Skip to main content
sharethis

ประชาไท—8 ส.ค. 2549 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เวลา 13.30 น. คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการอภิปรายเรื่อง "30 บาท: คุณภาพกับการเข้าถึง" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากงานวิจัยซึ่งมีดร.อัญชนา ณ ระนอง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ร่วมวิจัย พบว่า ทางเลือกของประชาชน และคนจน ช่วงหลังจากมีโครงการ 30 บาทไม่ได้ต่างจากก่อนมีโครงการนี้มากนัก เนื่องจากเดิมนอกเหนือจากสวัสดิการของข้าราชการและประกันสังคมแล้ว ยังมีบัตรสปร. บัตรสุขภาพ และสังคมสงเคราะห์


 


อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนในเรื่องสิทธิด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นผลจากการโฆษณาหาเสียงของพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ยังไม่เริ่มโครงการและจากการประชาสัมพันธ์หลังเริ่มโครงการ


 


อย่างไรก็ดี มีจุดที่ต่างกับที่คาดไว้คือ ประชาชนจากแทบทุกพื้นที่ที่ศึกษาในทุกภาคระบุว่าได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นจากเจ้าหน้าที่ แต่ประชาชนจำนวนมากกลับยังไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพ เช่นเดียวกับในการศึกษาอื่นก็พบว่าเรื่องคุณภาพเป็นส่วนที่ประชาชนพอใจหรือมั่นใจน้อยกว่าเรื่องอื่น


 


ด้านความเสี่ยงเรื่องคุณภาพ พบว่า บุคลากรและคุณภาพของบุคลากรไม่เพียงพอ โดยจำนวนแพทย์จบใหม่ในแต่ละปีที่ตัดสินใจทำงานในระบบราชการลดลง และคนมักจะมองว่าเป็น 'หมอเด็ก' ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ อีกทั้งคาดว่าหากมีการสร้างเมดิคัลฮับ แพทย์ในโครงการ 30 บาท จะลาออกไปอยู่เมดิคัลฮับแทน นอกจากนี้แล้ว งบประมาณในโครงการ 30 บาทก็ยังไม่เพียงพออีกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม พบว่า โครงการ 30 บาทก็เป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้าย ในกรณีที่คนไข้ ทั้งที่ใช้และไม่ใช้ 30 บาทในปัจจุบัน ป่วยหนักหรือหมดเงินรักษา


 


การประมาณการของคณะผู้วิจัย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2545 บ่งชี้ว่าจำนวนคนที่จนเพราะรายจ่ายด้านสุขภาพ มีจำนวนลดลงประมาณ 300,000 คน


 


ด้านการศึกษาเชิงคุณภาพ พบว่า คนจนจำนวนหนึ่งกล้าไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งที่เคยค้านโครงการนี้ในช่วงแรกก็เริ่มเห็นข้อดีในด้านนี้ แต่ยังห่วงเรื่องการได้รับงบที่ไม่เพียงพอ


 


ด้านนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ สาธารณสุข จังหวัดเลย กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชน ยังคงมีอยู่ โดยมีความเหลื่อมล้ำในการกระจายแพทย์ระหว่างเมืองกับชนบทมาก เกิดจากการเน้นตามโครงสร้างของมหาดไทย คือ จัดสรรตามพื้นที่ ทำให้ขณะที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป มีสัดส่วนประชากร ร้อยละ 26 แต่กลับมีแพทย์ ร้อยละ 69 ขณะที่โรงพยาบาลชุมชน มีประชากรร้อยละ 74 แต่มีแพทย์เพียงร้อยละ 31 เท่านั้น


 


นอกจากนี้ ยังมีการกระจายทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมในระดับภาค ตัวอย่างเช่น ขณะที่ภาคกลาง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม ซึ่งมีประชากร 2,388,742 คน มีโรงพยาบาล 7 แห่ง แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ ซึ่งมีประชากรถึง 2,826,922 คน กลับมีโรงพยาบาลเพียง 2 แห่ง


 


สำหรับความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ พบว่า ประชากรในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เดินทาง 14-20 ก.ม. ก็มาถึงโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์ ขณะที่ประชากรกว่า 2 ล้านคนในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน และหนองคาย ต้องเดินทาง 100-200 ก.ม. จึงจะมาถึงโรงพยาบาล


 


ทั้งนี้ หากจะปฏิรูปโครงการ 30 บาท เสนอว่า ควรแก้ที่เรื่องเงิน เป็นอันดับแรก โดยจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรและคุณภาพในการให้บริการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net