Skip to main content
sharethis


บรรยายภาพ - จากซ้ายไปขวา รำแพน จอมเมือง, ประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล, นิคม บุญเสริม, หาญณรงค์ เยาวเลิศ และเอกกมล สายจันทร์


 


 


เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2549 มีการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "การติดตามและเตรียมความพร้อมประชาชนในการปฏิบัติการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10" ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


 


ในช่วงเช้าของการสัมมนาได้มีการอภิปรายในหัวข้อ "การวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10" โดยมี อาจารย์เอกกมล สายจันทร์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายนิคม บุญเสริม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา จังหวัดพะเยา, นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางรำแพน จอมเมือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เข้าร่วมแลกเปลี่ยน


 


นักวิชาการงง เมืองไทยยังใช้แผนพัฒนาฯ อยู่อีกหรือ?


อาจารย์เอกกมล สายจันทร์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มีคำถามเกิดขึ้นในใจขณะนี้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังมีอยู่หรือ? เพราะประเทศที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมี 2 ลักษณะ คือ ถ้าไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมหรือประเทศคอมมิวนิสต์ ก็เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่มีแผนพัฒนาในลักษณะนี้ และหากมองผ่านบริบททางประวัติศาสตร์จะพบว่า การที่ประเทศไทยเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในสมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ ก็เนื่องจากสหรัฐหวั่นเกรงภัยคุกคามคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะจากจีน จึงทำให้ต้องเข้ามามีบทบาทในประเทศแถบนี้ ทั้งในด้านสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ การทุ่มการพัฒนา รวมไปถึงการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยด้วย


 


"รู้สึกเป็นห่วงว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 อาจไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะประเทศไทยไม่ใช่หน่วยอิสระแยกออกจากส่วนอื่นๆ ของโลกจนเขียนแผนพัฒนาอย่างไรก็ได้ หากแต่เป็นหน่วยที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับส่วนอื่นๆ ในภูมิภาค ที่สำคัญ เหนือรัฐบาลยังมีองค์กรที่อยู่ระดับโลกคอยกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย อย่างเช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank/ADB) ที่มีแผนงานกำหนดลงไปเลยว่า จุดใดในภูมิภาคที่ควรมีการพัฒนา เช่น มีการลากเส้นเรขาคณิตลงไปในแผนที่ว่าควรจะตัดถนนจากจีนมาไทยตรงไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด ซึ่งภาวะเช่นนี้ ย่อมทำให้การมีการใช้ทรัพยากรและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน"อาจารย์เอกกมลกล่าว


 


อาจารย์เอกกมล ยังได้ยกตัวอย่างกรณีถนนสาย R3E หรือ คุนหมิง-เชียงของ ว่า  ถนนดังกล่าวเป็นถนนไฮเวย์ขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวทางการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีการตัดถนนผ่านป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ในลาว ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการอพยพโยกย้ายกลุ่มชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ กระทบต่อการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โดยรวม


 


"ฉะนั้น ต้องมีการอธิบายเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เข้าด้วยกัน ไม่เช่นนั้นสังคมจะไม่เข้าใจว่า ไนท์ซาฟารีเกิดขึ้นได้อย่างไร โครงการพืชสวนโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่ง 2 โครงการนี้ผมรู้สึกว่ารัฐบาลไปก๊อปปี้มาจากเชียงรุ้งที่รัฐบาลจีนทำให้เชียงรุ้งกลายเป็นเมืองแฟนตาซี และไนท์ซาฟารีแท้จริงแล้วสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อทุน ต่อการท่องเที่ยว ไม่ใช่คนในท้องถิ่น โครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความยากลำบากแสนเข็ญของชาวบ้าน เลยอยากถามว่า ไนท์ซาฟารี ซึ่งใช้งบประมาณหลายพันล้านอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ด้วยหรือไม่" อาจารย์เอกกมลตั้งข้อสังเกต


           


อาจารย์เอกกมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในยุคที่การเมืองแข็ง บทบาทของสภาพัฒน์ฯ ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่เอาแต่นั่งร่างแผน ขณะนี้มีปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะจากกลุ่มทนเข้ามามีอิทธิพล ดังนั้นท้องถิ่นต้องมีบทบาทมากขึ้น ทำอย่างไรจะประสานกันได้ ตนคิดว่าหลังจากแผนพัฒนาฯ 10 แล้ว น่าจะจบกันแต่เพียงเท่านี้


 


องค์กรพัฒนาเอกชนพะเยา แนะใช้พลังประชาชนกำกับแผน 10


นายนิคม บุญเสริม จากมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เหนือแผนชาติยังมีแผนโลกอยู่ และที่ใกล้ตัวเรามากกว่าก็คือ แผนระดับภูมิภาค ถ้าใครไปอ่านเอกสารของเอดีบีจะพบว่า เขามีแผนสิ่งแวดล้อมเป็นของตัวเอง วิถีการดำรงชีวิตของชาวเขา ชาวเรา ไม่ใช่มาตรฐานที่เอดีบีต้องการ นอกจากนี้พูดอย่างไม่เกรงใจ เราจะพบว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ของไทยรักไทย


 


"เหมือนกับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะตั้งแท่นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 เอาไว้แล้ว จึงเป็นห่วงว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนมีส่วนร่วมที่ระบุไว้ในแผน 10 อาจถูกทำให้กลายเป็นพิธีกรรม ซึ่งเราจะต้องไม่หลงกลตรงนั้น" นายนิคมกล่าว


 


นอกจากนี้นายนิคม ยังตั้งข้อสังเกตว่าในแผนฯ 10 กลไกการประชาพิจารณ์ก็ยังไปไม่ถึงไหน ที่ผ่านมาแม้ว่าขั้นตอนการประชาพิจารณ์โครงการของรัฐถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีรูปธรรม มีเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ซึ่งบางทีหน่วยงานรัฐบางหน่วยก็ถือว่าการระดมรายชื่อก็ถือเป็นการประชาพิจารณ์ ตนเองจึงคิดว่า ทุนนิยมคงไม่เชื่อเรื่องประชาพิจารณ์ ดังนั้น จึงต้องชำระกลไกประชาพิจารณ์นี้ให้เกิดขึ้นอย่างอิสระให้ได้


 


เสนอตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เอาผิดอำนาจเถื่อน


นายนิคม ยังกล่าวย้ำอีกว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตนอยากให้มีการกำหนดเรื่องศาลสิ่งแวดล้อมลงในแผนด้วย เพราะทุกวันนี้ยังมีผู้นำชุมชนที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเสียชีวิตจากการคุกคามของอำนาจเถื่อน เช่นกรณีของพระนักอนุรักษ์ที่ถูกสังหาร ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (กรณีที่พระสุพจน์ สุวโจ แห่งสำนักสงฆ์สวนป่าเมตตาธรรม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ถูกยิงเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2548 >>บทความที่เกี่ยวข้องในประชาไท) ซึ่งตนหวังว่าจะมีกระบวนการยุติธรรมเข้ามาควบคุมตรงนี้


 


"สุดท้าย ถึงแม้เราจะไม่มีความหวังกับแผนฯ 10 แต่มันจะมีประโยชน์ถ้ามันเกิดขึ้นโดยประชาชน ซึ่งที่จริงเราไม่น่าเรียกว่า "แผน" แต่น่าจะเป็น "นโยบาย" และรัฐบาลทุกรัฐบาลควรนำไปปฏิบัติ แม้เขาจะมีนโยบายของพรรค แต่ก็ควรรับฟังตรงจุดนี้ ไม่เช่นนั้นเราจะเสียเปล่า เราต้องทำให้แผนฯ 10 ให้ใช้การได้ ไม่ใช่เพียงรัฐบาลมารับเรื่องร้องเรียนของเรา แล้วทำหนังสือตอบว่า "ขอบคุณมากได้รับเรียบร้อยแล้ว" นายนิคม กล่าวในที่สุด


 


