กรรมการสิทธิฯ เผย ม. วลัยลักษณ์ละเมิดสิทธิที่ดินชาวบ้าน

ประชาไท - 10 ส.ค. 49     วันที่ 9 ส.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงกรณีชาวบ้านจำนวนมากได้รับความไม่เป็นธรรมจากการถูกอพยพเพื่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

 

นางสุนี ไชยรส คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เตรียมโครงการก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2535 ในพื้นที่จำนวน 13,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ชาวบ้านแย้งว่าไม่ใช่ที่สาธารณะจริง

 

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยดังกล่าวเริ่มก่อตั้งจริงได้สร้างคลุมพื้นที่ประมาณ 9000 ไร่ ทำให้ชุมชุนที่ถือครองที่ดินเดิมอยู่ก่อนประมาณ 900 ครัวเรือน ต้องย้ายออก โดยมหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)จังหวัด

 

ทั้งนี้ จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้มีการจัดสรรที่ ส.ป.ก.ในที่ดินอื่นนอกเหนือจากแปลงที่มหาวิทยาลัยถือครองไปแล้ว ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 3,653 ไร่ แบ่งให้ครอบครัวละ 5 ไร่ ในช่วงแรกชาวบ้านไม่ยินยอมเพราะเดิมทีเคยมีที่ดินมากกว่า 5 ไร่ บางรายมีถึง 40 ไร่และมี ส.ค.1 ด้วย แต่ภายหลังชาวบ้านจำนวนมากก็ยินยอม ล่าสุดมี 32 รายที่ไม่ยินยอมและถูกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ฟ้องศาล

 

อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดสรรใหม่ 3,653 ไร่ ก็มีชุมชนครอบครองพื้นที่มาแต่เดิม ทำให้การจัดสรรพื้นที่ซ้อนทับกัน มีการไม่ยินยอมและเกิดการขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวบ้าน ปัญหาดังกล่าวดำเนินมากว่า 10 ปี ในลักษณะที่โยนหน้าที่รับผิดชอบไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับ ส.ป.ก.จึงมีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิฯ

 

คณะกรรมการสิทธิ์ฯจึงได้จัดประชุมหารือข้อเท็จจริงที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ ส.ป.ก. พิจารณาจัดแปลงที่ดินใหม่อีกครั้งเพื่อหาพื้นที่ที่ยังเป็นแปลงว่างให้ชาวบ้าน และให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ชุดที่มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาอีกครั้ง

 

ทว่าในวันที่ 27 มิ.ย.หรือหลังจากวันประชุมเพียง 1 วัน นายอุทัย แกล้วกล้า เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำรถแบ็คโฮเข้าไถพื้นที่ ส.ค.1 ของนายแจ้ง คุณโลก ซึ่งถือครองอยู่ในส่วนพื้นที่ 3,653 ไร่ โดยไถพื้นที่ปลูกต้นยางอายุ 2 ปีไปประมาณ 20 ไร่ อย่างไม่รับฟังมติที่ประชุม อ้างว่าได้รับมอบอำนาจมาจากชาวบ้านกลุ่มที่เดิมอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ปัจจุบัน หรือในพื้นที่9,000 ไร่เดิมที่ต้องจัดสรรพื้นที่ ส.ป.ก. ให้

 

คณะกรรมการสิทธิฯจึงได้จัดประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 25 ก.ค.โดยเชิญตัวแทนทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวแทนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายอุทัย แก้วกล้า และผู้กำกับสภอ.ท่าศาลา เข้าประชุมกรณีไถที่ดังกล่าว และได้มีมติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ระงับการดำเนินการใดๆในพื้นที่พิพาท และให้ ส.ป.ก.ดำเนินการตามมติเดิม แต่ในวันรุ่งขึ้น นายอุทัย ก็นำรถไปไถที่นายแจ้ง อีกครั้ง ผู้กำกับ สภอ.ท่าศาลา และทาง ส.ป.ก. จึงเข้าไประงับเหตุ

 

ภายหลัง เมื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวกับทางสำนักงานที่ดิน พบว่าแม้จะเป็นที่ ส.ค.1 แต่ก็เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ตามการปฏิรูปทั้งอำเภอจึงไม่ใช่ที่ดินของนายแจ้ง แต่ก็ยืนยันว่าไม่ใช่ที่ดินของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยอย่างแน่นอน การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าละเมิดต่อทรัพย์สินเบื้องต้น

 

นางสุนี ยังกล่าวถึงท่าทีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยว่า รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนหนึ่งกล่าวในที่ประชุมว่า ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเพราะเป็นไปตามแนวทางแผนงานของมหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยยินดีชดเชยค่าใช้จ่ายให้

 

จากกรณีดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินฯจึงมีมติว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องยุติการดำเนินการและการกระทำในปัจจุบัน เช่นการส่งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้าไปบุกรุกทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน รวมถึงการกระทำที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพของมหาวิทยาลัย

 

ประการต่อมา มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการสอบสวน ลงโทษเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องและชดใช้ค่าเสียหาย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต้องทบทวนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมตามพันธกิจที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาชุมชนเคียงคู่กับมหาวิทยาลัย และให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดสรรที่ดินใหม่เพื่อให้ชาวบ้านทุกฝ่ายได้รับที่ทำกิน ในระหว่างนั้นมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดของชาวบ้านและช่วยเหลือจัดหาที่ทำกินหรืออาชีพชั่วคราวให้แก่ผู้เดือดร้อน

 

นายบารมี ชัยรัตน์ อนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า กล่าวว่า การจัดสรรที่ทำกินตามปกติจะมีข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับ ส.ป.ก. ให้เว้นที่ ส.ค.1 ไว้ จะไม่ให้ออก ส.ป.ก. ทับเพื่อให้เจ้าของที่ดินดังกล่าวมีสิทธิขอ น.ส.3 ก. หรือออกโฉนดได้ แต่การออก ส.ป.ก. ทับที่ในกรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้น ทาง ส.ป.ก. ระบุว่าไม่ได้จัดสรรที่เอง แต่เห็นชอบตามที่มหาวิทยาลัยเสนอมา

 

นอกจากนี้ การดำเนินการของทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ระบุว่าชาวบ้านกลุ่มพื้นที่ 9,000 ไร่เดิมมอบอำนาจให้มาไถที่นั้นจะต้องยุติการกระทำด้วยเพราะเป็นการทำให้ชาวบ้านเกิดการขัดแย้งกันเอง แม้ภายหลังชาวบ้านจะได้รับการจัดสรรที่แล้วชาวบ้านอาจจะมองหน้ากันไม่ติดได้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

 

จากนั้นนางสุนีจึงกล่าวเสริมว่า ตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จึงไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆอย่างแน่นอน อำนาจดังกล่าวเป็นของ ส.ป.ก. เรื่องการบอกว่าชาวบ้านให้อำนาจมาทำจึงเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น

 

นายดำรง เอี่ยงเหด ประธานกรรมการเขตปฏิรูปที่ดินชุมชน ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ถูกอ้างว่ามอบอำนาจให้ไปไถที่นายแจ้ง กล่าวว่า ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน ตอนนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เองมีพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ และอนุญาตให้บริษัทเอกชนมาเช่าปลูกปาล์มกว่า 700-800 ไร่ โดยให้เช่าไร่ละ 1,000 บาท ถ้านำแบ่งจัดสรรมาให้ชาวบ้านจะทำให้ชาวบ้านอยู่รอดและเป็นธรรมได้มากกว่านี้

 

ด้านนางเรณู รักเถา ชาวบ้านผู้ร้องเรียนแทนครอบครัวนายแจ้ง กล่าวว่า ได้แจ้งความไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่เกิดเหตุไถที่ดินทั้ง 2 ครั้ง ในข้อหาทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันไว้ แต่จนถึงวันนี้คดียังไปไม่ถึงไหน เมื่อโทรไปถามความคืบหน้าเขาก็ตอบกลับมาว่าถ้าคุณรีบนัก ก็ไปฟ้องร้องเอง นอกจากนี้ยังทราบมาด้วยว่านายอุทัย เป็นกรรมการของ สภอ.ท่าศาลาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท