ละติน ยุโรป และสหรัฐฯ : ขั้วอำนาจใหม่ในการเมืองโลก (1)

 

 
 
 
โดย เจมส์ เพทราส
ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลและเรียบเรียงจาก
James Petras, "Latin America, the EU and the US: The New Polarities"
www.dissidentvoice.org
May 22, 2006
 
การแบ่งขั้วทางสังคมและกลุ่มประเทศที่ซับซ้อนครั้งใหม่ในซีกโลกตะวันตก กลายเป็นประเด็นครอบงำชีวิตทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ การแบ่งขั้ว กลุ่มประเทศ เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง คิวบา กับ สหรัฐฯ/สหภาพยุโรป (อียู) ส่วนการแบ่งขั้วทาง สังคม เป็นการเผชิญหน้าระหว่างขบวนการชาวพื้นเมือง/ชนบทและคนว่างงาน/เมืองฝ่ายหนึ่ง กับ ระบอบเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งทวีปอีกฝ่ายหนึ่ง
 
การแบ่งขั้วนี้เป็นผลมาจากช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา (ระหว่าง ค.ศ. 1975-2000) ที่เรียกได้ว่าเป็น "ยุคทอง"ของการปล้นสะดมโดยจักรวรรดินิยม มีการถ่ายโอนทรัพย์สิน, ความมั่งคั่ง, ผลกำไร, ผลประโยชน์และเงินค่าสัมปทาน/ค่าภาคหลวงจำนวนมหาศาล จากภูมิภาคละตินอเมริกาไปสู่สหรัฐฯ และอียู ทั้งโดยวิธีการที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย
 
รัฐวิสาหกิจที่ทำกำไร ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ ถูกแปรรูปอย่างไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ สเปนและประเทศยุโรปอื่นๆ รวมทั้งธนาคารทั้งหลาย ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการและตัดสินใจโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาและประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังให้อภิสิทธิ์พิเศษแก่ทุนต่างชาติ โดยไม่รับฟังเสียงประท้วงของรัฐสภา, ประชาชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
"ยุคทอง" ของทุนข้ามชาติเกิดขึ้นพร้อมกับการครองอำนาจของระบอบนักเลือกตั้งขุนโจร (kleptocratic electoral regimes) ที่ได้รับการสรรเสริญเยินยอในแวดวงการเมืองของยุโรป/อเมริกาเหนือ และสะท้อนในสื่อมวลชนกระแสหลักว่าเป็นยุคของ "ประชาธิปไตยและตลาดเสรี"
 
การปล้นอย่างไม่บันยะบันยังของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ/อียูและกลุ่มธนาคาร ในช่วง ค.ศ. 1975-2005 มีมูลค่ากว่า 950,000 ล้านดอลลาร์ การปล้นโดยไม่พัฒนาย่อมนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคม-เศรษฐกิจของส่วนรวม โมเดลของทุนนิยมที่มีจักรวรรดิเป็นศูนย์กลางเกือบถึงกาลล่มสลายในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา (1998-2002), เอกวาดอร์ (1996-2006), โบลิเวีย (2002-2005) และบราซิล (1998-2005)
 
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ขบวนการสังคม-การเมืองนอกรัฐสภาปรากฏขึ้นเกือบทั่วทั้งละตินอเมริกา ตามมาด้วยการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชน โค่นล้ม "ประธานาธิบดี" ลูกหม้อเสรีนิยมใหม่ของสหรัฐฯ/อียูไปถึง 10 คน กล่าวคือ 3 คนในเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา, สองคนในโบลิเวีย และประเทศละ 1 รายในเวเนซุเอลาและบราซิล
 
เมื่อมองย้อนกลับไป เห็นได้ชัดว่าคลื่นลูกใหม่ของขบวนการสังคม-การเมืองที่มี ศักยภาพ ในการปฏิวัติ มีพลังขับเคลื่อนสูงสุดในปี ค.ศ. 2002 ในเมื่อมีแรงสนับสนุนของมวลชน มีความชอบธรรมในการเผชิญหน้ากับชนชั้นกระฎุมพีการเมืองที่ฉ้อฉล, ไร้ความน่าเชื่อถือและแตกแยกกันเอง อีกทั้งประกาศตัวอยู่ตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ ขบวนการสังคม-การเมืองเหล่านี้น่าจะมีความเข้มแข็งพอที่จะริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนานใหญ่ได้ ถ้าหากว่าขบวนการสามารถแปรพลังทางสังคมให้กลายเป็นอำนาจรัฐ
 
