Skip to main content
sharethis


 


 


สุพจ จริงจิตร


รวยริน เพชรสลับแก้ว



 


วันนี้ ความรุนแรง ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไขให้คลี่คลายไปได้โดยง่าย ยังความสูญเสียมหาศาลแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นถิ่นสูงยิ่ง นำความแตกแยกขัดแย้งที่ทวีสูงขึ้นทุกทีเข้ามาในท้องถิ่นแห่งนี้ ชนิดยากจะเยียวยาแก้ไขได้โดยพลัน


 


ทำไม ถึงเป็นเช่นนั้น บทวิเคราะห์ชนิดตรงไปตรงมาของ "ผศ.ปิยะ กิจถาวร" รักษาการคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ผ่านชีวิตการเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง ในตำแหน่งปลัดอำเภอในท้องที่แห่งนี้มาก่อนที่จะพลิกผันมาใช้ชีวิตนักวิชาการในพื้นที่แห่งความรุนแรงในวันนี้ จึงนับเป็นมุมมองที่น่าสนใจยิ่ง


 


ต่อไปนี้ คือ มุมมองอันแหลมคม ที่หลอมผ่านชีวิตข้าราชการฝ่ายปกครองผนึกเข้ากับความเป็นนักวิชาการ ผู้คร่ำเคร่งอยู่กับงานวิจัยในสนาม นาม "ปิยะ กิจถาวร" ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ ที่ถอดจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ


 


0 0 0


 


วิเคราะห์ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร


ทุกคนชอบพูดว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมานาน ผมลองขีดเส้นดู เป็นเส้นของเวลา ระหว่างปี 2533 - 2547 ว่า มันเกิดอะไรขึ้น


 


เหตุผลที่เริ่ม 2533 เพราะเป็นปีที่มีการชุมนุมประท้วงกันที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี การชุมนุมครั้งนั้น มีแบบแผนหลายอย่างคล้ายกับปัจจุบัน เช่น เป็นการลุกขึ้นมาของคนหนุ่มสาว มีกลุ่มคนเรียกตัวเองว่ากลุ่มชีอะห์ ไปชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ มีการปิดถนน ตอนหลังกลุ่มนี้ก็ถูกสลายไป


 


ผมขออ้างอิงคำอธิบายของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์บอกว่าการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ เป็นรูปแบบใหม่ของการต่อสู้ เป็นการต่อรองเรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมกับสังคมไทย


 


ครั้งนั้น มีการพูดถึงตำนานความเชื่อของคน 2 กลุ่ม ที่ไม่ตรงกัน มีการตั้งเงื่อนไขเพื่อต่อรองกดดันกันและกัน สุดท้าย การชุมนุมประท้วงก็ถูกสลาย


 


เราเริ่มเห็นการต่อสู้ในเชิงอัตลักษณ์ เห็นความคิดความเชื่อบางอย่างเกิดขึ้น


 


ปี 2536 มีการเผาโรงเรียน 34 โรง ตอนนั้นก็มีหลายทฤษฎี แล้วแต่จะอ้างกันไป แต่ที่แน่ๆ คือ มีแบบแผนในการลงมือปฏิบัติพร้อมกันทุกจุด และมีบางจุดที่ทำไม่สำเร็จ คำว่าพร้อมกันต้องมีคน ต้องมีการวางแผนที่ดี และมีการประสานงานที่ดี มีงบประมาณที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง


 


บทความของนิตยสารข่าวพิเศษ - อาทิตย์วิเคราะห์รายสัปดาห์ ปี 2537 วิเคราะห์ว่าการเผาโรงเรียน 34 โรง เป็นปฏิบัติการของคนรุ่นใหม่ ใช้วิธีการรวมตัวกันเผา ไม่ใช่เป็นการทดลอง แต่เป็นปฏิบัติการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถบางอย่าง ไม่ต้องการมวลชน ไม่ต้องการต่อรองกับรัฐ เป็นกลุ่มคนที่เคร่งอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อรัฐอิสระ


 


ตั้งแต่ปี 2536 - 2545 เหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นระยะ อาจจะเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคลื่อนไหวอยู่บ้าง อย่างพวกเรียกค่าคุ้มครอง แต่ก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์บางอย่างเปลี่ยนไป เช่น ปี 2545 มีการจับคนไปเรียกค่าไถ่ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แล้วนำไปฆ่าตัดหัว นี่เป็นรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม


 


เท่าที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสได้รับฟังอะไรอยู่บ้าง มันเป็นการผสมผสานระหว่างกลุ่มเรียกค่าคุ้มครอง กับกลุ่มที่มีความเชื่อในแนวทางรุนแรงแบบใหม่ จะเห็นว่าเมื่อมีการต่อรองเจรจาไม่ได้ ก็ฆ่าทิ้งซะเลย ที่เห็นได้ชัดการตัดหัวเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่เคยมีมาในอดีต


 


มีข้อวิเคราะห์อันหนึ่ง ลอกมาจากอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน จากฟ้าเดียวกัน ตั้งโจทย์ว่าถ้าเป็นปัญหาศาสนาอิสลาม มุสลิมในประเทศไทยมีกว่า 30 จังหวัด ทำไมไม่มีปัญหา แล้วทำไม 3 จังหวัดถึงได้เกิดปัญหามากขนาดนี้ คำอธิบาย คือ เพราะรัฐไม่ยอมรับความเป็นมลายู คนมลายูก็เลยยกเอาศาสนาอิสลามขึ้นมาใช้เป็นอาวุธต่อสู้


