Skip to main content
sharethis


 



 



 



ภาพโดย 'ทุ่งข้าว'


 


 


 


โดย รัตนา ปานกลิ่น กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต


 


 


จิ๊กซอว์การพัฒนาที่มาเป็นท่อนๆ


ภายหลังจากรัฐพยายามผลักดันจนกระทั่งสามารถก่อสร้างโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียที่ อ.จะนะ จ.สงขลาเมื่อปี 2546 แล้วนั้น การวางแผนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าสงขลาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติก็เกิดขึ้นตามมา ในปี 2547 การพัฒนาที่ต้องมาควบคู่กัน เพื่อสร้างคำตอบ(ลวงๆ)กับสังคมว่าภาคใต้ต้องการการพัฒนาและป้องกันปัญหาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคใต้ในอนาคต


 


หลังจากทั้งสองโครงการที่รัฐใช้กำลังทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อคุ้มครองการก่อสร้างโครงการและใช้เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานเข้าระดม ปิดกั้นชาวบ้านในการเรียกร้องสิทธิที่เขาควรจะได้ ชาวจะนะยังไม่ทันได้หายใจหายคอเพื่อตั้งรับกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น จิ๊กซอว์การพัฒนาตัวใหม่ก็ตามมาอีก โดยเมื่อปลายปี 48 มีข่าวเรื่องโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย(Landbridge) ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของโลก จะเข้ามาก่อสร้างที่จะนะ


 


โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย คือโครงการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างโดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ไปศึกษาความเหมาะสมการเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้ ระหว่างปี 2540-2541 เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยการเชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย และพัฒนาฐานเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมประมงและการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าที่ฐานการผลิตในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเป็นส่วนมาก ให้สามารถมีทางเลือกในการส่งสินค้าออกสู่ทะเลได้ทั้งสองฝั่งซึ่งในขณะนั้นทางฝั่งอันดามันได้มีพื้นที่ที่เหมาะสม 2 แห่งคือที่เกาะเขาใหญ่ อ.ละงู จ.สตูล(ปากบารา) และที่คลองบุโบย อ.ละงู จังหวัดสตูล เช่นกัน และได้มีการศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ระหว่างปี 2546-2547 ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ปากบารามีความเหมาะสมกว่า (1)


 


คำสั่งปะกาศิต : นโยบายรัฐคือคำตอบของการพัฒนาประเทศ


และวันที่ 18 เมษายน 2548 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ นร 0504/ว(ล) 4940 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2548 โดยเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ในปัจจุบัน


การคมนาคมขนส่งทางเรือ ซึ่งต้องผ่านช่องแคบมะละกา มีความคับคั่ง และมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ


และใช้ระยะเวลานาน ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองต้นทุนการขนส่ง ดังนั้นหากประเทศไทยมีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่ตำบลปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ไปยังท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่จังหวัดสงขลา และสามารถจะเชื่อมโยงไปยังท่าเรือคลองเตยได้จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากขึ้น จึงขอให้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องนี้ไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว แล้วดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไปนั้น ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์  (2)  ของประเทศ (Logistics MasterPlan) ขึ้น ซึ่งได้บรรจุโครงการที่จะสนับสนุนสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย(Landbridge) ไว้ในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว (3)


 


แผนใหม่ ยังไงก็ต้องย้ายท่าเรือสงขลา


เนื่องจากท่าเรือน้ำลึกสงขลาได้มีผู้ใช้บริการท่าเรือเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความแออัดและมีการให้บริการไม่ทั่วถึง ซึ่งเมื่อปี 2539 ธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา พบว่ากรมการขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี ควรขยายท่าเรือให้แล้วเสร็จภายในปี 2543 มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดความแออัดไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


ต่อมากรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจออกแบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา ซึ่งพบว่ามีข้อจำกัด เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นว่า บริเวณดังกล่าวเป็นเขตโบราณสถานมีแนวคูเมืองเก่า และมีโบราณสถานใต้น้ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายราษฎรซึ่งเป็นปัญหาด้านมวลชนในพื้นที่ ตลอดจนลักษณะกายภาพของร่องน้ำมีอัตราการตกตะกอนที่ต้องมีการบำรุงรักษาร่องน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ รวมถึงปัญหาการประกอบอาชีพประมงและการวางโพงพาง กีดขวางทางการเดินเรือ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาร่องน้ำเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและลดปัญหาการตกตะกอน ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวจึงทำให้การขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา ซึ่งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่บริเวณพื้นที่เดิมเป็นไปได้ยาก


 


เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จึงได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเรือใหม่ โดยการศึกษาเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง โดยจะพิจารณาศึกษาครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างและสามารถเชื่อมโยงในลักษณะสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) จากฝั่งทะเลตะวันออก (ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง) ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ท่าเรือน้ำลึกปากบารา) อันเป็นการย่นระยะทาง ในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและตะวันออกกลาง ตลอดจนลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษา เพื่อมาดำเนินการต่อไป (4)


 


เสียงแว่วๆ ท่าเรือแห่งใหม่น่าจะเป็นจะนะนะจ๊ะ


แม้ว่าขณะนี้จะไม่มีแผนที่แน่ชัดว่าท่าเรือสงขลาแห่งใหม่อยู่ตรงไหนกัน แต่ในแผนยุทธศาสตร์กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ระหว่างปีพ.ศ.2548-2551 (5)  ก็ได้มีการบรรจุแผนการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ไว้แล้วว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2550 จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2552 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท


 


นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ต่างก็ตบเท้าออกมาพูดเปรยๆ เรื่องท่าเรือแห่งใหม่ว่าน่าจะเป็นที่จะนะ จังหวัดสงขลา


 


เริ่มจากนายบุญโรจน์ แสงหยกกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา ได้ออกมากล่าวว่า พื้นที่ในอ.จะนะมีศักยภาพเป็นท่าเรือน้ำลึกได้ เพราะมีระดับน้ำที่ลึกพอเพียง และบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางของท่อก๊าซ ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งพลังงานต้นน้ำและจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น หากท่าเรือเกิดขึ้นอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆก็ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีได้ลงดูพื้นที่แล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2548 (6)


 


ในการประชุมสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสตูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ออกมาเปรยๆว่าท่าเรือสงขลาแห่งใหม่น่าจะเป็นที่จะนะเพราะมีความเหมาะสม            (7)


 


ในการสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและท่าเรือน้ำลึกสงขลา" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ที่โรงแรม บี.พี.สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดโดย คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายกิติ ตันหัน ผู้อำนายการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตอบข้อซักถามชาวบ้านจากจะนะ ในเรื่องท่าเรือแห่งใหม่ว่า ตนเพิ่งทราบเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่อำเภอจะนะ ส่วนตัวแล้วคิดว่าชายหาดสะกอม มีความสวยงามพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ บริเวณดังกล่าวมีเกาะขามช่วยกำบังคลื่นลม จึงเหมาะกับการสร้างท่าเรือ ถ้าท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สามารถขยายตัวจนทดแทนท่าเรือเก่าได้ ก็อาจจะส่งผลให้มีการปรับรื้อท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน การมีท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ จะทำให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีมีทางเลือกในการแก้ปัญหามากขึ้น (8)


 


นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สงขลา ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ว่า ปลายปี 2549 จะมีความชัดเจนเรื่องสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่ โดยผลการศึกษาของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีพบว่าพื้นที่ชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึงจังหวัดนราธิวาชว่ามีความเหมาะสมหลายแห่ง ส่วนที่จะนะเป็นอีกจุดที่ผลการศึกษาพบว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล การดำเนินโครงการนี้จึงต้องได้รับการผลักดันจากรัฐบาลชุดใหม่ด้วย (9)


 


ท่าเรือแห่งใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของชาวจะนะ


แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการจะออกมาบอกว่ากำลังศึกษาแผนการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่อยู่ แต่ที่จะนะ นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ข่าวการก่อสร้างท่าเรือเข้ามาในชุมชน


 


ครั้งแรก เมื่อประมาณปี 2546 มีข่าวการสร้างท่าเรือเพื่อกันน้ำกัดเซาะชายหาดที่บ้านโคกสัก ตำบลสะกอม ข่าวคราวครั้งนั้นไม่มีรูปแบบหรือแผนที่ชัดเจนว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ชาวบ้านบอกว่ารูปร่างหน้าตาท่าเรือที่เคยได้ยินมาจะสร้างเป็นรูปตัวที ที่ยื่นออกไป 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่นั่นก็เป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้นยังไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้น


 


ครั้งที่สอง หลังจากรัฐบาลเริ่มก่อสร้างโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ในปี2546 ผู้รับเหมาในการขนเครื่องจักรหนักในการแยกก๊าซ (บริษัทซัมซุง) ซึ่งต้องขนส่งทางเรือเท่านั้น ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สงขลา เพื่อขอการก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราวขึ้นในพื้นที่ตำบลสะกอม แต่ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก จนต้องขอย้ายที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่อยู่ในเขตตำบลตลิ่งชัน ซึ่งแม้ว่าชาวบ้านจะต่อต้านแต่รัฐกลับใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวนกว่า 500 นายเข้าขวางชาวบ้านเพื่อให้บริษัทขนย้ายเครื่องจักรเข้าโรงแยกก๊าซ แต่ท่าเรือดังกล่าวก็เป็นเพียงท่าเทียบเรือชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งเป็นปรับสภาพพื้นที่หน้ากว้างกว่า 300 เมตร และมีกระสอบทรายรองรับน้ำหนักเรือที่เทียบท่าในการขนย้ายเครื่องจักรเท่านั้น ซึ่งภายหลังการขนย้ายเสร็จสิ้นลง ก็มีการรื้อถอนสภาพไป


 


แต่ข่าวคราวท่าเรือในครั้งที่สามนั้นดูจะแตกต่างออกไปยิ่งนัก เพราะไม่ใช่แค่ท่าเรือที่สร้างขึ้นมาแล้วจะรื้อถอนไปในแบบครั้งที่ผ่านมาไม่ แต่มันหมายถึงท่าเรือขนาดใหญ่ ที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมตามเข้ามา สิ่งที่จะถูกรื้อถอนไปในครั้งนี้ก็คือ วิถีชีวิตมุสลิม วิถีชีวิตชุมชนที่ชาวบ้านเคยอยู่ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วต่างหาก


 


สิทธิชุมชนที่อยู่บนกระดาษ


และไม่ว่าภาพส่วนของจิ๊กซอว์ต่างๆที่เข้ามาประกอบกันที่จะนะ จะออกมาในรูปแบบหน้าตาของโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โรงไฟฟ้าสงขลา โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา แผนพัฒนาภาคใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อะไรก็ตามแต่ แต่ในภาคส่วนของชาวบ้าน ในภาคส่วนของสิทธิชุมชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่เขียนไว้อย่างสวยหรูกลับถูกโยนทิ้ง และไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐเลย


สิทธิชุมชนที่รัฐรู้จักคือการให้หน่วยงานอบต. เข้ามาเป็นกรรมการเล็กๆน้อยๆ เพื่อกล่าวอ้างกับสังคมได้ว่านี่คือการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่ในส่วนของชาวบ้านสิทธิชุมชนคือการปกป้องผืนแผ่นดินเกิด การยืนหยัดปกป้องวิถีชีวิตดั้งเดิม พวกเขาไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญแต่ก็รู้ว่าถ้ารัฐจะทำโครงการใดๆ ที่บ้านเกิดของเขาก็น่าที่จะต้องเข้ามาสอบถามชาวบ้านก่อน แต่ประสบการของชาวบ้านจะนะที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี สิทธิชุมชนที่นี่คือไม้กระบอง หมายจับ และการตกเป็นจำเลยของรัฐในข้อหาขัดขวางการพัฒนา


 


ณ วันนี้ชาวบ้านยังยืนหยัดปักหลักสู้กับทุกภาพส่วนของจิ๊กซอว์ของการพัฒนา และยังยืนยันว่าสำหรับพวกเขาสิทธิชุมชนจะต้องไม่ใช่เพียงกระดาษ แต่สิทธิชุมชนของพวกเขาคือการต่อสู้เพียงเพื่อทวงสิทธิการดำรงอยู่ซึ่งวิถีดั้งเดิมของพวกเขาให้กลับคืนมา


 


 


...................................


 


เชิงอรรถ


 


(1) โครงการสำรวจออกแบบเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ฉบับแก้ไข 9 กุมภาพันธ์ 2549


 


(2) ปัจจุบันระบบราชการไทยจะใช้ระบบโลจิสติกส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการบริหารองค์กร


 


(3) เว็บไซด์กระทรวงคมนาคม มติคณะรัฐมนตรี 28 มิถุนายน 2548 "โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย"


 


(4) เรื่องเดียวกัน


 


(5) แผนยุทธศาสตร์กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิขยนาวี สรุปสาระสำคัญแผนปฎิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ.2548-2551) ของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี


 


(6) หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สมาร์ทนิว ปีที่ 5 ฉบับที่96 ประจำวันที่ 16-31 ตุลาคม 2548


 


(7) นิตยสาร โลกสีเขียว บทความเรื่อง "โฉมหน้าจะนะที่ผลิกเปลี่ยน" หน้า 15 ฉบับเดือนมีนาคม - เมษายน 2549


 


(8) เว็บไซด์ประชาไท บทความ "เครือข่ายต้านท่อก๊าซประกาศค้านท่าเรือน้ำลึกจะนะ" วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549


 


(9) เว็บไซด์ประชาไท บทความ "ปลายปี 49 รู้ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2" วันที่ 2 พฤษภาคม 2549


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net