Skip to main content
sharethis


5 ส.ค. 2549 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในการเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รูปธรรมในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน" ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะทำนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงต้องทำให้ชัดเจนในทุกพื้นที่ โดยเน้นที่กระบวนการการเรียนรู้ ไม่ต้องเน้นรูปแบบและปริมาณ โดยอยากให้ทำเป็นวาระแห่งชาติ


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจพอเพียงก็รวยได้เพราะอยู่ที่หลักคิดว่าเราคิดอะไร ประชาธิปัตย์ตอนนี้คือนอกเหนือจากวิกฤตเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลควรจะต้องเข้าไปช่วยแล้วต้องผ่านวิกฤตไปสู่ความแข็งแกร่งที่มีทิศทาง  ไม่ใช่ฝ่าวิกฤตเพียงแค่ให้พ้นตรงนี้ไปก่อน แล้วไม่คิดต่อว่าจากนั้นจะทำอย่างไร



"รัฐบาลจะต้องคิดถึงภาพรวม เพราะภาพรวมจริงๆแล้วความพอเพียงคือปรัชญาที่ส่งเสริมความสมดุลความยั่งยืน และแทนที่จะคิดว่าให้เศรษฐกิจโตมากขึ้นทำไมไม่คิดเรื่องการเติบโตที่อยู่กับความเป็นจริงและมีความเป็นธรรมไม่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องความพอประมาณสมเหตุสมผลและการสร้างภูมิคุ้มกันต้องถือเป็นทิศทางหลักในการบริหารทั้งหมด  ซึ่งเรื่องเหล่านี้เคยทำกันมาแล้วทั้งนั้น รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็เคยเหมือนกับจะเข้ามาสู่วงจรนี้ แต่ในที่สุดก็ขาดปรัชญาทิศทางหลักขาดพลังและทำให้หลงทาง เราจึงต้องมาเริ่มต้นกันใหม่" 


 


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง คือความเป็นรูปธรรมของการชี้นำว่า เป็นกระบวนการพัฒนา ซึ่งรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมเดินผ่านตรงนี้ไปได้อย่างไร และเงินในกองทุนทุกบาทที่ใช้จะต้องสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจ ซึ่งในระดับชุมชนที่กองทุนนี้จะเข้ามาดำเนินการมี 2 ทางคือ 1.มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนมากในเรื่องที่เป็นเรื่องของส่วนรวมก็จะให้เปล่า


 


2 .ให้กู้ยืมเป็นโครงการเกี่ยวกับส่วนตัวเชิงวิสาหกิจ ซึ่งการกู้ยืมครั้งนี้จะไม่วัดความสำเร็จของกองทุนว่าเงินออกไปเท่าไหร่ เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะกลับเข้าสู่วงจรเดิม เงินที่จะออกไปจะต้องมั่นใจว่ามีปรัชญาองค์ความรู้และวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ดังนั้น จึงอยากให้สถาบันการศึกษาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงเรียนเกษตรทฤษฏีใหม่มาเป็นที่ปรึกษาและทำวิจัยให้กับชุมชน เพื่อจะได้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนเพราะในแต่ละชุมชนจะมีการรวมกลุ่มของประชาชนอยู่แล้ว จะหลีกเลี่ยงการไปสร้างอะไรขึ้นมาใหม่



"การแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจะต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่เหมือนกับที่ผ่านมาที่คิดง่ายๆ เหมารวมวันดีคืนดีก็ประกาศยกหนี้ ให้ แล้วก็กลับเข้าสู่วงจรเดิมเอาหนี้ใหม่ไปล้างหนี้เก่าทำให้หนี้ใหม่กลายเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่เราจะใช้กลไกของทั้งสถาบันการศึกษา อาสาสมัครและองค์กรชุมชนทั้งหลายมาช่วยในการปรับหนี้ให้กับประชาชน เช่น ใครเป็นหนี้มากเพราะกินเหล้าก็กำหนดเลยว่าจะลดหนี้ให้แต่ต้องเลิกเหล้า ถ้าเลิกเหล้าไม่ได้หนี้ก็กลับไปเท่าเดิม และถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลก็จะขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ จะเสียคะแนนอย่างไรก็ไม่ว่าเพราะถือว่าเป็นการบอกประชาชนชนว่าเราไม่อยากให้กินเหล้าสูบบุหรี่กัน"


 


การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจะเป็นตัวสำคัญที่จะค่อยๆ มาชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วแต่ละคนสามารถแก้หนี้สินของตัวเองได้อย่างไร ต้องสร้างค่านิยมในลักษณะของการออมในชุมชน คล้ายกับประกันสังคมของคนจน  โดยรัฐบาลจะกันเงินส่วนหนึ่งในกองทุนไว้หากเจ็บป่วยก็สามารถที่จะมาเบิกตรงนี้ได้  หรือเรื่องของที่อยู่อาศัย แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าออมเงินเท่าไหร่จึงจะเบิกได้


 


ที่ผ่านมา4-5 ปีมีแต่ให้คนไปเป็นหนี้ เอาเงินมาเยอะๆ ก็จะดีแต่ต่อไปนี้ไม่ใช่ต้องทำให้คนคิดถึงอนาคตและวิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองโดยรัฐบาลเข้าไปช่วย แต่เรื่องนี้คงจะทำเป็นวาระแห่งชาติไม่ได้ ดังนั้น จะทำเป็นวาระประชาชนแทน เพราะรู้สึกว่าตอนหลังใช้คำว่าวาระแห่งชาติกันมาก เหมือนกับว่าผู้นำอยากได้อย่างนี้ก็พูดออกมา แล้วบังคับคนอื่นห้ามเถียงห้ามค้าน แต่วาระประชาชนคือการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนแล้วเอาไปทำเป็นนโยบาย ถ้าทำไปแล้วเกิดผิดพลาดก็ต้องกลับมาฟังเสียงของประชาชนอีก และจะมีการพัฒนาเป็นเขตพิเศษทั่วประเทศ โดยแต่ละเขตจะอยู่บนรากฐานของชุมชนนั้นจริงๆ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านได้สอบถามความเห็นนายอภิสิทธิ์ ถึงการรวมเขตพื้นที่ลาดกระบังกับเขตประเวศเพื่อไปตั้งเป็นจังหวัดสุวรรณภูมิว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขตรงนี้อย่างไรซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็จะมีการไปยกเลิกในส่วนของการตั้งเป็นจังหวัดสุวรรณภูมิก่อน



จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงว่า การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะมีการคำนวณรายละเอียดอีกทีว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ โดยรายละเอียดของกองทุนจะเป็นลักษณะของการลงไปในชุมชน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนแบบให้เปล่าเฉพาะในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนการให้กู้ยืมจะเป็นกรณีของวิสาหกิจชุมชนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง และไม่เน้นในเรื่องการมีเงินจำนวนมากลงไปในพื้นที่อย่างรวดเร็วเพราะนั่นคือความผิดพลาดในอดีต นอกจากนี้เงินจำนวนหนึ่งจะมาจากเงินที่อยู่ในระดับรากหญ้าอยู่แล้ว โดยตัวเลขทั้งหมดจะมาดูกันอีกครั้ง  นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวยังจะเชื่อมโยงในกองทุนอื่นๆที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด  และจะเป็นการลดปัญหาโดยใช้แนวพระราชดำริที่เป็นรูปธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net