วิสัยทัศน์ "โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" : ทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทย

ขออนุญาตออกตัวว่าที่จะพูดนี้มาจากข้อมูล และประสบการณ์ในซีกที่ทำงาน จึงอาจไม่สามารถเหมารวมได้ว่าควรเป็นยุทธศาสตร์ของไทย

 

การค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญยิ่งไม่ว่าสมัยไหน  ตั้งแต่ปี 2507 ที่ผมเริ่มรับราชการ การค้าระหว่างประเทศเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ และการค้าระหว่างประเทศก็มีหลายมิติ ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะ "การส่งออก"

 

อยากจะให้ข้อมูลภาพกว้างก่อนว่า ไทยเป็นประเทศมีบทบาทการค้าระหว่างประเทศพอสมควร ถ้าเทียบการค้าระหว่างประเทศ ไทยมีสัดส่วนร้อยละ 1 ของมูลค่าการส่งออกของทุกประเทศรวมกัน

 

ห้วงเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไหม ในช่วง 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2538 อัตราการส่งออกของไทยเทียบกับการส่งออกของทุกประเทศคงที่ที่ร้อยละ 1-1.1 มองในแง่ดี อาจพูดได้ว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้แม้การแข่งขันจะสูงขึ้น แต่หากมองอีกแบบ เทียบกับประเทศดาราอย่าง จีน อินเดีย ก็อาจเรียกได้ว่าเราทำได้ไม่ดีนัก

 

ในส่วนของจีน 2538 การส่งออกคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการส่งออกของทุกประเทศ ในปี 2548 เพิ่มเป็นร้อยละ 7.3 ซึ่งชัดเจนว่าดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศมาเลเซียการส่งออกอยู่ระหว่างร้อยละ 1.4-1.5 ของการส่งออกของทุกประเทศ ในส่วนของเวียดนาม ฐานเก่าต่ำมาก แต่มีความสามารถเพิ่มสัดส่วนได้ จากร้อยละ 0.1 ปี 2538 เป็น 0.3 ในปี 2548

 

ควรดีใจหรือเสียใจก็แล้วแต่การตีความ แต่ที่ผมสรุปคือ ควรมองว่าสิ่งที่เรามีอยู่ไม่เลวนัก เพราะการรักษาระดับก็ไม่ง่ายนัก มองอย่างนี้จะประมาณตนเองได้ว่าไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่หลายคนเป็นห่วง

 

ผู้ค้าหลักในอดีตคือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ในปี 2538 เรามีสัดส่วนส่งออกใน 2 ประเทศ 1 กลุ่มประเทศนี้แห่งละประมาณ 17% สามส่วนนี้รวมกันก็กินสัดส่วนเกิน 50% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสำคัญก็ต่ำลง สหรัฐเราเคยส่งออกร้อยละ 17.8 พอมา 6 เดือนแรกของปีนี้เหลือร้อยละ 15.4 สหภาพยุโรป 16.4 เหลือ 12.8 ญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นเดียวกัน

 

ต้องถามกันต่อว่าสัดส่วนที่ลดลงนี้ ที่ไหนที่เราได้รับความสำคัญมากขึ้น ที่ชัดเจนคือจีน ปี 2538  เราส่งออก 2.9% มาปี 2548 เป็น 8.5% อีกกลุ่มที่สำคัญคือ อาเซียน ซึ่งค่อนข้างอยู่กับที่ จากปี 2538 จนถึงปัจจุบัน

 

ส่วนตลาดใหม่ๆ เราทำได้ดีขึ้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย เช่น ออสเตรเลีย น่าดีใจที่ตลาดเรากระจายตัว เรียกว่าเข้มแข็งพอสมควร ในขณะที่การขาดดุลการค้าที่สำคัญคือ จีน ญี่ปุ่น นอกนั้นเราก็เกินดุลเป็นที่น่าพอใจ ยกเว้นตะวันออกกลาง ซึ่งเราต้องนำเข้าน้ำมัน

 

ทิศทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งออกในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง

 

1.ความได้เปรียบ เสียเปรียบในการแข่งขัน

2.โลกาภิวัตน์

3.อำนาจของผู้ซื้อ

 

นักธุรกิจไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับทั้งสามปัจจัยตลอดเวลา และธุรกิจจะยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสามปัจจัยได้เพียงใด

 

เรื่องแรก ความได้เปรียบเสียเปรียบ อันนี้ไม่ใช่เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ถามว่าไทยได้เปรียบอะไร ในอดีตเราอาจมีค่าแรงต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่มันเป็นพลวัตร มาวันนี้เราพูดได้ว่าเราเสียเปรียบแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงปริมาณก็เปลี่ยนมาเสียเปรียบแล้ว บางอันหมดสิ้นไปอย่างเห็นคาตา เช่น ดีบุก ไม้สัก แต่หลายเรื่องยังดี เช่น ยางพารา แต่ขณะเดียวกันเราก็กำลังขยายยางพาราไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย

 

ดังนั้น เมื่อพูดถึงปัจจัยที่หนึ่ง ต้องเข้าใจตลอดว่าเทียบกับประเทศอื่น สิ่งที่เราได้เปรียบเสียเปรียบมีลักษณะอย่างไร เช่น ขณะนี้ยางพาราดี แล้วเราขยายไปในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยลง ขณะที่ประเทศอื่นเขามีพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วย เราจะสู้เขาได้ไหม เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ อะไรที่ไม่เหมาะกับตัวเองอาจก่อปัญหาในภายหลัง

 

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นอนิจจังคือ ราคา นักเศรษฐศาสตร์ยกให้ราคาเป็นเรื่องของกลไกตลาด ซึ่งนักวิชาการสาขาอื่นอาจจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่ในประวัตศาสตร์มนุษย์เราจะพบว่ายังไม่มีใคร รัฐบาลไหน เอาชนะ "ตลาด" ได้ ที่สำคัญ ภาคธุรกิจต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตลาดหรือปัจจัยตามธรรมชาติ

 

มาถึงปัจจัยที่สอง คือ โลกาภิวัตน์ คำนี้เป็นคำที่หนังสือต่างๆ พูดถึงมากที่สุด ในนิวยอร์กไทม์มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากว่า 500 ชิ้น แปลว่าวันหนึ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้มากกว่า 2 ครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาสนองความอยากรู้อยากเห็นในเชิงสากล ซึ่งแสดงว่าเรื่องนี้สำคัญมาก  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ 2 มิติสำหรับการส่งออก

 

1. ฐานการผลิต โลกาภิวัตน์มาพร้อมกับการย้ายฐานการผลิต เช่น โตโยต้าผลิตรถยนต์ในประเทศ ก. การส่งออกก็จะเป็นผลงานของประเทศ ก. ตัวเลขการส่งออกในประเทศก.จะสูงขึ้น แต่บุคลากรในประเทศนั้นก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไร ประเทศต่างๆ แย่งกันจะเป็นประเทศฐานการผลิต เพราะอยากได้ตัวเลขการส่งออก จีนเป็นประเทศที่ได้ดีจากการย้ายฐานการผลิต ส่วนหนึ่งเพราะได้เปรียบโดยธรรมชาติในเรื่องค่าแรงต่ำ

 

2. ระดับการแข่งขัน โลกาภิวัตน์ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เพราะตลาดมันเสรี คู่แข่งเกิดได้เยอะแยะ ข้ามแดนมาแข่งกันได้ ซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงการแข่งขันมาก

 

ไทยจะเป็นฐานการผลิตเรื่องอะไรได้บ้าง แล้วเรามีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นหรือลดลง คำถามว่าทิศทางการส่งออกจะเป็นยังไง มันก็ง่ายๆ ว่าถ้าเป็นฐานการผลิตได้เยอะ การส่งออกก็จะเยอะ ถ้าพัฒนาการแข่งขันได้มากขึ้น ก็จะมีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ไม่มีอะไรวิลิศมาหรา

 

โลกาภิวัตน์ ทำงานยังไง มันมีแนวโน้มสากลใหญ่ๆ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ

 

1. ห่วงโซ่ของคุณภาพ (value chain) แปลว่า ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ประเทศแต่ละประเทศต้องพยายามไต่บันไดคุณภาพให้ได้ บันได้คุณภาพแปลว่า นวัตกรรม ฉะนั้น ของเก่าจะมีคุณภาพไม่เท่ากับของใหม่ แต่ของใหม่ก็มีคุณภาพไม่เท่ากัน ของใหม่ที่ตรงกับอำนาจ ความต้องการของผู้ซื้อก็จะมีคุณภาพมากกว่า ดังนั้น ของใหม่ไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป

 

คนที่จะอยู่ในห่วงโซ่คุณภาพนี้จะต้องเป็นคนที่เข้าใจสปิริตของการทำงานร่วมกัน เพราะคุณภาพสร้างขึ้นมาได้จากการผนึกกำลัง บริษัทจะนั่งคิดนวัตกรรมอยู่คนเดียวคงไม่ได้ ดูจากหนังสือขายดีเรื่อง "the world is flat" (โลกของเรานี้แบน) ในการพูดถึงโลกาภิวัตน์ คำที่ใช้มากที่สุด คือ collaborate  คำนี้ไม่ได้แปลว่าสนับสนุน ไม่ได้แปลว่าช่วย แต่แปลว่าร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสาขาวิชาการต่างๆ การไต่ห่วงโซ่คุณภาพอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องการร่วมกันเอาวิชาการต่างๆ มารวมกันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์กับ "ผู้ซื้อ" 

 

