Skip to main content
sharethis

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ก็จะถึงวาระต้องลาโรงไปแล้ว และนับจากเดือนตุลาคม 2549 นี้เป็นต้นไป "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10" ก็จะเริ่มเข้ามามีบทบาท ในฐานะแผนแม่บทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่รัฐบาล และข้าราชการทุกระดับจะต้องนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการ กำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ของจังหวัด อำเภอในการทำงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันต่อไป


 


ก่อนที่จะเริ่มมีการใช้แผนนี้อย่างเป็นทางการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัด "เวทีสาธารณะ เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมประชาชน" ขึ้น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ที่ จังหวัดเชียงใหม่


 


ทั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้ประชาชนได้เรียนรู้สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 และสามารถเสนอแนะแนวทาง การติดตามตรวจสอบ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาของประเทศ หรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยเวทีครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ


 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เราเรียกว่า แผนชาติ ฉบับ 10 นี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร  คงต้องย้อนกลับไปดูแผน 8-9 ที่ผ่านมา    และตอบคำถามต่างๆ นานา ว่าแผนฯ ฉบับที่ 10 นี้ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร อะไรขาดหายไปบ้าง และเค้าโครงรูปร่างหน้าตาของประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร... ต่อไป...?


           


ย้อนดูแผนฯ  9  เศรษฐกิจพอเพียง หรือการค้าเสรี ?


 


อ.ชูพินิจ เกษมณี ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า จุดเปลี่ยนของการร่างแผนพัฒนาฯ เริ่มตั้งแต่การร่างแผน 8 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากลัทธิผู้เชี่ยวชาญนิยมเป็นผู้ร่างแผนพัฒนา (หรือมีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ร่างแผนชาติขึ้นมา) แต่ในการร่างแผน 8 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)  มีการจัดเวทีในระดับจังหวัดเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็น หรือสร้างการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายมากขึ้น  ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง แต่กระนั้นในทางปฏิบัติก็ยังไม่ชัดเจน


 


 "จนมาถึงกระบวนการจัดทำแผน  9 ก็ใช้วิธีการเดียวกับแผน 8  คือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง นอกจากเน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง ยังเน้นเศรษฐกิจพอเพียงด้วย แต่อย่างไรก็ตามในแผน ยังมีความสับสนในเรื่องฐานคิดระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจการค้าเสรี ทุนนิยมโลก ทำให้เกิดความสับสนในการนำไปปฏิบัติเพราะฐานคิดของเศรษฐกิจทุนนิยม มุ่งเน้นที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงเน้นสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ และเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเองก็ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ก่อปัญหามลภาวะต่างๆ อีกด้วย"


 


ไม่เพียงเท่านั้น อ.ชูพินิจกล่าวต่อว่า แผน 9 ยังไม่ได้ระบุถึงแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และระบบที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า-ภาษีมรดก หรือการขจัดธุรกิจที่ผูกขาด เป็นต้น ภายใต้แผน 9 เรายังไม่เห็นความก้าวหน้าในการดำเนินการที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนแต่อย่างใดด้วย อาทิ การเรียกร้องของสมัชชาคนจนเรียกร้องให้รัฐบาลบรรจุเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนโดยระบุชัดเจนว่าคนต้องมีพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม แต่รัฐบาลก็ไม่ตอบสนอง


 


 "ยังมีประเด็นปัญหาด้านทรัพยากรด้วย เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดลงของพื้นที่ป่า รัฐใช้วิธีการออกกฎหมายกำหนดนโยบายป่าไม้เพื่อป้องกันการลดลงของพื้นที่ป่า เช่น การขยายเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก และไม่ต้องการให้ชุมชนในการตั้งถิ่นฐานในเขตป่าเพราะไม่ไว้ใจชุมชน เกิดเป็นความคิดแยกคนออกจากป่า แต่กลับไว้ใจบริษัทเข้ามาปลูกสวนป่า ทั้งยังมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประชาชนก็มีการขยายป่าชุมชนมากขึ้น แต่ไม่มีการสนับสนุน นอกจากนี้ในช่วงแผน 9 ยังพบว่ามีการลักลอบตัดไม้ในประเทศไทยมากขึ้น มีการคอร์รัปชั่นมากมายอีกด้วย"