 


ขณะที่บทความของอาจารย์จรัญ มะลูลีม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหนังสือพิมพ์มติชนกลับมองว่า เป็นแนวทางวิทยะปัญญาของพระเจ้า เป็นเรื่องวิธีคิดของคนกลุ่มใหม่ ที่เชิญชวนคนหนุ่มที่มีสติปัญญาดี เชื่อวิธีที่เหนือความจริง แล้วดึงเงื่อนไขทางสังคมขึ้นมาปลุกระดม ตั้งแต่เรื่องความไม่เป็นธรรม เงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมลายู การกดขี่ของรัฐ ถูกนำมาปลุกระดมให้คนเหล่านี้ ลุกขึ้นต่อสู้ตามแนวทางของพระเจ้า


 


จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ มีการผสมผสานกันหลายอย่าง แนวทางความเชื่อ บางอย่างถูกนำเข้ามา แต่รากลึกของปัญหาดั้งเดิม ผมเชื่อว่าเกิดจากความเป็นมลายู มลายูที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ขาดโอกาสในชีวิต เด็กหนุ่มๆ จะถูกชักจูงด้วยพื้นฐานความเป็นมลายูอิสลามปัตตานี จึงถูกโน้มน้าวได้ง่าย


 


ตัวปัญหาซ้อนทับกันอยู่ ถ้าเราแยกไม่ชัด เพราะถูกวิธีคิดของโลกตะวันตกครอบงำ ก็จะมองว่าอิสลามเป็นปัญหา ซึ่งผมไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง และพวกเรากำลังจะถูกทำให้เชื่อว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ให้ได้ ถ้าทำให้อิสลามเป็นปัญหาเราแพ้แน่นอน เพราะเท่ากับเรากำลังต่อสู้อยู่กับศาสนา ความเชื่อ ความศรัทธา มันแพ้ในตัวมันเองอยู่แล้ว สงครามศาสนาไม่เคยมีใครชนะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด


 


ปัญหามันซับซ้อน เพราะขณะที่ฝ่ายโน้นใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ทั้งที่รากแท้จริงลึกๆ แล้ว ไม่ได้มาจากศาสนา แต่เป็นปัญหาจากพวกแนวคิดสุดโต่ง ที่ต้องการความยอมรับเพื่อให้สามารถต่อสู้ได้ เมื่อกำลังไม่สมดุล จึงหันไปใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เราจะเห็นปรากฏการณ์การก่อการร้ายสมัยใหม่เป็นแบบนี้กันทั่วโลก


 


มีกี่ปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่


ผมว่ามีอยู่ 2 ด้าน หนึ่ง ปัญหากลุ่มก่อความรุนแรง สอง ปัญหาวิธีการจัดการของรัฐ ทั้ง 2 ด้านเปรียบเสมือนขั้วไฟฟ้า ถ้ากระทบกันก็จะเกิดการสปาร์กขึ้นมา เกิดการขยายตัวรุนแรงมาก ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา 2 - 3 ปี เป็นอย่างนี้จริงๆ


 


เมื่อเกิดปัญหาทั้ง 2 ด้าน เราจะทำอย่างไร คำตอบ ก็คือ ต้องแก้ปัญหาทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งกลุ่มที่ก่อความรุนแรง เขาอาศัยชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์อย่างเดียว ทำให้สามารถซ่อนเร้นกลมกลืนแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน กลายเป็นนักต่อสู้กอบกู้เอกราช ฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านได้


 


คำถามคือว่า ทำไมยิงปั๊บหายตัวปั๊บ ทั้งที่สิ่งที่เขาทำชาวบ้านก็รับไม่ได้ เพราะทารุณโหดร้ายมาก แล้วทำไมเขาจึงยังฝังตัวอยู่ได้


 


คำตอบก็คือ เขาอาศัยศาสนาเป็นเกราะคุ้มครอง และอาศัยเงื่อนไขการกระทำบางอย่างของรัฐที่ชาวบ้านรับไม่ได้ ซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์ เข้ามาเป็นตัวเกื้อหนุน วิธีคิดก็คือว่า ถ้าเราจะแก้ไขปัญหาของฝ่ายโน้น คำตอบก็คือเราต้องขจัดเงื่อนไขสงคราม และปราบปรามการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด


 


ถ้าถามว่าเงื่อนไขสงครามเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ อะไรที่มันไม่ถูกไม่ต้องก็ทำให้มันถูกซะ เช่น ข้าราชการที่ไม่ดี ถามว่ามีไหม ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ที่แน่ๆ ขณะนี้ขวัญกำลังใจข้าราชการไม่เหลือเลย


 


ผมว่าข้าราชการเป็นเครื่องมือสำคัญ ถ้าต้องการแก้ปัญหา เราต้องทำให้เครื่องมือเหล่านี้เข้มแข็ง มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีขวัญกำลังใจที่จะทำงาน โดยข้อเท็จจริงในขณะนี้ ผมคิดว่ายังห่างไกลมาก ข้าราชการเปรียบเสมือนเครื่องมือในการแก้ปัญหา ถ้าเราใช้เครื่องมือที่อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องมือเดียว ในขณะที่ปัญหามีหลายมิติโยงใยกัน โอกาสที่จะแก้ปัญหาได้จริงก็มีน้อย


