Skip to main content
sharethis


หาดใหญ่ - เปิดผังเมืองสงขลา ยก "บางกล่ำ" เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจคู่หาดใหญ่ "ถนนคลองแงะ - ทุ่งตำเสา" เชื่อมหาดใหญ่ - สตูล เล็งปี "51 ปักธงลุยสร้างท่าเรือจะนะ "รองอธิบดีส่งออก" ระบุสร้างท่าเรือระนองผิดพลาด ผู้ใช้บริการน้อย เผย "เสี่ยเพ้ง" ฝันบุกพม่าลงทุนสร้างท่าเรือ


 


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 กรกฎาคม 2549 ที่โรงแรมเจบีหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หอการค้าจังหวัดสงขลาจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนายุทธศาสตร์โลจิสติกส์สงขลา - สตูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีผู้เข้าร่วม 150 คน


 


นายกุดั่น อินทร์พรหม นักผังเมือง สำนักผังเมืองเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย บรรยายเรื่อง "ศักยภาพและการจัดการด้านพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนายุทธศาสตร์โลจิสติกส์สงขลา - สตูล" ว่า ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังจัดทำผังประเทศ รองรับการพัฒนาในระยะ 50 - 60 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นผังระดับนโยบาย ประกอบด้วย ผังภาคของประเทศ ผังนโยบายกลุ่มจังหวัด ในส่วนนี้จะดำเนินการในปี 2550 - 2554 ตามด้วยผังนโยบายการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ และผังเมืองรวมจังหวัด ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด


 


นายกุดั่น เปิดด้วยว่า สำหรับการจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบการตั้งถิ่นฐาน กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินเมือง และที่ดินนอกเมือง ส่วนการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการ ยังไม่เป็นที่พอใจของกรมโยธาธิการและผังเมือง


 


นอกจากผังระดับนโยบายแล้ว ยังมีผังเมืองรวมระดับเมืองและชุมชนด้วย โดยการทำผังเมืองจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผังชุมชน โดยจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของชุมชนด้วย ต่อมา คือ ผังสี สีแดงเป็นพื้นที่พาณิชย์ สีม่วงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม สีเขียวเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผังสุดท้าย คือ ผังโลจิสติกส์


 


นายกุดั่น บรรยายอีกว่า สำหรับกลุ่มจังหวัดสงขลา - สตูล มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น การจัดทำผังจึงต้องเริ่มต้นที่พื้นที่อุตสาหกรรมก่อน เพราะกรมโยธาธิการและผังเมืองมีแนวคิดว่า เมื่อมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จะเกิดการจ้างงานและมีอาชีพบริการตามมา โดยการจ้างแรงงาน 1 คน จะเกิดการจ้างงานตามมาอีก 1.5 คน มากกว่าอาชีพข้าราชการ เพราะจ้างข้าราชการ 1 คน จะมีการจ้างงานตามมาเพียง 0.5 - 0.7 คน เท่านั้น นอกจากนี้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จะต้องพัฒนาท่าเรือขึ้นมารองรับ รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบโครงข่ายการขนส่งน้ำ


 


เดิมการจัดทำผังเมืองรวมสงขลา - สตูล จะกำหนดให้อำเภอหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่พิจารณาทางด้านภูมิศาสตร์ พบว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง เพราะฉะนั้นการวางผังเมืองหาดใหญ่ ต้องวางเป็นเมืองหลายศูนย์กลางความเจริญ โดยรวมพื้นที่รอบๆ เมืองหาดใหญ่เข้าด้วยกัน และต้องเป็นพื้นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง ซึ่งอยู่ในบริเวณตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ แต่ยังไม่กว้างพอ และที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมอยู่แล้ว การเชื่อมศูนย์กลางเหล่านี้ สามารถทำได้ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เท่าเทียม และเชื่อมระบบคมนาคมเข้าด้วยกัน


 


นายกุญญพันธ์ แรงขำ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการบรรยายหัวข้อ "โลจิสติกส์จาก Global สู่ Local : พัฒนายุทธศาสตร์โลจิสติกส์สงขลา - สตูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน" ว่า ปัจจุบันไทยมีท่าเรือขนส่งสินค้าไปทางด้านตะวันออกของประเทศอยู่ 3 แห่ง คือท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกสงขลา ขณะที่ท่าเรือทางฝั่งทะเลอันดามันเพียงแห่งเดียว คือ ท่าเรือระนอง การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะลดระยะเวลาขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านช่องแคมมะละกา ได้ถึง 5 วัน ซึ่งคุ้มค่ามาก