 


 "ในขณะที่ อ.อภิชัย จันทเสน ได้อธิบายแล้วว่าการดูแลรักษาป่าของชาวบ้านจะทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ การให้ประชาชนเข้าไปดูแลป่าอนุรักษ์ยังเป็นการตรวจสอบกันเอง ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยงานรัฐ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองในแผน 9 แต่อย่างใด จะเห็นได้จากการที่กฎหมายป่าชุมชนก็ยังคงค้างเติ่งอยู่นั่นเอง" อ.ชูพินิจ กล่าว


 


แผนชาติ-แผนประชาชน ไม่ใช่แผนรัฐบาล


 


ด้าน นิคม บุญเสริม เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ ให้ความเห็นว่า หากดูแผน 8 แผน 9 ก็จะเห็นว่าสอดคล้องกัน  แต่ในแผน 10 ที่เรากำลังพูดกันอยู่จะมีความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน หากทิศทางในการบริหารประเทศยังเป็นอย่างนี้ และแม้ว่าในแผน 10 จะเห็นเรื่องการพัฒนาชุมชน การทำงานอย่างเป็นเครือข่ายก็ตาม แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีมาตรการอะไรที่จะมาเสริมให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมา


 


"สิ่งที่เกิดขึ้น จากการพัฒนากระแสหลัก คือการใช้ต้นทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เช่นกรณีเรื่องที่ดินในเกาะสมุย การสร้างไนท์ซาฟารีในเขตป่าอุทยาน  เพราะว่าใช้หลักการทุนนิยมในการบริหารประเทศ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่การทำผิดกฎกติกา กฎกติกาเรามีมากพอแล้ว แต่มันถูกทำให้ทำหน้าที่ ทำงานไม่ได้ ด้วยแรงของทุนนั่นเอง และแนวคิดก็ไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจชุมชน วิถีชีวิต และธรรมชาติ เนื่องจากเปิดให้คนนอกพื้นที่เข้ามาดูแลจัดการ จึงไม่เกิดความเข้าใจใดๆ เลย"


 


ตัวแทนจากเครือข่ายทรัพยากรฯ กล่าวต่อว่า ด้วยวิธีการทำประชาพิจารณ์ ก็คิดว่ากลุ่มทุนไม่เชื่อมั่นในการทำประชาพิจารณ์เลย ตราบใดที่กลุ่มทุนต้องการที่จะมุ่งแต่การใช้ทรัพยากรเท่านั้น จึงน่าจะแสวงหาวิธีการอื่นๆ ขึ้นมาดูแลตรวจสอบ เช่น การตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการดูแลคุ้มครองทรัพยากร และสิทธิของชุมชนให้มากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การกำหนดแผนอะไรก็ตาม ควรต้องมาจากประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย และอยากทำให้แผน 10 นี้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนขึ้นมาบริหารก็ต้องมีที่อยู่ให้แผนนี้ และนำไปใช้อย่างจริงจังอีกด้วย


 


"ทุกฝ่ายต้องตรวจสอบได้ คิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น และเสนอว่าน่าจะร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาสักฉบับที่เข้ามาคุ้มครองดูแล และเอื้ออำนวยให้กับชุมชน หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการดูแล ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาของรัฐ เพราะเห็นได้ว่าบางเรื่องที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เมื่อไปฟ้องศาล บางเรื่องไม่ได้รับการตอบรับ จึงน่าคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลไกทางด้านความยุติธรรมสามารถทำงานได้ดีขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน และเพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนให้ความคุ้มครองกับพื้นที่ที่ถูกรุกรานด้วย ซึ่งสามารถจะชะลอโครงการนั้นๆ ได้"            


 


แผนซ้อนแผน ความน่ากลัวของแผน 10


 


หาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวขึ้นว่า ต้องตั้งคำถามว่า บทบาทของสภาพัฒน์ฯ คืออะไร และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แผนที่สภาพัฒน์ฯ ยกร่างมานั้น โดยมีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นมาจากหลายภาคๆ นี้เป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่พบจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่กรุงเทพ ในหนังสือรายงานกลับมีการซ่อนประเด็นไว้ในภาคผนวก แผนที่วางไว้เป็นวาทกรรมต่างๆ ถูกเขียนไว้ในส่วนหน้า แต่ในภาคผนวกคือแผนการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่สภาพัฒน์ฯ จะทำอย่างเป็นรูปธรรม


 


หาญณรงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในภาคผนวกของแผนฯ 10  แบ่งเป็น 3  ส่วนคือ ภาคผนวกเกี่ยวกับแนวทางการลงทุน  กรอบการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย  และการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้   โดยแนวทางการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการซ่อนแผน เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ และพัฒนาระบบเชื่อมโยงการกระจายน้ำ เป็นต้น ส่วนการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายนั้น  มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการเร่งแก้เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงิน  ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมีการเร่งการออก พ.ร.บ.น้ำ  ซึ่งมีการะบุเรื่องการเก็บค่าน้ำซ่อนอยู่ด้วย เป็นต้น


 


"นอกจากนี้ ยังพบโครงการพัฒนาความร่วมมือเศรษฐกิจต่างๆ มากมาย เช่น จีเอ็มเอส ของลุ่มน้ำโขงในทางภาคเหนือ และยังมีสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอีกด้วย จึงตั้งข้อสังเกตไว้เพื่อแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้กำลังจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรุกใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติมากยิ่งขึ้น"


 


หาญณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาที่ปรึกษาฯ  มีการจัดเวทีระดมข้อเสนอแนะต่อร่างแผน 10 ของสภาพัฒน์ พบว่ามีข้อเสนอโดยรวมๆ อาทิ ต้องการให้สภาพัฒน์ใส่เนื้อหาหรือเนื้อในของหลักการในเชิงปฏิบัติด้วย เช่น เศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร, ต้องการให้ใส่ตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เพียงการรายงานเป็นตัวเลขแบบร้อยละในรายงานสถิติต่างๆ, การดำเนินการโครงการใดๆ ต้องมีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการจัดการน้ำในภาคอีสาน


 


ตลอดจนให้พิจารณารากเหง้าของความขัดแย้งต่างๆ และสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อนดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก, ให้กำหนดนโยบายการปฏิบัติอย่างชัดเจน ในการจัดการด้านทรัพยากรต่างๆ, เปิดโอกาสให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ สามารถเข้าไปดูแลตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องได้, ให้ความสนใจกับงานวิจัยที่มี และเกี่ยวข้อง โดยนำพิจารณาประกอบมากยิ่งขึ้น สุดท้ายคือ ต้องสร้างกลไก หรือกระบวนการที่รองรับ และทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ได้มากขึ้น


 


 "สุดท้ายแล้ว อยากเห็นข้อเสนอของประชาชนได้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาฯอย่างแท้จริง ในอดีต ไม่ว่าสภาพัฒนฯ จะทำอะไร การร่างแผนก็ไม่เคยให้ประชาชน หรือไม่ให้รับรู้ก่อนเลย เท่าที่ผมทราบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 มีคนเขียนแผนเพียงคนเดียวเอง หากถามว่าประชาชนรับรู้แผนอย่างไร ใครบ้างที่ควรรู้ ก็คือ ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องรับรู้ และสามารถวิเคราะห์วิพากษ์ ตรวจสอบได้ และแผนต้องมาจากการระดมความคิดเห็นจากหลากหลายฝ่าย" หาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายไว้


 


จบแผน 10 แล้วก็น่าจะจบกันไป (พอได้แล้ว)!


