้ทุกคน ในกรอบด้านสุขภาพก็เปลี่ยนไปเยอะ มียุทธศาสตร์ใหม่ดูเรื่องสุขภาพก่อนมิติแรงงาน ไม่ต้องดูเรื่องเข้าเมืองโดยถูกหรือผิดกฎหมาย มองว่าประชากรต่างด้าวเป็น "คน" ได้โอกาสรับบริการด้านสุขภาพ นายกานต์กล่าว


 


แนะ สื่อสารสุขภาพโดยเจ้าของภาษาดีกว่าใช้ล่าม


นายกานต์กล่าวถึงเรื่องของการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติว่า มีการพูดกันมากเรื่องของการแปลแต่จากประสบการณ์เราจะรู้ว่าไม่ใช่ทำเป็นภาษาไทยแล้วแปล เพราะอาจแปลความผิดได้ ถ้าจะให้ได้ผลจริงต้องคุยกับเจ้าของภาษา พอเขาเข้าใจเขาจะสื่อสารในภาษาของเขาเอง ถือเป็นการทำงานเครือข่ายร่วมกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอาจติดขัดภาษา เจ้าของภาษาอาจติดขัดเรื่องข้อมูล ต้องมานั่งคุยกันทำความเข้าใจร่วมกัน แล้วไม่ใช่ให้ผู้รู้ด้านสุขภาพไปพูดแล้วแปลแต่ให้เจ้าของภาษาเมื่อเขาเข้าใจแล้วให้เขาสื่อสารต่อได้


 


ประเด็นสุดท้ายที่ตนจะกล่าวจากการที่ตนขึ้นไปทำงานในระดับนโยบายคือ ตนกังวลว่าความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและปฏิบัติยังห่าง โดยในระดับปฏิบัติมันมีคำตอบมีตัวอย่างที่ดีให้ แต่มันไปไม่ถึงระดับนโยบาย ในหลายอย่างที่นโยบายคุยกันยุติแล้ว นำมาใช้ปรับแก้ได้ในพื้นที่วิกฤติกลับตกหายไประหว่างส่วนกลาง-จังหวัด-อำเภอ มันมีข้อมูลตกหายไปเยอะพอมาถึงระดับจังหวัดจริงๆ ที่เขาไม่รู้ข้อมูลแต่ต้น เกิดการตีความผิด ทำให้เกิดการปฏิบัติที่สวนทางกับนโยบาย


 


รองอธิบดีฯ สาธารณสุขเผยวันนี้ดีกว่า 13 ปีก่อน


นพ.วิศิษฏ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติมีภาพรวมที่ดีขึ้นมากกว่าเมื่อ 13 ปีที่แล้วที่ตนทำงานในตำแหน่งของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปี 2536 ซึ่งวิกฤติมากเพราะเป็นจังหวัดที่มีการไหลบ่าของแรงงานข้ามชาติมาก มีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ โรคเท้าช้าง ฯลฯ สื่อเข้าถึงยากมากเพราะแพทย์มีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร จนต้องไปนิมนต์พระมาเทศน์เพราะท่านรู้ภาษารามัญของชาวมอญ


 


นพ.วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้วิสัยทัศน์ของสาธารณสุขเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติคือ "แรงงานข้ามชาติสุขภาพดี ประชาชนไทยมีสุข" คือทั้งสองเป็นพันธมิตรกัน ไม่สามารถมาแยกแยะได้ การที่ประชาชนมีสุข แรงงานข้ามชาติต้องมีสุขด้วย นี่เป็นผลซึ่งกันและกัน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมียุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ 1.ยุทธศาสตร์แรงงานข้ามชาติ 2.ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคติดต่อชายแดน 3.ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขชายแดนและการป้องกันโรคเอดส์ 4.ยุทธศาสตร์การจัดระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างระบบประกันสุขภาพข้ามชาติของแรงงานข้ามชาติโดยใช้อัตรา 1,900 บาทต่อปี ประกอบด้วยค่าตรวจร่างกาย 600 ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ซึ่งไม่ได้เน้นแค่การรักษาแต่มีการส่งเสริมและป้องกันโรค มีการทำเรื่องข้อมูลข่าวสารสุขภาพแรงงานข้ามชาติด้วย


 


ตนอยากให้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ได้รับการผ่อนผัน แต่ทุกวันนี้ไม่ได้รับการผ่อนผันเพราะรัฐมองแรงงานต่างด้าวแค่ประเด็นทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ได้รับการส่งเสริมแต่ในทางปฏิบัติเราก็มีหมด ทั้งล่าม อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และพนักงานสุขภาพต่างด้าว (พสต.) นพ.วิศิษฏ์กล่าว


 


สภาที่ปรึกษาฯ ท้า จ้างต่างด้าวทำงานสาธารณสุขเต็มเวลา อย่าแคร์กฎหมาย


นางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะทำงานด้านคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าตนอยากให้เกิดพลังขับเคลื่อนของคนไทใหญ่ที่หนักแน่น ตนไม่อยากให้การรวมกลุ่มของคนไทใหญ่จบแค่การชี้แจงเรื่องสาธารณสุขในวัดโดยแกนนำ เราต้องทำให้เขามีศักดิ์ศรี เมื่อเขามีศักดิ์ศรี กฎหมาย นโยบายก็มาทำลายเขาไม่ได้ เรื่องต่อมาคือคนคิดว่าเรื่องอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) น่าจะมีปัญหา เพราะคนไทใหญ่หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติควรเป็นเจ้าของอาสาสมัครนั้น น่าจะกล้าลงทุนจ้างเขาเต็มเวลาในช่วงแรก เพราะทุกวันนี้เขาต้องทำงานปกติและมาทำงานอาสาสมัคร


 


ตนขอท้าทายที่ประชุมว่าแน่จริงเอาเลยจ้างอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวเต็มเวลา 2-3 ปีแรก ให้กระบวนการเติบโต ไม่ต้องกลัวเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมาย ไม่ใช่ให้เขาเป็นแค่ผู้แปลภาษา ทั้งนี้เมื่อแรงงานข้ามชาติมีความเป็นเจ้าของในอาสาสมัคร เขาจะไม่ถูกทำให้กลายเป็นคนอื่นและมีความยั่งยืนในการเชื่อมให้เกิดพลัง ซึ่งตนค้นพบจากประสบการณ์ที่เคยทำกับผู้ติดเชื้อ AIDS


 


พระไทใหญ่เผยญาติโยมอยากได้ใบอนุญาตทำงานถาวร


หลังจากนั้นได้มีการแสดงความเห็นโดยผู้ร่วมการประชุม พระภิกษุชาวไทใหญ่ ในวัดแห่งหนึ่งของ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่ามีญาติโยมที่เป็นชาวไทใหญ่ทั้งที่มีบัตรอนุญาตทำงานต่างด้าวและที่ไม่มีบัตรประสบความลำบากในการทำงานมาก ที่มีบัตรก็ประสบความยุ่งยากและการขึ้นทะเบียนทุกปีทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากทั้งที่ค่าแรงที่ได้ก็น้อยอยู่แล้ว ส่วนที่ไม่มีบัตรก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่และกลัวถูกส่งตัวกลับ ที่คนไทใหญ่เข้ามาทำงานมากเพราะตามแนวชายแดนไม่มีศูนย์อพยพสำหรับชาวไทใหญ่ ไม่เหมือนชาวมอญหรือชาวกะเหรี่ยง ชาวไทใหญ่จึงพากันหลั่งไหลเข้ามาทำงาน สิ่งที่แรงงานชาวไทใหญ่ต้องการคือการมีใบอนุญาตทำงานถาวรไม่ต้องเสียเงินขึ้นทะเบียนทุกปี นอกจากนี้ อยากให้ทางราชการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้านเกิดได้โดยไม่ยึดใบอนุญาตทำงาน


 


โดยนายกานต์ เสริมชัยวงศ์ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวตอบว่า ตนขอรับเรื่องของพระคุณเจ้าไว้พิจารณา เพราะแนวทางใหม่จะแยกสิทธิกับสถานะออกจากกัน โดยสิทธิด้านการศึกษา การสาธารณสุข สิทธิขึ้นพื้นฐานจะต้องได้รับโดยไม่ไปดูว่ามีบัตรหรือเปล่า นอกจากนี้ประเด็นเรื่องสิทธิในการเดินทางของคนที่ถือบัตรแต่ละกลุ่มสีก็จะต้องมีการคุยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


 


Empower แนะให้แรงงานเข้าเมืองจดทะเบียนได้ตลอดปี


นางทันตา เลาวิลาวัณยกุล จากมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (Empower) กล่าวว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพเกิดจากทั้งเรื่องสื่อและภาษา แต่ปัญหาหลักจริงๆ อยู่ที่แรงงานที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายและไม่ได้จดทะเบียนแรงงานทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสื่อและบริการทางสุขภาพได้ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าถ้าหากจะทำในเรื่องของสื่อสุขภาพเราก็ไม่ควรลืมเรื่องการทำในเชิงนโยบาย ในการเข้าถึงโดย อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นแกนนำในการเข้าถึง ในขณะเดียวกันต้องพูดถึงเรื่องจะทำอย่างไรให้แรงงานที่เข้ามาตลอดเวลาสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือกลายเป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย


 


