Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 ก.ค.2549  สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนของประเทศไทยว่า ล่าสุดวานนี้ได้รับรายงานผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคทั้งหมด 31 ราย จาก 9 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร 12 ราย, สุโขทัย 7 ราย, กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี 3 ราย, กำแพงเพชร 2 ราย, อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครราชสีมา และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 ก.ค.49 ได้รับรายงานผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคสะสม 1,688 ราย จาก 67 จังหวัด


 


สำหรับผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกในปี 49 มีเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายอายุ 17 ปี อาชีพรับจ้าง ซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่ 11 ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เริ่มป่วยวันที่ 15 ก.ค.49 ด้วยอาการไข้ ไอ รับการรักษาวันที่ 18 ก.ค.49 ที่โรงพยาบาลทับคล้อ ต่อมาส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพิจิตร เสียชีวิตวันที่ 24 ก.ค.49


 


จากการสอบสวนโรค ก่อนเริ่มป่วย 1 สัปดาห์ที่บ้านมีไก่เสียชีวิตประมาณ 10 ตัว ผู้ป่วยใช้มือเปล่าจับซากไก่ ส่วนผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยในครอบครัวมี 3 คน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยจำนวน 37 คน ขณะนี้ไม่มีผู้ใดมีอาการไข้


 


ส่วนสถานการณ์ในสัตว์ปีกภายในประเทศของกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ 1 ม.ค.-26 ก.ค.49 พบพื้นที่มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายและรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวน 32 จังหวัด รวม 158 ตำบล ตรวจพบไข้หวัดนก 1 ตำบลใน จ.พิจิตร


 


นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการควบคุมโรคไข้หวัดนกในคน ว่า ได้สั่งการให้สาธารณสุขทั่วประเทศ มิสเตอร์ไข้หวัดนก และหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. รวมถึงทีมเคลื่อนที่เร็วทางระบาดวิทยา ให้ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น แม้ในจังหวัดที่ยังไม่พบไก่ตาย ไม่พบผู้ป่วย


 


นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมผู้บริหารระดับรองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศ และสำนักควบคุมโรค 12 เขตทั่วประเทศ ปรับมาตรการตรวจวินิจฉัยโรคให้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงนี้ ต้องเฝ้าระวัง 4 โรค ได้แก่ ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากอาการใกล้เคียงกันมาก เริ่มจากมีไข้สูงเหมือนกัน ได้กำชับทีมแพทย์ให้ซักประวัติผู้ป่วยโดยละเอียดทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ตรวจร่างกาย ส่งเสมหะหรือเลือดตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการทุกราย และประมวลผลประกอบการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด รวมทั้งด้านการใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นที่ปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง


 


ขณะที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังนำเลือดของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยไข้หวัดนกมาเพาะเชื้อเพื่อตรวจว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยเป็นการตรวจยืนยันอีกครั้ง ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งที่ผ่านมาในการตรวจเบื้องต้นมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นไข้เลือดออก การรักษาจึงออกไปในรูปแบบนั้น อีกทั้งใน จ.พิจิตรก็มีการระบาดของไข้เลือดออกร่วมด้วย


 


นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า อาการของไข้เลือดออกและไข้หวัดนกคล้ายกันมาก เมื่อแพทย์ซักประวัติทราบว่ามีประวัติสัมผัสไก่ ก็ได้ส่งเลือดตรวจทั้งไข้เลือดออกและไข้หวัดนก แต่ปรากฏว่าผลการตรวจชุดทดสอบเบื้องต้นไข้หวัดนกเป็นลบ แต่พบว่าเกล็ดเลือดต่ำ การรักษาจึงเป็นไปในทางรักษาอาการไข้เลือดออก แต่สุดท้ายผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จึงส่งตรวจหวัดนกเพื่อยืนยันอีกที ก็ปรากฏว่าเป็นไข้หวัดนกด้วย


 


นพ.ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ปกติคนเราสามารถเป็น 2 เชื้อได้ แต่พบน้อยมาก แต่เป็นไปได้ คนไข้โรคเอดส์ก็ยังป่วยเป็นโรคอื่นร่วมด้วยได้ เช่น วัณโรค เป็นต้น แต่ขอให้สบายใจได้ว่า ถ้าเป็นหวัดนกและไข้เลือดออกจริงในคนเดียวถึงรวมกันก็ไม่มีปัญหา 100 % เพราะเป็นเชื้อคนละชนิดกัน ที่ต้องกังวลให้มากๆคือ เป็นไข้หวัดใหญ่และหวัดนกในรายเดียวกัน เพราะฉะนั้นในกรณีผู้เสียชีวิตรายนี้จึงไม่ต้องกังวล


         


 


ส่วนที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นพ.จรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เรียกประชุมด่วนปศุสัตว์จังหวัด เกษตรจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อมอบนโยบายควบคุมโรคไข้หวัดนกที่เกิดระบาดเป็นรอบที่ 4 ในปี 2549


