Skip to main content
sharethis

"ทันทีที่มีการคิดจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั่นก็คือการก่อสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา"


 


อ.ชัชวาล ปุนปัน นักฟิสิกส์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จุดประเด็นท้าทายความคิดต่อผู้ร่วมฟังและเลขาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในเวทีการสัมมนา "การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์" ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลประเทศในปี 2529 ว่าจวบจนทุกวันนี้ยังมีเด็กในเชอร์โนบิล และประเทศใกล้เคียงอย่างเบรารุสกำลังเป็นมะเร็งสูงจากการรั่วไหลของรังสีกว่า 1,800 คน และมีแนวโน้มที่เด็กเกิดใหม่ในเชอร์โนบิลจะเป็นมะเร็งอีกกว่าหมื่นคน ที่สำคัญข้อมูลมักไม่เคยถูกเปิดเผย   อุบัติเหตุครั้งสำคัญที่โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอร์แลนด์ ประเทศสหรัฐ ความเสียหายมีมากจนรัฐบาลต้องปิดเป็นความลับ และไม่มีงานศึกษาใดที่บอกได้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง


 


ขณะที่เลขานุการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ดร.มนูญ อร่ามรัตน์ ชี้แจงอย่างหนักแน่นว่า นิวเคลียร์เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ควบคุมได้ไม่อันตราย เมื่อสถานการณ์พลังงานของไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่มีความมั่นคงในการใช้พลังงานอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในประเทศกว่าร้อยละ 70 มาจากก๊าซธรรมชาติ เมื่อราคาปรับสูงขึ้น ประชาชนก็ต้องรับภาระค่าไฟแพง ดังนั้นเพื่อความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต จึงต้องพิจารณาแหล่งพลังงานอื่นที่ไม่สร้างมลพิษ อย่างถ่านหิน หรือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีที่สุด ณ เวลานี้


 


ย้อนรอย..ไทยกับพลังงานนิวเคลียร์


 


แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม ก่อนหน้านี้ในปี 2519 รัฐบาลได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่อ่าวไผ่  จ.ชลบุรี แต่เมื่อถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ผนวกกับมีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลจึงเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด


 


หลังจากนั้นในปี 2525 ปส.ได้ผนึกกำลังกับ กฟผ.มองหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนพบพื้นที่อีก 8 แห่ง บริเวณชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ในแถบ จ.ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี สงขลา และกระบี่ โดยแต่ละแห่งมีพื้นที่ประมาณ 20-50    ตารางกิโลเมตร


 


ต่อมาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงบรรจุอยู่ในแนวทางการพัฒนาพลังงานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2535 - 2539) จนเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 35 คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี 2535 - 2549 ของ กฟผ. ซึ่งกำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 2 แห่ง ภายในปี 2549 จากนั้นครม.จึงมีมติอีกทีในวันที่ 1 มิ.ย.36 มอบหมายให้ สป.เตรียมแผนวิจัยความปลอดภัย ปรับปรุงกฎหมาย และทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการมีพลังงานนิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าในอนาคต


 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายพลังงานมีการปรับเปลี่ยนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งมีแนวทางจัดหาแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงถูกลบออกไปจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า...จวบจนปัจจุบันแนวคิดการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง เพียงเปลี่ยนจากการช่วงชิงพื้นทางนโยบายพลังงาน มาเป็นการนำเสนอผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ


 


ถ้าจะกล่าวตามตรง ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และกลุ่มทุนพลังงาน ต่างผลัดไม้ออกมาส่งข้อมูล ข่าวสาร รวมถึงคุณูปการของนิวเคลียร์ในด้านต่างๆ ผ่านทางเนื้อที่ของสื่ออย่างหลากหลาย ชนิดที่หากไม่ตั้งใจพิจารณาสารที่ได้รับอย่างถี่ถ้วน ก็คงจะต้องมนต์สวดคาถาแก้ปัญหา "ความมั่นคงทางพลังงาน" บทนี้ไปตามๆ กัน


 


อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวอีกว่า สิ่งที่ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ มักจะหลอกหลอนให้เราเกิดความหวาดกลัวอยู่เสมอว่าพลังงานกำลังจะหมดไป และเราจะไม่มีพลังงานใช้ หากไม่เลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่บัดนี้ แต่มันจำเป็นหรือ ถ้าคนไทยไม่ต้องการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงถ่านหิน แล้วต้องหันมาใช้นิวเคลียร์เท่านั้น มันจำเป็นหรือที่จะกระโดดจากนรกขุมหนึ่ง ไปสู่อีกขุมหนึ่งแทน แล้วคนไทยไม่มีสิทธิที่จะเลือกใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับธรรมชาติอย่างแท้จริงหรือ


 


ฉากหลัง "เชื้อเพลิงแสนสะอาด"


 


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จัดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนชนิดหนึ่ง มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น สามารถแบ่งส่วนการทำงานได้ 2 ส่วน คือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และส่วนผลิตไฟฟ้าที่รับไอน้ำจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วส่งไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า


 


แหล่งพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจาก ธาตุยูเรเนียม ซึ่งเป็นธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นธาตุหนัก มีน้ำหนักอะตอม 92 ทั้งนี้ธาตุยูเรเนียมประกอบไปด้วย 3 ไอโซโทป คือ ยูเรเนียม 234, ยูเรเนียม 235 และ ยูเรเนียม 238 ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 0.01, 0.71 และ 77.29 ตามลำดับ ยูเรเนียม 235 เป็นไอโซโทปที่แตกตัวได้สามารถทำปฏิกิริยาฟิสชั่นได้ (1 กรัมของ U235 ถูกชนได้นิวตรอน จะแตกตัวให้พลังงานคิดเป็นพลังงานความร้อน 3 ล้านเท่าของการเผาถ่านหินที่น้ำหนักเท่ากัน) นอกจากนี้ยังมีธาตุอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเช่น ธอเรียม 232 รูเรเนียม 238 พลูโตเนียม 239 เป็นต้น


 


สายพานการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จะเริ่มตั้งแต่การเอาธาตุยูเรเนียมมาจากเหมืองผลิตในรูป yellow cake หรือ U3O8 (ในกระบวนการสกัดยูเรเนียมจากเหมืองนั้นกว่าจะได้ธาตุยูเรเนียมออกมานั้นจะน้อยมาก เมื่อสกัดออกมาได้จะเรียกว่า yellow cake) ผ่านกระบวนการทางเคมีเป็น Uranium hexafluoride (UF6) และถูกทำให้เข้มข้น จากนั้นนำไปแปรสภาพเป็น Uranium dioxide (UO2) และประกอบเป็นแท่งเชื้อเพลิง จึงนำไปใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อยูเรเนียม 235 ส่วนใหญ่หมดไป เชื้อเพลิงนั้นถูกเรียกว่า Spent Fuel  (เชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว)   และถูกนำไปเก็บในบ่อน้ำภายในโรงไฟฟ้า เพื่อรอให้ความร้อนและรังสีลดลง  จากนั้นอาจนำไปทำกระบวนการใหม่อีกรอบเพื่อแยกเอาสิ่งที่ยังเป็นประโยชน์มาใช้ เช่นพลูโตเนียม สารประกอบยูเรเนียม และไอโซโทปที่เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดขนาดและแยกชนิดของกากรังสีเพื่อความเหมาะสมในการกำจัด        ถึงกระนั้นกากกัมมันตรังสีเหล่านี้ต้องใช้เวลาสลายตัวกลับไปสู่สภาพธรรมชาตินับหมื่นๆ ปี


 


อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ anawa.org นำเสนอข้อมูลกระชากหน้ากากพลังงานสะอาด ผ่านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในออสเตรเลียตะวันตก โดยก่อนที่จะได้ Uranium dioxide ในการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 1 ปี จะต้องนำหินแร่จากเหมืองใต้ดินจำนวน 146,000 ตัน มาถลุงและบดเพื่อให้ได้ yellowcake 150 ตัน โดยหินแร่ยูเรียมที่ด้อยคุณภาพจำนวน 145,850 ตัน ซึ่งถือเป็นกากกัมมันตภาพรังสี กลับไม่มีการจัดการใดๆ ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ให้เป็นปัญหาของคนรุ่นหลัง


 


ต่อมาเมื่อ Yellowcake จำนวน 150 ตันผ่านกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพ จนได้แท่งเชื้อเพลิง Uranium hexafluoride จำนวน 33 ตันไปผลิตไฟฟ้า ส่วนที่เหลือ 117 ตันซึ่งมีไอโซโทป 238 จะถูกกองทัพสหรัฐ นำไปผลิตกระสุนปืนที่สารกัมมันตรังสีที่รู้จักกันในชื่อ Depleted uranium และเมื่อแท่งเชื้อเพลิงถูกใช้จนหมด   จะถูกพักไว้ระยะหนึ่ง โดยมีเพียง 1.2 ตันเท่านั้นที่จะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนกากกัมมันตภาพรังสี เหล่านี้กว่า 31.5 ตันจะถูกนำไปเป็นก็จะถูกลำเลียงไปแปลงสภาพเป็นพลูโตเนียม 300 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอที่จะผลิตจรวดนิวเคลียร์ได้ถึง 60 ลูก และปัจจุบันทั่วโลกมีจรวดนิวเคลียร์ที่พร้อมยิงมากกว่า 36,000 ลูก


 


ด้วยเหตุนี้ มลพิษที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยมาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าย่อมต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น แต่หากพิจารณาเส้นทางกระบวนการได้มาซึ่งเชื้อเพลิงเข้าไปด้วย จะพบว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งทั่วโลก ไม่ได้บริสุทธิ์ขาวสะอาด เป็นมิตรต่อมนุษยชาติ แต่เป็นกิจกรรมที่เปื้อนเลือด อยู่บนสายพานการผลิตอาวุธนิวเคลียร์! และกระบวนการทางทหารแทบทั้งสิ้น


 


และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้การประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2544 จึงไม่รับรองว่านิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน!


 


One size not fit all


 


ไม่ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีอันตรายเร้นกายอยู่มากเพียงใดก็ตาม ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ 440 แห่ง ใน 32 ประเทศ ประเทศที่มีโรงไฟฟ้ามากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ส่วนในชาติเอเชียญี่ปุ่นมีมากที่สุด 50 โรง รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 20 โรง อินเดีย 15 โรง จีน 9 โรง นอกจากนี้ภูมิภาคนี้ยังมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ต่ำกว่า 50 โรง รวมถึงเวียดนามประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งจุดนี้ก็ถูกแปลงมาเป็นสิ่งปลุกเร้าให้ตัวแทนอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในไทยต่างเร่งรุดนำแผนการก่อสร้างออกมาปัดฝุ่นเป็นทิวแถว ภายใต้การช่วงชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาค


 


น่าแปลกใจไม่น้อย ในขณะที่สภาพแวดล้อมของไทย มีแหล่งพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพอยู่มากมาย อาทิ ก๊าซชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานลม แสงอาทิตย์ คลื่น ฯลฯ ทว่าแหล่งพลังงานเหล่านี้กลับถูกมองข้าม และถูกนิยามว่าเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่คุ้มค่าการลงทุน ใช้เทคโนโลยีสูง แต่หากลองคิดกันดูเล่นๆ  ถ้าต้องลงทุนงบประมาณจำนวนมหาศาลในอัตราที่เท่ากัน ทำไมจึงไม่หันมาพัฒนาจากทางเลือกอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพียงแค่เลิกระบบการผูกขาดการจัดการไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ เปลี่ยนเป็นการจัดการแบบมีส่วนร่วม แนวคิดนี้ก็กลายเป็นฝันที่เป็นจริงและยั่งยืน


 


อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้ได้ผูกโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม และสันติภาพชาวโลกในบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งหากผนวกรวมเรื่องความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่ชาติไหนกล้ารับประกันว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการกับกากกัมมันตภาพรังสีที่มีอยู่จะสมบูรณ์ ไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง หรือในด้านองค์ความรู้ของคนไทย ประเด็นการลงทุนนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยี เชื้อเพลิง รวมถึงการจัดการดูแลกากกัมมันตรังสีในภายหลัง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาจากต่างชาติทั้งสิ้น


 


ดังนั้นไม่ว่าในอนาคตเราจะเลือกใช้นิวเคลียร์ หรือพลังงานประเภทใดก็ตาม ควรเชื่อมโยงประเด็นเข้ากับมิติของชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเมืองที่อยู่เบื้องหลังด้วย เพราะหากต่อต้านการใช้นิวเคลียร์ในประเทศอย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจเป็นการเตะหมูเข้าปากกลุ่มทุนเชื้อเพลิงสกปรกอย่างถ่านหินก็เป็นได้ ทั้งๆที่ประชาชนชาวไทยสมควรหลุดพ้นจากนรกขุมนี้เสียที.


 


อ้างอิงข้อมูลจาก


www.anawa.org


www.greenpeace.org/international


www.oaep.go.th/powerplant/main.html


 


 


ธีรมล   บัวงาม


สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net