"เราเคยพูดคุยกันมาตลอดว่าน่าจะให้มีการจดทะเบียนแรงงานตลอดทั้งปี ไม่ใช่ปีละครั้ง และที่สำคัญควรขยายในเรื่องของอาชีพที่อนุญาตให้มากขึ้น ถ้าจะบอกว่าอาชีพที่ทำได้แค่อาชีพใช้สมอง ดิฉันไม่เชื่อว่าไม่มีอาชีพไหนไม่ใช้สมอง อาชีพ Sex Worker (ผู้ทำงานด้านบริการทางเพศ) ก็ยิ่งต้องใช้สมองมากขึ้น ทุกวันนี้ อาชีพใช้สมอง คุณทำงานภาคเกษตรก็ต้องรู้ด้านเกษตร ทำงานก่อสร้างก็ต้องมีความรู้ ไม่มีอาชีพไหนไม่ใช้สมอง มีแต่อาชีพที่คนไทยทำกับคนไทยไม่ทำเท่านั้น และสื่อสุขภาพที่ทำตอนนี้ยังยึดติดกับทัศนคติเก่าๆ เช่น สื่อเรื่อง HIV บอกว่าอย่าเที่ยวหญิงบริการไม่เช่นนั้นจะติดเอดส์ ทั้งที่จริงๆ แล้วพี่น้องติดเอดส์เพราะเที่ยวจริงหรือเปล่า ดังนั้นสื่อเหล่านี้จะทำให้เขารู้เพียงแค่การติดเอดส์รู้แค่ไปเที่ยว แต่ไม่คิดว่าผู้หญิง ผู้ชายที่มาจีบมีเชื้อ HIV หรือไม่ จึงทำให้เขาขาดความตระหนักตรงจุดนี้" นางทันตากล่าว


 


หัวหน้าโครงการหวัง อสต. สื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น


เมื่อสิ้นสุดการเสวนาผู้สื่อข่าว "ประชาไท" มีโอกาสสอบถาม ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กรณีศึกษากุล่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับความคาดหวังในอนาคตของโครงการศึกษาดังกล่าว


 


โดย ดร.ขวัญชีวัน กล่าวว่าความคาดหวังของตนหวังว่าการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดว่าแรงงานไทใหญ่ที่มาทำงานมีปัญหาแน่นอนในเรื่องของการสื่อสารสุขภาพเพราะมีปัญหาภาษา วัฒนธรรมที่ต่าง การเข้าถึงก็ยาก ถ้าเราคิดว่ากลุ่มนี้มีความสำคัญ และต้องให้ความสนใจเพราะไม่ใช่น้อยๆ ก็ต้องพัฒนาการสื่อสารสุขภาพ ที่ผ่านมาเราพบว่ามีการทำพอสมควรและรัฐเริ่มให้ความสนใจ มีการประกันสุขภาพ แต่เมื่อเราลงไปศึกษาก็พบว่ายังมีข้อจำกัดเช่นการประสานงานกับกลุ่มต่างๆ เราจะทำอย่างไรให้ข้อมูลข่าวสารกระจายตัว ความคาดหวังก็คือถ้าจะให้เรื่องนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กร ภาคีทั้งหลายก็ต้องเข้ามาร่วมกันจริงๆ จังๆ เพื่อที่จะนำมาสู่การพึ่งตัวเอง ทำให้สุขภาวะดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งรัฐ สุดท้ายเพื่อที่จะทำให้เขาพึ่งตัวเองได้ดีในเรื่องสุขภาพ


 


ย้ำ คนไทยต้องปรับมุมมองเห็นแรงงานข้ามชาติ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"


ต่อคำถามในเรื่องการปรับทัศนคติของคนไทยต่อพี่น้องแรงงานข้ามชาตินั้น ดร.ขวัญชีวันตอบว่าถ้าจะให้คนไทยเข้าใจมากขึ้นต้องสื่อสารกับเขาให้มากขึ้น ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน ตัวสื่อสารมวลชนเองต้องนำเสนอตรงนี้ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจะได้ข้ามพ้นมายาคติไป แต่ปัญหาก็คือไม่ค่อยมีสื่อสารเรื่องนี้เท่าไหร่ เราก็เลยมองเขาในลักษณะที่ไม่ถูกต้องไม่ค่อยเข้าใจ


 


"จริงๆ แล้วต้องมองภาพกว้าง เหมือนแรงงานไทยไปต่างประเทศ เมื่อเราคาดหวังว่าต่างประเทศต้องปฏิบัติต่อแรงงานไทยได้ดี เราก็ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติแบบนั้น ที่ผ่านมามีเรื่องความมั่นคง ความเป็นอื่น มาครอบงำความคิดนี้ คิดเสมอว่าเป็นพวกพม่าเข้ามา คือมองด้านลบตลอด ต้องมองถึงสาเหตุของการเข้ามาทำงาน เข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของเขา การสื่อสารตรงนี้มีน้อย สื่อสารมวลชนก็น้อยที่ทำในเรื่องนี้ ต้องปรับปรุงกันหลายด้านทั้งโครงสร้าง วิธีคิด แนวคิด ทั้งเรื่องนโยบายแผนงานทุกๆ ด้านในหลายระดับทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ" ดร.ขวัญชีวันกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net