Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดสัมมนาทางสัมมนาวิชาการเรื่อง "ทิศทางใหม่ของการปฏิรูปการเมืองไทย" ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ โดยช่วงแรกเป็นการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ปฏิรูปการเมืองไทย" โดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ผู้เปิดประเด็นงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและเสนอการใช้มาตรา 7 และเป็น 1 ใน 96 บุคคลผู้ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน


 


ชัยอนันต์มาแปลก บ่นเสียดายประชาชนไทย "ได้สิทธิเลือกตั้งเร็วไป"


ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาว่า การพัฒนาระบบการเมืองไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมานาน นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา โดยที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์เห็นว่าในสมัยก่อน พ.ศ.2475 ไม่มีคนเห็นความสำคัญของพรรคการเมือง เพราะกลัวคนจีนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาททางการเมือง และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สังคมไทยมีลักษณะพิเศษคือ ประชาชนได้สิทธิเลือกตั้งทันทีทั้งหญิงและชาย ในขณะที่สหรัฐอเมริกา กว่าที่สตรีจะได้สิทธิในการเลือกตั้ง ก็ใช้เวลาต่อสู้ยาวนาน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การได้มาซึ่งสิทธิการเลือกตั้งไม่มีความสำคัญในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนคนไทย


 


"เราไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าเราได้อะไรมาเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นคนในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่น ประชาชนเขารู้สึกจริงๆ ว่าถ้าเขาไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่แล้ว ชีวิตเขาจะไม่มีความสุขหรือไม่สามารถที่จะมีโอกาสพัฒนาคุณภาพของเขาได้ ปัญหาของสังคมไทยก็คือว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิเสรีภาพกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าว


 


ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่าประเทศของเรามีประชาธิปไตยที่มีลักษณะของรัฐบาลที่อุปถัมภ์ประชาชน ประชาชนจะดูว่ารัฐบาลแจกประชาชนขนาดไหน โดยที่ประชาชนไม่เสียอะไรแก่รัฐ ยิ่งแจกมากยิ่งดี พื้นฐานแบบนี้ของสังคมเปิดโอกาสให้รัฐบาลหลังๆ แสวงหาความนิยมจากประชาชนแบบประชานิยมในรูปของการแจกจ่ายต่างๆ เมื่อประชาชนพึ่งพารัฐ จึงทำให้การตื่นตัวของประชาชนมีน้อย การตรวจสอบประเมินผลรัฐบาลก็ไม่มีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าว


 


ยังย้ำเสนอแก้กติกาปฏิรูปการเมือง


ในด้านของการปฏิรูปการเมือง ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า ในด้านทิศทางใหม่ของการปฏิรูปการเมืองมีอยู่ 2 ข้อ ข้อแรก ให้กลับไปดูกติกาว่า มาตรการใดไม่ควรกำหนดก็ให้เลิกเสีย อย่างกรณีที่มีการให้อำนาจกับองค์กรใดมากเกินไปและเป็นผลเสียก็อย่าไปให้ เช่น กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง แต่อีกข้อที่ยากกว่าก็คือ การที่สังคมไทยควรจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมือง เพราะประชาชนเห็นรัฐบาลเป็นที่พึ่ง เป็นฝ่ายให้มากกว่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องควรให้หรือไม่ควรให้ เหมือนอย่างเช่นที่ในเวลานี้มีการแข่งกันว่าพรรคไหนจะให้มากกว่ากัน โดยที่ประชาชนไม่สนใจว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรเกี่ยวกับนโยบายประเทศ ตราบเท่าที่รัฐบาลยังทำอะไรให้ประชาชน


 


"สังคมไทยมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ที่เราไม่เคยเห็นเช่น ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมในภาคใต้ และรัฐบาลไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะคิดว่ามีเสียงสนับสนุนจากภาคอื่นๆ หรือเรื่องความภักดีของคนในชาติต่อส่วนรวม คือไม่ใช่เรื่องของความสามัคคีของคนในชาติ แต่เป็นเสียงสนับสนุนในทางสังคม-การเมือง ที่เริ่มแบ่งแยกกันมากขึ้น เช่น ในเชียงใหม่มีกรณีฝ่ายต่อต้านนายกฯ กับฝ่ายสนับสนุนนายกฯ ซึ่งเรื่องของการสนับสนุนตัวบุคคลจนเกิดการแบ่งแยกชัดเจนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น สังคมไทยต้องเรียนรู้ สังคมอื่นๆ แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ผ่านลักษณะนี้มาแล้ว"


 


นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังกล่าวถึงการที่มีประชาชนเข้าร่วมฟังเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรว่า ทำไมคนไปฟังสนธิไม่รู้จักเบื่อ เป็นเพราะประชาชนดูรัฐบาลแล้วเข้าใจยากเหมือนมีวาระซ่อนเร้น ไปพม่าก็ไม่ยอมบอกว่าไปทำเรื่องอะไร ดังนั้นประชาชนจึงต้องออกแรงมากขึ้น เลยมีคนหันไปติดจานดาวเทียมอันละ 6-7 พัน เพื่ออยากรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรแน่


 


ประชดรัฐบาลทำให้คนชราตื่นตัวทางการเมือง


ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าวเหน็บแนมด้วยว่า ข้อดีของรัฐบาลนี้คือ ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และมีการตื่นตัวในหมู่สตรีผู้สูงอายุ (กรณีที่มีการชุมนุม) เวลาโทรทัศน์ถ่ายไปทางไหนก็เป็นคนอายุ 60-70-80 แทนที่จะเป็นเด็ก ถามว่านักเรียนอ่านอะไร ส่วนใหญ่อ่านหน้ากีฬา มีนักเรียนที่อ่านบทความเศรษฐกิจการเมืองน้อย นี่พูดให้กำลังใจอย่าไปท้อแท้ การเรียนรู้ทางการเมืองของเรายังอีกยาวไกล ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้นำที่ฉลาดแกมโกง เพราะเมื่อก่อนเรามีแต่ผู้นำที่ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ และถึงมีที่ฉลาดแต่ก็ไม่แกมโกง


 


"การที่คนอายุ 60 ปีเพิ่งมาตื่นตัวทางการเมืองเมื่อมีทักษิณ ถือว่าทักษิณมีคุณูปการเหมือนกัน คือทำให้คนตื่นตัวทางการเมือง" ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าว


 


ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวทิ้งท้ายในช่วงการปาฐกถาว่า ทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า ความชอบธรรมจากการเลือกตั้งไม่ใช่เงื่อนไขแรกของรัฐบาล เพราะเงื่อนไขที่แท้จริงคือ ต้องมีการประเมินรัฐบาล ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจ และสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือปฏิรูปการเมืองต้องเป็นภาระของประชาชนมากกว่าให้นักวิชาการแก้รัฐธรรมนูญ ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวในที่สุด


 


รองอธิการบดี มช. กลัวมีผู้นำเพี้ยน


ต่อมาในช่วงของการเสวนาหัวข้อ "วิกฤตรัฐบาลกับทางออกการเมืองไทย" รศ.ดร.ธนัน อนุมานราชธน รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่ตนได้เรียนวิชาพฤติกรรมผู้นำทางการเมืองมา ตนรู้สึกว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีอาจเป็นโรค Megalomania หรืออาการหลงใหลความยิ่งใหญ่ของตน ซึ่งผู้นำระดับโลกหลายคนก็มีอาการแบบนี้ โดยตนรู้สึกว่าผู้นำของไทยเพ้อเจ้อ คิดว่าตัวเองใหญ่คับฟ้าจนเมืองไทยเล็กไปเลย ฝันอยากเป็นรัฐบุรุษเอเชียอาคเนย์ อยากวัดรอยเท้าลีกวนยู กับมหาเธย์ โมฮัมหมัด


 


"การที่รักษาการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ให้พระเจ้าอยู่หัวมากระซิบข้างหู หรือคำพูดที่ว่าถ้าตนไม่จงรักภักดีแล้วผีที่ไหนจะจงรักภักดี การพูดอย่างนี้จะให้แปลความหมายได้ว่าอย่างไร และตนถือว่าการที่ทักษิณประกาศว่ามาจาก 19 ล้านเสียง ตนถือว่าเป็นการขี้ตู่ เพราะในบัตรเลือกตั้งระบุช่องให้กาเลือกพรรคการเมือง คือไทยรักไทย ไม่ใช่ทักษิณ" รศ.ดร.ธนัน กล่าว


 


"สมชาย" เตือนช่วยกันตรวจสอบตุลาการภิวัฒน์ ป้องกันวิธีคิดอำนาจนิยม


ด้าน ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่าการที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไปไหนก็มีคนไล่ ทั้งสีลมและเชียงใหม่ เป็นวิกฤตทางการเมืองแน่นอน แต่จะเป็นวิกฤตทางสังคมหรือไม่ต้องมาคิดร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันถือว่าสถานการณ์มีความแหลมคม เพราะเป็นการจัดวางสถาบันดั้งเดิมลงในระบบรัฐสภา เทียบกับประเทศอังกฤษที่ฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ถอยห่างไปจากการเมืองคือเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์ แต่กรณีของไทย หลัง พ.ศ.2475 คณะราษฎรพยายามจัดวางสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง "ด้านนอก" ของการเมือง แต่มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคม 2516 ที่สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง "ด้านใน"


 


"อย่างกรณีตุลาการภิวัฒน์ ที่สถาบันตุลาการเข้ามามีบทบาทจัดการนักการเมือง แต่เข้ามาภายใต้บารมีของสถาบันกษัตริย์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ต้องวิเคราะห์ว่า ตุลาการภิวัฒน์จะฝากความหวังไว้ได้สักแค่ไหน มีข้อจำกัดขนาดไหน เพราะบทบาทของตุลาการภิวัฒน์อาจส่งเสริมระบอบอำนาจนิยม ซึ่งเราต้องระมัดระวังเรื่องนี้ และถามว่าทักษิณเป็นตัวปัญหาหรือไม่ เป็นแน่ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะไม่ไล่ทักษิณไปแล้ว เราจะไม่เจอทักษิณหมายเลข 2 ตามมา" ผศ.สมชาย กล่าว


 


นอกจากนี้ ผศ.สมชาย ยังกล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปการเมืองว่า ไม่คิดว่าโดยลำพังการร่างรัฐธรรมนูญเป็นการปฏิรูปการเมือง แต่เราต้องขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงอำนาจทางสังคม อย่างคนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ชุมนุมที่สยามพารากอนไม่มีใครมาล้อมปราบ ผิดกับการชุมนุมที่อำเภอตากใบ หรือบ้านกูจิงลือปะ อาจถึงแก่ชีวิตเอาได้ง่ายๆ ตลอดจนการให้อำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกันในสังคม


 


"ศิโรตม์" ระบุทักษิณสั่นคลอนระบบเก่า แยกประมุขปกครองกับประมุขประเพณี


นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ระบบที่มีมาแต่เดิมถูกสั่นคลอนในรอบ 30 ปี โดยที่การเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2549 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบที่ข้าราชการและทหารมีที่ทางทางการเมือง ขณะที่ในระยะปัจจุบัน การที่มีผู้เลือกทักษิณ 13 ล้านเสียง 19 ล้านเสียง ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนับเป็นครั้งแรกที่ทุนใหญ่ผนึกอำนาจรัฐโดยตรง ผิดกับสมัยเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทุนใหญ่ทำได้เพียงคบหาผู้นำ แต่ไม่สามารถขึ้นมาเป็นประมุขชนชั้นปกครองโดยตรง แม้แต่สมัยชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ต่างจากทักษิณ เพราะชาติชายเอาการเมืองมาทำผลประโยชน์ทางธุรกิจ ขณะที่ทักษิณเอาธุรกิจมาทำผลประโยชน์ทางการเมือง แล้วทักษิณก็เอาไปทำผลประโยชน์ทางธุรกิจอีกที


 


"ทักษิณทำให้ความหมายของประมุข หมายถึงประมุขของรัฐ คือประมุขแบบประเพณี กับประมุขของชนชั้นปกครองแยกออกจากกัน โดยที่ในอดีต คำนี้มีความหมายเดียวคือพระมหากษัตริย์ แต่ปัจจุบันทักษิณขึ้นมาเป็นประมุขของชนชั้นปกครอง และพระมหากษัตริย์มีความหมายแต่เพียงเป็นประมุขแบบประเพณี"นายศิโรตม์ กล่าว


           


นอกจากนี้ นายศิโรตม์ ยังชี้ให้เห็นถึงปฏิกิริยาทางการเมืองที่ตามมาในการต่อต้านทักษิณ นั่นคือ 1. อุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม คือมีการฟื้นตัวของอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่เราคิดว่าหมดไปแล้ว คือ ทักษิณทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีพลังในการไล่ทักษิณ 2.อุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ คือเรื่องเทมาเซคเข้ามาซื้อหุ้นอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับประเด็นที่ตอกย้ำว่าทักษิณเป็นนายทุนผูกขาด ใช้อำนาจเพื่อธุรกิจตัวเองซึ่งดูเป็นการผูกขาดที่เลวร้าย 3.ประชาธิปไตยแบบรากหญ้า คือ (Radical Democracy) ซึ่งมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลจำนวนมาก เช่น ให้ภูเก็ตเป็นที่จอดเรือยอร์ช ทำให้ประมงรายย่อยไม่มีรายได้ การทำซีฟู้ดแบงก์หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า โฉนดทะเล ก็จะทำให้ประมงรายย่อยโดยเฉพาะที่มุสลิม 3 จังหวัดชายแดนทำไม่ได้


 


"ซึ่งทั้ง 3 อุดมการณ์นี้ เราก็รู้ว่ามันขัดแย้งกัน และคนเรียนรัฐศาสตร์น่าจะให้ความสนใจว่ามันสามารถเชื่อมโยงกันอย่างไร" นายศิโรตม์กล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net