 


อ.เอกกมล สายจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังตั้งข้อสังเกตว่า แผนพัฒนาฯ ยังมีชีวิตอยู่ด้วยหรือ? เพราะหากลองย้อนไปดูว่าที่มาของแผนพัฒนาฯเกิดขึ้นมาอย่างไร และสะท้อนออกมาในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลของนายกฯทักษิณอย่างไร ก็จะเห็นว่าเป็นการใช้แต่เงินเป็นตัววัดเท่านั้น และแท้จริงแล้ว แผนพัฒนาฯ หรือแผนชาติที่เป็นที่เรากล่าวถึงกันอยู่นี้ไม่น่าจะมีแล้ว เพราะด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัตน์นี้   แผนพัฒนาชาติไม่มีความจำเป็นเลย เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมันซับซ้อนเกินไป ยากที่จะมีแผนใดกำหนด


 


 "ในต่างประเทศแถบตะวันตกเองก็ไม่มีแผนพัฒนาฯ เพราะว่าในต่างประเทศมีทิศทางการพัฒนาประเทศ แม้จะไปในแนวทางของกลุ่มทุน แต่การพัฒนาของภาคประชาชนก็เติบโตไปพร้อมกัน การต่อสู้ทางอำนาจนี้มันค่อนข้างสมดุล แต่เมื่อเทียบกับประเทศไทย จะเห็นว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ระบบราชการเติบโตมาก ในขณะที่ระบบรัฐสภาของเราไม่ค่อยโตไม่เข้มแข็งเลย แต่ในต่างประเทศจะพบว่าชุมชนเข้มแข็งมาก มีอิสระมากที่จะกำหนดกฎกติกาเพื่อบริหารตัวเอง แม้จะมีรัฐบาลกลางแต่รัฐบาลท้องถิ่นก็เข้มแข็งเช่นเดียวกัน ฉะนั้นท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะแผนพัฒนาของตัวเอง แต่สำหรับท้องถิ่นไทยกลับถูกดึงเข้าไปสู่ส่วนกลางหมด เป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ ผมจึงคิดว่าไทยไม่ควรมีแผนประเทศที่เป็นภาพรวมอีกแล้ว เมื่อสภาวะโลกมีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างรวดเร็ว ท้องถิ่นน่าจะบริหารและกำหนดแผนของตัวเอง ไม่ใช่แผนระดับชาติจากส่วนกลางเท่านั้น"


 


อ.เอกกมลกล่าวต่อว่า แผนชาติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอดนั้น ในหลายประเทศ โครงการต่างๆ ของรัฐมักจะตอบสนองนายทุน ทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกเปลี่ยนไปรับใช้นายทุนทั้งหมด อีกทั้งยังมีการเชื่อมต่อ เชื่อมโยงกันในทางธุรกิจการค้ามากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ระดับภาค แต่เป็นระดับภูมิภาคมากขึ้น ฉะนั้นหากจะวางแผนอะไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาถึงบริบทในท้องถิ่นต่างๆ คำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ และสถานการณ์ในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นก่อนจะกำหนดแผนใดๆ ด้วย


 


"ยกตัวอย่าง กรณีในประเทศลาว ที่จะโครงการสร้างถนนนไฮเวย์ตัดเส้นทางผ่านป่าที่อุดมสมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลาว ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยอำนาจรัฐเข้าไปใช้อำนาจบีบผลักชุมชน นี่จึงจะนำเราไปสู่การมองและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น สามารถนำแนวคิดนี้มาเชื่อมโยง ทำความเข้าใจกับไนท์ซาฟารีได้ เมื่อการนำทรัพยากรมาตอบสนองด้านการท่องเที่ยว การเจริญเติบโตของทุนแค่นั้น และท่ามกลางความยากลำบากของชาวบ้าน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็จะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ มองเห็นเพียงความสวยงามอลังการ ซึ่งแผนท่องเที่ยวตรงนี้ก็เหมือนว่าลอกแบบมาจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชียงรุ้ง ซึ่งโครงการท่องเที่ยวนี้ไปกระทบกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้"


 


อ.เอกกมล กล่าวเสริมว่า ยังมีประเด็นปัญหาด้านพลังงาน ที่มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านพลังงาน จนต้องเข้าไปดึงทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ด้วย กรณี ถ่านหินลิกไนต์ที่นำมาผลิตไฟฟ้า หรือในกรณีของการสร้างเขื่อนในประเทศจีนเพื่อกักน้ำใช้ผลิตไฟฟ้า ประเทศเวียดนามและกัมพูชาก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ภาวะขาดแคลนน้ำ พ่อค้าแม่ค้าลาวก็ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานมากขึ้น


 


 "จากความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงนำมาสู่การเกิดกระบวนการการเคลื่อนไหว การรวมตัวของชาวบ้านท้องถิ่นมากขึ้น เป็นหนึ่งในทางออกของชาวบ้าน จนกระทั่งการเคลื่อนไหวกันระดับนานาชาติ เกิดความร่วมมือของประชาชนข้ามประเทศด้วย สรุปว่า ในยุคที่ช่วงการเมืองเข้ม บทบาทของสภาพัฒน์ฯ น่าจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่เพียงแค่ร่างแผนพัฒนาฯ รวมถึงประชาชนจะทำอย่างไรด้วย ผมคิดว่า จบแผน 10 แล้วก็น่าจะจบกันไป (พอได้แล้ว)"


 


"ความสงบสุขที่ยั่งยืน" กับภารกิจสภาพัฒน์ฯ


 


"หลายท่านมองว่าสภาที่ปรึกษาฯ เป็นเพียงเสือกระดาษ สิ่งที่ต้องทำคือก็ทำให้เป็นเสือจริงขึ้นมา โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แผน 10 เป็นจริงขึ้นมาก็คือ 1.ต้องมีข้อมูลที่ดี คือต้องมาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง  เกิดจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกส่วน  2.รัฐบาลต้องนำไปขับเคลื่อน โดยภาคประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น" นี่คือคำกล่าวของ วีรวัธน์  ธีรประสาธน์ ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาที่ปรึกษาฯ


 


ทั้งยังกล่าวต่อว่า แผน 10  มีการปรับปรุงมาแล้วหลายสิบครั้ง แต่มีการปรับครั้งใหญ่มากหลังวันที่ 30  มิ.ย. ที่ผ่านมาภายหลังนายกรัฐมนตรีมีปาฐกถาใหญ่  มีการหารือกับสภาพัฒน์ฯ เป็นพิเศษ จึงทำให้แผนถูกปรับ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการระดมความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ที่ระดมมาทั่วประเทศ  สามารถเปลี่ยนได้ในพริบตา ฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็นคือข้อเสนอแนะของประชาชนในภาคเหนือ ที่จะนำไปเสนอร่างแผนต่อไปและน่าจะเป็นกรอบใหญ่สำหรับการนำไปสู่การกำหนดแผนปฏิบัติการของกระทรวงต่างๆ ให้สอดคล้อง ตาม ภารกิจหลักของแผน 10 ทั้ง 4 ประการคือ 1.พัฒนาคน 2.เสริมสร้างเศรษฐกิจ 3.ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพ 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาล และกรอบภาพรวมของแผน 10  กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศคือมุ่งพัฒนาสู่สังคมสงบสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน


 


แต่ในสภาพความเป็นจริง และในสภาพของความไม่แน่นอนทางการเมือง-สังคม-เศรษฐกิจในปัจจุบัน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้จะออกมาในรูปแบบไหน หน้าตาจะเป็นอย่างไร เราทุกคนคงได้ยลโฉมในไม่ช้า และแม้ว่าภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แต่รัฐบาลจะรับฟังและนำไปปฏิบัติหรือไม่อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป


 


...แผนชาติควรมีอยู่ หรือไม่จำเป็นต้องมีอีกแล้ว ถ้ายังต้องมีอยู่ จะต้องอยู่ในฐานะอะไร แผนแม่บทของชาติที่มาจากประชาชน หรือร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว (รัฐบาล)?


 


สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net