 


ส่วนเราจะทำอย่างไรกับฝ่ายเขา อันนี้ต้องแยกแยะ เรื่องศาสนาเราจะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราไปตีความว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือของฝ่ายโน้น เราก็ใช้ศาสนาเข้าไปต่อสู้ ขณะที่เราเป็นคนนอกศาสนาของเขา วิธีการที่เราใช้ ก็คือ ดึงโต๊ะอิหม่ามเข้ามามีบทบาท เข้ามามีส่วนร่วม ผิดบ้างถูกบ้าง


 


ถ้าถามว่ามันแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า เราก็เห็นว่ามันไม่ได้เข้าไปสัมผัสตรงหัวใจได้จริง ถ้าถามผม ผมว่าเรื่องศาสนาเราอย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เขาปฏิบัติตามวิถีทางที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องความผิดถูกทางกฎหมาย ให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น แยกแยะให้ชัดเจน ไม่ใช่พอเกิดเรื่องให้ผู้นำศาสนาไปอธิบายอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมว่าเราผิดทางทันทีเลย


 


ถ้ามีผู้ร้ายไปฆ่าคน ก็ต้องบอกออกมาว่า เป็นใคร อย่าไปแตะต้อง หรือต้องไม่เชื่อมโยงให้เข้าไปเกี่ยวกับสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางศาสนา หรือสถาบันการศึกษา เพราะจะกลายเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ถ้าเราทำแบบนั้น ผมว่าเราแพ้ เพราะกลายเป็นว่าเรากำลังสู้กับสถาบัน เราไม่ได้สู้กับตัวบุคคล


 


อย่างตอนนี้รัฐจะตั้งวิทยาลัยอิหม่าม คำถามก็คือว่า รัฐทำทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้เขาพัฒนาตัวเอง ตามวิถีทางของเขา ศาสนจักรกับอาณาจักรโดยหลักการของเรามันแยกกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน เราก็รู้ดีว่ามุสลิมเขาไม่แยก พอเราเข้าไปแตะมันก่อให้เกิดความรู้สึกในทางที่ดีหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ นอกจากเขาอยากได้อะไรก็บอกมา เราอยากเอาใจเขาเราก็ทำให้ ดีไม่ดีพอเขาทำเราก็ไม่เชื่อเขาอีก มันระแวงกันไปหมด ทำไมไม่ให้เขาทำไปตามธรรมชาติของเขา


 


เรื่องของบุคคล ถ้าเจอหลักฐานทำผิด ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย อย่าไปโยงใยกับสถาบันโดยเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเราจะแพ้ เราจะถูกทำให้หลงทาง


 


ส่วนตัวเลขพื้นที่สีแดงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง 45% ตลอดแนวเทือกเขาบูโด 55% อันนี้ได้มาตอนเป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เราขอรายชื่อหมู่บ้านและอำเภอ ที่มีการเคลื่อนไหวสูงจากฝ่ายความมั่นคงมาดู ซึ่งมีเสียงไม่เห็นด้วยเยอะ แต่ผมว่ามันมีข้อมูลอะไรอยู่ ก็ลองเอามากางดู


 


ผมมีความเชื่อว่า ถ้าทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี ไม่ต้องถึงกับร่ำรวย ทำงานได้อยู่ดีมีสุขในระดับหนึ่ง จะลดเงื่อนไขได้เยอะ เป็นตัวกันกระแทกที่ดี อย่างหมู่บ้านประมง ผมว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุด ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ผ่านมา 20 ปี ก็ยังไม่มีใครแก้ได้ ทั้งที่ยอมรับกันแล้วในระดับประเทศ บอกว่าจะแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ ผมเลยใช้ตรงนี้มาเป็นตัวอ้างอิง ทั้งที่ความจริงจนกันมานานแล้ว


 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 - 5 เป็นการก่อตัวและการรุกคืบของแนวคิดในการพัฒนา การพัฒนา ถ้าแปลกันตรงไปตรงมา ก็คือ การเข้าไปใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น โดยทุน โดยรัฐ โดยรูปแบบไหนก็แล้วแต่


 


พอเอามากางดูเราเห็นได้ชัดว่า บริเวณชายฝั่งเป็นสีแดงตั้ง 45% อีกที่ คือ เทือกเขาบูโด - สุไหงปาดี ผมเข้าไปชวนชาวบ้านทำงานวิจัยอยู่ประมาณ 2 - 3 ปี ชาวบ้านเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังว่า ตั้งแต่ในอดีตมีการต่อสู้ปราบปรามกันมาตลอด ผมเข้าไปดูว่า ปัญหาจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น เงื่อนไขทางกลุ่มเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการ ความจงรักภักดีของเชื้อสายขุนนางเก่า เห็นรูปแบบการปราบปรามที่แรงกันไปแรงกันมา สุดท้ายก็ตายกันทั้งสองฝ่าย แล้วค่อยๆ หายไป


 


พอคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาปัจจุบัน เห็นชัดเจนเลยว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี 2542 ทำให้เขาเดือดร้อน และเขาไม่พอใจมาก เพราะพื้นที่ทำกินและผลอาสินต่างๆ ถูกยึดครองโดยรัฐ ทั้งที่สถานการณ์ในระยะหลังมันคลี่คลายดีขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ความไม่พอใจอาจจะยังมีอยู่บ้าง


 


พอมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เรื่องนี้ก็กลายเป็นเงื่อนไข สังเกตให้ดีเราจะเห็นปฏิกิริยาความไม่พอใจมาตั้งแต่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ จัดเวทีเรื่องนี้เมื่อไหร่ มีการล้มเวทีกันทุกที ตกลงกันไม่ได้ ไม่พอใจกันทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม


 


พอดูข้อมูลมันก็อธิบายได้ว่า เขตอุทยานแห่งชาติทั้งหมด ครอบคลุม 9 อำเภอ อยู่ตรงบริเวณรอยต่อของ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พอไล่ดูพื้นที่ตรงนี้ พบว่าเป็นพื้นที่สีแดงถึง 55% ถามคนเฒ่าคนแก่ว่า ปัญหาอุทยานแห่งชาติเกี่ยวกับการก่อการร้ายไหม เขาก็ตอบไม่ได้


 


ผมว่าตรงนี้เราต้องทำให้ดี ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าสิทธิของเขาได้รับการยอมรับ เขาได้รับความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง มันจะเป็นตัวกันกระแทก อย่างน้อยก็ลดความไม่พอใจ


 


ที่เสนอมาทั้งหมดนี้ ผมคิดอย่างเดียวว่า เวลาจะสู้กับกลุ่มโจรสุดโต่งอย่าใช้เพียงแค่กำลังเท่านั้น ต้องใช้วิธีการอื่นด้วย ต้องจัดการให้ถูกต้องเป็นธรรม ถ้าเป็นศัพท์สมัยก่อนก็ต้องขจัดเงื่อนไขสงครามซะ ตรงไหนที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกกดขี่ข่มเหง ก็คลี่คลายผ่อนปรนเสีย


 


สำหรับปฏิกิริยาของชาวบ้าน ขนาดคนในเมืองไม่ได้อยู่ในพื้นที่ยังรู้สึกไม่ดี เท่าที่สัมผัสได้ คือ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันเกิดประปรายอยู่ตลอดเวลา ผมว่ามันมีแบบแผนของมัน เช่น ถ้าเกิดที่นราธิวาสแล้ว เกิดที่ยะลาแล้ว ต้องระวังปัตตานีให้ดี มันวนอยู่แบบนี้ ก็มีคำอธิบายเยอะว่า มีกลุ่มเป็นเซลล์ทำงานอิสระ ปฏิบัติการไปเรื่อย มีเสรีในการปฏิบัติ ตามจังหวะเวลาและโอกาส


 


การจะทำแบบนี้ได้ต้องใช้แนวร่วมจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นคำอธิบายให้เห็นว่า เราให้ความสำคัญกับมวลชนในการแก้ปัญหาน้อยไป มวลชนที่เราทำ คือ เอาไปเที่ยว มันสร้างปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมาอีก เช่น เอาเด็กไปเที่ยว ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี พอกลับมาก็จะมีคำถามกันว่า ไปทำอะไร ปฏิบัติถูกต้องไหม ผมว่าที่สำคัญที่สุดคือ พอเอาออกไปแล้ว มันเหมือนกับว่าเราทำงานมวลชนแคบไป เราหวังว่าจะทำกับเด็ก 20 - 30 คน พาไปเที่ยวเชียงใหม่ กลับมาทุกคนมีความสุข แต่การฝังรากลึกและการเคลื่อนงานมวลชนในพื้นที่ เรากลับไม่ได้ทำ ก็สงสัยกันว่าไปแล้วเป็นบวกหรือไปแล้วเป็นลบ เราไม่สามารถรู้ได้เลย ยิ่งเจอกระบวนการข่าวลือ ผมว่าเราไม่ได้กำไรเท่าไหร่


 


หมายความว่างานมวลชนเราไม่ได้ยึดพื้นที่


ตอนนี้ยังดี การจัดแห่ทั้งหลายน้อยลงหน่อย ไม่งั้นเราจะเห็นขบวนชูธงครูจูหลิง ปงกันมูลเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว มันไม่มีประโยชน์ เป็นการบั่นทอนทรัพยากร ผมก็ทราบเหมือนกันว่า ทหารกำลังเข้าไปส่งเสริมอาชีพ เข้าไปทำปุ๋ยอีเอ็ม เลี้ยงปลา แต่ไม่รู้ว่าทหารที่เข้าไป มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้งตรงนี้แค่ไหน เป็นปัญหาชาวบ้านจริงขนาดไหนเราไม่รู้


 


ปัญหาจะคลี่คลายได้ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความเป็นธรรม ไม่ได้แปลว่าขึ้นโรงพักขึ้นศาลเท่านั้น แต่ความเป็นธรรมหมายถึงปัญหาเขาได้รับการดูแลแก้ไข ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียวนะ เรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องปากท้องกับเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน คือ ถ้าเศรษฐกิจก็จะมาตัดถนน สร้างโน่นสร้างนี่ ซึ่งมันไม่ใช่ เรื่องปากท้องมันเป็นเรื่องอาชีพ ที่จะต้องได้รับการดูแล


 


ผมว่าช่วงนี้ยังดีที่ยางพาราแพง เป็นตัวทุเลาได้เยอะ แต่ละวันที่ปัตตานีจะเงียบ การค้าขายเกือบจะนิ่ง พอมีข่าวลือตลาดก็จะเงียบ ผักผลไม้ขายไม่ได้ แต่ยังดีที่มีเบาะรองรับที่สำคัญ คือ ราคายางพารา ถ้าไม่อย่างนั้น ผมว่าสถานการณ์จะรุนแรงหนักกว่านี้ ใครเข้ามาชักจูงอะไรก็ไปได้ง่าย


 


ถามว่าฝ่ายโน้นต้องการอะไร เขาไม่มีสิทธิ์ยึดพื้นที่หรอก แต่ถ้าเขาคิดจะยึดมวลชนเขามีสิทธิ์ อย่างยึดค่ายทหาร ยึดศาลากลาง เดี๋ยวก็ยึดคืนกลับมาได้ ที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้ยึดพื้นที่ เขายึดมวลชน ใช้ความกลัวและการปลุกระดมหลายๆ ด้าน กำลังหลักไม่แน่ชัดว่าเป็นคนกลุ่มไหน อันนี้แตกต่างกับการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ ที่นี่ฐานที่มั่นตั้งอยู่ตรงไหนก็ได้ ขอให้มีคนมีใจเข้าร่วมก็พอ


 


กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวอยู่ เชื่อมโยงกับขบวนการต่อสู้ในต่างประเทศหรือไม่


ผมว่าเชื่อมโยงมานานแล้ว สมัย 20 กว่าปีก่อน ก็ไปฝึกอาวุธกัน ตรงนั้นเป็นเงื่อนไขภายนอก เงื่อนไขสำคัญ คือ เงื่อนไขภายใน เพราะต่อให้ฝึกมาดีอย่างไร ถ้าเงื่อนไขภายในไม่เอื้ออำนวยเขาก็สู้ไม่ได้


 


อีกอันที่เห็นได้ชัด คือ การรับเอาอุดมการณ์แนวคิดต่างๆ มา แล้วซ่อนตัวซ่อนเร้น ใช้เวลาพัฒนาการพอสมควร จึงออกมาปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้ ผมว่ามีการเชื่อมโยงแน่นอน อุดมการณ์ร้อยเปอร์เซ็น ความเชื่อต่างๆ แบบแผนที่เขาใช้ เรายังไม่ค่อยเข้าใจ รัฐไทยไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิด ไม่รู้ว่าเขาศึกษามากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจสูงมาก ไม่ใช่ไปเชื่อตามสูตรอัลกออิดะห์อะไรทำนองนั้น จริงไม่จริงเราไม่รู้


 


ผมคิดว่าเราเข้าใจขบวนการก่อการร้าย ที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้น้อย เราถึงได้ยินอยู่เสมอว่า เป็นเรื่องยาเสพติดบ้าง อะไรบ้าง เรายังเข้าใจน้อยมาก ความไม่เข้าใจมันมีผลต่อยุทธศาสตร์ ที่เห็นมันสะเปะสะปะมาตลอด


 


เราเห็นได้ชัดว่า การตอบโต้ทางวาทกรรมของรัฐบาลผิดตลอด จะไม่เห็นภาพร่องรอยของการตอบโต้ทางความคิด กลับกลายเป็นเรื่องของการป้ายสี การเบี่ยงเบนประเด็น การทำลายความชอบธรรม แต่ไม่มีการต่อสู้ในเชิงความคิด เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น คำตอบที่จะนำไปสู่การยุติปัญหา จึงยังอยู่อีกไกล


 


ความพยายามที่จะให้ผู้นำศาสนาออกมาประกาศว่า เป็นการต่อสู้ที่ไม่ถูกต้อง ก็ไม่มีผู้นำคนไหนกล้าออกมาพูด เพราะมันมีทั้งถูกและผิดอยู่ในตัวมันเอง


 


เมื่อก่อนมีการอบรมข้าราชการ อธิบายกระบวนการโครงสร้าง อุดมการณ์ ความเชื่อ วิธีการ ต่อสู้ เมื่อเห็นโครงสร้างเห็นระบบต่างๆ ของกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มพูโล เวลาเราทำงานมันก็เหมือนกับเห็นตัวมาก่อนแล้ว แต่มาตอนนี้เราไม่เห็นตัว เรากลัว พอกลัวเราก็มั่ว พอมั่วแล้วมักจะผิด ทำให้เกิดการขยายผลโดยไม่จำเป็น เพราะเราทำความเข้าใจกับตรงนี้น้อยมาก


 


ที่จริงบทบาทตรงนี้ นักวิชาการต้องช่วยทำด้วย ผมเห็นด้วยว่าต้องต่อสู้ทางความคิดให้มากกว่านี้ เราต้องศึกษา มันมีความรู้ที่จะอธิบายสิ่งเหล่านี้หมดแล้ว เพียงแต่เราจะไปดึงมันมาใช้ได้จริงหรือเปล่า เพราะไม่อย่างนั้น ข้าราชการจะรู้สึกว่าไม่รู้ศัตรูเป็นใคร


 


สภาพข้าราชการตอนนี้ หนึ่งกลัว สองเกลียด ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรกับตัวเองเมื่อไหร่ ทางฝ่ายโน้นก็ฉลาด ทำตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย เขตการต่อสู้มันเริ่มเป็นสัญลักษณ์มากขึ้น น่ากลัว เพราะเห็นรูปธรรม เช่น จังหวัดปัตตานีจัดงานไก่กอและ ปีนี้แม่ค้าบอกว่าขายของไม่ค่อยได้ เพราะคนจีนในเมืองไม่ค่อยมาซื้อ เนื่องจากคนขายเป็นมุสลิม พอถึงคราวคนจีนจัดงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มุสลิมก็หมั่นไส้ เพราะเห็นว่าจัดงานเจ้าแม่ใหญ่โต หาว่ารัฐบาลลำเอียงหรือเปล่า แล้วเรื่องแบบนี้ไม่มีสิทธิ์คิดเฉพาะพุทธหรือมุสลิม คนอื่นๆ ก็มีสิทธิ์คิดเหมือนกัน มันปะทะกันอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้มันเป็นเงื่อนไขสะสม