สำหรับสังคมที่ยังไม่เคยผนึกกำลังก็ต้องเพาะจิตวิญญาณเรื่องพวกนี้ขึ้นมาก่อน ส.ว.ก็ต้องเพราะจิตวิญญาณเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ บริษัททุกบริษัทในระดับโลกจะมองสิ่งนี้ สิ่งที่เป็นเชิงปริมาณจะถูกกระเถิบไปใส่ในฐานการผลิต เช่น ไนกี้จะมีนวัตกรรมตลอดเวลา ซึ่งมาจากการร่วมมือจากคนหลายแบบ ช่างรองเท้า หมอกระดูก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยาง พลาสติก

 

2. ห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ไนกี้ไม่มีโรงงาน ผลผลิตมาจากไทย จีน เกาหลี ทั้งนั้น ทำไมเกาหลียังมีบทบาทตรงนี้ ก็เพราะการผลิตมีหลายระดับ ตั้งแต่รุ่นที่มีความสามารถในการทำของถูกได้ตรงเวลา ไปจนถึงรุ่นท็อปที่สามารถผลิตได้มีคุณภาพ ตรงเวลา และช่วยคิดได้ด้วย ซึ่งจะมีคุณค่าและค่าตอบแทนมากกว่า เดี๋ยวนี้เราก็อยู่ในห่วงโซ่การผลิต สิ่งทอ รองเท้า ชิ้นส่วนรถยนต์ แต่เราอยู่ในขั้นไหน และจะยกระดับยังไง ขณะนี้ในห่วงโซ่การผลิตควรช่วยจัดการได้ด้วย ทั้งการจัดเก็บ การขนส่ง

 

ทิศทางของเราจะดีแค่ไหน อยู่กับว่าเรายกระดับตัวเองในห่วงโซ่การผลิต และมีบทบาทในการสร้างคุณค่าในของที่เราได้เปรียบได้มากแค่ไหน เช่น การสร้างคุณค่าของสมุนไพรไทย ถ้าเราไม่มีปัญญาประเทศอื่นก็จะทำแทน ใครปรับตัวไม่ได้ก็จะน่าสงสารมากในโลกาภิวัตน์ แต่ถ้ามีคนปรับตัวไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ สะสมมากเข้าๆ ประเทศนั้นก็จะอ่อนแอลงตามลำดับ

 

ส่วนอำนาจของผู้ซื้อ มี 2 เรื่องที่สำคัญ 1.ผู้ซื้อเป็นคนกำหนดมาตรฐาน ซึ่งบางครั้งเราก็พบว่ามาตรฐานนั้นเป็นการกลั่นแกล้ง กีดกันทางการค้า อาจเจ็บปวดแต่ก็ต้องยอมรับกติกาของเขา 2. เป็นอำนาจใหญ่มาก คือ สิทธิที่จะดูแลผู้บริโภค เช่น คนของเขาต้องกินอาหารที่ปลอดภัยมาก

 

สำหรับประเทศไทยที่ต้องการจะส่งออก ความสามารถที่จะปฏิบัติตาม มันก็ยากอยู่พอสมควร ถ้าเราวิจัยพบว่ากฎบางอย่างเกินความจำเป็น และมีอีกตัวที่ต่ำกว่าและเหมาะกับประเทศมากกว่า ผู้ผลิตก็จะผลิตได้ง่ายขึ้นแต่ผู้ส่งออกจะส่งออกได้ยาก แต่ถ้าเรามีระบบแยกว่าอันไหนเพื่อภายใน อันไหนเพื่อส่งออก ก็อาจจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มันก็ยังยากที่จะพัฒนาให้เป็นยอมรับในระดับสากล แต่ที่แย่กว่าคือ ไม่มีมาตรฐานอะไรเลย อันนี้จะพัฒนาไม่ได้เลย

 

ปัญหาของไทยคือ เรามีมาตรฐานที่ต่ำกว่าสากล ตอนนี้ไม่ว่ากัน แต่หาก 10 ปีข้างหน้ายังไม่พัฒนามาตรฐานก็จะตกไปจากห่วงโซ่การผลิต ต้องทำเองใช้เองเท่านั้น วิธีการช่วยดีที่สุดสำหรับท่านที่ทำงานพัฒนาชนบทก็คือ ค่อยๆ ให้รู้เรื่องพวกนี้ว่าชีวิตมันทารุณและวัดกันที่คุณภาพ

 

คุณภาพชีวิตจะดีได้ก็ต่อเมื่อคุณภาพในการประกอบอาชีพได้รับการพัฒนา เราไม่มีทางมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยการแจกเงิน

 

มิติเชิงคุณภาพจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภายใต้คำนี้ มีเรื่องความร่วมมือ วินัย ความซื่อสัตย์ ฯลฯ

 

 

 ----------

 

สรุปความจาก ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางการค้าระหว่างประเทศ : จุดยืนและยุทธศาสตร์ของไทย" โดย โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันที่ 24 สิงหาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท