Skip to main content
sharethis

8 ก.ค. 2549 วานนี้ (7 ก.ค.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโลยี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของ SMEs ไทย ต่อการทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา: ยา คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และพันธุ์พืช" ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซา ว่า แม้รัฐบาลไทยจะมีการชะลอการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่จากผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอ ประเมินการทำความตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยมาก ขณะที่ประเทศไทย การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาหรือการจดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร ยังไม่ตื่นตัว


 


ดังนั้น รัฐบาลจะต้องชั่งน้ำหนักหากจะดำเนินการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ว่าผลได้ผลเสียเป็นอย่างไร ผลดีแม้จะทำให้จีดีพีของประเทศ การค้าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 ปี จีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6-1.8 แต่ภาพรวมของผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอสเอ็มอีของไทยในหลายสาขาจะประเมินผลไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และเห็นว่าภาคธุรกิจของไทยในหลายสาขาจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวก่อนที่จะมีการลงนามเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ อย่างน้อยประมาณ 10 ปีขึ้นไป จึงเชื่อว่าไทยไม่ควรเร่งเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ


 


สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่จะได้รับผลดีจากการทำเอฟทีเอครั้งนี้ อาทิ ยานยนต์ เครื่องหนัง สิ่งทอ ส่วนกระแสข่าวว่าทางสหรัฐฯจะหันไปเจรจาเอฟทีเอกับมาเลเซียแทนไทย ซึ่งอาจจะทำให้การค้าของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบไปบ้าง แต่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ก็มีลู่ทางในการทำตลาดอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถชดเชยสิ่งที่ไทยไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีอีกแง่หนึ่งในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่ไม่ถูกสหรัฐฯเข้ามาทำตลาดมากเกินไป


 


นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากจะเสนอแนะภาครัฐ โดยเฉพาะประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มข้นขึ้น โดยต้องปรับระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาประเทศ การเพิ่มการลงทุนเพื่อสร้างทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในภาครัฐเข้ากับการใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน ต้องขยายขอบเขตในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกรณีพิเศษ


 


และหากไทยจำเป็นต้องลงนามเปิดเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ จริง กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรปรับค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการรักษาสิทธิ์ในสิทธิบัตรต่าง ๆ ให้สูงขึ้น 5-10 เท่า เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมาขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยมากขึ้น จะเป็นการคุ้มครองสิทธิบัตรภายในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป


 


นายจิรวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ดังนั้น ประเทศไทยไม่ควรให้การคุ้มครองวิธีการวินิจฉัยโรคและวิธีการผ่าตัดที่ใช้กับคนหรือสัตว์ ไม่ควรยอมรับข้อจำกัดในการบังคับใช้สิทธิ์ เนื่องจากจะทำให้โอกาสในการเข้าถึงยาของผู้ป่วยถูกจำกัดและต้นทุนในการรักษาพยาบาลของประเทศสูงขึ้น


 


ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรยา เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตยาสามารถเข้าถึงตลาดได้รวดเร็วขึ้น และเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมพัฒนายาจากสมุนไพร ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบ โดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงเอกชนจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการนำผลิตภัณฑ์จากสิทธิบัตรมาใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป


 


นอกจากนี้ หากประเมินภาพรวมไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และการปรับปรุงพันธุ์พืช ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ซึ่งจะต้องรอเวลาในการปรับตัว แม้ไทยจะมีอุตสาหกรรมหลายประเภทได้เปรียบและได้ดุลการค้าสหรัฐฯ แต่อุตสาหกรรมที่ยังไม่มีความพร้อม หากไทยจำเป็นต้องทำการแข่งขัน เชื่อว่าจะเสียเปรียบสหรัฐฯ แน่นอน ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาและมีความชัดเจนต่อความคุ้มครองอุตสาหกรรมที่ไทยเสียเปรียบสหรัฐฯ ให้มากขึ้นก่อนที่จะมีการเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net