แต่ขบวนการมวลชนกลับสะดุดขาตัวเอง ผู้นำขบวนการหยุดอยู่แค่ประตูทำเนียบประธานาธิบดี พวกเขาทำได้แค่เงยหน้ามองหานักเลือกตั้ง "ซ้ายกลาง" ทั้งหน้าใหม่และหน้ารีไซเคิล เพื่อเอามาแทนที่พรรคและผู้นำเสรีนิยมใหม่ฝ่ายขวาหน้าเก่าที่หาความน่าเชื่อถือไม่ได้แล้ว
 
ใน ค.ศ. 2003 ขบวนการสังคมมวลชนเริ่มเสื่อมถอย พร้อมกับผู้นำหลายคนหันไปร่วมมือกับคลื่นลูกใหม่ของนักการเมืองที่ประกาศตัวเป็น "ซ้ายกลาง" คำมั่นสัญญาถึง "การเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม" ถูกลดทอนลงเหลือแค่การอุปถัมภ์, เงินอุดหนุนและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคกระแสหลักที่เดินซ้ำรอยเดิมตามเส้นทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ กระนั้นก็ตาม ในบางประเทศ การต่อสู้ของมวลชนในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึง ค.ศ. 2002 นำไปสู่ระบอบการเมืองใหม่ ที่ไม่ได้เป็นทั้งลูกไล่ของสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ปลอดพ้นจากอิทธิพลของเสรีนิยมใหม่ สองประเทศนั้นคือ เวเนซุเอลาและโบลิเวีย
 
ในปี ค.ศ.2006 การแบ่งขั้วแบบใหม่ที่ซับซ้อนปรากฏเค้าขึ้น นั่นคือ การแบ่งขั้ว กลุ่มประเทศ ซึ่งมีความเข้มข้นในระดับที่ทอดเงาบดบังการแบ่งขั้วทาง สังคม ได้ การแบ่งขั้ว กลุ่มประเทศ ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ มีสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อยู่ฟากหนึ่ง กับมีคิวบา, เวเนซุเอลา และโบลิเวีย ยืนอยู่อีกฟากหนึ่ง การแบ่งขั้วนี้ยังมีผลสะท้อนเข้ามาในละตินอเมริกา ทำให้เกิดเป็นกลุ่มประเทศ 3 ขั้วด้วยกัน ประกอบด้วยกลุ่ม "ขวาใหม่" กล่าวคือ ขั้วเสรีนิยมใหม่ที่เกิดจากฝ่ายซ้ายเก่าและรัฐบาลประชานิยมจอมปลอมในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่เป็นลูกไล่ของรัฐบาลอเมริกัน ขั้วที่สองคือ รัฐบาลประชานิยม-ชาตินิยมในโบลิเวียและเวเนซุเอลา ส่วนขั้วที่สามที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ คือกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ที่อาจจะเอียงเข้าหาขั้วไหนก็ได้
 
ขั้วประเทศ "ขวาใหม่-ตลาดเสรี" ประกอบด้วย รัฐบาลลูลาในบราซิล, อดีตประธานาธิบดีฟอกซ์ในเม็กซิโก, ห้าประเทศในอเมริกากลาง, รัฐบาลบาสเควซในอุรุกวัย, รัฐบาล "รัฐก่อการร้าย" อูริเบในโคลอมเบีย, รัฐบาลแบชเชเลต์และรัฐบาลโทเลโดที่กำลังจะพ้นตำแหน่งในชิลีและเปรูตามลำดับ
 
"กลุ่มที่อยู่ตรงกลาง" ประกอบด้วย รัฐบาลเคิร์ชเนอร์ในอาร์เจนตินา ที่แสดงความปรารถนาจะผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับเวเนซุเอลาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (เคิร์ชเนอร์พยายามสลายแรงกดดันจากกลุ่มชาตินิยม-ประชานิยมภายในประเทศ พร้อมๆ กับเป็นพันธมิตรทุนนิยมกับต่างชาติหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, อียูหรือจีน) รัฐบาลเอกวาดอร์, กลุ่มประเทศแถบแคริบเบียน, นิคารากัวและอาจจะเป็นรัฐบาลใหม่ของเปรู ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มประเทศที่สองขั้วต้องแข่งขันกันสร้างอิทธิพล เนื่องจากการอุดหนุนด้านน้ำมัน ทำให้กลุ่มประเทศในแถบแคริบเบียนเกือบทั้งหมด (ยกเว้นสาธารณรัฐโดมินิกัน) ไม่ยอมเข้าร่วมกับ อียู/สหรัฐฯ ในการต่อต้านเวเนซุเอลา/โบลิเวีย แม้ว่ายังพยายามหาทางเข้าถึงตลาดในซีกโลกเหนืออยู่ก็ตาม ส่วนประเทศอื่นๆ นอกยุโรปและอเมริกาเหนือ ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, จีน, รัสเซีย, อิหร่านและประเทศอาหรับผู้ผลิตน้ำมันบางประเทศ ต่างถือหางเข้าข้างพันธมิตรขั้วคิวบา-เวเนซุเอลา-โบลิเวีย โดยแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งหรือเป็นนัยๆ
 
เส้นที่ตัดขวางการแบ่งขั้วแบบ กลุ่มประเทศ ก็คือการแบ่งขั้วทางชนชั้น โดยเส้นนี้มีจุดแข็งแกร่งที่สุดอยู่ในเอกวาดอร์, เวเนซุเอลา, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, เม็กซิโก, โบลิเวีย, ปารากวัยและบราซิลในระยะหลัง ในเอกวาดอร์ องค์กร CONAIE ฟื้นฟูฐานมวลชนของตนขึ้นมาใหม่ (หลังจากพังทลายเพราะไปสนับสนุนนักประชานิยมจอมปลอมอย่างกูตีเยร์เรซขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2002) และเมื่อผูกพันธมิตรกับสหภาพแรงงานในเมือง พวกเขาสามารถล้มข้อตกลงเขตการค้าเสรี (ALCA) ที่สหรัฐฯ หนุนหลังได้สำเร็จ และยกเลิกสัมปทานน้ำมันกับบรรษัทออคซิเดนทัลปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบรรษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน
 
ในเวเนซุเอลา มีการแบ่งขั้วที่ซ้อนกันสองชั้น ชั้นแรก มีการแบ่งขั้วระหว่างชนชั้นแรงงานและคนจนในเมืองฝ่ายหนึ่ง กับพวกเจ้าที่ดินท้องถิ่น, ผู้นำทางธุรกิจและสื่อที่โปรสหรัฐฯ อีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนชั้นที่สอง มีการแบ่งขั้วกันเองภายในกลุ่มผู้สนับสนุนชาเวซที่มีอยู่หลากหลาย กล่าวคือการแบ่งขั้วระหว่างผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจที่มั่งคั่ง, ข้าราชการระดับสูง, นักธุรกิจ "ชาตินิยม" และทหารระดับนายพล กับสหภาพแรงงาน, เกษตรกรไร้ที่ดิน, ชาวสลัมในเมืองและ "แรงงานนอกระบบ" ที่ไม่มีงานประจำ (underemployed)
 
ส่วนในโบลิเวีย ความขัดแย้งทางชนชั้นยังซุกซ่อนไว้ ทั้งนี้เพราะมันถูกกลบด้วย "การแบ่งขั้วแบบกลุ่มประเทศ" แต่ก็ยังสะท้อนออกมาในความขัดแย้งระหว่างนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เดินตามกระแสหลักของรัฐบาลโมราเลส และการขึ้นค่าจ้างเพียงน้อยนิดให้แรงงานค่าแรงต่ำในภาคการศึกษา, สาธารณสุขและภาครัฐอื่นๆ
 