 


การก่อเหตุความรุนแรง ผู้ก่อความไม่สงบทำมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐแน่นอน ตัวเลขจากงานวิจัยของอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีระบุว่า เป็นฝีมือผู้ก่อความไม่สงบประมาณ 80% เท่ากับเราทำไปหนึ่ง ขาดทุนเป็นร้อย ทำไม่มากแต่กลายเป็นเรื่องเล่าไม่รู้จบ เช่น เรื่องอุ้ม พอเช็คตัวเลขจริงแค่ 20 - 30 แต่มันถูกขยายเร็วมาก กลายเป็นว่า มีคนถูกอุ้มเป็นร้อย เป็นพัน ผู้นำพูดเสมอว่า ในหมู่บ้านไม่มีใครเข้าไปพูดไปอธิบายเรื่องนี้ เราก็รู้ว่าในหมู่บ้านมีกลุ่มจัดตั้ง เขาทำงานกันตลอดเวลา เขาอธิบายกันเอง


 


ผมไม่อยากให้มองปัญหาที่เกิดเฉพาะ ปี 2547 - 2549 แต่อยากให้มองไปถึงปี 2533 ผมพยายามอธิบายให้มันเป็นสัญลักษณ์มากขึ้น สัญลักษณ์ที่เราเห็น คือ คนไทยพุทธฆ่าได้ เพราะในประวัติศาสตร์เคยรังแกเขา นี่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปในเชิงสัญลักษณ์ เมื่อก่อนยังมีการแยกแยะ ตอนนี้เลยเกิดความรุนแรงแบบไม่มีขอบเขต มันดูโหดร้าย นี่คือ การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์


 


แนวโน้มจะเป็นอย่างไร


ผมว่า ตอนนี้สองฝ่ายกำลังสาดน้ำเข้าหากัน วิธีการที่ดี คือ รัฐต้องทำงานให้แม่น จากร้อยรายเอาให้แม่นสักหนึ่งราย เหมือนกรณีฆ่าพระวัดพรหมประสิทธิ์ จับให้แม่นและมีคำตอบ มีคำอธิบายที่ชัดเจน สร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมเยอะๆ แต่ถ้าไม่แม่นก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าในหมู่บ้าน ถูกทหาร - ตำรวจรังแก จับแพะ จับผิดตัว เหมือนที่ผ่านมา รัฐต้องทำให้แม่นยำและหนักแน่น


 


ตอนนี้รัฐยังเข้าไปในสังคมของเขาได้ แต่ขาดเอกภาพ ทหารเข้าไปทำงานมวลชน ปลูกผักเลี้ยงปลา แต่เดี๋ยวเดียวตำรวจก็เข้าไปจับคนในหมู่บ้าน ครูเข้าไปสอนหนังสือ ก็เลยพลอยถูกจับถูกทำร้ายเหมือนกับที่ครูจูหลิงโดน


 


ถามว่าครู ทหาร ตำรวจ เป็นฝ่ายใคร เป็นฝ่ายรัฐ แล้วเขาทำงานกันอย่างไร เราก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าทำอะไรให้แม่น มีงานมวลชน เป็นเอกภาพ กรณีแบบครูจูหลิงก็ไม่เกิด ถ้าตำรวจมาปรึกษาทางอำเภอก่อนว่า จะจับคนนี้นะ แล้วบอกครูว่าอย่าไปโรงเรียน ซึ่งในทางปฏิบัติไม่รู้จะทำได้จริงหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวบอกครูแล้วข่าวจะรั่ว เมื่อเป็นแบบนี้ พอพวกนั้นโดนตำรวจจับ ชาวบ้านก็เข้าไปทำร้ายครู


 


ส่วนหน่วยรักษาความปลอดภัยครู ก็กลายเป็นเป้าล่อทุกวัน เขาจะทำอะไรตรงไหน อย่างไร ก็ทำได้ง่าย แบบนี้ผมว่ามันต้องมาดูกัน ไม่ใช่บอกว่าเป็นหน้าที่ของทหาร ทหารก็ไป ถ้าตายก็ตายเพื่อชาติ ต้องดูว่ากำลังที่เรามีอยู่ในพื้นที่ เราจะเอามาใช้อย่างไร เรามีสถาบันและเครือข่ายเยอะแยะ แต่วิธีการที่ใช้ตอนนี้ เป็นการตั้งรับรอคอยการสูญเสีย การสูญเสียแต่ละทีทำให้สังคมเคียดแค้น แล้วมันจะกลับไปใช้ความรุนแรงตอบโต้ สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง สภาพแบบนี้สรุปได้ว่า เอกภาพและประสิทธิภาพของรัฐมีปัญหา


 


