นัดสุดท้ายของ "ซีดาน" กับความสูญเปล่าของฟุตบอลโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพียงสองวันก่อนหน้าที่ "ซิเนดีน ซีดาน" กัปตันทีมชาติฝรั่งเศสจะใช้หัวโขกอย่างจังที่หน้าอกของ "มาร์โก มาเตรัซซี่" ผู้เล่นจากทีมอิตาลีในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 2006 ชื่อชั้นของซีดาน หรือ "ซิซู" กำลังอยู่ในช่วงหอมหวน เพราะฟอร์มการเล่นกลับมาโดดเด่นแบบทิ้งทวนครั้งสุดท้าย แถมเขายังเป็นผู้ยิงลูกโทษให้ฝรั่งเศสขึ้นนำโปรตุเกสจนผ่านเข้ารอบชิงไปได้สำเร็จ


จนกระทั่งถึงช่วงเวลาสำคัญในนาทีที่ 110 ของเกมในวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซีดานกลับทำเรื่องช็อกแฟนๆ ทั่วโลกด้วยการทำร้ายร่างกายฝ่ายตรงข้ามจนได้ใบแดงและโดนไล่ออกจากสนาม

 

ผลก็คือซีดานโดนประณามจากคนทั้งโลก (แต่ก็น่าจะพอๆ กับที่เขาได้รับความเห็นอกเห็นใจ) ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลอิตาลีที่จวกยับว่า การกระทำของซีดานนั้นช่างป่าเถื่อน รวมถึงอดีตเพื่อนร่วมทีม และแฟนบอลฝรั่งเศสต่างก็พากันกล่าวว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะซีดานไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดีๆ ทั้งที่ก็น่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นกำลังสำคัญของทีม

 

เหตุการณ์นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความไม่แน่นอนที่เกิดจากเกมที่มีลูกกลมๆ เป็นศูนย์กลาง แต่ประเด็นที่แฟนๆ ของซีดานสงสัยใคร่รู้ที่สุดในตอนนี้คงจะหนีไม่พ้นคำถามที่ว่ามาเตรัซซี่พูดอะไรหนักหนา ซีดานถึงได้ลุแก่โทสะและหันไปใช้หัวเหม่งๆ ของตัวเองพุ่งชนแบบลืมตัวขนาดนั้น

 

กระนั้น ทั้งซีดานและมาเตรัซซี่ต่างก็ปิดปากเงียบ จนกระทั่ง "อแลง มิกลิอาโช" ตัวแทนของซีดานออกมาเปิดเผยว่ามาเตรัซซี่ได้พูด "อะไรบางอย่างที่รุนแรงมาก" จนซีดานถึงกับทนไม่ไหว แต่ซีดานก็ยังไม่ได้พูดอะไรต่อหน้าสื่ออย่างเป็นทางการ ทำให้มีคำเล่าลือต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย จนกลายเป็นข้อสันนิษฐานที่รอการยืนยันจากปากของคู่กรณี แต่ข้อสันนิษฐานที่พอจะมีน้ำหนักเชื่อถือได้มีอยู่ 2 ข้อ คือ

 

ข้อสันนิษฐานที่ 1 : โดนดูหมิ่นบุพการี

"เจมส์ ลอว์ตัน" คอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ สันนิษฐานว่า มาเตรัซซี่คงจะกระตุ้นต่อมโมโหของซีดานด้วยการพูดอะไรแย่ๆ ออกมา และลอว์ตันได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกปี 98 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ

 

ครั้งนั้นซีดานโดนใบแดงหลังจากที่เขาเหยียบคู่ต่อสู้ชาวซาอุดิอาระเบียอย่างจงใจ และมีข่าวในภายหลังว่านักเตะจากซาอุฯ คนนั้นได้ดูหมิ่นเชื้อชาติของซีดานซึ่งเป็นชาวอัลจีเรีย โดยยั่วยุว่า "บรรพบุรุษ" ของซีดานเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนในแถบแอฟริกาเหนือเท่านั้น

 

เมื่อเคยมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นมาก่อน ลอว์ตันเลยอนุมานว่า มาเตรัซซี่คงจะพูดอะไรที่เป็นการดูถูกเชื้อชาติและบรรพบุรุษของซีดานก็เป็นได้

 

และข้อสันนิษฐานนี้ก็เป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันทั่วไปตามพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายต่อหลายฉบับ

 

ข้อสันนิษฐานที่ 2: โดนด่าว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย"

หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ชื่อดังของอังกฤษ The Daily Mail พาดหัวอย่างหวือหวาว่า มาเตรัซซี่ยั่วยุซีดานด้วยการด่าว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งใช้ตรรกะแบบเหมารวมว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาให้เป็นผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และเมื่อซีดานเป็นมุสลิม ซีดานจึงมีค่าเท่ากับผู้ก่อการร้ายเช่นเดียวกัน

 

อาจจะด้วยตรระกะแบบนั้น มาเตรัซซี่จึงถูกพุ่งชนจนล้มลงไปนอนบิดตัวบนพื้นสนาม อันเป็นอาการที่แฟนบอลฝรั่งเศสอดค่อนขอดไม่ได้ว่ามันค่อนข้างจะ "เกินจริง" ไปสักหน่อย

 

ในขณะที่ มาร์โก มาเตรัซซี่ ก็ไม่ออกมาเฉลยเสียทีว่าตัวเองพูดอะไร "จูเซปเป มาเตรัซซี่" พ่อบังเกิดเกล้าของคู่กรณีของซีดานก็ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องลูกชายเต็มที่เมื่อเห็นว่ากระแสกล่าวโทษลูกชายตัวเองก็รุนแรงไม่แพ้กระแสกดดันซีดาน

 

มาเตรัซซี่ผู้พ่อกล่าวว่า แฟนบอลฝรั่งเศสกำลังอยากหาใครสักคนมารองรับความผิดหวังจากชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ และเมื่อหันมาเจอกับลูกชายของตน ทุกคนก็ชี้นิ้วกล่าวโทษมายังมาร์โก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย…

 

นอกจากสันนิษฐานทั้ง 2 ข้อที่ว่ามา ยังมีเหตุผลที่ฟังเข้าท่าเหลืออยู่อีกหนึ่งข้อ ซึ่งอ้างถึงความกดดันในการแข่งขันที่ซีดานต้องแบกรับหลังจากที่ประกาศจะแขวนสตั๊ด นี่จึงเป็นนัดสุดท้ายในชีวิตที่เขาจะได้เล่นบอลโลกในฐานะกัปตันทีมชาติฝรั่งเศส และความกดดันที่ว่าก็เลยทำให้เขาเครียดและฉุนเฉียวได้ง่าย จนกลายเป็นเหตุให้ไประบายลงกับมาเตรัซซี่

 

แต่ถ้าหากเปรียบเทียบการเล่นนัดสุดท้ายในบอลโลกปี 2006 กับการเล่นที่ซีดานสั่งสมมาตลอดชีวิตการเป็นนักฟุตบอลของตน ทั้งในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ การจัดการกับปัญหาในสนาม และฟอร์มการเล่นที่เหนือชั้น คอบอลทั้งหลายย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ความวู่วามเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของซีดาน ทำให้น้ำหนักของสันนิษฐาน 2 ข้อแรก มีเหตุผลมากกว่าสันนิษฐานเรื่องความกดดันในนัดสุดท้าย

 

ส่วนเรื่องที่ "มาร์เซลโล ลิปปี" ผู้จัดการทีมอิตาลี อาละวาดกับสื่อที่กระแนะกระแหนว่า อิตาลีชนะได้เพราะโชคช่วย ก็เป็นอีกข้อที่ทำให้ผู้คนคลางแคลงใจ เนื่องจากสำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นนำคำพูดของลิปปีมาโชว์หราบนเวบไซต์ในฐานะ "วาทะเด็ด" ซึ่งมีใจความว่า

 

"เราเสียตอตติไปตั้งแต่สามเดือนก่อนที่จะแข่งบอลโลก ทั้งแซมบรอตตา, กัตตูโซ และเนสตาก็บาดเจ็บ แถมทีมเรายังต้องรับมือกับข่าวลือที่ว่ามีมาเฟียอิตาลีคอยกดดันอยู่นอกสนามอีก ใช่เลย-ผมแม่งโคตรจะโชคดีเลยล่ะ!"

