Skip to main content
sharethis

รายงานโดย วิโชคศักดิ์ รณงค์ไพรี


กองเลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้


 


 


เมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน 2549 สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ข้อเสนอสู่การปฏิรูปการเมืองของชาวประมงพื้นบ้าน 2549 ณ ห้องประชุม E 105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ "ประชาไท" ขอนำมาเสนอ ดังนี้


 


0 0 0


 


ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์


นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวายอิ สหรัฐอเมริกา


 


ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ ย้ำให้เห็นถึงพัฒนาการการเมืองไทย โดยมองว่าอำนาจทางเมืองที่ทำให้เกิดการต่อสู้ของประชาชนไทยที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยนั้น มีนัยยะสำคัญที่ว่า อะไรคือหลักการ หรือกติกาข้อตกลงทางการเมืองที่ชอบธรรม ซึ่งในการต่อสู้ให้เกิดหลักการในการได้ซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมนั้น ในช่วงหลังของพัฒนาการการเมืองไทย จะเห็นว่า จะเป็นการต่อสู้ที่เน้นไม่ให้อำนาจทางการเมือง ไม่จำกัดอยู่ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


 


การต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมา มักปรากฎผลให้กลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสอดแทรกขึ้นมามีอำนาจแทนเสมอ ตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน กรณีที่ศาล เข้ามามีบทบาท และเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็เท่ากับว่า ศาลซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคนเพียงนิดเดียว แต่มีอำนาจในการจัดการทุกอย่างไปเสีย จึงหมิ่นเหม่ว่าอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประชาชนจริงๆ


 


ศิโรฒน์ จึงมีความเห็นต่อการปฏิรูปการเมือง ที่เน้นการเคลื่อนไหวผลักดันของประชาชน และชี้ว่าต้องปฏิรูปการเมืองที่ทำให้อำนาจอยู่ในมือประชาชนให้มากที่สุด และประชาชนต้องควบคุมกระบวนการต่างๆได้ด้วย ขณะเดียวกันศิโรฒน์ ก็บอกว่าการจะผลักดันให้เกิดนั้นไม่ง่าย


 


แนวโน้มการเมืองในปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเชื่อมั่นว่า อำนาจแบบอื่นมีสิทธิในการมีอำนาจทางการเมืองมากกว่า หรือดีกว่ากระบวนการทางเมืองโดยประชาชนหรือโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การปฏิวัติในปี 2475 นั้น มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนมีอำนาจจริง จนถึงปัจจุบันก็ยังไปไม่ถึง กรณีที่มีการเสนอให้ใช้มาตรรา 7 ในรัฐธรรมนูญ (โดยมีการตีความว่าให้อำนาจพระมหากษัตริย์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้) ก็เช่นกัน ด้านหนึ่งเป็นข้อเสนอที่ต้องการสนับสนุนการล้มระบอบทักษิณ แต่อีกด้านหนึ่งก็เกรงกันว่าจะทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง หรือกลับไปเป็นแบบดั้งเดิม


 


ในโอกาสที่คาดว่าจะมีกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ ประชาชนระดับล่างต้องไม่ปล่อยให้การปฏิรูปการเมืองกลายเป็นภาระของชนชั้นกลาง หรือคนในเขตเมือง เป็นฝ่ายกำหนดวาระ/ ญัตติ  


 


สถานการณ์ปัจจุบัน ศิโรฒน์มองว่า ที่มาของอำนาจทางการเมือง ผู้นำทางการเมืองในรัฐสภา กำลังถูกครอบงำโดยความคิดของคนในกรุงเทพ และชนชั้นกลาง ซึ่งมีพื้นฐานทางความคิดว่าคนชนบทไม่มีคุณภาพ ไม่มีความคิดพอที่จะเลือกหรือตัดสินใจ


 


ดังนั้นศิโรฒน์จึงเสนอว่า เราต้องคิดให้ได้ว่า อำนาจทางการเมือง ผู้นำทางการเมืองจะมีกระบวนการสรรหาอย่างไร จากไหน.. จุดยืนของประชาชนเองในการต่อสู้หรือไล่ผู้นำสักคน จะมีข้อเสนออะไร ทำอย่างไรให้ปฏิรูปการเมืองแล้วอำนาจอยู่ที่ประชาชน...และประชาชนควบคุมได้


 


0 0 0


 


ไพโรจน์ พลเพชร


สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม


 


ไพโรจน์ พลเพชร สนับสนุน ว่า "สังคมไทยนี้แปลก ตอนที่เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา (คราประยูร) ออกจากตำเหน่งนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น พอสุจินดาลาออก มีการแต่งตั้ง อานันท์ (ปันยารชุน) เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พากันโห่ร้องยินดี เรียกว่าไม่ทันข้ามคืน ลืมข้อเสนอของตัวเองที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเสียสนิท"


 


ไพโรจน์ เริ่มให้ความหมายของ การปฏิรูปการเมือง ว่า "คือการปรับปรุง ที่มา ความสัมพันธ์ทางอำนาจในการปกครอง อำนาจทางการเมืองของประเทศ" ไพโรจน์บอกว่า ในระยะหลังๆของระบอบประชาธิปไตยในรัฐไทย สังคมไทยได้สถาปนาระบบตัวแทนไปใช้อำนาจ โดยที่ประชาชนจะไม่ข้องเกี่ยว ต่อมาเริ่มพบว่า ระบบการเมืองโดยตัวแทนไม่น่าจะเป็นคำตอบ เลยมีการปรับปรุงกันอีกครั้ง (รัฐธรรมนูญ 2540) ซึ่งทำให้เกิดการเมืองของนักการเมืองในเวลาต่อมา และเป็นที่มาของการใช้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ในปัจจุบันด้วย


 


ไพโรจน์ เห็นว่ากระแสข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่นี้ จะได้ยินอยู่สองประการ คือ


1) ข้อเสนอให้มีการแก้ไขบางจุดของรัฐธรรมนูญ เช่น แก้ไขการเมืองของนักการเมือง การตรวจสอบขององค์กรอิสระ เป็นต้น และ 2) ข้อเสนอให้มีการปรับปรุงความสัมพันธ์ ที่มาของอำนาจ ทำให้สิทธิของประชาชนยังไม่ถูกพูดถึงอย่างจริงจัง เช่น ประเด็นว่าด้วย สิทธิชุมชน หรือการปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น


 


นอกจากนั้นยังมีประเด็น เรื่องอำนาจในการสื่อสารในสังคมที่ปัจจุบันถูกคุกคาม และผูกขาดโดย รัฐและนายทุนเท่านั้น


 


ไพโรจน์ ยังมองว่า ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองนั้น คือการสถาปนาอำนาจต่างๆ ขึ้นโดยตราไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นใครหรือกลุ่มไหนเป็นฝ่ายนำ ก็จะพาไปทางนั้น ถ้านำโดยนายทุนเนื้อหาก็เป็นประโยชน์แก่นายทุน ถ้านำโดยมวลชน เนื้อหาก็จะได้ประโยชน์แก่มวลชน ดังนั้นไพโรจน์จึงเห็นว่า ภาคประชาชนต้องดำเนินการปฏิรูปการเมืองด้วยตัวเอง และต้องเดินในเนื้อหาที่ตอกย้ำให้อำนาจของประชาชนมีความสมบูรณ์มากขึ้น


 


ส่วนกรณีองค์กรที่จะนำการปฏิรูปในครั้งนี้ ยังมีโจทย์ว่า องค์กรที่จะนำในการปฏิรูปครั้งนี้ คือใคร ใครเป็นผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเสร็จแล้ว (สภา/ประชามติ) จะให้ประชาชนร่วมตอนไหนและเริ่มอย่างไรและจบตอนไหน, สภาผู้แทนจะมีบทบาทอีกไหม ,จะให้อำนาจยับยั้งแก่พระมหากษัตริย์ อีกไหม เป็นต้น


 


ในส่วนเนื้อสาระ ในการทำให้อำนาจเป็นของพลเมืองประชาชนเป็นจริง ไพโรจน์ มองว่า ประการแรก ทำอย่างไรให้สิ่งที่มีอยู่เป็นจริง (เดิม) และที่มีอยู่แล้วทำไมถึงไมถึงไม่เป็นจริง ส่วนเนื่อหาอื่น เช่น เรื่องสภาฯ องค์กรอิสระ มีคนคิดอยู่แล้ว ไม่ต้องสนใจมาก ควรสนใจในจุดของเรา และประการที่สอง คือการใช้เงื่อนไขการปฏิรูปการเมือง สร้างการเรียนรู้ในหมู่ประชาชน เช่น เรื่องการเมือง คิดอย่างไร ในช่วงกระแสปฏิรูปการเมือง


 


0 0 0


 


บรรจง นะแส


แกนนำคัดค้านท่อก๊าซและอุตสาหกรรมต่อเนื่องไทย - มาเลเซีย


 


ด้าน บรรจง นะแส ย้ำหนักแน่นว่า การปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนต้องทำให้เนื้อหาการปฏิรูปการเมืองที่แก้ปัญหาคนจนได้ ที่ผ่านมาเวลาประชาชนเสนอเนื้อหา มักถูกนักเทคนิคบอกว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย ครั้งนี้ช่วยกันคิดว่าควรจะทำอย่างไร หลังจากนั้นบรรจงได้เน้นข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วม ในประเด็นดังนี้ 1. ทบทวนว่าอำนาจรัฐบางเรื่องที่จะมาจัดการหมู่บ้านเหมาะสมหรือไม่ ได้ระดับไหน อย่างไร 2. ของดีที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ในชุมชน กลไกของหมู่บ้าน เช่น ในชุมชนมุสลิม ซูรอ ฮูกุมฟากัส ซึ่งเป็นกลไกของชุมชนที่มีอยู่จริง การจัดการตนเองได้ ทำอย่างไรรื้อฟื้นกลับมา และได้รับการยอมรับ และสุดท้ายคือกลไกที่เกิดขึ้นแล้วจัดการอย่างไรให้ยั่งยืน มั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net