Skip to main content
sharethis

"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น" เป็นงานเขียนของ มาลินี คุ้มสุภา ที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2542 หัวข้อ "นัยทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในสังคมไทย"

ผู้เขียนได้ศึกษาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเชิง "พื้นที่" ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวว่า "ราวกับไม่ใช่การเมืองแต่มีความหมายทางการเมือง" มาทำการศึกษาอย่างจริงจัง โดยคำถามหลักของหนังสือเล่มนี้คือ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตยไทยอย่างไร"

โดยมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า "ความจริงในสังคมเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและสร้างขึ้น โดยที่ไม่อาจมีความหมายที่คงที่ถาวรตลอดไป จนไม่อาจท้าทายหรือตั้งคำถาม" โดยมาลินีทำการศึกษาตามแนววิเคราะห์วาทกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นรอง ภูมิทัศน์ที่ตั้ง ตลอดจนภาพที่ปรากฏในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2482-2540

ในงานดังกล่าว ทำให้ได้รับคำตอบว่าในระยะเวลาเกือบ 70 ปี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการประชาธิปไตยไทยอย่างน่าสนใจในช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ ช่วงแรก ที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.2475

ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า จุดกำเนิดของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นความคิดที่สืบเนื่องมาจากการประกาศโดยสำนักนายกรัฐมนตรีให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2481 ในสมัยที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างปรากฏในคำชี้แจงเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2482 ว่า "เพื่อเปนที่ระลึกแห่งระบอบประชาธิปไตยอันสยามได้ใช้ปกครองอยู่ในปัจจุบันนี้"

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่าโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้รับพระราชทานงบประมาณในการสร้างอนุสาวรีย์เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีนายชุณห์ ปิณฑานนท์ 1 ใน 99 คณะราษฎรเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 และทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน ปี พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และถือเอาพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่จัดงานพิธีวันชาติด้วย

แต่ในครั้งนั้น มิอาจสร้างความผูกพันกับความเป็นประชาธิปไตยกับมวลชนได้อย่างแนบแน่น ทำให้ใน ช่วงที่สอง หลังการหมดอำนาจของคณะราษฎร พื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกสถาปนาเป็นพื้นที่สวนสนามของทางการด้วยพิธีกรรมของกองทัพ และราชสำนักอย่างต่อเนื่อง ทั้งในงานวันชาติ วันกองทัพบก หรือพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งภาพลักษณ์ในลักษณะนี้ได้ลบเลือนไปในความทรงจำ และถูกแทนที่ยึดครองความหมายใหม่ด้วยความเป็นประชาธิปไตยของมหาชนที่ต้องการพื้นที่ทางการเมือง ใน ช่วงที่สาม ซึ่งปรากฏให้เห็นบนพื้นที่เชิงกายภาพของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงสองครั้งด้วยกัน คือ การเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 และพฤษภาคม พ.ศ.2535  

ส่งผลให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยึดกุมความหมายใหม่ที่เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างสนิท จนทำให้เราชินตากับภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก แต่ทว่าภายใต้การช่วงชิงความหมายเหล่านี้มีรายละเอียดที่ถูกมองข้ามมากมาย เช่น การเป็นพื้นที่วางหรีดประท้วงเพื่อแสดงออกทางการเมืองพื้นที่แรกๆ   การถูกใช้เป็นพื้นที่ตั้งของพลับพลาที่ประทับในพระราชพิธี กระทั่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดพิธีกรรมรำลึกวีรชนก่อนจะมีการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ซึ่งการสร้างความหมายให้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมวลชนเหล่านี้ทำให้ในชั้นหลังงานพระราชพิธีไม่อาจใช้พื้นที่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ดังเดิม ดังที่ผู้เขียนค้นพบความเปลี่ยนแปลงของที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งการสวนสนามเนื่องในพระราชพิธีรัชดาภิเษก ฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2514 มีการจัดพระที่นั่งชุมสายไว้ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่ในภายหลังสมัยงานสวนสนามในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2539 กลับใช้บริเวณลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์เป็นที่ประทับแทน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตเอาไว้ว่า ความหมายที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่เมือง และ พื้นที่ทางการเมือง เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เมืองเป็นเรื่องที่เมื่อศึกษาแล้วจะพบเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ และในขณะเดียวกัน การมองพื้นที่เมืองในฐานะของเวทีที่สำคัญของการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้สร้างนัยยะที่สำคัญยิ่ง เพราะพื้นที่การเมืองไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงเจตนารมณ์ของตนได้มากพอ

ซึ่งหลังจากการปรากฏผลงาน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็นนี้แล้ว ความตั้งใจต่อไปของผู้เขียนคือการศึกษาหาความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของพื้นที่เมือง และพื้นที่ทางการเมืองในเรื่องของการประท้วง เทศกาลและงานวันหยุด ในโอกาสต่อไป

 

................................................................................

ที่มา : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น

ผู้แต่ง มาลินี คุ้มสุภา พิมพ์โดย สำนักพิมพ์วิภาษา เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548 หนังสือดีเด่นได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกพันธุ์ ประจำปี 2549 สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net