สิ่งที่น่าเสียดาย คือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นแต่ละวัน ไม่โดนเรา เราก็ไม่รู้สึก ถ้าโดนเรา โดนญาติเรา เราก็รู้สึก ผมว่าเป็นโจทย์ใหญ่ ตอนนี้ตัวใครตัวมันอยู่ การเตรียมการทางความคิดไม่ได้ทำเลย มีแต่เตรียมความเคียดแค้นกันไว้เท่านั้น การทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมว่ามีน้อยมาก


 


มองการต่อต้านข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติอย่างไร


ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เป็นข้อเสนอสำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว เขาพยายามอธิบายสาเหตุ พยายามมองผ่านความรุนแรงเฉพาะหน้า เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน แต่สังคมไทยรับไม่ได้ เพราะเขาคิดว่าถ้าแก้อย่างที่ทำกันอยู่ได้ ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาวได้ดี


 


ส่วนที่สังคมรับไม่ได้ เช่น ข้อเสนอให้ใช้ภาษามาลายูเป็นภาษาทำงาน เพราะการใช้คำว่าภาษาทำงาน คนเข้าใจว่า การทำงานของข้าราชการ ต้องใช้ภาษามลายูทั้งหมด แต่จริงๆ เป็นภาษาเพื่อการสื่อสาร ถึงวันนี้เราต้องให้พื้นที่กับคนมลายูแล้ว ลองสังเกตป้ายที่ปาสี ลองไปปักอีกป้ายเคียงข้างกัน เขียนเป็นภาษามลายู ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แล้วลองดูว่า ป้ายจะถูกปาสีไหม แล้วลองดูซิว่าป้ายไหนจะถูกทำลายก่อน มันพิสูจน์กันได้ง่ายๆ แบบนี้


 


บางคนพูดกับผมว่า ยอมแพ้เถอะในทางอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรม เพราะเรายังอยู่ร่วมกันได้ เราพูดฝรั่ง เราใส่สายเดี่ยว ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย ถ้าเป็นแบบนี้มันลดเงื่อนไข ลดความเคียดแค้นให้ลดน้อยลงได้


 


ผมอยากให้ผู้บัญชาการทหารบก นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติไปพิจารณาปรับใช้ อย่างหน่วยสันติเสนา ไม่ได้แปลว่าทหารใส่ชุดขาว ถือศีล แต่จะมีทหารอยู่ชุดหนึ่ง ไม่ใช้อาวุธ เข้าไปทำหน้าที่ในการต่อรอง เข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ ตอนนี้คนเข้าใจว่าไม่ให้ทหารที่มีอยู่ทั้งหมดใช้อาวุธ อย่างนี้ตายเลย


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ พยายามจะบอกว่า เครื่องมือที่มีก็ทำไปแบบเดิม เพียงแต่เติมสันติเสนาเข้าไป เพื่อใช้ในการเจรจา ถามว่าเจรจาได้ไหม รัฐบาลก็ตอบว่าไม่ได้ จะทำให้ทางโน้นมีตัวตนขึ้นมา จริงๆ เขามีตัวตนอยู่แล้ว เต็มพื้นที่ไปหมด


 


การต่อสู้ที่อีกฝ่ายไม่ยอมโผล่ตัวตนออกมา จะให้ไปเจรจากับใคร


คำว่าเจรจาไม่ได้แปลว่า ต้องไปเจรจากับผู้ร้าย ก็เพียงจะบอกว่าการใช้ความรุนแรงแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พยายามทำความเข้าใจ ผมว่าวิธีคิดที่จะไปเจรจากับหัวหน้าโจร เป็นวิธีคิดที่ผิด สมมติเข้าไปในหมู่บ้าน แทนที่จะมองผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นแกนนำผู้ร้าย เราก็เปลี่ยนท่าที ที่นี่มีปัญหาอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ไปมองว่าพื้นที่นี้เป็นโจรกันหมด ต้องไปหาหัวหน้าโจรมาเจรจา อันนั้นเป็นวิธีการเก่าๆ ที่เราคุ้นเคยกันมา ผมว่าการเจรจา คือ การเพิ่มอาวุธในการต่อสู้อีกชนิดหนึ่งเข้าไป ผมอยากให้มองในระยะยาว


 


จะใช้เวลาแก้ปัญหานานขนาดไหน


ถ้ามันยุติได้ภายใน 10 ปี ก็น่าพอใจ ถือว่าเก่งแล้ว แต่ผมว่ามันจะมากกว่านั้น เพราะต้องแก้ปัญหาระดับรากให้ได้ก่อน ตอนนี้ถึงไม่คิดจะแก้ ก็มีการเคลื่อนด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรามีพื้นที่ให้เด็กท้องถิ่นมากขึ้น อาจารย์จะชอบไม่ชอบก็ไม่รู้ แต่คุณต้องยอมรับสิ่งนี้ ผมว่ามันเป็นเงื่อนไขทางสังคม ถ้าเราจัดการไม่ดี คนกลุ่มนี้ก็จะกลับมาต้านรัฐทันที ถ้าเงื่อนไขไม่ดี ผมว่าเหนื่อย


 


ถ้าเราคิดว่า 10 ปี ไม่สาย มันจะนิ่งขึ้น ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ เพื่อเผด็จศึก ผมว่าเจ้าหน้าที่ตายแน่ ลงมาอยู่แค่ 6 เดือน ก็กลับกันไปแล้ว ไม่ได้วางแผนรองรับเหตุการณ์ระยะยาว ถึงเวลาก็ลุกลี้ลุกลนกันไปหมด


