Skip to main content
sharethis

 



ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เจ ออมันน์


 


เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2549 ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เจ ออมันน์ (Robert J Aumann) นักคณิตศาสตร์ชาวอิสราเอล เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2548 เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อแสดงปาฐกถาเรื่องสงครามและสันติภาพ (War and Peace) ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


 


ประเด็นสำคัญในการปาฐกถาครั้งนี้คือการใช้ "ทฤษฎีเกม" อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการก่อสงครามทั่วโลก และศาสตราจารย์ออมันน์ระบุอย่างชัดเจนว่า "สงครามและความขัดแย้งทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของความทุกข์แห่งมนุษยชาติมาโดยตลอด"


 


ทฤษฎีเกม (Game Theory) ถูกคิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย จอห์น ฟอน นิวแมน (John von Neumann) นักคณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ว่าด้วยระบบการวิเคราะห์และสรรหากลยุทธ์ (Strategy) มาใช้ในการเล่นเกม ซึ่งผู้เล่นจะต้องมีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป และทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์กัน (Interaction) โดยที่การกระทำของฝ่ายหนึ่งมีผลกับอีกฝ่ายหนึ่ง และผลลัพธ์ (Outcome) ที่ได้เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายใช้กลยุทธ์ของตนต่อสู้กันในเกม เพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนสูงสุด  


 


ต่อมา ทฤษฎีนี้ถูกนำไปใช้อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่ใช้กลยุทธ์ของตนเพื่อการแย่งชิงผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งสงครามระหว่างประเทศ


 


โรเบิร์ต เจ ออมันน์ และ โทมัส ซี เชลลิง (Thomas C. Schelling) เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ร่วมกันนำทฤษฎีเกมมาพัฒนาต่อ จนกลายเป็นทฤษฎีเกมแบบเกิดซ้ำ (Repeated Game Theory) ซึ่งอธิบายการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้เล่นหลัก (Major Player) และผู้เล่นรอง (Minor Player) แต่ทั้งสองฝ่ายอาจมีปฏิสัมพันธ์กันโดยขาดดุลยภาพ (Equilibrium) ทำให้ผู้เล่นรองต้องการเอาคืนด้วยการลงโทษ (Punish) อีกฝ่าย จนกระทั่งการต่อสู้ในเกมกลายเป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า (Repeated Game)


 


จากนั้นจึงมีผู้นำทฤษฎีของออมันน์ไปอธิบายเรื่องสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากทั่วโลก


และด้วยทฤษฎีดังกล่าว ทำให้ศาสตราจารย์ออมันน์และเชลลิงส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีที่ผ่านมา


 


ในการปาฐกถาเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2549 ณ หอประชุมใหญ่ของจุฬาฯ ออมันน์ได้กล่าวว่า "เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องของการแสวงหาแรงจูงใจ" และเขาได้เชื่อมโยงคำพูดดังกล่าวเข้ากับการทำสงคราม โดยระบุว่าการทำสงครามเกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ (Rationale) เพราะสงครามคือแรงจูงใจในการต่อสู้กันของมนุษย์


 


การแก้ปัญหาเรื่องสงครามและความขัดแย้งในทัศนะออมันน์จึงถูกเปรียบเทียบกับการรักษาอาการเจ็บป่วย เช่น โรคมะเร็ง โดยออมันน์กล่าวว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่อาจหายขาดได้ ถ้าหากไม่มีการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา ซึ่งก็คือเซลล์มะเร็ง และควรจะมีการตรวจสอบดูว่าเซลล์ดังกล่าวมีกระบวนการทำงานอย่างไร เมื่อเข้าใจการทำงานของเซลล์แล้วก็จะสามารถหาทางป้องกันและแก้ไขได้เอง


 


เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาเรื่องสงคราม จะต้องค้นคว้าไปถึงต้นตอของความขัดแย้งทั้งหลายให้ได้ จากนั้นจึงค่อยเตรียมเครื่องมือหรือกลไก (Mechanics) ที่จะต่อกรกับปัญหา ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาของออมันน์จึงพูดถึงการรักษาอำนาจที่สมดุลย์ (หรือการรักษาดุลยภาพ) เอาไว้ระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย


 


ตัวอย่างสำคัญที่ออมันน์ยกมาอ้างถึงคือการทำสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย โดยกล่าวว่าแม้สงครามเย็นจะกินเวลายาวนานหลายสิบปี แต่ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครกล้าลงมือก่อสงครามสู้รบ หรือ Hot War เต็มรูปแบบ เนื่องจากอเมริกาและรัสเซียต่างครอบครองอาวุธปรมาณูที่มีอานุภาพร้ายแรงทั้งคู่ ทำให้ไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้น จึงถือเป็นการรักษาดุลยภาพอย่างหนึ่ง


 


นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ออมันน์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่าการทำสงครามอย่างต่อเนื่องคือการรักษาดุลยภาพอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อผู้เล่นทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันจนถึงจุดที่ไม่มีอไรจะสูญเสียอีกต่อไป เมื่อนั้นทั้งสองฝ่ายจะหันมาต่อรองหรือหาข้อตกลงร่วมกัน (Cooperation) ในที่สุด การผลักดันให้ปลดอาวุธและยุติการต่อสู้จึงไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้เกิดสันติภาพ เพราะเป็นการเร่งรัดให้เกมของผู้เล่นสิ้นสุดลงก่อนเวลา และไม่ใช่การร่วมมือกัน (Cooperation) ตามที่ควรจะเป็น


 


นอกจากนี้ มีผู้เข้าฟังการปาฐกถาสอบถามถึงการนำทฤษฎีเกมไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงอิสราเอล เลบานอน และปาเลสไตน์ แต่ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากศาสตราจารย์ออมันน์ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ก็มีการตอบคำถามส่งท้ายว่าการหาตัวผู้กระทำผิดในสงครามแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะผู้เล่นทุกฝ่ายย่อมมีเหตุผลของตนเอง จึงไม่มีฝ่ายใดถูกหรือผิดอย่างแท้จริงในการทำสงคราม


 


"การสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความพยายามที่จะผันแปรแรงจูงใจส่วนบุคคลให้กลายเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม" ศาสตราจารย์ออมันน์กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2548 ได้มีผู้ชุมนุมประท้วงสถาบันโนเบลที่มอบรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้แก่ศาสตราจารย์ออมันน์ โดยให้เหตุผลว่าทฤษฎีเกมแบบเกิดซ้ำของออมันน์มีส่วนโน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่าการก่อสงครามคือความชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการถอนรางวัลดังกล่าว แต่คณะกรรมการผู้พิจารณามอบรางวัลโนเบลปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว (http://www.stateofnature.org/leftCorner.html) โดยให้เหตุผลว่ารางวัลที่มอบนั้น เป็นการให้เกียรติในฐานะที่ศาสตราจารย์ออมันน์พัฒนาทฤษฎีเกมจนทำให้มนุษยชาติมีหลักเกณฑ์ในการทำความเข้าใจต้นตอของการเกิดสงครามและความขัดแย้งได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net