ในประเทศที่การแบ่งขั้วระหว่างลัทธิชาตินิยมละตินอเมริกากับจักรวรรดินิยมอียู/สหรัฐฯ มีความเข้มข้น การต่อสู้ทางชนชั้นจะอ่อนแรงลงชั่วคราว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การต่อสู้ตามแนวทางชาตินิยมจะกลบการต่อสู้ทางชนชั้น ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่า หากประเทศควบคุมทรัพยากรได้มากขึ้น ความมั่งคั่งของรัฐย่อมเพิ่มขึ้นและนำไปสู่มาตรการกระจายความมั่งคั่งที่ดีกว่าเดิม
 
ในบราซิล ความขัดแย้งทางชนชั้นอ่อนแรงลง อันเป็นผลมาจากการที่สหพันธ์สหภาพแรงงาน CUT ยอมอ่อนข้อให้รัฐบาลเสรีนิยมใหม่ของลูลา รวมทั้งขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) ที่ยอมอ่อนข้อให้ในระดับหนึ่งด้วย กระนั้นก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลลูลาตัดลดบำนาญข้าราชการอย่างเมามัน อีกทั้งยังขัดขวางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนี้สหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของข้าราชการ, คนงานอุตสาหกรรมเหล็กและก่อสร้าง จึงรวมตัวกันก่อตั้งสหพันธ์แรงงานที่มีพลังขับเคลื่อนใหม่ในชื่อ CONLUTA เมื่อวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2006 ด้วยตัวแทนกว่า 2,700 คน จาก 22 รัฐ จากฐานคนงานเกือบ 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ
 
CONLUTA กลายเป็นขั้วทางเลือกใหม่ทางสังคมสำหรับแรงงานและคนจนชาวบราซิลหลายสิบล้านคน ในขณะที่ลูลาทอดทิ้งคนจนเหล่านี้และหันไปโอบกอดนายธนาคาร, ธุรกิจเกษตรและบรรษัทข้ามชาติแทน
 
CONLUTA รับเอาวิธีการจัดตั้งองค์กรตามแบบขบวนการสังคม โดยผนึกกำลังทั้งองค์กรของแรงงานที่มีงานทำและว่างงาน, ขบวนการแรงงานในชนบท, องค์กรสมัชชาละแวกบ้าน, องค์กรนักศึกษา, ผู้หญิง, นิเวศวิทยา รวมทั้งแรงงานไร้ที่ดิน เข้าไว้ในโครงสร้างการดำเนินงานของสหพันธ์ ตัวแทนขององค์กรต่างๆ ที่มาร่วมประชุมสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงในสมัชชาที่ใช้กระบวนการประชาธิปไตย การปรากฏตัวของสหพันธ์แรงงานใหม่ที่มีฐานมวลชนจำนวนมาก แสดงถึงจุดแตกหักครั้งใหญ่ภายในระบอบเสรีนิยมใหม่"ซ้ายกลาง" ของลูลา เป็นลางบอกล่วงหน้าถึงการกลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งของการเมืองชนชั้นแรงงาน อีกทั้งยังเป็นทางเลือกของจริงแทนที่อำนาจที่กำลังถดถอยของสหพันธ์เดิมที่สนับสนุนรัฐบาล
 
(โปรดติดตามอ่านตอนจบ : บทวิพากษ์)
 
 
................................................................
ประวัติผู้เขียนบทความ
เจมส์ เพทราส (James Petras) เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เขาเป็นนักเขียนและนักกิจกรรมที่ประกาศตัวเป็น "นักปฏิวัติและต่อต้านจักรวรรดินิยม" เคยทำงานร่วมกับขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในบราซิลและขบวนการคนว่างงานในอาร์เจนตินา เขาเขียนหนังสือและบทความไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานหนังสือมีอาทิเช่น:
  • Social Movements and State Power: ArgentinaBrazilBoliviaEcuador, with Henry Veltmeyer (2005)
  • Globalization Unmasked: Imperialism in the 21st Century, with Henry Veltmeyer (2001)
  • The Dynamics of Social Change in Latin America, with Henry Veltmeyer (2000)
  • Empire or Republic: Global Power or Domestic Decay in the US, with Morris Morley (1995),
  • Latin America in the Time of Cholera: Electoral Politics, Market Economics, and Permanent Crisis, with Morris Morley (1992)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท