Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.49 เครือข่ายเฝ้าระวังแม่น้ำสาละวิน ประกอบด้วยบุคคลและองค์กรจากไทย พม่า และนานาชาติออกแถลงการณ์คัดค้านความร่วมมือระหว่างทุนจีนกับ กฟผ.ในการสร้างเขื่อนสาละวินในไทย-พม่า ชี้ สนับสนุนการปกครองที่กดขี่ของรัฐบาลเผด็จการพม่า ซึ่งส่งผลให้ชนชาติพันธุ์หลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และเสียชีวิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้


 


0 0 0


 


แถลงการณ์เครือข่ายเฝ้าระวังแม่น้ำสาละวิน


คัดค้านความร่วมมือระหว่างทุนจีนกับ กฟผ.ในการสร้างเขื่อนสาละวินในไทย-พม่า


 


3 กรกฎาคม 2549


 


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทไซโนไฮโดร (Sinohydro Corporation) ของจีน ได้ลงนามบันทึกความตกลงเพื่อพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่มีการวางแผนที่จะสร้างบริเวณพรมแดนไทย-พม่า และในประเทศพม่า ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้ารวมกัน 12,700 เมกะวัตต์


 


เครือข่ายเฝ้าระวังแม่น้ำสาละวินประกอบด้วยบุคคลและองค์กรจากไทย พม่า และนานาชาติซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อความร่วมมือระหว่างกฟผ.กับบริษัทจากจีนที่จะสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้


 


เงินทุนจะสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าให้กดขี่ชนกลุ่มน้อย


โครงการเขื่อนดังกล่าวจะเป็นการลงทุนจากต่างชาติก้อนใหญ่ที่สุดในพม่า เขื่อนแรกที่จะสร้างได้แก่ เขื่อนฮัตจีซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งระหว่าง 600-1,200 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท เขื่อนสาละวินทั้ง 5 แห่งจะสร้างในเขตที่มีการสู้รบตามพรมแดนไทย-พม่า และที่ผ่านมารัฐบาลเผด็จการพม่าใช้กำลังทหารโจมตีประชาชนชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง การให้ความสนับสนุนทั้งทางการเมืองและการเงินต่อการสร้างเขื่อนในเขตที่มีการสู้รบ เปรียบได้กับการสนับสนุนการปกครองที่กดขี่ของรัฐบาลเผด็จการพม่า


 


สงครามที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อในพม่าส่งผลให้ชนชาติพันธุ์หลายล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ และอีกจำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาฝั่งไทย โดยมีมากกว่า 140,000 คน ที่พักอาศัยตามแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวพรมแดนไทยพม่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมาจากพื้นที่ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อน นับตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา กองทัพพม่าดำเนินการกวาดล้างอย่างรุนแรงในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเขตที่จะมีการสร้างเขื่อน 3 จาก 5 เขื่อน มีรายงานว่าทหารพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งเผาทำลายหมู่บ้าน บังคับอพยพ และสังหาร ส่งผลให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้วอย่างน้อย 16,000 คน และชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพเข้าสู่ไทยในฐานะผู้หนีภัยความตาย


 


โครงการเขื่อนฮัตจีซึ่งจะเป็นโครงการแรกที่ปูทางให้แก่เขื่อนอื่นๆ มีการตรึงกำลังทหารและจัดตั้งฐานทัพจำนวนมากในพื้นที่ การสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินไปด้วยการคุ้มครองจากทหารพม่า พื้นที่ดังกล่าวยังเต็มไปด้วยกับระเบิด ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของกฟผ.หนึ่งนายที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ต้องเสียชีวิตลง และเป็นเหตุให้คณะที่ปรึกษาการสำรวจถอนตัวออกจากพื้นที่


 


โครงการขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส


กระบวนการตัดสินใจทั้งหมดดำเนินไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด ในขณะที่สถานะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยขณะที่ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำขอพม่าในการสร้างเขื่อนฮัตจี มีฐานะเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้ยกเลิกการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน จนถึงบัดนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าบันทึกทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลผูกพันหรือไม่อย่างไร แต่กฟผ.ยังคงเดินหน้าโครงการโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทไซโนไฮโดร  ซึ่งนับว่าขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายไทยและนานาชาติที่ส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก


 


แม้แต่ในฝั่งไทย ประชาชนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงอย่างน้อย 50 ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าสาละวิน เขต จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้างโครงการ ยังไม่ได้รับข้อมูลโครงการแต่อย่างใด


 


การวางแผนด้านพลังงานของไทยมักคลาดเคลื่อนเกินจริง


ที่ผ่านมาการพยากรณ์ด้านความต้องการไฟฟ้าของไทยมีความคลาดเคลื่อนและสูงเกินจริงมาโดยตลอด เนื่องจากอิงกับการพยากรณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มักสูงเกินจริงและไม่แน่นอน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณากรอบเวลาการวางแผนระยะเวลา 10-15 ปี โดยการพยากรณ์ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็เกิดความผิดพลาดสูงถึง 900 เมกะวัตต์ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่การวางแผนระบบไฟฟ้าจะตัองมีการตรวจสอบและต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน อันจะกลายเป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับ


 


เครือข่ายเฝ้าระวังสาละวินจึงขอเรียกร้องให้ยุติแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดสายสุดท้ายที่ยังไหลอย่างอิสระ และเพื่อยุติการส่งเสริมการกดขี่และการกระทำทารุณของรัฐบาลทหารพม่า ตลอดจนผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใสในการวางแผนด้านพลังงานของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net