Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 


 


"สาเหตุจริงๆ ที่พวกหนู และคนไทใหญ่เป็นจำนวนมากต้องเข้ามาอยู่ในไทย ก็เพราะปัญหาการเมืองในพม่า มีการสู้รบกันตลอด รัฐบาลทหารพม่ามีนโยบายบังคับให้ย้ายหมู่บ้านมาอยู่ใกล้ฐานทหาร เพราะกลัวว่าพวกเราจะไปช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ต่อต้าน และทหารพม่ายังมีการเก็บภาษี ทุกครอบครัวจะต้องถูกเกณฑ์คน 1 คน ไปเป็นแรงงาน ไปสร้างถนน ไปปลูกข้าว แม้กระทั่งตอนนี้ มีข่าวว่ามีการบังคับชาวบ้านไปปลูกสบู่ดำให้รัฐบาลพม่า"


                                                             "เอ๋คำ คำวาว"


                                    หญิงสาวไทใหญ่จากเมืองลายค่า รัฐฉาน พม่า


                        หนึ่งของผู้อพยพมาใช้แรงงานข้ามชาติใน จ.เชียงใหม่ ของไทย


 


เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ที่ห้องสุพัตรา โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันเสนอผลงานโครงการวิจัย "การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ: กรณีศึกษากลุ่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่"


 


ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยว่า การวิจัยในครั้งนี้ต้องการหากลไกในการพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อันสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่เป็นสากล โดยได้นำกลุ่มแรงงานไทใหญ่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นกรณีศึกษา


 


เวทีดังกล่าวมีกลุ่มอาสาสมัครโครงการ ซึ่งเป็นแรงงานชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เข้ามาอาศัยอยู่และทำงานในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ร่วมกันนำเสนองานวิจัยดังกล่าว เพื่อสะท้อนให้เห็นที่มาที่ไปว่า ทำไมถึงมีแรงงานไทใหญ่อพยพเข้ามาทำงานในเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก


 


อพยพเข้าไทย เพราะปัญหาการเมืองพม่า


เอ๋คำ คำวาว หญิงสาวชาวไทใหญ่ ซึ่งย้ายอพยพมาจากเมืองลายค่า รัฐฉาน ประเทศพม่า ปัจจุบันอาศัยอยู่ใน จ.เชียงใหม่ เรียนจบชั้นมัธยมปลาย จาก กศน.เชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟังว่า  ยอมรับว่า ปัจจุบันแรงงานชาวไทใหญ่เข้ามาเป็นจำนวนมากในเชียงใหม่ รวมทั้งทั่วประเทศก็ว่าได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ห่างไกลบ้านเกิดของตนเอง


 


"แต่สาเหตุจริงๆ ที่พวกหนู และคนไทใหญ่เป็นจำนวนมากต้องเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นเพราะปัญหาการเมืองในพม่า มีการสู้รบกันตลอด ที่บ้านหนูตอนนั้น ในช่วงปี 1996 รัฐทหารพม่ามีนโยบายบังคับให้ย้ายหมู่บ้านมาอยู่ใกล้ๆ ฐานที่มั่นทหารพม่า เพราะกลัวว่าพวกเราจะไปช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า จำได้ว่าตอนนั้น หนูกำลังเรียนหนังสืออยู่ และสังเกตเห็นว่า เริ่มมีคนย้ายออกไปเป็นจำนวนมาก เพียง 3 อาทิตย์ คนหายไปหมด เหลือเพียงคนแก่กับเด็กไม่กี่คน เมื่อถามผู้ใหญ่ เขาบอกว่า เขาอพยพมาอยู่ฝั่งไทย แถว อ.เชียงดาว" เอ๋คำ บอกเล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟัง


 


เธอบอกอีกว่า ในช่วงปี 1996 เป็นต้นมา จะมีแรงงานไทใหญ่ย้ายอพยพเข้ามาในไทยมากที่สุด เพราะมีพื้นที่ติดต่อกัน และส่วนมากจะมาจากบ้านนอกชนบท ไม่มีการศึกษา ซึ่งปัจจัยที่ต้องอพยพก็คือ มีแรงดึงดูดจากประเทศไทย และมีแรงผลักดันจากประเทศพม่า


 


"ในพม่าจะมีการเก็บภาษีจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกครอบครัวจะต้องถูกเกณฑ์คน 1 คน ไปเป็นแรงงาน ไปสร้างถนน ไปปลูกข้าว แม้กระทั่งตอนนี้ ก็มีข่าวว่ามีการบังคับเกณฑ์ชาวบ้านไปปลูกสบู่ดำเพื่อหารายได้ให้กับรัฐบาลทหารพม่า จึงทำให้คนไทใหญ่ไหลเข้ามาทำงานใช้แรงงานในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ"


 