 

ประโยคนี้อาจทำให้อิตาลีได้รับความเห็นใจขึ้นมาบ้าง แต่ข้อกังขาระหว่างซีดานกับมาเตรัซซี่คงไม่จบลงอย่างง่ายดายแน่ๆ

 

ความล้มเหลวของการจัดฟุตบอลโลก

ก่อนหน้าที่การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 จะมาถึง ซีดานต้องพบกับสภาพที่ชวนให้กระอักกระอ่วนใจเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2005 และทีมคู่ต่อสู้ของฝรั่งเศสในวันนั้นก็คือทีมอัลจีเรีย

 

ด้วยปูมหลังที่ใครๆ ก็รู้ว่าซีดานมีเชื้อชาติอัลจีเรีย บวกกับข่าวลือว่าพ่อของเขาคือทหารในสังกัด Harki ที่ต่อสู้อยู่ข้างเดียวกับฝรั่งเศสในสมัยที่อัลจีเรียยังเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ทำให้ซีดานถูกมองว่าเป็นเพียงลูกหลานของอัลจีเรียผู้แปรพักตร์ และมีคนจับตามองการแข่งกระชับมิตรครั้งนั้นเป็นพิเศษ เพราะมันกินนัยยะไปถึงการประกาศตัวตนของซีดานด้วยว่าเขาจะเลือกอยู่ข้างไหน

 

ประกอบกับในขณะนั้น มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นประปราย โดยกลุ่มหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอฟริกัน รวมถึงชาวฝรั่งเศสที่เป็นมุสลิม ทำให้เกิดการแบ่งแยกและเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในหมู่ชาวฝรั่งเศส ในที่สุดซีดานต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า :

 

"ผมจะขอพูดแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว พ่อผมไม่ใช่พวก Harki แต่พ่อผมคือคนที่ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น และผมก็ภูมิใจที่มีพ่อเป็นชาวอัลจีเรีย ท่านไม่เคยต่อต้านการเป็นชาวอัลจีเรีย แต่การภาคภูมิใจในเชื้อสายอัลจีเรียไม่ได้หมายความว่าผมจะไม่ตระหนักถึงความเป็นชาวฝรั่งเศสของตัวเอง"

 

การต่อสู้ในสนามฟุตบอลของซีดานจึงต้องแบกรับน้ำหนักของ "เชื้อชาติ" และ "ประเทศฝรั่งเศส" ไว้อย่างละครึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากการแข่งขันในนัดอื่นๆ ของซีดานเท่าไรนัก เพราะปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติเป็นเรื่องเรื้อรังในประเทศฝรั่งเศสที่ยังคงหาทางแก้ไม่ได้จนวันนี้

 

แม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศส เช่น ชอง-มารี เลอ แปง ที่เป็นหนึ่งในตัวเก็งในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปก็มีทัศนคติที่เป็นด้านลบมากๆ ถึงขนาดที่เคยออกปากในปี 1998 ว่าทีมชาติฝรั่งเศสที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้นไม่ใช่ทีมชาติที่แท้จริง เพราะสมาชิกในทีมส่วนใหญ่เป็นแค่ชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสายมาจากผู้อพยพจากที่อื่นเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ซีดานซึ่งถูกมองว่าเป็นลูกหลานของชาวอัลจีเรียอพยพ

 

ทว่า ชัยชนะที่ทีมชาติฝรั่งเศสนำมาเป็นของขวัญให้คนทั้งประเทศในปีนั้นก็ช่วยปิดปาก เลอ แปง ไปได้พักใหญ่ๆ เลยทีเดียว

 

หลังจากนั้น แม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิวและเหยียดเชื้อชาติในแวดวงฟุตบอลโลกมาหลายปีดีดัก [1] แต่อคติในเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปจากสนามฟุตบอลเสียที เมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่อเค้าไปในทางเช่นนี้ คนส่วนใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงประเด็นเรื่องเหยียดผิวและเหยียดเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นเดียวกับกรณีของซีดานและมาเตรัซซี่ที่ยังจบไม่ลง