 


คนนอกมองว่าที่เด็กมุสลิมได้เรียนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีมากขึ้น เพราะเด็กนอกพื้นที่ไม่ยอมมาเรียน


มันเป็นเรื่องจริง อย่างที่คณะรัฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2549 เด็กที่อยู่ไกลที่สุดมาจากลพบุรี เมื่อก่อนไกลสุดมาจากเชียงใหม่ เชียงราย อีสาน ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ผมว่าที่ยากกว่านั้น คือ เราเตรียมรับกันแค่ไหน


 


อย่างคณะรัฐศาสตร์ เราจัดห้องละหมาดก็หาว่าเราเอาใจมุสลิม แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพียงแค่อำนวยความสะดวกไม่ให้เขาต้องออกไปไกลจากที่ทำงาน ทำให้เขารู้สึกว่า อยู่ในที่ทำงานเขาได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง ได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย ความเข้าใจแบบนี้มันต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อน


 


คิดอย่างไรกับสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับคนมุสลิม


ผมว่ามันลุกลี้ลุกลนกันไปหมด เช่น วิทยาลัยอิหม่าม ผมคิดว่าถ้ามีก็เพื่อความรู้เท่านั้น เรื่องอื่นอย่าไปสนใจ ถ้าคุณเอาเรื่องอื่นเข้ามาด้วย ผมว่ามันมั่วแล้ว มันจะเหนื่อยระยะยาว เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อรอง ถ้าเป็นเรื่องของวิทยาลัยอิหม่าม ต้องมาคุยกันว่า ศาสนาที่นี่ต้องการอะไร บรรทัดฐานทั่วไปเขามีอยู่หรือเปล่า การจัดการมีกี่รูปแบบ ไม่งั้นวิทยาลัยอิหม่ามก็จะกลายเป็นสถาบันการต่อรอง ครอบงำ ชักนำ ต่อสู้อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด กลายเป็นว่าแก้ปัญหาเพี่อสร้างปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการสถาบันเป็นเรื่องเป็นราว ค่อยมาว่ากัน แล้วให้เขาทำกันเอง


 


จำเป็นแค่ไหนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะต้องแยกตัวออกจากวิทยาเขตหาดใหญ่


ผมไม่อยากให้เอาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาผูกกับการแยกไม่แยกออกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมอยากให้มองเรื่องของขีดความสามารถ หรือความรับผิดชอบในทางวิชาการมากกว่า ถ้าอยู่ด้วยกันแล้ว วิชาการเข้มแข็ง ตอบปัญหาชุมชนได้ก็อยู่ แต่ถ้าอยู่แล้วมันตอบไม่ได้ ก็ต้องไป มันแล้วแต่มหาวิทยาลัยจะวางวิสัยทัศน์ของตัวเองว่าอย่างไร ถ้าตั้งให้รับใช้ชุมชน แล้วรับใช้ไม่ได้จริง ไม่เอื้ออำนวยต่อชุมชนก็ต้องแยกออกไป


 


ยกตัวอย่างการจัดหลักสูตรการศึกษา ผมว่าในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แค่จะเรียนภาษามาลายูเป็นวิชาบังคับพื้นฐานก็เถียงกันแล้ว วิทยาเขตหาดใหญ่บอกว่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นการจัดการวิชาการของตัวเองในระดับหนึ่ง ถามว่าเดี๋ยวนี้เป็นไง คำตอบ คือ ยังไปไม่ถึงไหน


 


ผมว่าตัวหนึ่งที่ต้องผูกไว้ ต้องตอบสนองชุมชนและเข้าใจท้องถิ่น ต้องผูกไว้ให้แน่น เพราะผมคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ถ้าไม่มีตรงนี้ควบคุมไว้ อาจเป๋ได้ เราต้องผูกด้วยโครงสร้าง ผูกด้วยระบบ สภามหาวิทยาลัยจัดให้มีสัดส่วนของคนในพื้นที่ได้ไหม ถ้าเขาอยากจะทำอะไร จะได้ใช้เวทีตรงนี้เป็นตัวต่อ ผมว่าตรงนี้สำคัญกว่าความเป็นอิสระ ถึงมีเงินแต่ไม่มีความคิดมันก็เละ


 


ถ้าถามผมควรจะแยกหรือไม่ ผมว่าในสถานการณ์แบบนี้สมควรอย่างยิ่ง ที่จริงไม่ใช่เพิ่งคิดจะแยก มันจะแยกมานานแล้ว เจตนารมณ์ดั้งเดิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยภาคใต้ ตั้งที่ปัตตานี


 


เกือบ 40 ปีที่ตั้งมา ผมว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเลย เขาบอกว่าวิทยาเขตปัตตานี เรียนมนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ เราก็อยู่กันมาแบบนั้น มีวิทยาศาสตร์นิดหน่อย ถ้ามีมหาวิทยาลัยระดับภาคที่ปัตตานี เราอาจจะได้เห็นอะไรเยอะ มันจะเป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น คนในพื้นที่จะมีช่องทางเชื่อมโยงอะไรกันมากขึ้น


 


ตอนนี้ มีวิทยาลัยอิสลามเกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา เขากำลังเติบโต เขาไปไกลมาก ขยายตัวเร็วมาก ถ้ามองในแง่ของการศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดี ถ้ารัฐไม่อยากมีส่วนแบ่งตรงนี้ ก็ช่วยไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net