แรงงานไทใหญ่ในสวนส้มป่วยด้วยสารเคมี-ถูกกดขี่แรงงาน


จันทร์ แซ่หลี อาสาสมัครโครงการฯ ชาวไทใหญ่ เขาบอกว่า เรียนจบชั้น ม.6 ที่ประเทศพม่า และย้ายเข้ามาอยู่ในไทยได้ 7 ปี ปัจจุบันกำลังเรียนหนังสือภาษาไทยในระดับชั้นประถม ของ กศน.เชียงใหม่ ได้เล่าถึงการลงพื้นที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหลายๆ อำเภอ เช่น ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เชียงดาว แม่แตง สะเมิง เป็นต้น ซึ่งจะมีแรงงานไทใหญ่อยู่ตามสวนส้มเป็นส่วนใหญ่ 


 


"แรงงานไทใหญ่ในสวนส้ม จะใช้สารเคมีฉีดพ่นยาโดยไม่ได้มีการป้องกัน เมื่อฉีดพ่นยาเสร็จ ก็ไม่ทำความสะอาดร่างกาย บางคนไปสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้สารเคมีนั้นไม่ต้องตกค้างในร่างกายได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และบางครั้งถ้ามีการพ่นยาในสวนส้ม คนที่อยู่ห่างไกลออกไปประมาณ 50-100 เมตร ก็อาจจะได้รับสารพิษนั้นได้ แรงงานไม่มีความรู้ในเรื่องการป้องกันอันตรายในการทำงานกันเลย ซึ่งผลกระทบจากใช้สารเคมี ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ เป็นแผลเน่า บางคนต้องลงมารักษาตัวที่ รพ.นครพิงค์ กันทุกเดือน "


 


นอกจากนั้น จันทร์ ยังบอกเล่าอีกว่า นอกจากปัญหาด้านสุขภาพการใช้สารเคมีในสวนส้มแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการกดขี่ทางเพศ การกดขี่แรงงาน มีการใช้แรงงานเปล่า นายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง จึงทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานกันใหม่ นอกจากนั้นยังมีปัญหาไม่ค่อยได้รับการศึกษา จึงไม่มีความรู้ในเรื่องวิธีป้องกันรักษาสุขภาพของตนเอง


 


"ที่ผ่านมา ผมได้เขียนหนังสือ ทำหนังสือคู่มือการใช้สารเคมีเป็นภาษาไทใหญ่ไปแจกจ่ายให้กลุ่มแรงงานไทใหญ่ในหลายพื้นที่ ซึ่งก็ช่วยได้มากขึ้น" จันทร์ บอกเล่าถึงวิธีการช่วยเหลือเพื่อนแรงงานชาวไทใหญ่


 


เผยคนไทใหญ่ยังทะลักเข้าไทยเดือนละ 50-80 คน


ด้าน จายแสง จะกอ ชาวไทใหญ่ จากบ้านล่าเสี้ยว รัฐฉาน ประเทศพม่า ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ 24 ปี เขาจบชั้นประถม 4 ที่พม่า แต่มาจบนักธรรมเอกที่เมืองไทย และปัจจุบัน เขาเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชนภาคภาษาไทใหญ่ ใน จ.เชียงใหม่ บอกเล่าถึงการเข้ามาของแรงงานไทใหญ่ในไทยให้ฟังอย่างน่าสนใจ ว่า ขณะนี้มีแรงงานไทใหญ่ทะลักเข้ามาทาง จ.แม่ฮ่องสอน เฉลี่ยเดือนละ 50-80 คน โดยมีคนรับ-ส่งเข้าไปในพื้นที่ทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานก่อสร้าง


 


"ปัญหาที่พบก็คือ เมื่อทุกคนเข้ามาทำงานก่อสร้างในไทย ทุกคนก็มุ่งจะทำงานอย่างเดียว เพื่อให้ได้เงิน โดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย หรือการดูแลตัวเอง เช่น ที่พัก ห้องน้ำสกปรก ไม่สะอาด เพราะไม่มีเวลาดูแล เพราะต้องต้องตื่นแต่เช้า นายจ้างเอารถมารับ-ส่ง นอกจากนั้น มักจะเกิดอุบัติเหตุจากการตกนั่งร้าน หรือบางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ยอมไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล แต่จะหายาชุดมากินเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพกันเลย"


 


จายแสง ยังได้เสนอด้วยว่า ปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาด้านภาษา ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการศึกษาภาษาไทยในช่วงเย็น หรือวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อใช้สื่อสารให้สอดคล้องกับการทำงานในไทยได้


 