 

หากสิ่งที่ร้ายยิ่งกว่าการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวก็คือลัทธิชาตินิยมที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง และกระแส "คลั่งชาติ" แบบไม่ลืมหูลืมตาจะถูกปลุกเร้าขึ้นมาทุกๆ วาระครบรอบ 4 ปีที่มีการจัดฟุตบอลโลก

 

เพราะนอกเหนือจากซีดานที่โดนหางเลขเรื่องการเหยียดเชื้อชาติแล้ว ก็ยังมี "คริสเตียโน โรนัลโด" ที่เคยเป็นขวัญใจชาวอังกฤษและชาวโลกที่เชียร์ทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดอยู่ดีๆ พอไปมีเรื่องขัดใจในสนามกับเวย์น รูนีย์ที่ลงแข่งในฐานะทีมชาติอังกฤษเท่านั้น ความนิยมของ "หนุ่มหน้าสวย" คนนี้ก็ลดฮวบฮาบลงไป (อย่างเห็นได้ชัด) ถึงขนาดที่มีข่าวออกมาว่า โรนัลโดคงไม่อาจจะกลับไปเล่นให้ทีมสโมสรพรีเมียร์ลีกของอังกฤษได้อีก เพราะโดนแฟนบอลชาวอังกฤษเกลียดขี้หน้าเสียแล้ว

 

ความคิดเห็นของสื่อมวลชนในแวดวงลูกหนังสเปน มองว่าฟุตบอลโลกปี 2006 แทบไม่ต่างอะไรจากการประกาศศักดาของ "เจ้าอาณานิคม" ในอดีต เพราะสี่ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบชิงฯ และรอบรองฯ ล้วนเป็นชาวผิวขาวที่ขึ้นชื่อในการล่าอาณานิคมและการทำสงครามเพื่อเป็นมหาอำนาจมาแล้วทั้งสิ้น

 

ฟุตบอลจึงไม่ได้เป็นกีฬาแห่งความสมานฉันท์ตามที่คนในแวดวงลูกหนังพยายามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นการยืนยันว่าฟุตบอลคือการต่อสู้กันระหว่างเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ โดยลดทอนความรุนแรงต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของเกมการแข่งขัน และอาศัยกฏกติกามาเป็นข้อตกลงร่วมกันเพียงหลวมๆ

 

แต่ "แทกติก" ต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันนั่นต่างหากที่เป็นของจริง และเป็นสิ่งที่ทำให้ลีลาการเล่นของแต่ละชาติแตกต่างกันออกไปตามทัศนคติที่พวกเขามีต่อ "โลก" และ "การช่วงชิงให้ได้มาซึ่งชัยชนะ" ซึ่งคงจะไม่ต่างอะไรกับเกมการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

จึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าแฟนบอลทั้งหลายจะไม่เคยคาดหวังให้ฟุตบอลเป็นตัวเชื่อมโยงผู้คนจนเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งโลกตามจุดมุ่งหมายของ "ฟุตบอลโลก" ที่ควรจะเป็น

 

และเราอาจเรียกความ (ไม่) คาดหวังนี้ว่าความสูญเปล่าของฟุตบอลโลกก็น่าจะได้...

 

 

……………………………………..

1] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "รายงานพิเศษ เรื่องราวที่มิอาจมองข้าม การเหยียด "สีผิว-ชาติพันธุ์" (racism) ในเกมฟุตบอล" โดย วิทยากร บุญเรือง http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4183&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai

 

ข้อมูลประกอบ

+http://sport.independent.co.uk/football/internationals/article1166524.ece

+http://worldcup.uk.msn.com/news/quotesandpunsoftheday/

+http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/world_cup_2006/teams/france/5164094.stm

+http://www.hindu.com/thehindu/mag/2005/12/04/stories/2005120400430100.htm

+http://www.dailymail.co.uk/pages/live/articles/sport/worldcup2006.html?in_article_id=394962&in_page_id=1892

+http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/5164002.stm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท