Skip to main content
sharethis

ประชาไท—15 ก.ค. 2549 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในวันที่ 14 ก.ค.2549 ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่จุดเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ในแถบภาคเหนือ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสถิติล่าสุดระบุว่าคนไทยพิการจากอุบัติเหตุจราจรสูงเป็นอันดับ 1 และคาดว่าปริมาณผู้พิการทั่วประเทศมีไม่ต่ำกว่า 50,000 คน


 


ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยแพทย์ฉุกเฉินของสถานพยาบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ 400 คน และจัดซ้อมมาตรฐานหน่วยแพทย์กู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยการฝึกปฏิบัติแบบแรลลี่ โดยสมมติให้มีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเหมือนจริง เพื่อเพิ่มพูนทักษะช่วยชีวิต และป้องกันความพิการซ้ำซ้อน


 


นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้อุบัติเหตุจราจรของประเทศไทยกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนไทยต้องเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานซึ่งมีอายุระหว่าง 15-59 ปี ในจำนวนนี้ยังมีผู้บาดเจ็บที่ต้องหยุดงานเพื่อพักรักษาตัวจำนวนมาก


 


ในปี 2548 มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรทั่วประเทศ 976, 357 คน เฉลี่ยคือมีผู้บาดเจ็บชั่วโมงละ 107 ราย เสียชีวิต 11,041 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน อันเนื่องมาจากผลพวงของการเกิดอุบัติเหตุจราจร และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องกลายเป็นคนพิการทางสมองและแขนขาตามชุมชนต่างๆ สูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งอัตราที่แท้จริงนั้นยังอยู่ระหว่างทำการศึกษาวิจัย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติทำการศึกษา และจะสรุปผลที่ชัดเจนในปีหน้า


 


ขณะนี้ทั่วประเทศมีหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนมาตรฐานแล้วกว่า 1,617 หน่วย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผ่านการอบรมแล้ว 17,407 คน และในปี 2549 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดอัตราตายให้ได้ไม่เกินแสนละ 17.8 คน ซึ่งจำเป็นต้องจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพมาตรฐาน จึงจะบรรลุเป้าหมายได้ และจะต้องพัฒนาระบบการแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ให้มีประสิทธิภาพ


 


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินทุกประเภทภายในปีพ.ศ. 2553 รวมทั้งอุบัติเหตุจากปี 2549 ให้ลดลงราวๆ ร้อยละ 15 และพัฒนาหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินให้บริการครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จัดให้มีระบบบริการเครือข่ายส่งต่อที่มีมาตรฐานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 2 คน


 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาจากการเกิดอุบัติเหตุจนเกิดผู้พิการ คือผู้พิการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก เพราะในปัจจุบันคนพิการไม่มีสิทธิ์ซื้อบ้าน ซื้อรถ เนื่องจากอำเภอไม่ยอมทำบัตรประชาชนให้ โดยบอกปัดให้ใช้บัตรประจำตัวคนพิการแทน แต่สมาคมคนพิการย้ำว่าปัญหานี้เรื้อรังมาเป็นสิบปี และมีการร้องเรียนมากที่สุด จึงควรให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยแก้ไข


 


นายสหทัย โชติเวช เจ้าหน้าที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เผยว่าปัจจุบันปัญหาคนพิการยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร โดยเฉพาะปัญหาใกล้ตัว อย่างเรื่องของการทำบัตรประชาชน เพราะเวลาติดต่องาน หรือจะซื้อของบางอย่างก็จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน


 


"คนพิการถึงแม้จะมีสมุดประจำตัวคนพิการแล้ว แต่ในความจริงมันใช้แทนไม่ได้ทั้งหมด อย่างไปธนาคารจะเปิดบัญชีก็ต้องใช้บัตรประชาชน พอบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีสมุดประจำตัว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมรับ จะซื้อรถก็ไม่ได้ ไม่มีบัตร จะซื้อบ้านก็ไม่ได้เหมือนกัน เลือกตั้งก็ต้องใช้บัตร ตรงนี้เป็นปัญหาจริงๆ สำหรับคนพิการ เคยมีการร้องเรียนไปที่สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ มีการรับเรื่องไว้ แต่ก็ไม่ได้มีการส่งหนังสือเวียนไปตามที่ว่าการอำเภอต่างๆ แล้วเรื่องก็เงียบไป เจ้าหน้าที่อำเภอก็ยังคงบ่ายเบี่ยงไม่ทำให้เหมือนเดิม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net