 


ทั้งนี้  พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เพราะมีเชื้อระบาดซ้ำทุกปี ที่ผ่านมา ได้ประกาศให้ 7 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนกมาแล้ว โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากฝนตกชุกรอยต่อปลายฝนต้นหนาว นกอพยพที่นำเชื้อไข้หวัดนก จึงต้องทำความสะอาดพื้นที่และค้นหาโรคด่วนที่สุด


 


นโยบายควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกให้อยู่ภายในระยะ 5 วัน ประกอบด้วย 1.ทำความสะอาดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในทุกพื้นที่ที่เคยเกิดโรคไข้หวัดนก หรือเกิดโรคระบาดอื่นๆ ในสัตว์ปีก ให้ปรับสภาพตามพื้นที่ หากมีฝนตกชุกให้พ่นยาทุกสัปดาห์


 


2.หากพบสัตว์ปีกป่วยตาย ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นโรคไข้หวัดนก ให้ใช้มาตรฐานควบคุมโรคไข้หวัดนก ทำลายสัตว์ป่วยตายในรัศมี 1 กม.ทันทีไม่ต้องรอผลแล็บ และต้องใช้มาตรการทำลายอย่างเด็ดขาด อย่าให้มีการลักลอบเก็บซ่อนไก่ได้ รวมทั้งให้เร่งชดเชยเงินให้โดยเร็ว ส่วนเจ้าหน้าที่ชุดทำลายต้องได้มาตรฐาน สวมเครื่องมือป้องกันเสมือนหนึ่งสัตว์ปีกป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก


 


3.การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกต้องขีดวงให้แคบในระดับอำเภอ ต้องกำหนดด่านกักสัตว์ระหว่างอำเภอ ห้ามเคลื่อนย้ายข้ามอำเภอเด็ดขาด และ 4.ขอร้องให้มีการสนธิกำลังระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดให้เร่งออกเดินสายเคาะประตูบ้าน ออกเสียงตามสายทุกหมู่บ้าน เพื่อทราบข้อมูลมีไก่ป่วยตายในพื้นที่หรือไม่ มีการขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกหรือไม่ และมีคนเจ็บหรือเป็นไข้หรือไม่


 


"ขอให้ทำให้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่า ถูกย้าย โรคมันจะเกิดก็ต้องเกิด อย่าไปกลัว แม้จะเกิดโรคก็จะรู้เร็ว ควบคุมให้เร็ว ส่วนเรื่องงบประมาณที่เป็นปัญหานั้น จะเร่งสำนักงบประมาณเบิกมาให้เร็วที่สุด ส่วนกำลังคนข้าราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯทุกคนต้องเข้าไปร่วมงานนี้ด้วย รอบนี้ขอให้จบใน 5 วัน อย่าให้เกิดกรณีโยนไก่ทิ้งน้ำขึ้นมาอีก ส่วนพื้นที่ระบาดของโรคอย่างที่พิจิตร ให้สาธารณสุขเร่งเบิกวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาฉีดให้บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสัตว์ปีกเร็วที่สุด"


 


นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ รักษาราชการแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้พิษณุโลกมีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มอีก 3 ราย โดยเข้ารักษาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2549 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลเนินมะปราง โรงพยาบาลวังทอง และโรงพยาบาลรวมแพทย์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก กำลังรอผลพิสูจน์จากกองปฏิบัติการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ธรรมดา เพราะอาการไม่รุนแรง และนับจากต้นปี 2549 ที่พิษณุโลก มีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกไปแล้ว 7 ราย แต่ทั้งหมดไม่มีเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด


 


นางวรรณี สันตมนัส ปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้ใช้มาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้หวัดนก ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมแล้ว โดยปัจจัยเสี่ยงที่สุดมาจากเป็ดไล่ทุ่งเป็นหลัก และช่วงต่อไปนี้ได้ขอร้องผู้ประกอบฟาร์มไก่เนื้อในพิษณุโลก 95 ฟาร์ม ให้งดนำลูกไก่เข้าเลี้ยงในฟาร์มในช่วงนี้ เพราะหากเกิดโรคไข้หวัดนกขึ้นมา จะเสมือนเป็นระเบิดลูกใหญ่


 


นายอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการระบาดของโรคไข้หวัดนกในขณะนี้ว่า หลังจากที่มีโรคไข้หวัดนกระบาดขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดพิจิตร และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุด ได้รับรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม มีไก่ไข่ตายประมาณ 3,000 ตัว ซึ่งกำลังส่งซากไก่ไปตรวจพิสูจน์ว่าเกิดจากเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ และจะรู้ผลภายใน 2 - 3 วัน พร้อมทั้งขอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลป้องกันเชื้อไข้หวัดนก หากพบเห็นไก่ หรือสัตว์ปีกทุกชนิดตายมากผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือ อาสาสมัครปศุสัตว์ในพื้นที่ โดยเร็วที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net