Skip to main content
sharethis

ก่อนปี 2535 ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ 5 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9 และช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อเหตุโศกนาฏกรรมทางการเมือง"พฤษภาเลือด"ขึ้น ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน ทีวีทุกช่องซึ่งเป็นสื่อของรัฐถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอข่าวสารที่เป็นจริงให้สาธารณะได้รับรู้ ทำให้รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังเหตุร้ายผ่านพ้นมีแนวคิดจะเปิดสถานีโทรทัศน์เสรีระบบยูเอชเอฟอีก 10 ช่อง ให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสาร


อย่างเต็มที่ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้ถือหุ้นจะต้องมี 10 รายและแต่ละรายมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผูกขาด


ปี 2538 กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการโทรทัศน์ช่องใหม่ระบบยูเอชเอฟ จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยได้ก่อตั้งบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด มาเป็นคู่สัญญากับปลัดสำนักนายกฯ


1 กรกฎาคม 2539 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ โดยวางจุดขายเป็นสถานีข่าว


ปี 2540 บริษัทฯ มีสถานีส่งรวมทั้งสิ้น 36 สถานี สามารถให้บริการ ครอบคลุมพื้นที่ บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยเพียงบางจังหวัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามที่กำหนด ในสัญญาสัมปทาน


20 ตุลาคม 2541  เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ทาบทามกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นเข้ามาถือหุ้น


พฤศจิกายน 2544  มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทฯ โดยชินคอร์ปตกลงซื้อหุ้นสามัญของไอทีวีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 106,250,000 หุ้น รวมทั้งเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ซึ่งมี กลุ่มเนชั่น,กันตนา,เดลินิวส์, ไจแอนท์ ฯลฯ เป็นผลให้ชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด หลังจากผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,200 ล้านบาท


มีนาคม ปี 2545 ได้เสนอขายหุ้นของบริษัทฯแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 300 ล้านหุ้น รวมถึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนเดียวกัน


ปี 2546 ไอทีวี ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยการปรับผังรายการใหม่เพิ่มรายการบันเทิงมากขึ้น ทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีกลายเป็นสถานีเพื่อการพาณิชย์แบบเดียวกับช่อง 3 และช่อง 7


ธันวาคม 2546 คณะกรรมการบริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทเป็น 7,800 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1,560 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท จัดสรรเป็นการเฉพาะเจาะจง ให้นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และบริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาคุณภาพรายการ และเสริมฐานเงินทุนของไอทีวีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น


ปี 2547 กลุ่มชินคอร์ปได้ทำเรื่องขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน ขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 800 ล้านบาท โดยอ้างว่าจ่ายสูงกว่าเอกชนรายอื่น และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผิดสัญญาโดยให้ช่องของรัฐมีโฆษณาได้ (กรณีช่อง 11/1 11/2)


30 มกราคม 2547 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อพิพาท มีสาระสำคัญให้รัฐชดเชยความเสียหายโดยชำระเงินให้แก่บริษัทฯ จำนวน 20 ล้านบาท และลดค่าสัมปทานจากเดิมปีละ 1,000 บาทลดลงเหลือปีละ 230 ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระขั้นต่ำส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ฯ


ให้บริษัทฯ สามารถออกอากาศช่วงเวลา Prime Time คือช่วงเวลาระหว่าง 19.00 - 21.30 น. ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัด เฉพาะรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ แต่ต้องเสนอรายการข่าว สารคดี และสาระประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศ


หลังจากคณะอนุโตตุลาการมีคำตัดสินออกมา บริษัทฯก็จ่ายผลตอบแทนให้รัฐบนพื้นฐานใหม่ 230 ล้านบาททันที ทำให้การดำเนินงานพลิกกลับมามีกำไร


กุมภาพันธุ์ 2549    กลุ่มเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ซื้อหุ้นชินคอร์ป ซึ่งรวมกิจการของไอทีวีด้วย


9 พฤษภาคม 2549  ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการกรณีพิพาทกับสำนักปลัดสำนักนายก ฯ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ไอทีวีต้องกลับมาจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิม 1,000 ล้านบาทต่อปีและทางสปน.เตรียมคำนวณค่าสัมปทานและปรับย้อนหลังกรณีการปรับผังรายการของไอทีวีกว่า 7.6 หมื่นล้าน 


7 มิถุนายน 2549 บริษัทไอทีวี ได้ดำเนินการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด


4 กรกฎาคม 2549  คณะรัฐมนตรีมีมติ แต่งตั้ง พล.ต.ต. พีรพันธ์  เปรมภูติ รักษาราชการปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีการสอดแทรกบางส่วนของสัญญาที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี


 


21 กรกฎาคม 2549  "กลุ่มกู้คืนสื่อเสรี (ไอทีวี)" ประกอบด้วยเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายคนรักบีบีซี แถลงข่าวรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติไอทีวี เพื่อรับประกันความอิสระของไอทีวีหลังจากกลับมาเป็นของรัฐ โดยกำหนดแนวทางการบริหารและโครงสร้างที่เน้นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net