ย้ำแรงงานไทใหญ่ยังห่วงรายได้มาก่อน สุขภาพเป็นเรื่องรอง


อ่องเท จายแสง อาสาสมัครโครงการชาวไทใหญ่อีกคนหนึ่ง เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ 9 ปี ปัจจุบันขายขนมหวานตามสถานที่ก่อสร้างที่มีแรงงานไทใหญ่ทำงานอยู่ ได้ลงพื้นที่ทำการวิจัยในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนไทใหญ่ในเขต จ.เชียงใหม่ พบว่า กลุ่มเยาวชนชาวไทใหญ่ค่อนข้างทันสมัย มีโทรศัพท์มือถือ ได้รับสื่อด้านต่างๆ ค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีปัญหา คือ บางครั้งก็ได้รับสื่อค่อนข้างจำกัด เพราะฟังไม่เข้าใจภาษาไทย โดยเฉพาะในศัพท์ยากๆ ที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ หรือสุขภาพ


 


"อย่างเรื่องไวรัส หรือแบคทีเรีย พวกเขาจะไม่เข้าใจ และแรงงานกลุ่มนี้ พวกเขาจะเชื่อในกลุ่มของตัวเองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้กระทั่งป่วย ก็จะหายามากินเอง ซึ่งยังมีความเข้าใจผิดๆ กันอยู่ และที่สำคัญ พวกเขาคิดอย่างเดียว คือ ต้องหารายได้ให้ครอบครัว เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องรอง"


 


รัฐบาลไทยมีนโยบาย 3 ส. ให้ต่างด้าวทำงาน "สกปรก เสี่ยงภัย ไม่สะดวกสบาย"


ทั้งนี้ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้กล่าวขึ้นภายหลังกลุ่มอาสาสมัครโครงการฯได้เปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าว โดยได้บอกว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีฯ ให้รับผิดชอบในด้านแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องยอมรับว่า ประเทศไทยในขณะนี้มีทั้งแรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งเข้าใจว่า แรงงานต่างด้าวที่มาจากพม่านั้น ในเชิงนโยบาย ยังมีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสาเหตุนั้นมาจากปัญหาวิกฤติทางการเมืองในพม่า ในขณะที่แรงงานต่างด้าวจากลาว และกัมพูชาที่เข้ามาในไทย นั้นเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ


 


"และเข้าใจว่าที่แรงงานไทใหญ่ในไทย นั้นห่วงในเรื่องปัจจัยความอยู่รอดมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าหากพวกเขาหาเงินไม่ได้ ไม่มีข้าวกิน ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสุขภาพ แต่แรงงานต่างด้าว ในความหมายของ สธ. คงไม่ได้แยกแบ่งว่าเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว เนื่องจากสุขภาพไม่มีพรมแดน เพราะหากเราแบ่งแยกเขตแดนเช่นนั้น ถ้าเผอิญเกิดมีโรคร้ายแรงติดต่อกันได้ ถามว่าเราคนไทยจะรอดหรือไม่" นพ.วิศิษฎ์ กล่าวให้คิด


 


รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยด้วยว่า รัฐบาลไทยได้ให้นโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว อยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น คือ ให้แรงงานต่างด้าวยึดอาชีพที่สกปรก เสี่ยงภัย และไม่สะดวกสบาย ซึ่งคนไทยไม่อยากทำงานพวกนี้


 


"ทุกวันนี้ รัฐบาลไทยจะมองว่าไทใหญ่ยังเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอยู่ ในขณะที่พม่าเองกลับมองไทใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย"


 


ระบบการศึกษาของไทย มีส่วนทำให้เกิดแรงงานต่างด้าว


รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวอีกว่า ปัญหาระบบการศึกษาของไทย ยังถือว่ามีส่วนทำให้เกิดแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าระบบการศึกษาของไทย มุ่งสอนให้นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบออกมา มุ่งหางานทำที่สะดวกสบาย ดังนั้น จึงเป็นวิกฤติที่ทำให้ไทยต้องมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง 76 จังหวัด ไม่ยกเว้นกรุงเทพฯ มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีแรงงานต่างด้าวครบทุกจังหวัด และที่มีจำนวนมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ โดยคาดว่ามีทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านคน


 


"ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงมาก เพราะในอนาคตอาจมีเกิดโรคติดต่อทั้งที่เกิดใหม่ เช่น ไข้หวัดนก หรือโรคติดต่อที่กลับมาใหม่ เช่น โรคเท้าช้าง เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องมียุทธศาสตร์ในการดูแลสุขภาพทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ดังนั้น ทำอย่างไร จึงจะทำให้ไทใหญ่เข้ามาเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้เขาได้รับสิทธิมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้" รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวทิ้งท้าย


 


นี่คือบางส่วนของคำบอกเล่าของชาวไทใหญ่ ที่เป็นอาสาสมัครโครงการวิจัยชิ้นนี้ และบางเสียงของความห่วงใยของ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีต่อปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นทวีคูณในห้วงขณะนี้


 

ทีมงานวิจัยโครงการวิจัยต่างหวังกันว่า ผลการวิจัยในครั้งนี้ จะนำไปสู่การหาแนวทางการพัฒนา การสื่อสารสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในระดับนโยบายต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net