Skip to main content
sharethis

ผักสวยๆ ก็น่ากลัวเหมือนผู้หญิงสวย ผู้หญิงสวยอาจน่ากลัวด้วยหลายสาเหตุ แต่ผักสวยนี่ฟันธงได้เลยว่าต้องผ่านการอาบยาฆ่าแมลงและกินปุ๋ยเคมีมาไม่น้อย  มิน่าเล่า ในแบบเรียน สปช. สมัยเด็กๆ  ถึงบอกให้เลือกซื้อปลาเหงือกแดง ตาใส และผักที่ใบมีรูโหว่ !


 


ยิ่งผักผลไม้จีนที่ทะลักเข้ามาจากการเปิดเอฟทีเอไทย-จีนด้วยแล้ว ลูกใหญ่ สวยใส ใบหนา ราคาถูกมาก....ยิ่งไม่อยากจะนึก....คนที่ใส่ใจสุขภาพจึงเลี่ยงไปหาซื้อผักผลไม้ปลอดสารพิษ/ไร้สารเคมี ซึ่งหาได้ไม่ง่าย และราคาก็พาให้ควักกระเป๋าไม่ง่ายด้วยเช่นเดียวกัน


 


แต่แล้วปลายปี 2547 นายกฯ ทักษิณก็ประกาศให้ "เกษตรอินทรีย์" เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมาย 4 ปี (2549-2552) ไว้ว่า จะลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรในประเทศลง 50% วางพื้นที่ที่จะให้มีการปรับใช้สารอินทรีย์ตามธรรมชาติทดแทนสารเคมีไว้ 85 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ตั้งใจให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ล้วนๆ (ไม่ข้องเกี่ยวกับสารเคมีเลย) 1 ล้านไร่ โดยในปี 2549 นี้ขอ 200,000 ไร่ก่อน


 


แผนงานนี้จะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 4.25 ล้านราย และจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 20% พร้อมกับการทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 100%  ท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในวาระแห่งชาตินี้เมื่อ 4 มกราคม 2548


 


ผ่านมาเกือบ 2 ปี แผนนี้ไปถึงไหน เกษตรกรเป็นอย่างไร ไม่มีรายงานแน่ชัด มูลนิธิสายใยแผ่นดิน / กรีนเนท จึงร่วมกับโครงการนโยบายสาธารณะเพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร และเศรษฐกิจการค้าที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดการประชุมเรื่อง "วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ กับบทบาทการขับเคลื่อนของภาคประชาชน" ขึ้นเพื่อรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องนี้ รวมทั้งเสนอแนวทางต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา


 


วินัย เศรษฐบุญสร้าง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้มีบทบาทสำคัญผลักดันวาระแห่งชาตินี้กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาเชิงนิยามของเกษตรอินทรีย์ที่มีหลายระดับ และมีมิติเชิงคุณค่าแฝงอยู่แตกต่างกัน แม้ในกระทรวงเกษตรเองก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า "เกษตรอินทรีย์" จำเป็นต้องเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ 100% หรือเพียงลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุดก็พอ จึงได้ประนีประนอมโดยตั้งเป็นคณะกรรมการทำงานเรื่องนี้ทั้ง 2 แบบ นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังเน้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดรายจ่ายแก่เกษตรกร ไม่ได้มุ่งส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์แบบทุนนิยม เพราะธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มีงานวิจัยออกมาว่า การทำเกษตรอินทรีย์ต้องการการดูแลใกล้ชิด จึงมักสำเร็จในรายย่อย ขณะที่รายใหญ่มักจะเจ๊ง


 


งบประมาณที่ทุ่มไปในการนี้ทั้งหมด 1,215.97 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็นการประชาสัมพันธ์ การวิจัยพัฒนา การสร้างเครือข่ายแกนนำเกษตรกร การจัดฝึกอบรม การสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การรับรองมาตรฐานและการส่งเสริมการตลาด


 


ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงเกษตรเองกลับวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานตนเองว่า วิธีคิดของคนในกระทรวงยังเป็นปัญหาอยู่มาก นักวิชาการส่วนใหญ่ซึ่งยึดถือตำราฝรั่งที่เรียนมาจะรับไม่ได้กับแนวคิดที่จะไม่ใช้สารเคมีเลย และนโยบายต่างๆ ที่ออกมาก็ไม่ได้ผลเท่าไรนัก เช่น นโยบายอาหารปลอดภัย มีงบประมาณ 4-5 พันล้าน มีการนำเงินไปสร้างห้องแลบแต่ไม่ค่อยได้ใช้งาน แม้แต่วาระเกษตรอินทรีย์ที่ต้องมองทั้งระบบ ก็นำเสนอกันเฉพาะเรื่องโรงปุ๋ยให้เป็นวาระแห่งชาติถึง 3 ครั้ง เพราะคนในรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อน


 


"วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์รัฐบาลจริงใจหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ที่แน่ๆ คือ ราคาเคมีการเกษตรที่ทำจากปิโตรเคมีราคาขึ้นสูงมากตามราคาน้ำมัน เป็นผลให้ยังไงก็ต้องเสนอวาระนี้ และหากดูงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงเกษตรฯ จะพบว่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์มากที่สุด" เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรกล่าว


 


ชนวน รัตนวราหะ อดีตข้าราชการกระทรวงเกษตร วิเคราะห์ว่า โครงสร้างการบริหารงานของกระทรวงเกษตรไม่มีความเชื่อมโยงกัน โดยแยก "การเกษตร" ออกเป็นชิ้นๆ แม้ในอดีตเคยมีความพยายามบูรณาการทุกส่วนในรูปของ "เกษตรภาค" ที่จะอยู่ตามภาคต่างๆ แต่ก็ต้องถูกยุบไป เพราะส่วนกลางไม่ต้องการกระจายอำนาจ การทำงานทุกเรื่องในกระทรวงเกษตรจึงสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาลแต่หาผลงานไม่ค่อยได้


 


รศ.ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์ จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า การเชื่อมต่อทุกภาคส่วนนั้นต้องทำอย่างจริงจัง อาจจะเป็นในระดับจังหวัดที่ให้หน่วยงานจากกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข พาณิชย์จังหวัด ผู้ว่าซีอีโอ เกษตรกร เอ็นจีโอ มาหารือร่วมกันในทุกมิติ ทั้งด้านการหาตลาดรองรับ การประกันราคา ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างแท้จริง


 


ขณะที่เกษตรกรหญิงจากอุบลราชธานีคนหนึ่งที่ทำเกษตรอินทรีย์สะท้อนว่า เกษตรกรที่ทำข้าวอินทรีย์สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ต้นทุนการผลิตจึงไม่ได้สูงมากนอกเสียจากค่าตรวจรับรองมาตรฐาน ตนเองจึงใช้ระบบรับรองมาตรฐาน GAP ของกระทรวงเกษตรซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายและให้เกษตรกรเก็บข้อมูลอย่างละเอียดยิบ แต่แล้วก็พบว่ามันไร้ประโยชน์เพราะเมื่อต้องขายข้าวเข้าโรงสี โรงสีก็ไม่มีการคัดแยก การประกันราคาก็จะเท่ากับข้าวทั่วไป


 


นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีปัญหาเรื่องตลาด ภาครัฐน่าจะเสนอให้ตลาดเทศบาลรวมถึงซูเปอร์สโตร์ต่างๆ กันพื้นที่บางส่วนไว้ให้กับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้าน


 


"คนที่ทำเกษตรอินทรีย์เขาทำด้วยใจและรักในผลผลิตทุกอย่างของเขา แต่ทำแล้วมันขายไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเจอกัน กับแค่ให้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูมีพื้นที่ให้เกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านนิดหน่อย รัฐจะต่อรองกับเขาไม่ได้เชียวหรือ ทีพวกเขาจะให้ชาวบ้านปลูกอะไร อย่างไร ใช้พันธุ์ไหน ต้องปลูกแนวกันชนยังไง เขากำหนดเราได้ละเอียดยิบ" เกษตรกรหญิงกล่าว


 


บุญสา งามเถื่อน ประธานสหกรณ์การเกษตรไร้สารเคมี จำกัด อุบลราชธานี กล่าวว่า นโยบายรัฐเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ยังคงเป็นเพียงนโยบายในกระดาษ แต่งบประมาณไปไม่ถึงชาวบ้านเพราะกระจุกอยู่ในส่วนราชการ หากรัฐบาลยังจะผลักดันวาระเกษตรอินทรีย์ต่อ ควรให้ทุนหมุนเวียนกับองค์การในพื้นที่โดยตรง ซึ่งเข้มแข็งอยู่แล้ว "ผมว่าชาวบ้านเขารักษาเงินของรัฐได้ดีกว่าราชการนะ"


 


รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำถามใหญ่สำหรับเกษตรอินทรีย์คือ เกษตรกรจะอยู่ได้จริงหรือ ผู้บริโภคสู้ราคาไหวไหม และภาครัฐจะส่งเสริมจริงจังหรือไม่ ดังนั้น เรื่อง "ต้นทุน" จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้ให้ชัด เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจได้ และโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งต้องสะท้อนต้นทุนการผลิตจริงนั้น หากมีการศึกษาต้นทุนที่เป็นระบบชัดเจน จะสามารถบอกได้ว่าต้นทุนส่วนไหนที่สูงมากและรัฐควรเข้ามามีบทบาทสนับสนุนอย่างไร  


 


วัลลภ พิชญ์พงศ์ศา สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนกล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ สร้างความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน, ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ให้มีความหลากหลาย, ทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยทั้งด้านองค์ความรู้ และฐานข้อมูลผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลาด ส่วนสิ่งที่รัฐไม่ควรทำคือ การยอมรับให้มีการปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอในไร่นาและในเชิงพาณิชย์ เพราะจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกระทบต่อสังคมโดยรวม ไม่เฉพาะแต่เกษตรอินทรีย์เท่านั้น


 


สุภา ใยเมือง จากกรีนเนท องค์กรที่ทำงานกับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มากว่า 13 ปีกล่าวว่า ทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่เสนอไปยังไม่คืบหน้า จึงขอทบทวนอีกครั้ง ดังนี้ 1.รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนา โดยสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค และสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่ม องค์กรชุมชนและเครือข่ายให้มีบทบาทในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน


 


2.ควรมีการปรับโครงสร้างและกลไกระดับชาติ โดยการตั้งคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืน โดยอยู่บนหลักความมีอิสระ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ภาคประชาสังคม มีสถาบันวิจัยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้ และจัดตั้งกองทุนสนับสนุน ซึ่งอาจมีรายได้มาจากภาษีสารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งภาษีจากการส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์


 


3.สนับสนุนการพัฒนาความรู้เพื่อการสนับสนุนการผลิต การแปรรูป และการตลาดในทิศทางการพึ่งตนเอง 4. สนับสนุนระบบตลาดที่เกื้อกูล เป็นธรรม และทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างทั่วถึง หากรัฐมักจะมุ่งเน้นการส่งออก ซึ่งชาวบ้านเข้าไม่ถึง ควรมีคนกลางที่จะค้าขายกับตลาดโลกโดยให้ชาวบ้านร่วมรับรู้ตลอด และนำกำไรกลับมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิการของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เรื่องการตลาดไม่จำเป็นต้องมุ่งเฉพาะการส่งออกต่างประเทศ ควรให้ความสำคัญกับตลาดชุมชน ตลาดเชิงสถาบันให้ทุกคนได้เกื้อหนุนกัน


 


5. การสร้างหลักประกันในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และทรัพยากรชีวภาพ 6.ควรปรับปรุงนโยบายให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอด 7.การสร้างมาตรการเพื่อพัฒนาระบบอาหารปลอดภัย โดยการควบคุมการโฆษณาสารเคมีทางการเกษตร จัดการกับการขายสารเคมีที่มีการยกเลิกการใช้แล้วอย่างจริงจัง


 


ท้ายที่สุด แอบถามผู้บริหารจากบริษัท เจียไต๋ ในเครือซีพีที่เข้ามานั่งฟังด้วยตลอดรายการเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ ในฐานะที่เป็นขั้วตรงข้ามกันโดยตรงเพราะขายเมล็ดพันธุ์ สารเคมีทางการเกษตรหลากหลายยี่ห้อ เขามองการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ว่าเป็นเรื่องดี ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคถ้าเลือกได้ก็คงเลือกสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกสิ่งต้องมีความหลากหลาย เกษตรกรจำนวนมากยังคงต้องการใช้สารเคมี


 


"เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เรื่องสารเคมี หรือแม้กระทั่งเรื่องจีเอ็มโอ เพราะประชากรโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าไม่ยุติธรรมนักหากจะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยการป้ายสีเกษตรเคมี เพราะมันมีประโยชน์หากใช้อย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาเราใช้เกินขนาด ยังไงก็ตามเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องดีที่ควรทำกันต่อไป คิดว่าคงไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อกันอยู่แล้ว" วิสัยทัศน์ของนักธุรกิจค้าสารเคมี ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งมันอาจสะท้อนสถานภาพของเกษตรอินทรีย์ที่ยังยากจะตั้งมั่นในสังคมไทย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net