 


สำหรับท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือแม่น้ำรองรับเรือขนาดไม่เกิน 3 หมื่นตัน ไม่พอรองรับการขนส่งสินค้าไปทางตะวันตก เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จผู้ประกอบการไปใช้บริการน้อยมาก เพราะระบบการคมนาคมยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟที่ยังไปไม่ถึงจังหวัดระนอง หรือถนนที่เป็นทางลาดชันคดเคี้ยวไม่เหมาะกับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ตนได้เชิญชวนให้เอกชนเข้ามาใช้บริการท่าเรือระนอง ทางบริษัทโตโยต้า สนใจจะใช้บริการ แต่ต้องยกเลิกเพราะปัญหาความไม่พร้อมทางด้านการคมนาคม


 


นายกุญญพันธ์ บรรยายอีกว่า ก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดจะร่วมทุนกับพม่า สร้างท่าเรือที่เมืองทวาย ประเทศพม่า เพราะสามารถขนส่งสินค้าจากจังหวัดราชบุรี ไปยังท่าเรือแห่งนี้ได้ ภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเมืองในพม่าไม่นิ่ง ขณะที่มาเลเซียก็ต้องการไปลงทุนสร้างท่าเรือเช่นกัน เชื่อว่าหากมาเลเซียไปลงทุน จะพัฒนาได้ดีกว่าไทย เพราะมีความชำนาญในการบริหารท่าเรือมากกว่า


 


ต่อมา ในเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ได้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดในการวางแผนการพัฒนาโลจิสติกส์ที่พึงประสงค์ ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล การเชื่อมโยงการค้ากับภูมิภาค และกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบายและกระบวนการพัฒนาของรัฐ และกลุ่มความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์


 


ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เจ้าหน้าที่สำนักขนส่งทางน้ำที่ 4 สาขาสงขลา เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้จังหวัดสตูลได้ตั้งคณะกรรมการปรองดองราคาที่ดินก่อสร้างท่าเรือนำลึกปากบาราแล้ว อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของที่ดิน แต่บางรายยังไม่สามารถตกลงกันได้ อาจต้องย้ายจุดก่อสร้าง เพราะที่ดินราคาสูงมาก ส่วนการก่อสร้างคณะรัฐมนตรีให้ชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ สำหรับโครงการนี้มีมูลค่า 9,469 ล้านบาท


 


เจ้าหน้าที่คนเดียวกัน เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้เล็งพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นที่ตั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษากำลังศึกษาความเหมาะสมอยู่ โดยทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กำหนดออกแบบก่อสร้าง ในปี 2550 และดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2553 เหตุที่ต้องสร้างท่าเรือใหม่เพราะท่าเรือสงขลาปัจจุบันมีปัญหาตื้นเขิน ต้องขุดลอกตะกอนทุกปี เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเทียบท่าได้


 


นายสมศักดิ์ บุญประทานพร วิศวกรโยธา กรมทางลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยต่อที่ประชุมว่า แม้การสร้างท่าเรือนำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ยังไม่ชัดเจน แต่โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมสตูล - รัตภูมิ - ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ยังจะดำเนินการต่อไป เพื่อเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมในภาคใต้ ส่วนการสร้างถนนสายคลองแงะ - ทุ่งตำเสา อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จากผลการศึกษาพบว่าคุ้มทุน แต่ติดปัญหาผ่านพื้นที่สวนป่าสิริกิตติ์ระยะ 20 กิโลเมตรเศษ ขณะนี้ กรมทางหลวงกำลังเตรียมส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา หากไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็จะไม่ดำเนินการ


 


นายสมศักดิ์ เปิดเผย "ประชาไท" หลังการประชุมว่า ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างประเทศ หาดใหญ่ - ชายแดนไทยมาเลเซีย จากการศึกษาพบว่า อีก 5 ปี จึงจะคุ้มทุน เมื่อถึงเวลานั้น ถึงจะพิจารณาก่อสร้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net