นายกฯ อบต. น่าน หวังชาวบ้านมีอำนาจจัดการสิ่งแวดล้อม


รำแพน จอมเมือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน กล่าวว่า แม้ว่าตนจะติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลา แต่สำหรับเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่10 นั้นเพิ่งทราบข่าว อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะแผน 1 หรือ แผน 10 คนที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้าน ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแม้ว่าระดับนโยบายจะกำหนดให้ท้องถิ่นดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีอุทยานแห่งชาติ,หน่วยจัดการต้นน้ำ, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)


 


"ทุกวันนี้ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบของ อบต.ศิลาแลง ก็ได้มีการร่วมมือระหว่างอบต.กับเครือข่ายชาวบ้าน และกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นโดยมี อบต.เป็นผู้ประสานความร่วมมือ และเชื่อว่าชาวบ้านสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ เพราะทุกวันนี้เกิดการรวมกลุ่มของเครือข่ายประชาชนที่ดูแลทรัพยากรในชุมชนอย่างกว้างขวาง โดยที่ชุมชนชาวบ้านไม่มีข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ผิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่รับผิดชอบ"รำแพนกล่าว


 


นายก อบต.ศิลาแลง กล่าวในตอนท้ายว่า อยากให้มีการปรับปรุงกฎหมายลูก เพื่อให้ท้องถิ่นได้เข้ามาดูแลสิ่งแวดล้อม แผนฯ 10 ต้องสร้างกลไกสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากหลายๆ ภาคีความร่วมมือ ที่สำคัญต้องสนับสนุนชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพราะมีความเป็นอิสระกว่า อปท. และยังหวังว่าแผนฯ 10 จะตอบสนองต่อวิถีชีวิตของผู้คน มากกว่าไปกำกับวีถีชีวิตชาวบ้าน


 


ที่ปรึกษาสภาพัฒน์ ตั้งข้อสังเกต หวั่นนายกฯ แอบสอดใส้แผนฯ 10


ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงขั้นตอนการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ว่า จากเดิมมีผู้ร่วมกระบวนการร่างแผนกว่า 2,000 คน แต่พอทำไปทำมา ภายหลังเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า จะขอคุยกับสภาพัฒน์ฯ จึงทำให้แผนฯ10 ออกมาอย่างที่เห็น


 


"แม้แผนฯ ฉบับนี้จะมีวิสัยทัศน์เศรษฐกิจพอเพียง แต่มันอาจเป็นแค่วาทกรรม เพราะข้างในจริงๆ ของแผนฯ อาจไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเลย" นายหาญณรงค์กล่าว


 


นายหาญณรงค์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำในแผนฯ 10 อีกว่า ได้มีการเพิ่มเรื่องการจัดทำกฎหมายจัดเก็บค่าน้ำเข้าไปในภาคผนวกด้วย ดังนั้น หน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ จะต้องทำการตรวจสอบทวงถามตลอดเวลา


 


 


อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีสาธารณะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นเพื่อระดมความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศทุกภูมิภาคเพื่อร่วมกันพิจารณาร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายหลังจากที่มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พ.ศ.2550-2554" ซึ่งเอกสารดังกล่าวเพิ่งเผยแพร่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ไปเปิดการประชุมประจำปี 2549 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน" ณ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยรักษาการนายกฯ กล่าวว่าแผนฯ ฉบับ 10 ที่สภาพัฒน์จัดทำโดยการระดมความคิดจากหลายภาคส่วนนั้นยังไม่เพียงพอและเป็นแผนลอยๆ


 


"วันหยุดสุดสัปดาห์ ผมจะเรียกนักวางแผนของสศช.มาหารือซัก 2 วัน หรือประมาณ 10 ชั่วโมง เพื่อปรับแผนให้มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด ว่าเราอยู่ตรงไหน จะเดินหน้าไปอย่างไร ใช้งบขาดดุลหรือสมดุล หนี้สาธารณะเป็นอย่างไร ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ และใครเป็นเจ้าภาพ โดยต้องเชื่อมโยงไปถึงแผนกระทรวงและแผนชุมชน รวมถึงเอกชน จะช่วยสร้างพลังความสามัคคีในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาแผนของสศช.เป็นธงที่โบกไปคนเดียว" รักษาการนายกฯ กล่าว    


 


ข่าวประกอบ         


http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/01/news_21000590.php?news_id=21000590


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net